top of page
312345.jpg

ปัญญาประดิษฐ์: เปลี่ยนโลกทำงานปี 2573


ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และระบบอัตโนมัติ (Automation)จะส่งผลกระทบการดำเนินธุรกิจและรูปแบบการทำงานของมนุษย์ในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้เชื่อว่าจะยังไม่สามารถทดแทนแรงงานมนุษย์ได้เต็มร้อยโดยประเมินโลกของการทำงานและผลกระทบที่จะมีต่อแรงงานในปี 2573 ออกเป็น 4 รูปแบบพร้อมมององค์กรและบุคลากรของไทยยังไม่ตื่นตัวกับเรื่องนี้ดีพอ แนะต้องเริ่มเรียนรู้และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะของบุคลากร หลังเทคโนโลยีรุกคืบการทำธุรกิจในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ

นางสาวภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwCประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Workforce of the future: the competing forces shaping 2030 ที่ได้สำรวจประชากรจำนวน10,000 คนในสาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร และ สหรัฐอเมริกา ว่าในอนาคตปัญญาประดิษฐ์(Artificial Intelligence: AI) และระบบอัตโนมัติ(Automation)จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและแรงงานมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้คาดว่า แนวโน้มของรูปแบบการทำงานในปี 2573 จะเปลี่ยนแปลงไป โดยมีความซับซ้อนและแข่งขันกันเข้มข้นมากขึ้นขณะที่การกำกับดูแลและกฎระเบียบต่างๆ ของภาครัฐ จะถูกปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะนำมาบังคับใช้กับภาคธุรกิจ สังคม และแรงงานมนุษย์เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในสถานที่ทำงาน

นางสาวแครอล สตับบิงส์ หุ้นส่วนและหัวหน้าร่วมสายงานทรัพยากรบุคคลและองค์กรบริษัท PwCโกลบอล กล่าวว่า แม้ว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีจะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อผู้ถูกสำรวจ โดย 37%รู้สึกตื่นเต้นกับโลกของการทำงานในอนาคต แต่ก็ยังแสดงความกังวลว่า ระบบอัตโนมัติจะส่งผลให้งานในบางตำแหน่งเกิดความเสี่ยงเห็นได้จาก 37% ของผู้ถูกสำรวจกังวลว่า ระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแทนที่งานของพวกเขาเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่ 33 % และยังมีผู้ถูกสำรวจมากกว่าครึ่งที่คิดว่าหน่วยงานภาครัฐควรหามาตรการช่วยเหลือและป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างจริงจัง

“ความเป็นจริงที่ว่า.. การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด...ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานแล้ววันนี้ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ เห็นได้จากรายงานของเราที่ 60% ของผู้ถูกสำรวจเชื่อว่าในระยะต่อไปจะมีพวกเราเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะมีการงานที่มั่นคงและยืนยาวไปตลอด เพราะเดี๋ยวนี้คนต่างต้องมองหาและพัฒนาทักษะใหม่ๆทุกๆ2-3ปี เพื่อนำมาเสริมทักษะเดิมที่มีอยู่และยังต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะส่วนบุคคลในด้านอื่นๆเช่นการบริหารความเสี่ยงภาวะความเป็นผู้นำและการบริหารจัดการอารมณ์ของตนด้วย”

รายงานระบุว่า โดยทั่วไปแล้วผู้ถูกสำรวจส่วนใหญ่หรือ 65% เชื่อว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยปรับปรุงแนวโน้มการทำงานให้ดีขึ้น โดยผู้ถูกสำรวจจากสหรัฐอเมริกาและอินเดียมีความมั่นใจเกี่ยวกับประเด็นนี้มากกว่าผู้ถูกสำรวจจากสหราชอาณาจักรและเยอรมนี แต่ก็ชี้ด้วยว่า 74%ของผู้ถูกสำรวจพร้อมที่จะเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติม หรือได้รับการฝึกทักษะใหม่ๆ เพื่อไม่ให้ตนตกงานในอนาคต โดยมองว่า การพัฒนาทักษะอยู่ตลอดเวลาถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบส่วนบุคคลมากกว่าของนายจ้างและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการทำงานจะช่วยสนับสนุนให้พนักงานสามารถก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีที่มีผลต่อการทำงานและงานที่พวกเขารับผิดชอบ

แต่อย่างไรก็ตาม 3 ใน 4 ของผู้ถูกสำรวจทั้งหมด ยังคงมองไปในทิศทางเดียวกันว่าเทคโนโลยีไม่มีทางที่จะมาทดแทนความคิดของมนุษย์ได้ ขณะที่ 86% บอกว่า ทักษะของมนุษย์จะยังคงเป็นที่ต้องการในที่สุด

ด้านนางสาวภิรตา กล่าวต่อว่า “ปัจจุบันองค์กรและบุคลากรของไทยยังไม่มีความตื่นตัวเกี่ยวกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่จะเข้ามากระทบการทำงานของพวกเขาดีพอ โดยองค์กรส่วนใหญ่ยังไม่มีการลงทุนด้านเทคโนโลยี เพราะอาจมองว่าไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาด้านต้นทุน

แต่อย่างไรก็ดี มีองค์กรขนาดใหญ่บางแห่งที่เริ่มตื่นตัวและนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการแก้ปัญหาด้านการบริหารจัดการบุคลากรเช่นการนำเอาระบบอัตโนมัติหรือออโตเมชั่นมาทดแทนงานบางประเภทที่ต้องทำซ้ำๆหรืองานที่มีอัตราการลาออกของพนักงานสูงนอกจากนี้ยังมีการทดลองนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อช่วยสอนทักษะบางอย่างให้แก่พนักงานใหม่ด้วย

“ในอีก 10 ปีข้างหน้านวัตกรรมจะเข้ามามีบทบาทกับภาคธุรกิจไทยมากขึ้นอย่างแน่นอนเนื่องจากต้นทุนด้านเทคโนโลยีจะถูกกว่าปัจจุบันมากเช่นเดียวกับกฎระเบียบต่างๆ ของภาครัฐที่จะถูกปรับให้เอื้อกับพัฒนาการของนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปดังนั้นองค์กรและบุคลากรของไทยจำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อมโดยผู้นำองค์กรต้องเริ่มศึกษาและนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับธุรกิจและกระบวนการทำงานภายในองค์กรขณะที่บุคลากรไทยจำเป็นจะต้องพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลเช่นทักษะในการคิดวิเคราะห์หรือ Analytical skillsอย่างไรก็ดี ยังมองว่า การบริหารจัดการงานที่ซับซ้อนหรืองานที่ต้องการการตัดสินใจเชิงลึกจะยังคงเป็นงานที่ต้องใช้มนุษย์เป็นหัวใจสำคัญ”

78 views
bottom of page