เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2561 ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 มีมติเห็นชอบการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในทุกจังหวัดประจำปี 2561 มาอยู่ในช่วง 308-330 บาท/วัน (เฉลี่ย 315.97 บาท/วัน) จากอัตรา 300-310 บาท/วันในปี 2560 (เฉลี่ย 305.44 บาท/วัน) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 เป็นต้นไป โดยการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปีนี้เป็นการปรับขึ้นแบบไม่เท่ากันทั่วประเทศตามแต่ละพื้นที่โดยจัดกลุ่มจังหวัดแบ่งค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 7 ระดับ แตกต่างจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปีก่อนที่แบ่งเป็น 4 ระดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มตัวแปร เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI), ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) รวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) เข้ามาในสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแบบใหม่
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า จังหวัดที่ได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดที่ 330 บาท/วัน เป็นจังหวัดที่อยู่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งสอดคล้องไปกับนโยบายภาครัฐที่ต้องการดึงดูดแรงงานที่พอจะมีทักษะฝีมือให้เคลื่อนย้ายมาทำงานในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน จังหวัดที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราที่น้อยที่สุดที่ 308 บาท/วัน ยังเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนน้อย ค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มไม่มากแต่สอดคล้องกับค่าครองชีพของแรงงานก็น่าจะช่วยดึงดูดผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างงานในคนในพื้นที่มากขึ้นตามไปด้วย
สำหรับผลต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยร้อยละ 2.6 ในปี 25611 จะส่งผลกระทบทางตรงต่อต้นทุนของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-intensive) ให้เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 0.5 ของต้นทุนทั้งหมด ซึ่งอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในภาคบริการที่มักพึ่งพิงแรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled labor) และจ่ายค่าจ้างโดยอ้างอิงกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นหลัก ซึ่งได้แก่ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจร้านอาหารและที่พักแรม รวมถึงธุรกิจผลิตสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มและเฟอร์นิเจอร์ ตลอดจนภาคเกษตรกรรม
ในขณะเดียวกัน ธุรกิจอื่นๆ ที่แต่เดิมจ่ายค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่มากหรือพึ่งพิงแรงงานกึ่งมีฝีมือ (Semi-skilled labors) เป็นหลัก ก็อาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อมเนื่องจากจำต้องปรับเพิ่มค่าจ้างของแรงงานกึ่งมีฝีมือเพื่อรักษาระดับความต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานกึ่งมีฝีมือและแรงงานไร้ฝีมือไว้ท่ามกลางสภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัวขึ้นด้วย 2 ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของธุรกิจและอุตสาหกรรมในภาพรวมเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 0.4 ของต้นทุนทั้งหมด นอกจากนี้ ธุรกิจที่มีทางเลือกค่อนข้างจำกัดในการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SMEs จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มธุรกิจอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ
ทั้งนี้ หากภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถนำค่าจ้างแรงงานไปลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 เท่า ก็น่าจะช่วยบรรเทาภาระต้นทุนบางส่วนของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้
1 เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2561 ทำให้ค่าเฉลี่ยค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 จากปี 2560
2 ผลจากประเด็นเชิงโครงสร้างจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ประกอบกับ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ทำให้มีแรงงานต่างด้าวส่วนหนึ่งกลับภูมิลำเนาโดยอาจไม่กลับมาในไทยอีก หรือหากจะกลับเข้ามาต้องผ่านกระบวนการนำเข้าตาม MOU
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคนั้น รายได้ของแรงงานไม่มีฝีมือและแรงงานกึ่งมีฝีมือที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพบางส่วนของแรงงาน รวมถึงช่วยหนุนการใช้จ่ายของครัวเรือนให้เพิ่มขึ้นตามกำลังซื้อที่สูงขึ้น ส่งผลบวกต่อมูลค่าจีดีพีในประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการในส่วนแรงงานของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อประกอบกับต้นทุนการผลิตอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น ก็อาจทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนตัดสินใจถ่ายโอนภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นผ่านทางด้านราคาสินค้าและบริการ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า จะทำให้ระดับราคาสินค้าและบริการของผู้บริโภคในปี 2561 เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 0.06 เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ผลของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำส่วนหนึ่งได้ถูกรวมเข้ามาในการประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2561 แล้ว) โดยต้นทุนการผลิต รวมถึงระดับราคาสินค้าและบริการของผู้บริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นจะเป็นแรงกดดันต่อมูลค่าจีดีพี
อย่างไรก็ตาม รายได้ของแรงงานที่เพิ่มขึ้นก็จะช่วยหนุนมูลค่าจีดีพีได้บางส่วน ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าภายในประเทศ อาทิ กระดาษชำระ ผงซักฟอก สบู่ แชมพู ไข่ไก่ ผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำกระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทยอย่างจำกัด
ทั้งนี้ จากการประเมินผลกระทบต่อมูลค่าจีดีพีของไทยในปี 2561 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลต่อมูลค่าจีดีพีอย่างไม่มีนัยสำคัญ กล่าวคือ ผลสุทธิของมูลค่าจีดีพีจะลดลงเล็กน้อยราวร้อยละ 0.02 เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2561 ไว้ที่ร้อยละ 4.0 และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 2561 ที่ร้อยละ 1.1 ดังเดิม
Credit: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย