top of page
312345.jpg

สรุปข่าวต่างประเทศ ประเด็นดังปี 2560

หลังจาก นายคิม จอง อิล ผู้นำเกาหลีเหนือ มีท่าทีจะประกาศสงครามกับสหรัฐมาตลอด ต่อมาเกาหลีเหนือเริ่มมีท่าทีอ่อนลง และต้องการเจรจากับสหรัฐนั้น นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ชี้แจงว่าเกาหลีเหนือจะต้องประพฤติตนให้สมควรต่อการกลับมาร่วมโต๊ะเจรจากับสหรัฐ ในเรื่องโครงการพัฒนานิวเคลียร์อีกครั้ง โดยจะต้องล้มเลิกการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ให้ได้อย่างยั่งยืนถาวรเสียก่อน หลังจากทางทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐ ออกมาแถลงปฏิเสธไม่ยอมรับท่าทีอ่อนข้อต่อเกาหลีเหนือในเวทีประชุมด้านนโยบาย Atlantic Council ที่กรุงวอชิงตัน ซึ่งนายทิลเลอร์สันกล่าวในเวทีนี้ว่า สหรัฐพร้อมเข้าสู่การเจรจากับเกาหลีเหนือในเรื่องโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ทุกเวลา โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะจุดยืนของประธานาธิบดีสหรัฐ ในเรื่องนี้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยเห็นว่าเกาหลีเหนือกระทำการที่เป็นอันตราย ไม่เพียงต่อเพื่อนบ้านอย่างจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายต่อทั้งโลก ซึ่งเกาหลีเหนือจะต้องยอมล้มเลิกโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ก่อนเท่านั้น จึงจะสามารถเข้าสู่การเจรจากับสหรัฐ ได้

กาตาลุญญา (Catalonia) เป็น 1 ใน 17 แคว้นที่มีอำนาจปกครองตนเองของสเปน แคว้นกาตาลุญญาประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ บาร์เซโลนา, ฌิโรนา, เยย์ดา และตาร์ราโกนา ได้รับการกำหนดให้เป็นชาติตามธรรมนูญการปกครองตนเองของแคว้น โดยมี บาร์เซโลนาเป็นเมืองหลวง และเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของสเปน อีกทั้งยังเป็นมหานครอุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของยุโรป ทำให้กาตาลุญญาเป็นแคว้นที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจมากที่สุดของสเปน การทำประชามติแยกออกมาเป็นสาธารณรัฐของชาวกาตาลันในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล ทำให้คืนก่อนการเลือกตั้ง ประชาชนได้ออกมานอนเฝ้าคูหาเลือกตั้งเพื่อรักษาสิทธิพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็น การลงประชามติจึงเกิดขึ้นท่ามกลางความวุ่นวายเมื่อรัฐบาลกลางส่งกองกำลังเข้ามาสกัด รัฐบาลกาตาลันระบุว่า คูหาถูกปิดไปกว่า 319 คูหา ขณะที่รัฐบาลกลางสเปนระบุว่า ปิดไปทั้งหมด 92 คูหา

ทั้งนี้ ผลจากอีกราว 2,000 คูหามีผู้ออกมาใช้สิทธิ 2.2 ล้านคนจาก 5.3 ล้านคน ราว 90% ต้องการแยกตัวเป็นอิสระ รัฐบาลกาตาลันระบุว่า มีอีกกว่า 7 แสนเสียงที่ไม่สามารถนับได้เนื่องจากคูหาถูกปิดไป โดยความรุนแรงจากการปะทะที่เกิดขึ้นยังทำให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 800 ราย หลังการลงประชามติ นายมาเรียโน ราฮอย นายกรัฐมนตรีสเปน ประกาศแข็งกร้าวไม่ยอมรับรองการลงประชามติครั้งนี้ ส่วย นายการ์เลส ปุจเดมอนต์ ประธานาธิบดีกาตาลุญญาได้ระงับการประกาศการแยกตัวเป็นเอกราช เพื่อให้มีการเจรจากับรัฐบาลกลางก่อน ในที่สุดผู้นำการลงประชามติต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ

