top of page
347550.jpg

นายจ้างไม่ขวางขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ


สภานายจ้างไม่ขวางขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะไม่ขึ้นมา 3 ปีแล้ว แต่ขอให้ปรับขึ้นตามหลักการและเหตุผล อีกทั้งไม่ควรปรับขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ พร้อมกระทุ้งภาครัฐสรุปผลการปรับขึ้นค่าแรงทุกครั้งว่าลูกจ้างได้รับประโยชน์จริงหรือไม่ นายจ้างแบกรับภาระต้นทุนได้หรือไม่ ที่สำคัญคืออย่าให้ส้มหล่นไปยังนายทุนกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่ฉวยจังหวะเพิ่มราคาสินค้าบริการ เท่ากับลูกจ้างไม่ได้เงินเพิ่มอยู่ดี

นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยทีมข่าวหนังสือพิมพ์ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลคสช.ล่าสุด โดยเปรียบเทียบว่า หากย้อนกลับไปสมัยที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น พบว่ายังไม่เห็นผลวิจัยของค่ายไหนว่าการขึ้นค่าแรงครั้งนั้นเป็นประโยชน์กับผู้ใช้แรงงาน และเศรษฐกิจของประเทศอย่างไรบ้าง มีธุรกิจใดล้มหายตายจากไปหรือมีธุรกิจไหนเจริญรุ่งเรืองขึ้น ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจริงหรือไม่

“ส่วนตัวได้พยายามไปดูข้อมูลจากกระทรวงแรงงานเอง รู้สึกว่าจะไม่ได้ทำหรืออย่างไร ซึ่งถ้ามีผลวิจัยว่าเมื่อปรับขึ้นแล้วมันได้จริง และถ้าได้จริงทุกคนก็ดีใจด้วย แต่ถ้าไม่ได้จริง และเป็นประโยชน์กับกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค หรือผลประโยชน์จะไปตกกับกลุ่มใหญ่บางกลุ่ม ขณะที่ลูกจ้างได้เงินเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้อะไรเพิ่มขึ้นในชีวิตเลย เพราะอาหารการกินก็แพงขึ้น จะทำอะไรก็แพงขึ้น ตรงนี้อยากเห็นเป็นรูปธรรม อยากเห็นว่าได้อะไรขึ้นมาบ้าง”

นางสิริวันกล่าวด้วยว่า เข้าใจที่ต้องมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำในปีนี้ เพราะผ่านมา 3 ปีแล้วที่ไม่ได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับการต้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ

“เพราะในสภาพเป็นจริง อย่างเราเดินทางไปทั่วประเทศจะทราบเลยว่าค่าครองชีพแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ตรงนี้ทางฝ่ายผู้ใช้แรงงานเคยให้สัมภาษณ์โดยยกกรณีของเซเว่นอีเลฟเว่นว่าราคาเดียวกันทั่วประเทศ แต่ความเป็นจริงคือราคาสินค้าของเซเว่นอีเลฟเว่นไม่สามารถสะท้อนภาพรวมของประเทศได้ ซึ่งในเซเว่นอีเลฟเว่นเดียวกัน คนไม่ได้เข้าทุกคน ยกตัวอย่างเซเว่นอีเลฟเว่นที่เชียงใหม่ อำเภออมก๋อย จะต่างกันเลย แล้วหากเราจะยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 อยากให้ทุกคนมีความสุขในท้องถิ่นตัวเอง ตรงนี้ต้องให้ประชากรในพื้นที่ห่างไกลอยู่ที่เดิม แล้วอุตสาหกรรมไปทำในพื้นที่นั้น ก็จะไม่มีใครไปอยู่ที่อื่น เพราะเขาอยู่ในพื้นที่ ทุกอย่างพร้อม และอยู่ในจังหวัดที่มีสาธารณูปโภคดีๆ ค่าขนส่ง ค่าเรือ ดังนั้น หากค่าแรงขั้นต่ำเท่ากัน แล้วต้องเดินทางไปอยู่ในพื้นที่ไกลๆ ถามว่าแล้วใครจะไป ถ้าไม่มีใครไป แรงงานเหล่านั้นก็ต้องไหลข้ามมาในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเราก็ไม่สามารถจะเก็บคนให้อยู่ในครอบครัวเพื่อสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวได้เลย ก็คงจะเป็นภาพที่เราเห็นตอนที่คนจากต่างจังหวัด จากภาคอีสาน วิ่งเข้ามาหางานทำในกรุงเทพ สมุทรปราการ และที่ระยอง แล้วก็จะมาอีอีซีอีก ซึ่งจะไม่มีใครไปแน่นอนถ้าค่าแรงในจังหวัดที่ค่าครองชีพสูง เท่ากับค่าแรงในจังหวัดไกลๆ ซึ่งนักลงทุนก็เหนื่อยในการเดินทาง เพราะค่าน้ำมันค่าขนส่งก็แพง ตรงนี้ไม่เห็นด้วยจริงๆ”

