top of page
347550.jpg

กองทุนธรรมาภิบาล ต้านโกงหรือแบ่งแยก?


ประชาชนชาวหุ้นเป็นห่วง “CG Fund- กองทุนธรรมาภิบาล” จะโอละพ่อ กลายเป็น กองทุนธรรมาภิบาน นอกจากไม่ตอบโจทย์แล้วยังจะกลายเป็นแบ่งแยกหุ้น ดี-เลว โดยตีตรายางให้หุ้นใน “ตะกร้า CG” ว่าเป็นหุ้นดี แต่กาหัวว่าหุ้นที่ไม่ได้คัดเลือกเข้ามาในตะกร้า กลายเป็นของเน่า ทั้งที่หุ้นทุกตัวต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกและอยู่ในกฎระเบียบหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เหมือนๆกัน ชี้ไม่ควรเอาตลาดหุ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของเงินทองนักลงทุนมาใช้ในการสร้างภาพลักษณ์

หลังจากที่มีการประกาศเจตนารมณ์อย่างเป็นทางการในการร่วมกันจัดตั้ง “กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย” เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 โดยการประกาศเจตนารมณ์ของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และ 15 บลจ.ที่เป็นสมาชิกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน โดยร่วมมือกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มูลนิธิเพื่อคนไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และเช้นจ์เวนเจอร์ โดยระบุว่าจะผลักดันให้กองทุนเกิดได้ภายในไตรมาส 3 หรือ ไตรมาส 4/2560

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ได้มีการแถลงข่าวเปิดตัว กองทุนธรรมาภิบาล หรือ CG Fund อย่างเป็นทางการ โดยมีเป้าประสงค์ที่จะให้เกิด แรงจูงใจให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการบริหารจัดการและดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาล และตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคม มีค่านิยมและวัฒนธรรมการทำการค้าที่ซื่อสัตย์ ไม่ร่วมมือกับคนโกงและไม่ยอมให้ใครโกง ตามหลักการของ องค์กรต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นแหล่งทุนสนับสนุนการดำเนินงานของภาคประชาสังคม ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างเข้มแข็ง ต่อเนื่อง และเป็นอิสระ อีกทั้งยกระดับตลาดทุนไทยในเรื่องธรรมาภิบาล และเรื่องการทำหน้าที่ที่ดีของผู้ลงทุนสถาบัน ในการกำกับดูแลกิจการที่กองทุนนำเงินไปลงทุนระยะยาว ซึ่งจะทำให้เกิดผลตอบแทนที่ยั่งยืนในการลงทุน ตลาดหุ้นไทยได้รับความน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตามในการประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการคราวนี้ มีผู้ร่วมจัดตั้ง กองทุนธรรมาภิบาล ทั้งหมด 11 บลจ.ทีมีขนาดกองทุนรวมภายใต้การบริหารกว่า 90% ของทั้งอุตสาหกรรมกองทุนรวม ประกอบด้วย บลจ.กรุงไทย บลจ.กรุงศรี บลจ.ทหารไทย บลจ.ทาลิส บลจ.ทิสโก้ บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.บัวหลวง บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) บลจ.กสิกรไทย บลจ.เอ็มเอฟซี และ บลจ.บางกอกแคปปิตอล

โดยหลักการของการจัดตั้ง กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย คือ บลจ.ทั้ง 11 ต่างจะตั้งกองทุนขึ้น และระดมเงินจากประชาชนมา เพื่อลงทุนในหุ้น ที่เรียกว่า หุ้นธรรมาภิบาล หรือ CG ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ โดยจะมีการจัด ตะกร้าหุ้น CG หรือ Stock Universe ขึ้น 1 ตะกร้า แล้วตั้งคณะกรรมการขึ้นมาช่วยคัดเลือกหุ้นมาใส่ในตะกร้าหุ้น CG เพื่อให้ บลจ.ทั้ง 11 ที่ตั้งกองทุนธรรมาภิบาล เอาเงินมาซื้อลงทุนโดยเลือกหุ้นในตะกร้า เพื่อหวังผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว โดย ทุก บลจ.สามารถเลือกหุ้นที่จะลงทุนจาก Universe ร่วมได้ตามนโยบายแต่ละ บลจ. มีความชำนาญ เช่น แบบ Passive , แบบ Active หรือ ETF

สำหรับหุ้นที่จะถูกเลือกมาใส่ใน ตะกร้าหุ้น นี้ จะพิจารณาจากการจัดอันดับที่เรียกว่า CG Scoring โดยคณะกรรมการที่ ประกอบด้วยตัวแทนจาก 11 บลจ. แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (CAC) ซึ่งประกอบด้วย 8 องค์กร คือ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรรมการบริษัทไทย (IOD) หอการค้าไทย หอการค้าต่างชาติ สมาคมบริษัทจดทะเบียน สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และ ซึ่งเกณฑ์หลักๆที่ คณะกรรมการจะคัดเลือกหุ้นเข้าตะกร้า ประกอบด้วย การเป็นหุ้นที่ได้รับการจัดอันดับ CGR Rating ของ IOD ที่มากกว่า ระดับ 4 ดาวขึ้นไป มีการเปิดเผยข้อมูลถูกต้องโปร่งใส ไม่ใช่หุ้นปั่น ไม่เบียดเบียนสังคม และผู้บริหารไม่คอร์รัปชั่น

ทั้งนี้ใน เบื้องต้นมีหลักทรัพย์ที่ผ่านเข้า ตะกร้าหุ้น หรือ Stock Universe 103 หุ้น โดยจะมีการปรับปรุง ตะกร้าหุ้น CG ภายใน 1 ปี นับจากวันที่ Thai IOD ประกาศรายชื่อหลักทรัพย์ที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว

นอกจากการจัดตั้งกองทุนธรรมาภิบาล เพื่อลงทุนในหุ้นที่มีธรรมาภิบาล หรือ CG โดยหวังว่าการลงทุนแบบนี้ จะเป็นการยกระดับสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตลาดหุ้นไทย ที่มีการค้าอย่างซื่อสัตย์ สังคมไทยผ่านพ้นปัญหาได้เพราะมีการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นด้วยกองทุนธรรมาภิบาล ทั้ง 11 บลจ.ผู้ร่วมก่อตั้งกองทุนธรรมาภิบาล ยังได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันอีกว่า จะนำรายได้ 40% ของค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนที่ได้รับ ไปบริจาคให้กับหน่วยงานที่ส่งเสริมธรรมาภิบาล และหน่วยงานที่ส่งเสริมการต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยมีคณะกรรมการพิจารณาการบริจาคเงินเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุนและอนุมัติ รวมถึงติดตามและประเมินผลการนำเงินบริจาคไปใช้โครงการที่สนับสนุนดังกล่าว

แบ่งแยกหุ้น ดี-เลว

การันตีได้แค่ไหน?

การจัดตั้ง กองทุนธรรมาภิบาล หรือ กองทุนปราบโกง ดังกล่าวนี้ แม้จะเป็นเจตนารมณ์ที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผู้ลงทุนที่เกี่ยวข้องในตลาดหุ้นกลับมีมุมมองว่า การจัดตั้งกองทุนธรรมาภิบาล จะเป็นเพียงแค่เรื่องของการ สร้างภาพลักษณ์ ให้ดูโก้เก๋ว่าสังคมนี้มีคนดีเท่านั้น แต่จะไม่สามารถปราบโกงได้อย่างที่ตั้งใจดีกัน

มีผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยว่า ความจริงคือ ไม่มีใครจะสามารถการันตีได้ว่าหุ้นที่ดีๆ ที่ถูกจัด ถูกคัดสรรเข้า ตะกร้า CG จะเป็น หุ้นดีไปตลอดชาติ หากมีอะไรเกิดขึ้นในอนาคต และไม่ได้ตามมาตรฐาน CG ที่คณะกรรมการได้ตั้งไว้ จะมีการคัดหุ้นออกจากตะกร้า หรือไม่ และถ้าคัดออก จะทำให้เกิดความเสียหายกับนักลงทุนในตลาดหุ้นที่ได้รับการเชิญชวนให้เป็น คนดี ที่มาร่วมกันซื้อหุ้นดี สนับสนุนหุ้นดี บริษัทมีธรรมาภิบาลหรือไม่ แล้ว บลจ. ผู้บริหารจัดการกองทุนที่ได้ค่าบริหารจัดการจากการจัดตั้งกองทุน จะดำเนินการอย่างไร กับ NAV ของนักลงทุนที่หดลงหากมีความผิดพลาดขึ้น

