นักเศรษฐศาสตร์มือฉมังของเมืองไทย...ศาสตราจารย์ ดร. “ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์” ฟันธง! สถานการณ์เศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทยปี 2560 ฟื้นตัวแบบช้าๆ เหมือน 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลก จีดีพีไทยโต 4% ไม่ใช่เรื่องยาก ทั้งๆ ที่ไทยน่าจะโตกว่าโลกได้ จึงถือเป็นเรื่องไม่น่าพึงพอใจกับอัตราเติบโตเศรษฐกิจ 4% เพราะยังต้องอาศัยการลงทุนภาครัฐเป็นหลัก ในปีใหม่ชดเชยกับภาคเอกชนและการบริโภคประชาชนในประเทศที่ยังขยับตัวช้ามากและกลายเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจไทยโตได้ไม่มาก เตือนรัฐบาลอย่าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้องประชาชนแบบให้สวัสดิการโปรยทานให้ไปใช้ก่อน เพราะไม่ได้เป็นการสร้างรายได้ แนะบริหารเศรษฐกิจแบบให้คนไทยมีความรู้ความสามารถมากขึ้น และสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ จึงต้องใช้มาตรการที่ใช้ระยะเวลา/ใช้วิสัยทัศน์ ขณะที่สถานการณ์การเงิน/อัตราดอกเบี้ยโลก-สหรัฐอเมริกาปี 2017 ไม่หวือหวามาก เพราะเงินเฟ้อยังขยับไม่ได้มาก จึงไม่น่าสร้างความกังวลใจเรื่องเงินไหลออกจากไทย-ชาติกำลังพัฒนาด้วยเหตุค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับขึ้นไม่มากและจะส่งผลดีต่อเมืองไทย อาจปรับขึ้นดอกเบี้ย 1-2 ครั้ง ตาม FED ถ้าปรับขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งจริง...
- มองดูการส่งสัญญาณปลายปีของเฟดไว้อย่างไรในเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยที่ปี 2560 ขึ้น 3 ครั้ง ปี 2561 อีก 3 ครั้ง ปีต่อไปอีก 3 ครั้ง
ก็ยังไม่ง่ายเหมือนที่เฟดคิดเมื่อปีก่อน ถือว่ายังขึ้นอย่างช้าๆ อยู่ ส่วนใหญ่เฟดประเมินว่าปรับขึ้น 3 ครั้งในปี 2561 แต่ตลาดโดยทั่วไปหลายรายมองว่าอาจจะถึง 4 ครั้ง อาจเป็นเพราะคาดกันว่าเศรษฐกิจจะโตแรงเนื่องจากมีการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เรื่องนี้มีส่วนทำให้หลายฝ่ายมองว่าอาจจะปรับดอกเบี้ยขึ้นได้ถึง 4 ครั้ง แต่ส่วนตัวคาดว่าน่าจะปรับได้ 2-3 ครั้ง คงไม่ไปถึงขนาด 3-4 ครั้ง เพราะภาวะเงินเฟ้อยังขยับไม่ได้ และภาวะการว่างงานถึงแม้จะดีขึ้นจริง แต่ระยะยาวคงไม่ดีมากหรืออาจจะแย่กว่านี้ก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นด้วยสถานการณ์นโยบายการเงินคงค่อยปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมา และคงไม่ได้สร้างความกังวลใจมากมายเหมือนช่วง 2-3 ปีก่อนที่เคยรู้สึกว่าเมื่อขึ้นแล้วจะพลิกผันหรือไม่ ประสบการณ์ของตลาดมีมากขึ้นจากกรณีที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ค่อนข้างที่จะตรงเมื่อปรับขึ้น 2-3 ครั้ง