นอกจากนั้นนางสิริวันยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้แรงงานทั้งระบบทั่วประเทศอยู่ที่ 39 ล้านคน แต่อยู่ในระบบของประกันสังคม 13 ล้านคน ซึ่ง 13 ล้านคนนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ และจ่ายเงินสมทบประกันสังคมเดือนละ 450 บาท

“คนกลุ่มนี้จะได้อานิสงส์จากการขึ้นค่าแรง ส่วนคนที่อยู่นอกระบบประกันสังคมนั้น กระทรวงแรงงานไปดูได้เลย แทบจะไม่มีใครที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ ยกเว้นคนที่ได้ค่าแรงตามฝีมือ แต่ว่าค่าแรงขั้นต่ำนั้น คนนอกระบบไม่ได้ เมื่อค่าแรงในระบบขึ้น คนที่อยู่นอกระบบก็ต้องบริโภคสินค้าที่ค่าครองชีพสูงเท่ากัน แล้วภาคเกษตรก็มีความลำบาก พอสินค้าปรับขึ้นมาก็จะกระทบทุกภาค แล้วรัฐบาลจะดูแลตรงนี้อย่างไร”

ทั้งนี้ นางสิริวันกล่าวด้วยว่า ในส่วนของนายจ้างนั้นมองว่าเรื่องค่าแรงขั้นต่ำไม่ใช่เรื่องหลัก เรื่องหลักคือฝีมือแรงงานมากกว่า

“คือถ้าจะขึ้นเท่าไหร่ก็ได้ถ้าโปรดักส์ทิวิตี้มันได้ ถ้ามีประสิทธิภาพแรงงาน คือควรคุยกันใหม่ ควรมีในส่วนค่าแรงแรกเข้า ค่าแรงประจำปี แต่ก็เห็นใจผู้ใช้แรงงานว่าเขาอยากได้การันตีด้วยการมั่นใจว่าค่าแรงขั้นต่ำจะต้องได้เท่านี้ แล้วคำนิยามของค่าแรงขั้นต่ำขององค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าจะต้องเลี้ยงใครบ้างในครอบครัวนั้น ยุคสมัยก็ได้เปลี่ยนไปแล้ว แทบจะไม่มีบ้านไหนที่ผู้ชายออกไปทำงานคนเดียวแล้วผู้หญิงอยู่บ้าน ทุกอย่างต้องช่วยกันหมดแล้ว เพราะฉะนั้นตรงนี้อาจต้องมาดูกันใหม่ คือค่าจ้างตามอุตสาหกรรมก็ว่าน่าจะเอามาคิดดู เพราะอุตสาหกรรมแต่ละประเภทจะมีกำไรที่ต่างกัน อย่างการ์เม้นท์หรือสิ่งทอปัจจุบันมีการแข่งขันสูง ทุกอย่างลำบาก แต่อุตสาหกรรมบางประเภทมัส่วนต่างของต้นทุนกับราคาขายต่างกัน ตรงนี้ก็น่าจะแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีผ้า ค่าแรงควรจะเป็นอย่างไร เพราะกลุ่มนี้ใช้คนน้อยเพราะฉะนั้นถ้าจะได้ค่าแรงสูงๆก็จะไม่แปลก จะต้องดูว่ากลุ่มเงินทุนเข้มข้น กลุ่มแรงงานเข้มข้น ไม่ทราบว่ามีอะไรศึกษาตรงนี้หรือไม่ เพราะในบางประเทศจะมีการแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรม กรณีค่าแรงตามมาตรฐานวิชาชีพจะต้องเป็นแรงกระตุ้นให้คนงานพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานตัวเอง แต่ในเรื่องค่าแรงแรกเข้าก็ควรมี ส่วนตัวมองว่าผลการประเมิน ผลการทำงาน เพื่อพิจารณาว่าจะขึ้นค่าแรงเท่าไหร่ ก็จะเป็นการกระตุ้นให้ทุกคนพยายามที่จะพัฒนาตัวเอง และช่วยพัฒนาประเทศเราด้วย”