วิทยาลัย St Hugh’s ภายใต้สังกัดมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นที่ที่ นางอองซาน ซูจี เคยศึกษาในระดับปริญญาตรี ได้รื้อภาพวาดนางซูจีออกจากทางเข้าหลักของวิทยาลัยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน 2560 ภายหลังจากที่ นางอองซาน ซูจี ถูกนานาชาติกดดันและวิพากษ์วิจารณ์ท่าทีในวิกฤตโรฮินญา ทั้งนี้ การปลดภาพวาดนางซูจีเกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันก่อนการเปิดภาคเรียนใหม่ในปี 2560

ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ นางอองซาน ซูจี ได้รับการชื่นชมและเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองภายหลังได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด รวมถึงการฉลองเนื่องในวันคล้ายวันเกิดอายุ 67 ปีของนางซูจีในวิทยาลัยที่เธอเคยเรียน ซึ่งนางอองซาน ซูจี เข้าเรียนในวิทยาลัยเซนต์ฮิวจ์ในช่วงระหว่างปี 1964-1967 ในสาขาวิชารัฐศาสตร์ ปรัชญาและเศรษฐศาสตร์

ต่อมา นางอองซาน ซูจี ในฐานะผู้นำรัฐเมียนมา ได้ถูกวิพากษ์อย่างหนักต่อท่าทีวิกฤตการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ อันเป็นเหตุให้มีผู้อพยพราว 5 แสนคนภายในเวลาเพียงหนึ่งเดือน

ในแถลงการณ์ของวิทยาลัยเซนต์ฮิวจ์ระบุว่า ทางวิทยาลัยเพิ่งได้รับของขวัญเป็นภาพวาดชิ้นใหม่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งจะนำมาจัดแสดงในช่วงหนึ่ง ในส่วนภาพวาดซึ่งเป็นรูป นางอองซาน ซูจี นั้นได้ถูกปลดและนำไปเก็บไว้ในห้องเก็บของเเล้ว ในวารสารของวิทยาลัยระบุว่า การตัดสินใจปลดภาพของนางซูจีลงนั้น เป็นการตัดสินใจโดยคณะบริหารของวิทยาลัย ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มศิษย์เก่าของวิทยาลัย และอธิการบดี

สำหรับภาพวาดดังกล่าวเป็นการวาดภาพเสมือนโดย Chen Yanning ในปี 1997 เป็นสมบัติของสามีของนางซูจี นายไมเคิล อาริส ซึ่งเป็นนักวิชาการอยู่ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ภายหลังจากการเสียชีวิตของนายอาริส ในปี 1999 ภาพวาดนางซูจี ถูกนำมาจัดวางไว้บริเวณโถงทางเข้าของวิทยาลัยเซนต์ฮิวจ์ที่ตั้งอยู่บนถนนมาร์กาเรต ทางฝั่งเหนือของออกซ์ฟอร์ด

1. การกราดยิงในงานคอนเสิร์ตลาสเวกัส

เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เมื่อมีการกราดยิงในงานคอนเสิร์ตลาสเวกัส โดยคนร้ายยิงอาวุธจากห้องพักชั้นบนของโรงแรมมัณฑะเลย์ เบย์ ในลาสเวกัสเข้าใส่ฝูงชนในงานเทศกาลดนตรีกลางแจ้งซึ่งจัดขึ้นใกล้กับโรงแรม ส่วนมือปืนฆ่าตัวตายในที่เกิดเหตุ นับเป็นเหตุสังหารหมู่ที่เลวร้ายที่สุดในสหรัฐ มีผู้เสียชีวิต 59 ศพ บาดเจ็บ 527 คน

2. เหตุโจมตีบนรถใต้ดินลอนดอน

นับเป็นวิกฤตซึ่งเป็นระดับสูงสุดอีกครั้งในประเทศอังกฤษ เมื่อเกิดเหตุโจมตีบนรถไฟใต้ดินเมื่อ15 กันยายน 2560 มีผู้บาดเจ็บ 30 ราย รัฐบาลอังกฤษประกาศระดับเตือนภัยก่อการร้ายขั้น "รุนแรง" หมายความว่าการก่อการร้ายไม่ได้เป็นอันตรายที่ใกล้ตัวมากอีกต่อไป และยังคงมีโอกาสสูงที่จะเกิดขึ้น ฝ่ายตำรวจจับตัวผู้ต้องสงสัยชายรายที่ 2 ซึ่งมีอายุ 21 ปี ได้ที่เมืองฮันส์โลว์ ทางตะวันตกของกรุงลอนดอน หลังการจับกุมชายวัย 18 ปีที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อเหตุระเบิดบนรถไฟใต้ดินที่สถานีพาร์สันส์ กรีน ต่อมา ซึ่งตำรวจได้เข้าตรวจค้นที่พักแห่งหนึ่งในสแตนเวลล์ มณฑลเซอร์รีย์ นอกจากนี้ ยังได้จับชายต้องสงสัยคนที่ 2 มีเอี่ยววางระเบิดรถไฟใต้ดินลอนดอน

