top of page
347550.jpg

มองหุ้นส่งท้ายไตรมาส 1/2561 พักฐานจากความกังวล...แนะ Rotate หุ้นไปเรื่อยๆ


อิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนสายงานวิจัย บล. ไทยพาณิชย์ ยืนยันหุ้นส่งท้ายไตรมาส 1/2561 พักฐานจากความกังวลเล็กน้อยเรื่องดอกเบี้ยเฟด และการประกาศสงครามการค้าของอเมริกา กรณีเหล็กและอะลูมิเนียม จากนั้นช่วงที่เหลือของปียังไปต่อได้แต่เล่นยาก แนะต้องใช้วิธีเปลี่ยนตัวเล่นตามจังหวะจะปลอดภัยที่สุด

จากการปรับขึ้นลงของดัชนีหุ้นไทยช่วง 2 เดือนแรก โดยทดสอบแนวดัชนี 1,850 จุด 2 รอบแต่ไม่ผ่าน ทำให้นักลงทุนอาจมีความสับสนกับทิศทางหุ้นไทย โดยเฉพาะกำลังเข้าสู่ช่วงโค้งท้ายปลายปี 2561 นั้น นายอิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนสายงานวิจัย บล. ไทยพาณิชย์ ยืนยันว่า พื้นฐานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก ประเทศไทยมีการฟื้นตัวตามโดยมีตัวเลขออกมาดีอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากเรื่องของความกังวลหรืออาจจะเป็นข้ออ้างเรื่องความกังวลว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกาจะมีการปรับตัวมากกว่าที่นักลงทุนเคยคาดการณ์ไว้

“เหตุการณ์ Sale Off ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับขึ้นมาแรงมากแทบจะไม่ได้หยุดพัก อย่างตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกามีการปรับขึ้นมายาวจนมีการปรับฐานเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ขณะที่หุ้นไทยมีลักษณะเหมือนกันกับหุ้นอเมริกาแต่ไม่ปรับรุนแรงเท่า หากดูแบบเดือนชนเดือนไทยแทบไม่ได้ปรับฐานด้วยซ้ำไปเพียงแค่ตกใจในช่วงระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ เมื่อกลับมาดูพื้นฐานจริงก็ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า การปรับตัวลงของตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นหรือมีพื้นฐานการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ คำตอบที่ได้จากการค้นหามา คือ พื้นฐานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก ประเทศไทยมีการฟื้นตัวตามโดยมีตัวเลขออกมาดีอย่างต่อเนื่อง”

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หุ้นปรับตัวลงหลังขึ้นไปทดสอบ 1,850 เนื่องจากเรื่องของความกังวล ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นการหาข้ออ้างก็ได้ว่า เป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกาจะมีการปรับตัวมากกว่าที่นักลงทุนเคยคาดการณ์ไว้ จากที่คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้เป็น 4 ครั้ง ทำให้คนกลัวว่าถ้ามีการปรับอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งขึ้นมาจริง ต้นทุนทางการเงินอย่างพันธบัตร 10 ปี จะมีการเร่งตัวขึ้นไปเร็วมาก แล้วส่งผลทำให้เศรษฐกิจรับไม่ได้ จึงเกิดแรงขายสินทรัพย์เสี่ยง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการประกาศเรื่องกำแพงภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐอเมริกา เป็นการเติมความกังวลว่า นี่คือสัญญาณของประธานาธิบดี ทรัมป์ ว่า Trade War จะเริ่มต้นขึ้นแล้ว และถ้าสหรัฐอเมริกาทำแบบนี้แล้วประเทศอื่นตอบโต้กลับขึ้นมาจะเกิดอะไรขึ้น

“Trade War เราอาจจะกระทบไม่มาก ซึ่งจะมีผลต่อหมวดยานยนต์ที่ไทยส่งออก ต้นทุนเหล็กอาจจะแพงขึ้นทางอ้อม ช่วงนี้อาจจะต้องระวังหน่อยสำหรับผู้ส่งออกโดยเฉพาะที่ใช้วัตถุดิบเป็นโลหะ

ในภาพใหญ่ คิดว่าที่คนสนใจมากกว่า คือ ประเทศอื่นจะมีการตอบโต้อย่างไรที่จะไปส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่น คิดว่าผลกระทบต่อไทยยังอยู่ในวงจำกัด คนกำลังวัดกันอยู่ว่าผลกระทบทางอ้อมที่จะมีผลต่อยานยนต์ที่ได้ใช้วัตถุดิบที่เป็นเหล็กจำนวนมากจะกระทบเป็นเม็ดเงินขนาดไหน ซึ่งยังไม่เห็นตัวเลขแต่ว่าก็คงมีความกังวลกัน

การตอบโต้ที่จะเกิดขึ้นอย่างแรก คือ กลุ่มสินค้าเกษตรของสหรัฐ ถ้าจีนใช้ไม้แข็งตอบโต้ไม่ซื้อพันธบัตรสหรัฐ แบบนี้จะมีผลทำให้ดอกเบี้ยสหรัฐเร่งตัวขึ้นมาอีก พวกนี้ยังต้องศึกษาต่อแต่ก็ต้องระวังไว้เหมือนกัน ซึ่งในระยะสั้นยังเป็นวงแคบถ้ามี Impact ไม่ได้รุนแรงมากมาย”