“มาถึงตรงนี้คนก็ยังคลางแคลงใจอยู่ว่า เราจะเอาอะไรมาเป็นตัววัดในเรื่องของมาตรฐานความดี เรื่องของ CG ธรรมาภิบาล ไม่คดโกงโจ๋งครึ่ม หรือ ซ่อนเร้น หรือจะมีการลูบหน้าปะจมูกกันหรือไม่ ระหว่างผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน กับคนที่จะไปคัดเกรดเขาว่ามีธรรมาภิบาลหรือไม่ แล้วคนที่คัดเกรดละมีธรรมาภิบาลหรือไม่ ไม่ต้องอื่นไกลเอาที่เกี่ยวข้องกับกองทุนโดยตรงนี้แหละ คงจำได้ กรณีผู้บริหารหุ้น CPALL ที่ระบุว่าไม่มีธรรมาภิบาล กองทุนรวมออกมาประกาศปาวๆๆ ว่าจะไม่ให้การสนับสนุนหุ้นแบบนี้ ให้นักลงทุนอย่าไปลงทุนหุ้นแบบนี้ มีก็ขายซะอย่าร่วมสังฆกรรม แต่ถามว่า กองทุนที่ออกมาประกาศชวนชาวบ้านแอนตี้หุ้นนี้ ขายหุ้นออกจากพอร์ตกันหรือเปล่า ประกาศให้คนอื่นเขาขายกัน หุ้นราคาตกลงมาไม่เท่าไหร่ ดีดขึ้นหน้าตาเฉยเลย กองทุนเสียหายอะไร แต่นักลงทุนเสียหายไปแล้วกับคำว่า ธรรมาภิบาล

การจัดตั้งกองทุน ธรรมาภิบาล มาลงทุนกันแบบนี้ ระวังว่ามันจะกลายเป็น กองทุนธรรมาภิบาน”

ในขณะเดียวกันการจัดตั้ง กองทุนธรรมาภิบาล แทนที่จะเป็นเรื่องดี เพราะดูมีการคัดแยกหุ้นคุณธรรมออกมา แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับเป็นเรื่องที่จะมีผลเสียหายกับความน่าเชื่อถือ และความศรัทธาในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลาดหุ้นไทย และบริษัทจดทะเบียนหรือหุ้นในกระดานเสียมากกว่า เพราะจะมีการแบ่งแยกหุ้นดี-เลว ในรูปแบบที่ไม่เป็นผลดีกับตลาดหุ้น และนักลงทุนโดยรวมแต่อย่างใด

เฉพาะแค่เบื้องต้นนี้ ที่ระบุว่า มีหุ้น CG ถูกจัดเข้า ตะกร้า CG เรียบร้อยแล้ว 103 หุ้น กลายเป็นบริษัทเหล่านี้ได้รับการตีตรายาง ว่าเป็นบริษัทดี ไม่โกง...ไม่น่าจะมีโอกาสโกง คำถามคืออีกเป็น 1,000 หุ้น เป็นหุ้นที่ ไม่ดี ยังมีโอกาสโกงได้อีก แบบนี้จะเป็นการดีหรือไม่ สำหรับหุ้นไทย ที่นักลงทุนต่างชาติ จะเข้ามาลงทุนและเห็นว่า หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯไทย มีความไม่น่าเชื่อถือมากกว่าค่อนตลาด

“การวัดค่าความน่าลงทุนในหุ้น เป็นเรื่องที่ควรเราเรื่องหลักการลงทุนทางปัจจัยพื้นฐาน ทางเทคนิค ทีบรรดาผู้จัดการกองทุนได้ร่ำเรียนมาอย่างเหนื่อยยากนั่นแหละ ส่วนในเรื่องธรรมาภิบาลก็เป็นเรื่องที่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. ซึ่งเป็นฝ่ายกำกับที่จะทำหน้าที่ตรวจตราดูแลและตบให้เข้าระบบระเบียบ ทำให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส เป็นธรรม ให้มีการวิเคราะห์วิจัยแนะนำให้นักลงทุนรับรู้จุดแข็งจุดด้อยของหุ้น นักลงทุนในหุ้นที่จะลงทุนด้วยตัวเอง หรือลงทุนผ่านกองทุนจะได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน ส่วนบริษัทที่ดำเนินการผิดพลาด หรือตุกติก ตลาดก็ต้องจัดการให้ออกจากตลาดไป หรือไม่ก็ลงโทษให้แก้ไขข้อผิดพลาด

อย่าลืมว่า หุ้นทุกหุ้นทุกตัวกว่าจะเข้าตลาดได้ต้องเข้าเกณฑ์ที่เข้มข้นของตลาดหลักทรัพย์ฯ และก.ล.ต.เหมือนกันหมดอยู่แล้ว อย่ามาแบ่งหุ้นว่าดี หรือไม่ดี หุ้นนี้ควรลงทุนหรือไม่ควรลงทุนด้วยวิธีการแบบนี้เลย ไม่ควรเอาเรื่องของธุรกิจ เงินทอง ที่เกี่ยวข้องกับนักลงทุน มาสร้างกฎเกณฑ์เรื่องยกระดับเรื่องของความเป็นคนดี/คนไม่ดีเลย มันไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง” แหล่งข่าวกล่าว

 

Image: Pixabay

83 views
bottom of page