3. กราดยิงในมัสยิดที่ควิเบก

เกิดเหตุสยองขวัญ การกราดยิงที่มัสยิดของศูนย์วัฒนธรรมอิสลามควิเบกในย่านแซงต์ฟัวของนครควิเบก ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2560 ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 ราย เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่ามีผู้ถูกจับกุมแล้ว 2 ราย โดยรายหนึ่งถูกจับกุมในที่เกิดเหตุ และอีกรายหนึ่งถูกจับได้ในเวลาต่อมา โดยขณะเกิดเหตุมีผู้อยู่ในมัสยิดประมาณ 50 คน และมีผู้บาดเจ็บ 8 คน ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า มือปืนที่บุกเข้าไปในมัสยิดมีประมาณ 3 คน มีการใช้อาวุธหนักและผู้ก่อเหตุมีความชำนาญด้านยุทธวิธี แต่ตำรวจสันนิษฐานว่าไม่น่าจะมีผู้ก่อเหตุคนอื่นอีก ด้าน นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ออกแถลงการณ์ประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ฟิลิปป์ คูยาร์ด มุขมนตรีควิเบกย้ำว่า ไม่ยอมรับการกระทำอันป่าเถื่อนรุนแรงครั้งนี้ พร้อมเรียกเหตุที่เกิดขึ้นว่าเป็นพฤติการณ์ก่อการร้าย และขอแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวมุสลิมในควิเบก

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ทำพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐ ที่อาคารรัฐสภา กรุงวอชิงตัน ดีซี พร้อมกล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดี คนที่ 45 ที่เน้นย้ำจุดยืนสร้างประเทศสหรัฐให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งนายทรัมป์ วัย 70 ปี ยกมือขวาขึ้นและวางมือซ้ายลงบนคัมภีร์ไบเบิล เล่มเดียวกับอับราฮัม ลินคอล์น พร้อมทั้งกล่าวคำสาบานตน 35 คำในรัฐธรรมนูญสหรัฐ หลังจากสาบานตนแล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวสุนทรพจน์รับตำแหน่งด้วยนโยบาย “Only America First” หรือ “อเมริกาเป็นอันดับแรก” ด้วยการเน้นการสร้างงานเพื่อชาวอเมริกัน ส่งเสริมให้มีการจ้างงานภายในประเทศ ทวงตำแหน่งงานจากต่างประเทศกลับมายังดินแดนสหรัฐ รวมทั้งดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การผ่านเข้าเมือง ที่เอื้อประโยชน์ต่อชาวอเมริกันเป็นอันดับแรก ทั้งยังขอให้ชาวอเมริกันรวมใจกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อนำประเทศสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง แม้จะต้องเผชิญอุปสรรคนานัปการในอนาคตอันใกล้ และร่วมกันบริหารประเทศผ่านทางรัฐบาลชุดนี้ที่เป็นของประชาชน และมาจากประชาชน

นายทรัมป์ ยังกล่าวด้วยว่า ทุกๆ การตัดสินใจในเรื่องการค้า ภาษี คนเข้าเมือง กิจการต่างประเทศ จะกระทำเพื่อประโยชน์ของแรงงานชาวอเมริกันและครอบครัวอเมริกัน ต้องปกป้องพรมแดนประเทศจากประเทศอื่นที่เข้ามาทำลายล้างผลผลิตของสหรัฐ ขโมยงานของบริษัทอเมริกันและทำลายตำแหน่งของประเทศสหรัฐ นอกจากนี้จะสร้างถนนใหม่ รวมทั้งทางหลวง สะพาน สนามบิน อุโมงค์ และเส้นทางรถไฟใหม่ทั่วประเทศ จะทำให้ชาวอเมริกันทุกคนเข้าถึงสวัสดิการและกลับมามีงานทำ สร้างประเทศสหรัฐด้วย รวมทั้งจะกำจัดกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมให้หมดสิ้นไปจากโลกนี้