ส่วนเรื่องของดอกเบี้ยถ้าเป็นภาษาหุ้นก็จะเป็น Price In ในระดับหนึ่ง แต่เหตุการณ์ใหม่ที่กิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นเรื่องของการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มเป็นปัจจัยถ่วงเศรษฐกิจ นับว่าเป็นเรื่องที่ต้องมองต่อไป แต่ตอนนี้คงเป็นเรื่องของอัตราดอกเบี้ยว่า อยู่ในระดับใดถึงจะน่ากลัว หรือระดับใดที่ตลาดจะรับไม่ไหวแล้ว

“จากที่เคยศึกษาหลายครั้งพบว่าดอกเบี้ยสหรัฐ หากภายในปีนี้ขึ้นไปถึง 4.5% จุดนั้นจะเป็นจุดปรับฐานที่ค่อนข้างลึก ถ้าดอกเบี้ยขึ้นมาชนกับ GDP เศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ตลาดจะเปลี่ยนขาจาก กระทิง เป็น หมี

เพราะฉะนั้นดอกเบี้ยที่ 4.5% จะเป็นจุดที่ตลาดหุ้นรับไม่ไหว คงต้องมีการปรับฐานลงมา แต่ต้องถามว่าโอกาสที่ดอกเบี้ยจะปรับตัวไปถึงตรงนั้นมีแค่ไหน คิดว่าคงไม่เยอะ เพราะตอนนี้ 2.9% เป็นจุดทดสอบ ถ้าเปรียบเป็นหุ้นก็เป็นแนวต้านที่ค่อนข้างแข็งแรง ด้วยพื้นฐานเงินเฟ้อไม่ได้เร่งตัวชัดเจน ค่าจ้างค่าแรงปรับขึ้นในสหรัฐ แต่ก็ไม่ได้อยู่ในระดับที่รุนแรงมาก คิดว่าตลาดพันธบัตร 10 ปี ระดับ 4.5% คงไม่ได้เห็นได้ง่ายๆ”

ส่วนจะมีผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยของไทยหรือไม่ นายอิสระให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า คิดว่าแบงก์ชาติมีความชัดเจนในเรื่องของการวางนโยบายอัตราดอกเบี้ยว่ายึดกรอบเงินเฟ้อเป็นหลัก ซึ่งถ้าดูแบบนี้ ล่าสุดเงินเฟ้อยังไม่มีสัญญาณที่ต้องเร่งตัวปรับขึ้นและชะลอตัวลง โดยเงินเฟ้อไทยยังไม่ได้เป็นภาระกดดันให้แบงก์ชาติต้องปรับอัตราดอกเบี้ยแม้เศรษฐกิจจะมีการฟื้นตัวชัดเจน

“ขณะที่ค่าเงินบาทในตอนนี้อยู่ในฐานที่ปรับแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หากมีการเร่งปรับอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้คิดว่าจะส่งผลให้เงินยิ่งไหลเข้ามาในไทย โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตร ทำให้เกิดการเก็งกำไรค่าเงินแบบหนักหน่วงขึ้นไปอีก

ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจและพื้นฐานของค่าเงินเฟ้อคิดว่าปีนี้แบงก์ชาติคงยังรักษาฐานนี้ไว้จนกระทั่งเห็นสัญญาณความชัดเจน โดยมองว่าแบงก์ชาติทั่วโลกคงใช้วิธีคล้ายกันแบบเฟด คือ สื่อสารกันก่อน ตลาดเริ่มมีการปรับตัวก่อนที่จะมีการปรับดอกเบี้ยจริง เพราะจะทำให้การปรับแต่ละครั้งไม่เกิดผลกระทบกับทุกตลาดมากเกินไป”

จากลักษณะที่กำลังมีความกังวลในเรื่องของ การกีดกันทางการค้า สงครามการค้า และทิศทางดอกเบี้ย นายอิสระให้ความเห็นว่า นักลงทุนไทย ควรเน้นการลงทุนที่ปลอดภัยไว้ห่อน โดยเน้นลงทุนอุตสาหกรรม Domestic Demand เป็นหลัก

“สำหรับในภาวะแบบนี้ไม่ได้แปลว่าลงทุนในหุ้นไม่ได้ หรือต้องปิดพอร์ตเทขายทั้งหมด คือยังลงทุนได้ เพียงแต่มีความยากมากขึ้น