- ถ้าแผนขึ้นดอกเบี้ยเป็นอย่างที่ว่ามา ไม่ได้รุนแรงและบ่อยครั้ง จะส่งผลต่อการดำเนินงานของอียู จีน ญี่ปุ่น อย่างไร
ประเทศอื่นคงสบายใจนิดหน่อย ถ้าการเปลี่ยนแปลงนโยบายไม่แตกต่างกันมากก็จะสามารถคงนโยบายที่เคยทำมาได้ต่อเนื่องต่อไป เช่น อียู ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อนใช้มาตรการตึงตัวก็คงจะพอไปได้ แต่ก็เป็นไปได้ว่ามาตรการซื้อสินทรัพย์หรือที่เรียกว่า QE ของอียูหรือยูโรโซนอาจจะค่อยขยับออกไปได้อีก ส่วนญี่ปุ่นก็เหมือนกันที่ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากมากของเศรษฐกิจ แม้เศรษฐกิจจะดีขึ้นในช่วงที่ผ่าน แต่ก็ถือว่ายังทรงตัว เพราะฉะนั้นมาตรการ คงเหมือนอียูคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนจีนจะมีปัยหาเรื่องของภาวะหนี้สินในภาคธุรกิจซึ่งมีการก่อหนี้มาก ในบางช่วงอาจมีการปรับบ้างเล็กน้อย เช่น บางช่วงสภาพคล่องตึงตัวก็อาจจะยอมปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาหน่อย ต่อไปก็อาจจะมีลักษณะแบบนี้พอสมควร เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย อาจจะต้องมีการขยับตามสภาพคล่องบ้าง แต่ก็คงไม่เปลี่ยนแปลงมาก ก็หวังว่าปี 2561 จะเป็นปีของอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ผันผวนมากนัก สาเหตุที่เป็นแบบนี้เพราะในสหรัฐอเมริกาสถานการณ์การเมืองไม่ค่อยดี ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีปัญหาเรื่องการบริหารและการตรวจสอบหลายประเด็น ซึ่งถ้าเกิดสถานการณ์การเมืองทำลายความเชื่อมั่นของโดนัลด์ ทรัมป์ในช่วงปี 2561 สภาพแบบนี้ก็อาจจะทำให้เป็นเรื่องยากต่อการปรับค่าเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้น
สภาพโดยรวมคือ เฟดมองว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในปีนี้ดีขึ้นเล็กน้อย เป็นการมองในแง่ที่ดี แต่ถ้ามองจากทางการเมืองแล้วก็ยังมีตัวฉุดอยู่ในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน อาจจะฉุดเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนแต่ไม่ฉุดเศรษฐกิจจริง เศรษฐกิจอาจจะไปได้ เงินเฟ้ออาจจะขยับไม่มาก ซึ่งเอื้อต่อภาวะการลงทุนโดยเฉพาะทางการเงิน แต่ในด้านการผลิตคงไม่เอื้ออำนวยมากเท่าไหร่เพราะเศรษฐกิจไม่ได้ไปแรง คนที่จะลงทุนด้านเครื่องจักรคงยังไม่กล้าที่จะลงทุน ส่วนภาคที่ไม่ใช่ภาคเศรษฐกิจจริงอาจจะมีลักษณะพอไปได้บ้าง ยังต้องกังวลบ้างหากมีปัญหาความไม่แน่นอนของการเมืองหรือการตรวจสอบรัฐบาล เช่น โดนัลด์ ทรัมป์ อาจไม่สามารถผ่านมาตรการบางมาตรการได้เนื่องจากวุฒิสภาสหรัฐเริ่มพ่ายแพ้การเลือกตั้ง เริ่มสูญเสียที่นั่ง ทำให้กฎหมายที่จะผ่านออกมาล่าช้า อาจจะทำให้มีผลต่อค่าเงินดอลลาร์บ้าง ส่วนภาคการเงินที่ไม่ใช่ภาคเศรษฐกิจจริงอาจมีความผันผวนไม่มากนัก แต่โอกาสที่ค่าเงินดอลลาร์จะรีบาวด์นั้นค่อนข้างน้อย ทำให้ส่งผลต่อค่าเงินบาทที่จะแข็งขึ้นจนถึงไตรมาส 3-4 ก็เป็นการคาดคะเนที่ดูจากปัจจัยคิดว่าที่น่าจะเกิดขึ้นจากตัวแปรหลัก