หนุ่มนักวิจัยด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ชาวอังกฤษ วัย 22 ปี ซึ่งใช้นามแฝงในการเขียนบล็อกและเป็นชื่อบัญชีทวิตเตอร์ว่า "มัลแวร์เทค" (MalwareTech) ค้นพบช่องโหว่ทางเทคนิคของมัลแวร์เรียกค่าไถ่ WannaCry ที่เข้าโจมตีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วโลกเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2560 จนทำให้เขาสามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของมัลแวร์ดังกล่าวลงได้ นักวิจัยคนดังกล่าวชี้แจงว่า ระหว่างลาหยุดพักร้อน 1 สัปดาห์ขณะที่ได้ยินข่าวการโจมตีครั้งใหญ่ของมัลแวร์ WannaCry ซึ่งทำให้ตัดสินใจลงมือค้นหาต้นตอของมัลแวร์เรียกค่าไถ่ตัวนี้ทันที โดยต้องอดนอนอยู่ทั้งคืนจนได้พบรหัสหยุดยั้งการทำงานของมันเข้าโดยบังเอิญ บรรดานักโจมตีทางไซเบอร์มักเขียนรหัสทำลายตนเองเช่นนี้แฝงไว้ในมัลแวร์ของตน เพื่อใช้หยุดยั้งการแพร่ระบาดในกรณีที่เกิดความผิดพลาดหรือไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถือเป็นการป้องกันการตรวจสอบจากนักวิจัยทางไซเบอร์อย่างเขา แต่ในครั้งนี้แผนการดังกล่าวกลับถูกตลบหลังโดยบังเอิญ เพราะเปิดช่องให้นักวิจัยเข้าไปหยุดการแพร่กระจายตัวของมัลแวร์ได้จากระยะไกล ทั้งนี้ มัลแวร์เรียกค่าไถ่โจมตี 99 ประเทศทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของ "มัลแวร์เทค" นั้นเพียงหยุดยั้งการแพร่ระบาดของ WannaCry ทั่วโลก แต่ไม่สามารถแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบคอมพิวเตอร์ที่ถูกมัลแวร์นี้เข้าโจมตีไปแล้วได้ ผู้เชี่ยวชาญยังเตือนว่า ในอนาคตจะมีมัลแวร์เรียกค่าไถ่ในลักษณะเดียวกันออกมาทำการโจมตีอีกอย่างแน่นอน และจะไม่สามารถหยุดยั้งได้ด้วยวิธีการเดิม

ในรอบปี 2560 มีการเลือกตั้งทั่วไปในหลายประเทศ ผลการเลือกตั้งมีทั้งนักการเมืองหน้าเก่าและหน้าใหม่ได้เป็นผู้นำ ตามสถานการณ์ของแต่ละประเทศ ดังนี้...

1. การเลือกตั้งในเยอรมนี

การเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2560 เป็นการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปครั้งที่ 4 ในปี 2017 ตามหลังเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร การเลือกตั้งข้างต้นทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากผลประชามติออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2559 ตลอดปีที่ผ่านมาทั่วโลกต่างจับตาดูว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำของประเทศในการเลือกตั้งเหล่านี้บ้าง เพราะนโยบายต่างประเทศย่อมกำหนดหน้าตาของสหภาพยุโรปในอนาคต ก่อนหน้านี้แม้ว่าพรรคการเมืองและนักการเมืองฝ่ายขวาจัดจะได้รับความนิยมมากกว่าในอดีต ขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีครั้งนี้ คือการเลือกตั้งทั่วไปที่ประชาชนจะได้ตัดสินใจเป็นครั้งแรกตั้งแต่เยอรมนีมีนโยบายเปิดรับผู้อพยพ ทำให้เยอรมนีมีผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเข้าประเทศหลักล้านคน แม้แต่นายกรัฐมนตรี แองเจลา แมร์เคิล ก็ยังโดนวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในประเทศและในภูมิภาค แต่ในที่สุด แองเจลา แมร์เคิล ก็ชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 4

