top of page
347550.jpg

ดอกมะกันถึงทางตัน...ผวา ‘ทรัมป์’ เสี่ยงสูงกว่าพายุ!


นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำไทยมองพายุเฮอริเคนถล่มสหรัฐอเมริกาถึงร้ายก็จริง แต่ยังไม่ร้ายรุนแรงเท่าการเมืองมะกันทำคนผิดหวัง ผู้นำประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำผิดฟอร์มหนักไปจากตอนหาเสียง อาการท่าดีทีเหลวเลย กลายเป็นความเสี่ยงทางการเมือง ทำค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลต่างแข็งค่าถ้วนหน้า จับตาเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการ Fed ชุดใหม่ ฝ่ายไม่อยากขึ้นดอกเบี้ยมะกันกุมเสียงข้างมากสนองนโยบายประธานาธิบดีทรัมป์ ทำนโยบายการเงินหนุนการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ฟันธง! ขึ้นดอกเบี้ยครึ่งปีหลัง 2560 ยากมาก

ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” กล่าวถึงพายุเฮอริเคนที่ถล่มสหรัฐอเมริกาว่า สมัยที่เคยอยู่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2527 ไม่เคยเจอพายุเฮอริเคนลูกใหญ่แต่เคยเจอแบบลูกเล็ก ไม่ได้มีอาการแตกตื่นเพราะไม่ใช่เฮอริเคน เป็นประสบการณ์ที่เจอแต่พายุหมุนหรือพายุโซนร้อนที่มีลมมาจะมีฝนตามมา แต่พายุเฮอริเคนรอบนี้เป็นรอบพิเศษพิสดารพอสมควรของสหรัฐอเมริกาที่เจอเฮอริเคนหลายลูก บางลูกใหญ่กว่าที่คิดไว้ เช่น เฮอริเคนฮาร์วีย์ ที่คิดว่าจะทำความเสียหาย 40 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้ทำความเสียหายมากถึง 100 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถ้าทำความเสียหายเกินกว่า 100 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็มีความใกล้เคียงกับเฮอริเคนแคทรีนาในสมัยปี 2005 ในตอนนั้นถือว่าลูกใหญ่มาก ได้ไปโจมตีที่ลุยเซียนาและฟลอริดา แต่เฮอริเคนฮาร์วีย์รอบนี้โจมตีที่เท็กซัสและบางส่วนที่ลุยเซียนา ส่วนในฟลอริดาเจอเฮอริเคนเออร์มาเช่นกัน

“เฮอริเคนฮาร์วีย์และเฮอริเคนเออร์มาคาดว่าน่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในระยะสั้น คือ มาทำลายสิ่งก่อสร้างบ้างและอาจทำให้การผลิตหยุดชะงักชั่วคราว ความไม่แน่นอนอาจจะผิดหูผิดตาไปบ้าง แต่เมื่อพอเข้าที่เข้าทางประมาณหนึ่งเดือนน่าจะเริ่มดีขึ้น อีกบางส่วนกลายเป็นพายุโซนร้อนไปแล้วถ้าเป็นพายุโซนร้อนก็จะเบาลงไป และขึ้นอยู่กับว่าการบูรณะจะมีเรื่องการใช้จ่ายที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เหมือนสมัยตอนที่เฮอริเคนแคทรีนาโจมตีครั้งใหญ่ทำให้ทุกคนมองว่าเศรษฐกิจจะย่ำแย่ไปอีกนาน แต่ปรากฏว่าโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เสียหายไม่มากนักและการบูรณะต่างๆกลายเป็นมีเรื่องของการใช้จ่ายเข้ามา เปรียบเสมือนกับหลังสงครามที่เกิดการทำลายล้าง แต่เมื่อมีการบูรณะกลายเป็นมีอะไรเข้ามาเยอะมากมาย ทำให้มีผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีความผันผวนบ้าง คาดว่าในช่วงปลายปี 2560 นี้สหรัฐอเมริกาจะกลับมาดีขึ้นและมีการลงทุนต่างๆเพิ่มมากขึ้น เหตุการณ์นี้น่าจะมีส่วนทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ต้องไปประนีประนอมกับพรรคเดโมแครตเพื่อเลื่อนเวลาปิดหีบงบประมาณอีก 3 เดือน”

ดร.ตีรณมองว่า ขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาโดยทั่วไปปรับตัวดีขึ้นมาตลอด แต่เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นแบบแรงคงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากภาวะหนี้สินต่างๆของหลายภาคอุตสาหกรรมยังมีปัญหาอย่างสาขาพลังงานยังถูกโจมตีในเรื่องของราคาพลังงาน จากที่เคยคิดว่าราคาจะสูงขึ้นภายใน 5 ปีนี้ แต่กลับมีราคาปรับตัวลดลง ส่วนเรื่องภาระหนี้สินของบริษัทพลังงานมีการปรับตัวที่เร็ว พอมีหนี้สินก็จะทำการปรับโครงสร้างโดยขายหุ้นออกหรือเปลี่ยนผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามาแทน

“เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาช่วงนี้น่าจะยังมีปัญหาใหญ่ คือ เรื่องการเมืองสหรัฐอเมริกา คนเคยคาดหวังว่าพอเปลี่ยนประธานาธิบดีแล้วจะเป็นคนที่มาส่งเสริมภาคธุรกิจหรือส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีแผนหลายอย่างที่ดูแลเรื่องภาษี เช่น ลดภาษีนิติบุคคล 15% แต่ท่าทางคงไม่ได้เป็นที่คิด ทำให้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของตลาดต่อการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และยังมีเรื่องของสมัยตอนแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับฮิลลารี คลินตัน เกี่ยวกับการแทรกแซงจากทางรัสเซีย จึงเกิดการตรวจสอบเข้ามาวุ่นวายกันหมด ตรงนี้ได้มีผลต่อการดำเนินงานของโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่สามารถสร้างความร่วมมือกับพรรครีพับลิกัน แม้แต่ในทำเนียบขาวก็มีการโยกย้ายตำแหน่งที่ผิดปกติ ทำให้ความเชื่อมั่นทางการเมืองกลายเป็นความเสี่ยงทางการเมืองขึ้นมาซึ่งตรงนี้จะมีผลต่อค่าเงินดอลล่าร์ จะเห็นว่าในช่วงหลายเดือนนี้ค่าเงินดอลล่าร์ลดลงมาแรงมากเมื่อเทียบค่าเงินทุกสกุลที่มีค่าเงินแข็งขึ้นมา นับว่าเป็นสถานการณ์ที่มีผลต่อทั่วโลกและมีผลกระทบต่อการลงทุน” ดร.ตีรณกล่าว

ส่วน “แสตนลีย์ ฟิชเชอร์” รองประธานเฟด เตรียมลาออกเพื่อเปิดทางให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่งตั้งคนใหม่เข้ามา ดร.ตีรณ มองเรื่องนี้เป็นเรื่องคาใจพอสมควรว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะเลือกคนใหม่มาแทนจะเป็นแนวแบบไหน เนื่องเพราะตอนแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดีได้โจมตีการไม่ขึ้นดอกเบี้ย พอเป็นประธานาธิบดีแล้วก็ไม่แน่ใจว่าจะเอาคนที่ไม่กล้าขึ้นดอกเบี้ยมาเป็นก็ได้ แต่ในโครงสร้างของกรรมการเฟด อย่างแสตนลีย์ ฟิชเชอร์ มีแนวทางชอบปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่วนเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดจะออกแนวทางกลางส่วนใหญ่ไม่อยากให้ขึ้นเร็วและก็ไม่อยากปรับขึ้นเลยก็มี

“ถ้า แสตนลีย์ ฟิชเชอร์ ออกไปแล้วคนที่มาออกแนวกลางหรือแนวไม่ขึ้นดอกเบี้ย กลุ่มที่ไม่ขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ รอบหน้าน่าจะยังเป็นเสียงส่วนใหญ่ โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าน่าจะมีคนใหม่เข้ามาแต่ด้วยโครงสร้างแบบนี้ทำให้โอกาสขึ้นดอกเบี้ยมีน้อยลง ทำให้ต้องทายใจว่าโดนัลด์ ทรัมป์จะเลือกคนแบบไหนขึ้นมาเป็นรองประธานเฟด คิดว่าน่าจะเอาคนที่ไม่อยากขึ้นดอกเบี้ยเข้ามามากกว่า เพราะอยากจะให้นโยบายการเงินยังสนับสนุนการเติบโตอยู่” ดร.ตีรณกล่าวและมองแนวโน้มเฟดที่จะปรับดอกเบี้ยขึ้นคงต้องชะลอออกไป เสียงส่วนใหญ่คิดว่ายังมองสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังไม่พร้อมที่จะขึ้นดอกเบี้ย แม้ตัวเลขเศรษฐกิจจะดี แต่ถือว่ายังดีไม่มาก ภาวะเงินเฟ้อก็ไม่ได้แรงมาก

“อย่างวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟด สาขานิวยอร์ก เป็นแนวที่อยากให้ขึ้นดอกเบี้ย ประเมินได้ว่าพอค่าเงินดอลลาร์ต่ำภาวะเงินน่าจะขยับขึ้นมาได้ น่าจะมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย แต่ส่วนใหญ่ถ้ามองมติของนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกาค่อนข้างจะมาทางไม่ปรับขึ้น และถ้าเอาเข้าจริงก็ไม่ปรับขึ้นเท่ากับที่กรรมการเคยคาดคะเนไว้ อย่างกรรมการคาดคะเนไว้ 4 ครั้งในปีนี้ หากปีนี้ถ้าได้ 3 ครั้งก็ถือว่าแม่นแล้ว แต่โดยส่วนตัว ผมทายไว้ตั้งแต่ต้นปีที่ 2 ครั้งและในช่วงครึ่งปีหลังไม่น่าจะขึ้นง่าย ก็ต้องรอดูกันต่อไปเพราะมีเรื่อง QE ด้วย คิดว่าสถานการณ์ค่าเงินดอลล่าร์จับตาดูที่นโยบายภาษีถ้าออกมาเร็วภายในปีนี้ค่าเงินดอลล่าร์จะกลับมาแข็งได้”

15 views
bottom of page