- ผลกระทบต่อเมืองไทยนอกจากค่าเงินบาทแข็งขึ้นในปีนี้แล้ว ผลกระทบด้านอื่นจะเป็นอย่างไร
เงินไหลออกคงจะน้อยเนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ไม่ปรับขึ้น ถ้าเงินดอลลาร์ขึ้นทุนไหลออกไปประเทศกำลังพัฒนาจะมีมาก ก็เป็นการเกี่ยวข้องกับอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่จะปรับขึ้นไม่แรง โอกาสที่จะปรับขึ้นแรงมากคงจะยาก เพราะฉะนั้นถ้ามองในภาพรวมต่อประเทศกำลังพัฒนาและไทยจะมีด้านบวกเรื่องเศรษฐกิจที่ขยับดีขึ้นในปีนี้รวมถึงเศรษฐกิจโลก ส่วนเศรษฐกิจในประเทศไทยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการส่งออกนั้นจะมีปัจจัยสำคัญคือการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งการบริโภคภายในประเทศซึ่งเป็นตัวใหญ่จะเป็นตัวที่ขยับช้ามาก และเป็นที่ทราบดีว่าประชาชนชั้นกลางและล่างสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดี ทำให้การฟื้นตัวของภาคการบริโภคภายในประเทศมีน้อย ก็จะเป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจไทยโตได้ไม่มาก
สำหรับการลงทุนของเอกชนต้องใช้เวลาเนื่องจากยังไม่มีตัวไหนน่าลงทุน ยกเว้นภาคเศรษฐกิจแบบเดิม เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ที่ยังพอไปได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่ที่เป็นภาคอุตสาหกรรมยังมีปัญหาเรื่องการผลิตล้นอยู่ การลงทุนภาครัฐบาลมีความน่าสนใจเพราะในปีที่ผ่านมามีปัญหาการจัดตั้งบางอย่างทำให้ช้า เพราะฉะนั้นตัวเลขการลงทุนของภาครัฐบาลในปี 2560 ไม่ดี แต่ในปี 2561 คาดว่าน่าจะกลับมาฟื้นได้เนื่องจากปีที่แล้วขยับไม่ออกทำให้มาขยับปีนี้แทน เพราะฉะนั้นการลงทุนของภาครัฐบาลในปีนี้อาจจะมีมากขึ้นและชดเชยบางส่วนให้กับการบริโภคของภาคเอกชน โดยรวมเศรษฐกิจไทยน่าจะขยับตัวดีขึ้นในปี 2561 ตามเศรษฐกิจโลก แต่ก็ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกันกับเศรษฐกิจโลก คือยังไม่น่าพึงพอใจมากเท่าไหร่ เพราะโดยปกติเศรษฐกิจไทยต้องโตสูงกว่าเศรษฐกิจโลกพอสมควร แม้แต่เศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านยังโตกว่าเศรษฐกิจโลก แต่เศรษฐกิจไทยโตใกล้เคียงเศรษฐกิจโลกซึ่งไปเฉลี่ยกับลาตินอเมริกา แอฟริกา หรือตะวันออกกลาง ถือว่าไม่น่าพึงพอใจมากนัก แต่ยังดีกว่าในปีที่ผ่านมาเล็กน้อย