กลยุทธ์ในการลงทุนต่อจากนี้เป็นต้นไป มีกฎเกณฑ์บางข้อถ้าทำตาม คือ 1.การลงทุนแบบไม่ยิงไปทั่วเพราะเสียกระสุน 2.เล่นหุ้นตามธีม อย่างธีมของไทยในปีนี้มีธีมอะไรบ้างในการลงทุนที่ชัดเจน เช่น การฟื้นตัวที่ชัดเจนในการลงทุนของภาครัฐ การฟื้นตัวชัดเจนของการลงทุนเอกชนที่เริ่มฟื้นตัวแบบเป็นรูปเป็นร่าง เรื่องคุณภาพของสินทรัพย์ที่ดูดีมีราคามากขึ้น ซึ่งเป็นธีมที่แนะนำมาโดยตลอด ในปีนี้หากมองเห็นชัดที่สุดก็จะเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น โดยการปล่อยสินเชื่อน่าจะดีขึ้นตาม เรื่องของคุณภาพสินทรัพย์ เรื่องการบริหารจัดการหนี้ NPL น่าจะดีขึ้น เพราะฉะนั้น NPL ที่เคยกังวลก็จะค่อยลดความกังวลลง โดยหุ้นในกลุ่มนี้ Perform ค่อนข้างดี นับว่าเป็นความชัดเจนหนึ่งในกลุ่มของอุตสาหกรรมไทย

นอกจากนี้ ในปี 2561 นี้ AEC จะมีการลงทุนซึ่งเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้น แน่นอนว่ากลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ยังเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ แม้ว่าเวลาจะผ่านไปหุ้นจะปรับขึ้นไม่มาก แต่กลุ่มนี้ต้องมองระยะยาวแบบ 10 ปี โดยหุ้นกลุ่มนี้น่าจะมีทิศทางการปรับตัวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางของการลงทุนภาครัฐและเอกชน

อีกกลุ่มที่อาจจะมองว่าเดาผิดหรือเดาถูกบ้าง แต่มีเรื่องหนึ่งที่เดาอย่างไรก็ไม่ผิด คือ เรื่องประชากรผู้สูงอายุ ถ้ามองลักษณะของโครงสร้างเมืองไทยเริ่มมีผู้สูงอายุมากขึ้น เรื่องของ Health care ของหุ้นกลุ่มนี้ถือว่าไม่แพงเมื่อเทียบกับ Set Index ที่ปรับเพิ่มขึ้นไป คิดว่ายังเปิดโอกาสที่จะลงทุนได้ในกลุ่ม Health care อย่างกลุ่มโรงพยาบาลก็จะมีให้เลือกหลายแบบ มีโรงพยาบาลที่อยู่ในกลุ่มคนที่มีฐานะที่ดูแลสุขภาพเป็นหลัก หรือกลุ่มคนชั้นกลางที่มีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยดีขึ้นในเรื่องการดูแลสุขภาพ การประกันสุขภาพที่มีบทบาทมากขึ้นในเรื่องของการเข้าไปใช้บริการในกลุ่มโรงพยาบาล ทำให้คนเข้าถึง Healthcare Service มากขึ้น นับว่าเป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจ

หากถ้าเป็นแนวการลงทุนแบบหวือหวาอย่างในช่วงที่ผ่านมาก็จะเป็นกลุ่มพลังงาน อย่างราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นมาค่อนข้างสูง โรงกลั่นต่างๆมีค่าการกลั่นดีขึ้น ซึ่งในช่วงนี้อาจจะเล่นหุ้นแบบนี้ได้”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องย้ำหนักๆสำหรับนักลงทุนคือ ต้องจัดสรรพอร์ตให้ดี ในช่วงที่เหลือของปีที่หุ้นจะผันผวนมาก

“อยากจะแนะนำ คือ ถ้าถือหุ้นกลุ่มไหนไปแล้ว Valuation ของกลุ่มหุ้นเริ่มแพง ในภาวะเศรษฐกิจเริ่มผันผวน ก็อาจจะขายออกไปก่อนแล้วค่อยไปรอดูหุ้นกลุ่มที Valuation ที่ไม่แพง แบบนี้นับเป็นวิธีที่เล่นไปได้ตลอดทั้งปี เรียกว่า Rotate เปลี่ยนกลุ่มไปเรื่อยๆ อย่างช่วงนี้เป็นช่วงที่ Earning ออกหมดแล้ว ต่อไปก็จะเป็นการประกาศปันผล

ทาง SCBS ได้มีการศึกษาว่าในช่วงที่ตลาดผันผวนจะทำอย่างไร ซึ่งหุ้นกลุ่มผันผวนจะให้รีเทิร์น ค่อนข้างดี หากย้อนกลับไป 10 ปี ลองดูค่าเฉลี่ยการเลือกหุ้นที่ 3 ตัวว่าในช่วงที่ตลาดผันผวน จะไม่ยาก หุ้นที่จ่ายปันผลดี ประมาณว่าจ่ายเกิน 3% ขึ้นไปถือว่าดี โดยวิธีเล่น คือ ซื้อก่อนประกาศปันผลและขายก่อนประกาศ XD ทำให้ส่วนใหญ่แล้วผลตอบแทนเป็นบวก ทาง SCBS ที่วิจัยมา 3 ตัวได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, TISCO และ แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ที่มีปันผลค่อนข้างจะดี”

36 views
bottom of page