2. เลือกตั้งในฝรั่งเศส

ผลการเลือกตั้งในฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2560 ปรากฏว่า นายเอ็มมานูเอล มาครง นักการเมืองหนุ่มวัย 39 ปี ที่เพิ่งตั้งพรรคอองมาร์ช เมื่อไม่นานมานี้ แต่กลับมาแรงแซงหน้า นางมารีน เลอแปน จากฝ่ายขวา จนได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซึ่งประธานาธิบดีคนใหม่มีแนวคิดว่า ต้องมีการปฏิรูปสหภาพยุโรป หรืออียู ไม่เช่นนั้นฝรั่งเศสอาจจะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกอียู หรือ 'เบร็กซิต' ที่ผ่านมา นายมาครง เป็นผู้นำพรรคอองมาร์ช พรรคสายกลางที่สนับสนุนอียู และเห็นว่าสิ่งที่ต้องทำคือการปฏิรูปเชิงลึกในสหภาพยุโรป และแผนการของยุโรป หลังชนะการเลือกตั้ง นายมาครงได้เดินทางเยือนอนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกรุงปารีสด้วย เพื่อรำลึกถึงชาวฝรั่งเศสเชื้อสายยิวที่ถูกส่งตัวไปให้แก่เยอรมนีสมัยที่นาซีปกครอง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

3. การเลือกตั้งในนิวซีแลนด์

นางสาวเจซินดา อาร์เดิร์น นักการเมืองหญิงคนดังจากพรรคฝ่ายซ้าย อายุ 37 ปี ขึ้นแท่นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของนิวซีแลนด์ ควบตำแหน่งผู้นำที่อายุน้อยที่สุดในรอบ 161 ปี ตั้งแต่ปี 2399 ท่ามกลางการฉลองของกลุ่มผู้สนับสนุนที่ต่างเห็นว่า นางสาวอาร์เดิร์นเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ไฟแรง เหมือน นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา วัย 45 ปี และ นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส อายุ 39 ปี หลังจากผลการเลือกตั้งนิวซีแลนด์เสร็จสิ้นมานานเกือบ 1 เดือน นางสาวอาร์เดิร์นได้ขึ้นเป็นนายกฯ หลังจาก นายวินสตัน ปีเตอร์ หัวหน้าพรรคนิวซีแลนด์เฟิร์สต์ ฝ่ายกลาง ซึ่งได้คะแนนเป็นอันดับสามในการเลือกตั้งเมื่อ 23 กันยายน 2560 ที่ 7.20% ตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคแรงงาน นโยบายกลาง-ซ้าย ของนางสาวอาร์เดิร์นซึ่งมีคะแนนเป็นอันดับสอง 36.89%

4. การเลือกตั้งในญี่ปุ่น

ผลการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นเมื่อ 22 ตุลาคม 2560 ปรากฏว่า นายชินโสะ อาเบะ ได้ชัยชนะถล่มทลาย กลับมารับตำแหน่งตามเดิม พรรคการเมืองหลายพรรคอยากแก้ไขมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญ ให้ญี่ปุ่นมีกองทัพได้ แต่ในช่วงที่ผ่านมา เสียงสมาชิกสภา ไม่เคยถึงเกณฑ์ การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่จำนวนสมาชิกจากพรรคการเมืองที่สนับสนุนให้แก้ไขมาตรา 9 รวมกันแล้วเกินสองในสามของทั้งสองสภา จึงเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นกำลังจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แม้จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้มีน้อยมาก คือเพียง 53.69% น้อยเป็นอันดับสองรองจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 ที่มี 52.66% แต่การเลือกตั้งครั้งนี้มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าสนใจหลายอย่าง

5. การเลือกตั้งในอังกฤษ

แม้แผนที่จะลดแรงต่อต้านในสภาของ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะไม่สำเร็จ หลังผลการเลือกตั้งที่ชี้ว่าพรรคอนุรักษนิยมเสียงข้างมากในสภา เข้าสู่ภาวะสภาชะงักงัน ท่ามกลางการเจรจาเบร็กซิต และภัยก่อการร้ายที่กำลังคุกคามประเทศอังกฤษ แต่ผลการนับคะแนน พรรคอนุรักษ์นิยมมีคะแนนทั้งหมด 318 ที่นั่ง พรรคแรงงานได้ไป 261 ที่นั่ง พรรคสกอตติชเนชั่นแนล มี 35 ที่นั่ง พรรคเสรีประชาธิปไตย 12 ที่นั่ง พรรค DUP 10 ที่นั่ง และพรรค OTH 13 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้มีประชาชนออกมาใช้สิทธิ 68.7% เพิ่มขึ้น 2% จากการเลือกตั้งปี 2015 ผลการเลือกตั้งค่อนข้างเหนือความคาดหมาย พรรคอนุรักษนิยม เสียเสียงข้างมากในสภาไป พรรคแรงงานได้ที่นั่งเพิ่มมา 29 ที่ ซึ่งนับเป็นการได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 20 ปี