- มอง GDP ไทยที่คาดว่าจะโตถึง 4-5% มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
ก็มีความเป็นไปได้ อย่างเรื่องการส่งออกในตลาดโลกเริ่มขยับดีขึ้นในหลายประเทศ ยกเว้นไทยดีขึ้นน้อยกว่าประเทศอื่น แต่ก็ถือว่าดีขึ้น หากพูดถึงไทยที่โตมา 3.8% ถือว่าต่ำแล้ว โอกาสที่จะขึ้นไปถึง 4% จึงไม่ใช่เรื่องยาก และการโตกว่า 3% ถือว่าเป็นฟอร์มที่ไม่ดี โดยเฉลี่ยทั่วไปไทยน่าจะทำได้ดีกว่านี้ มีโอกาสที่จะได้ถึง 4.2% ในปี 2561 ซึ่งไม่น่าใช่เรื่องยาก
- ปี 2560 ที่ผ่านมา เฟดปรับขึ้นนโยบายดอกเบี้ย 3 ครั้ง รวมกัน 0.75% ตอนนี้อยู่ที่ 1.50% สมมุติปีนี้ขึ้นอีก 3 ครั้ง เป็น 2.25% ดอกเบี้ยไทยจะต้องทำอย่างไร
อันนี้ทำให้คนคาดคะเนมีความกังวลพอสมควร คิดว่าในขณะนี้นักการธนาคารทั่วไปจะเผื่อไว้ว่าถ้าเฟดจะปรับขึ้น 3 ครั้ง ของไทยที่น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ 1-2 ครั้ง เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะปรับขึ้นเล็กน้อยมีความเป็นไปได้ เช่น ปลายปีปรับขึ้น 0.25% ก็มีการคาดคะเนไว้แบบนี้เหมือนกัน แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่ดี การเติบโตของ GDP 4.0-4.2% ถือว่าไม่สูง แต่ก่อนไทยเคยขึ้นไปถึง 5% ส่วน GDP 3% ถือว่าแย่มาก การได้ 4% ถือว่าเบสิคมาก เพราะฉะนั้นสถานการณ์เศรษฐกิจจะทำให้นโยบายการเงินบางส่วนหรือส่วนใหญ่ไม่มั่นใจว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยได้หรือไม่ คาดเการณ์ไว้ว่าปรับขึ้น 0.25% ในปลายปีนี้ คืออาจจะขึ้นได้บ้างเล็กน้อยหรืออาจจะไม่กล้าขึ้นมากกว่านี้ แต่นักการธนาคารในแง่นักการบริหารการวางแผนภาคธุรกิจธนาคารน่าจะเผื่อไว้อยู่แล้ว เป็นการมองการบริหารแบบเผื่อขยับดอกเบี้ยขึ้นมากกว่า 1-2 ครั้ง จาก 1.50% เป็น 2% แต่เข้าใจว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงถือว่ายังบวกอยู่หรือเป็นศูนย์ ซึ่งการจะขึ้นไป 2% เป็นเรื่องที่ยากมาก
- การบริโภคของคนชั้นกลางและล่างที่ไม่ค่อยดี หนี้ครัวเรือนน่าจะเพิ่มขึ้นใช่ไหม
ตอนนี้หนี้ครัวเรือนไทยเหมือนขึ้นเพดาน แต่ไม่ขยับขึ้นแรงแล้ว แต่ก็ไม่ได้ปรับลงเหมือนกัน และรายได้ที่จะไปลดก็ไม่มี หลายปีที่ผ่านมารายได้อยู่กับคนที่มีฐานะทรัพย์สินมากหรือคนที่เป็นเจ้าของบริษัทขนาดใหญ่ ส่วนขนาดกลางและขนาดเล็กถือว่าย่ำแย่มีสถานการณ์ที่ไม่ดี ทำให้ประชาชนระดับชนชั้นกลางลงมาไม่สามารถเติมกำลังซื้อเข้ามาในภาคเศรษฐกิจได้ ก็เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องคิดแบบระยะยาวว่าจะต้องทำอย่างไร
- แล้วจะช่วยอย่างไร