ส่วนในประเด็นที่ว่าเรื่องค่าแรงเป็นเรื่องที่หาข้อสรุปได้ยาก และอาจเเป็นรื่องของการเมืองด้วยนั้น นางสิริวันกล่าวว่า ไม่ต้องการแสดงความเห็นในประเด็นนี้ แต่ขอให้ดูเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ตั้งแต่สมัยนายกฯยิ่งลักษณ์ที่ทุกวันนี้ก็ยังวุ่นวายอยู่

“ยังไม่เข้าใจว่ารัฐบาลชุดก่อนเอาฐานมาจากไหน คือบางอย่างทำด้วยความรู้สึกหรืออะไรหลายอย่าง ซึ่งหลังจากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ก็ไม่ได้มีการประเมินผลกระทบ แล้วรัฐบาลหลังจากนั้นก็ไม่มีใครทำ ซึ่งรัฐบาลคสช.น่าจะหยิบมาทำก่อนที่จะพูดคุยกัน ไม่ใช่ว่าจะปรับขึ้นเท่าไหร่ แต่ผลกระทบเชิงจิตวิทยาก็พูดถึงว่ามันอาจจะเป็นเพราะไม่ได้ขึ้นมานานแล้ว ก็ควรถึงเวลาที่จะต้องปรับขึ้น แต่จะขึ้นเท่าไหร่ อย่างไร ก็ควรจะคุยกันด้วยเหตุด้วยผล...

“การตัดสินใจในภาพใหญ่คือนโยบายของประเทศต้องยกเอาข้อเท็จจริง หลักการและเหตุผล ซึ่งในส่วนผู้ประกอบการคงพูดอะไรไม่ได้ ถ้าตามกฎหมายบอกให้ปรับขึ้น เราก็ต้องขึ้น แต่ในเชิงสร้างสรรค์ว่าทำอย่างไรประเทศไทยจะแข็งแรง แข่งขันได้ ทำไมประเทศเล็กๆ ไม่มีแรงงานเข้มข้นแล้ว และตอนนี้นายจ้างหลายคนเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยี แต่ก็มีนายจ้างจำนวนมากที่ไม่มีกำลังพอที่จะเปลี่ยน แต่เขาก็ต้องเริ่มที่จะคิดถ้าค่าแรงขึ้น ซึ่งถ้ามีเหตุผลในการขึ้นเพียงพอก็เข้าใจ แต่ถ้าไม่มีเหตุผลมาสนับสนุนในการขึ้น แล้วเราจะพัฒนาคนที่ค่าแรงขั้นต่ำเข้าหาเทคโนโลยีอย่างไร ตรงนี้ก็อยากฝากไว้ เพราะยุคสมัยก็เปลี่ยน ค่าแรงขั้นต่ำก็โบราณมากแล้วด้วย”

34 views
bottom of page