กาตาร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก รายได้หลักของกาตาร์คือการส่งออกก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน โดยประเทศแห่งนี้ตั้งอยู่ในคาบสมุทรที่ยื่นออกไปในอ่าวเปอร์เซีย มีขนาดพื้นที่ 11,437 ตารางกิโลเมตร ซึ่งนับว่าเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่อยู่ทางทิศใต้ สำหรับปัญหาความร้าวฉานระหว่างกาตาร์กับประเทศในโลกอาหรับ ที่ลุกลามบานปลายจนถึงขั้นตัดความสัมพันธ์ทางการทูตนั้นมีหลายประการ สามารถสรุปเป็นกระเด็นหลักๆ ได้แก่ การถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มภราดรภาพมุสลิม และ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศอิหร่าน

เนื่องจากซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านเป็นประเทศคู่ปรับตลอดกาลอิหร่านเป็นประเทศมุสลิมชีอะห์ ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของซาอุดีอาระเบียเป็นชาวสุหนี่ และซาอุดีอาระเบียไม่ต้องการให้อิหร่านก้าวขึ้นมามีอิทธิพลในภูมิภาค

กลุ่มมหาอำนาจในโลกอาหรับ ที่ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ ประกอบด้วย 7 ประเทศ นำโดย ซาอุดีอาระเบีย ส่วนประเทศอื่นๆ คือ อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน เยเมน ลิเบีย และมัลดีฟส์

การตัดสัมพันธ์ดังกล่าวนับเป็นความขัดแย้งร้าวฉานครั้งใหญ่ที่สร้างผลกระทบอย่างหนักต่อกาตาร์ในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจ อาหาร การบิน ไปจนถึงเรื่องฟุตบอลโลกที่กาตาร์จะเป็นเจ้าภาพในปี 2022 ทั้งนี้ การประกาศคว่ำบาตรกาตาร์เกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา เยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ โดยประธานาธิบดีทรัมป์เสนอแนะให้กลุ่มประเทศอาหรับร่วมมือกันเพื่อต่อต้านกลุ่มก่อการร้าย และได้กล่าวโจมตีอิหร่านว่าอยู่เบื้องหลังความไม่สงบสุขที่เกิดขึ้นในตะวันออกลาง

นิตยสารไทม์ ประกาศให้ "The Silence Breakers" กลุ่มผู้ที่เปิดเผยเรื่องราวของตนเองที่โดนล่วงละเมิดทางเพศ เป็น บุคคลแห่งปี หรือ Person of the Year 2017

ทั้งนี้หลังจาก เอลิซสา มิลาโน ดาราสาวนักเคลื่อนไหว แชร์ข้อความในเฟซบุ๊ก และทวีตข้อความไปยังกลุ่มผู้ติดตามว่า “หากคุณถูกคุกคามหรือถูกโจมตีทางเพศ ให้เขียนคำว่า ฉันก็ถูกกระทำด้วย” กลายเป็นกลุ่ม MeToo ทำให้มีแฮชแท็กถูกทวีตเกือบ 1 ล้านครั้งภายในเวลา 48 ชม. (โดยแฮชแท็ก MeToo ก่อตั้งโดยนักเคลื่อนไหว ทารานา เบอร์เค บนทวิตเตอร์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว) เพื่อปลุกสังคมต่อต้านความรุนแรงทางเพศ

ไทม์ ระบุว่า เรื่องที่เกิดขึ้นคือการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคมที่รวดเร็วที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาในรอบหลายทศวรรษ เริ่มต้นจากกระทำที่กล้าหาญของผู้หญิงหลายร้อยคน และผู้ชายบางส่วน คนเหล่านั้นที่ออกมาเล่าเรื่องราวของตนเอง จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คือ บุคคลแห่งปี 2017

484 views
bottom of page