การให้แบบสวัสดิการเหมือนเป็นการช่วยแบบโปรยให้ไปใช้ก่อน แต่แบบนี้ถือว่าไม่ได้สร้างรายได้ เพียงแต่ทำให้รู้สึกว่ามีคนให้เงินใช้แบบนิดหน่อย มีเงินให้ลูกไปซื้อไอศกรีมรับประทาน แต่ไม่ช่วยให้สร้างศักยภาพในการแข่งกับตลาดโลกได้ รายได้ที่โอนกันไปมาในประเทศไม่ได้สร้างอะไรมากมาย ต้องทำอย่างไรให้คนไทยมีความรู้ความสามารถมากขึ้นและสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ซึ่งตรงนี้ต้องใช้มาตรการที่ใช้ระยะเวลาและใช้วิสัยทัศน์ คนที่ต้องเดินนโยบายแบบนี้ต้องมีความรู้ ถ้าไม่มีความรู้และความเข้าใจก็คิดแค่ว่าเอาระยะสั้นก่อนจึงแจกเงินหรือสวัสดิการเพราะเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด เรียกว่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำถ้ามองในแง่สมัยหนึ่งที่เคยพูดถึงเงินผันและมีการพูดถึงการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำก็จะมีความคล้ายกัน เพราะฉะนั้นหลักใหญ่เป็นเรื่องแก้ไขที่ยากมาก และจะทำอย่างไรให้ประชาชนสนใจเรื่องความรู้และความสามารถมากขึ้น ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องรณรงค์ หากรัฐบาลไปเพิ่มเบี้ยคนจน เบี้ยยังชีพ บำนาญ ก็จะดูง่ายเกินไป เหมือนไม่มีทางที่ไปได้ดีกว่านี้ จะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของคนที่มองเศรษฐกิจแบบระยะยาว
- ถ้าไม่เปลี่ยนคนบริหารก็จะคิดแบบเดิมใช่ไหม
ก็ต้องเปลี่ยนคน เพราะเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด เพราะในที่สุดก็ได้คนแบบเดิมมาบริหาร แต่ถ้ามองในเชิงปฏิรูปหรือในโครงสร้างคิดว่าใช้ระยะเวลานาน ถ้าทำตั้งแต่ 5-10 ปีที่แล้วคิดว่าประเทศไทยไปไกลกว่านี้พอสมควร 1. การใช้นโยบายระยะยาวก็ยังมองไม่ออกเหมือนกัน 2. อยากจะทำแต่ติดขัดมากมีอุปสรรคและมีปัญหาระยะสั้นมากวนใจตลอดเวลา เหมือนกับเป็นประเทศที่ไม่ปฏิรูป โอกาสที่จะปฏิรูปก็จะน้อยลง คือการจะแก้ ใช้มาตรการดีก็คงคิดไม่ออก หรือทำไปแล้วคนไม่เห็นด้วย
- พูดถึงเงินสกุลดิจิทัล มองเรื่องอย่างไร
เป็นสินทรัพย์ชนิดหนึ่งที่คนเชื่อว่ามีค่า แต่เป็นความเชื่อของผู้ใช้ไม่ได้เป็นของรัฐบาล รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกันว่ามีมูลค่าแบบนั้นจริง ตราบใดที่ประชาชนหรือผู้ใช้เชื่อว่ามีมูลค่ามาก เช่น บิทคอยน์มีมูลค่าถึงแสนดอลลาร์ฯ ซึ่งตลาดก็เชื่อแบบนี้และอาจจะไปมากกว่านั้น ก็อาจจะเป็นไปได้เพราะบิทคอยน์มีน้อยแต่คนอยากใช้เยอะ แต่ที่จริงแล้วบิทคอยน์ไม่มีเงินตราจริงก็อาจจะเป็นการโฆษณาเกินจริงนิดหน่อยว่าเป็นเงินตรา อาจจะไม่ใช่เงินตราแต่เป็นสินทรัพย์ชนิดหนึ่ง เพราะถ้าเป็นเงินตราต้องซื้อขายแลกเปลี่ยนได้จริง ขณะนี้ซื้อขายและเปลี่ยนได้เฉพาะชุมชนหรือเฉพาะคนที่เล่น เงินตราที่ใช้จริงต้องสามารถใช้จ่ายได้จริงหรือซื้อขายได้จริง
- มองว่าจะน่ากลัวเมื่อเป็นเงินที่ชำระหนี้ตามกฎหมายแล้วปฎิเสธไม่ได้ใช่ไหม
ถูกต้อง สมมุติว่าไปซื้อบิทคอยน์ได้ แต่จะนำบิทคอยน์มาขายเป็นเงินบาทคิดว่าน่ากลัวหรือไม่ จะขายเป็นเงินบาทหรือเงินดอลลาร์ แล้วจะแจ้งว่าเอามาจากไหน แจ้งไม่ได้ เพราะเงินก้อนนั้นเป็นเงินที่ยังไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีใบเสร็จว่าได้เงินบิทคอยน์มาจากไหน ไม่มีใครรู้ ไม่มีตัวกลางที่จะมารีพอร์ต
- หลายประเทศออกมาควบคุมหรือแบน แสดงว่าน่ากลัวเหมือนกัน
ในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา มองว่าตัวใครตัวมัน อยากได้เงินจากล็อตเตอรี่หรือบิทคอยน์ก็เป็นเรื่องของคนซื้อ ถ้าขาดทุนก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ก็ไม่มีใครห้ามหรือยุ่ง แต่ตอนหลังจำนวนมากขึ้น แล้วขยายตัวเพิ่ม และจะมีการทำเป็นกองทุนฯ ทำให้ผลกระทบที่เชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจการเงินของรัฐบาลมีมากขึ้น ธนาคารการันตีความสามารถในการชำระหนี้ตามกฎหมายของเงินตราสกุลต่างๆ และเงินก้อนนั้นไม่รู้ว่าจะถูกเอาไปเกี่ยวข้องกับเงินพวกนี้มากน้อยแค่ไหน และกระทบอย่างไร เพราะฉะนั้นธนาคารกลางบางประเทศเริ่มกังวลจึงเริ่มสกัดไม่ให้มายุ่ง ขณะนี้ธนาคารกลางของโลกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเห็นพิษสงว่าจะอันตรายในอนาคต กลุ่มที่สองมองว่าไม่เป็นไรเพราะเป็นการเจริญทางการเงินของโลก กลุ่มที่สามเป็นกลุ่มใหญ่ที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี คือไม่มีไอเดียว่าผิดกฎหมายหรือไม่ควรผิดกฎหมาย
- ปี 2561 คนไทยต้องระวังอะไรบ้าง
ก็จะคล้ายกันกับ 2-3 ปีที่ผ่านมามาก คือเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยฟื้นช้าแต่ฟื้นตัว ประชาชนยังติดกับดักเรื่องหนี้สิน NPL ยังเป็นปัญหาที่ยังต้องกังวลอยู่ ถึงแม้ว่ายังต่ำอยู่แต่ก็ต้องระวัง เพราะฉะนั้นแนวทางของประชาชนโดยทั่วไปต้องดูว่าตัวเองเป็นธุรกิจประเภทใหญ่ กลาง หรือ เล็ก ตัวเองเป็นผู้บริโภคหรือผู้ใช้แรงงาน หลักใหญ่ต้องบริหารการเงินให้ดี สำหรับคนที่พอมีหรือมีเงินออมมากพอสมควรก็ต้องเรียนรู้การบริหารการเงิน ถ้าจะไปซื้อพันธบัตรหรือฝากเงินธนาคารก็ต้องคิดดูว่าอัตราผลตอบแทนต่ำมาก ต้องไปคิดว่าจะบริหารอย่างไร เพราะถ้าพันธบัตรของกฎหมายใหม่ออกมาว่ามีการเก็บภาษีด้วย หรืออย่างกองทุนพันธบัตรจะต้องเสียภาษีหรือไม่ ก็ต้องติดตามและต้องจัดโครงสร้างการลงทุนหรือพอร์ตฟอลิโอให้มีความพอเหมาะพอควรกับตัวเรา ส่วนประชาชนระดับล่างมากที่มีเงินเดือนชนเดือนหรือต้องไปกู้ยืม ต้องหาแหล่งเงินกู้ในระบบเพราะเป็นแหล่งที่มีรัฐบาลกำกับดูแลช่วยเหลืออยู่ อย่างน้อยมีทางการคอยปกป้องคุ้มครอง อย่างไมโครไฟแนนซ์ คาร์ฟอร์แคช ขอให้เป็นหนี้ในระบบ