top of page
347550.jpg

ผี LPG หลอนผู้ใช้...เตือนรับมือพึ่งก๊าซตปท.


มั่นใจเต็มร้อยลอยตัวเสรีราคาก๊าซหุงต้ม LPG ไร้ปัญหา ไม่มีผลกระทบอะไรมากมาย โชคดีราคาตลาดโลกลดลงเอื้อให้ปรับเปลี่ยนนโยบายสะดวก บอกประชาชนผู้ใช้ในครัวเรือนอย่าไปกักตุน เพราะกลัวแพงหรือกลัวขาดตลาด เชื่อว่าอีกหน่อยผู้ใช้จะชินกันไปเอง แบบลอยตัว ราคาน้ำมันตามตลาดโลกอีก ผู้ใช้จะได้ประโยชน์จากการแข่งขัน ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดีขึ้น แข่งขันกันเอาใจลูกค้าขายถูกกว่า ราคาตลาดอย่างหลายเดือนที่ผ่านมา เผยเบื้องหลังลอยตัวราคา LPG เพื่อเตรียมการรับมือผลกระทบจากปริมาณก๊าซในอ่าวไทยผลิตได้ลดลง ไม่พอเพียงกับการใช้ในประเทศในอนาคต ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ หนีไม่พ้นต้องอิงราคาตลาดโลกและอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีใครอุ้มใครได้ เตือนผู้ใช้/ผู้ค้าปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงรอท่า

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์. อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงการลอยตัวราคาก๊าซ LPG ในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 เป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นห่วงมากเหมือนอย่างที่มีคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นขาประจำให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เช่น การให้ข้อมูลแบบผิดๆ ว่าส่งผลถึงราคาข้าวของเครื่องใช้แพงขึ้นจากนโยบายการลอยตัวก๊าซ LPG ในครั้งนี้ทั้งที่ไม่มีปัญหาอะไร หรือมีผลกระทบมากมายแต่อย่างใด

ทั้งนี้หากย้อนกลับไปในสมัยก่อนเคยมีการลอยตัวราคาก๊าซ LPG เพราะมีก๊าซในอ่าวไทยจำนวนมาก แต่ก็ขายราคาตามปกติราคาก๊าซ LPG ในสมัยก่อนมีราคาไม่แพง เพียงแต่ช่วงหลังมีปัญหาเรื่องของราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกปรับราคาสูงขึ้น ทำให้ทางรัฐบาลและกระทรวงพลังงานที่ผ่านมาพยายามทำราคาไม่ให้สูงเกินกว่าตลาดโลก เพื่อไม่ให้เป็นภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหรือผู้ใช้น้ำมันที่ต้องมาจ่ายชดเชยส่วนต่างของราคาก๊าซ LPG แทน

“กระทรวงพลังงานมองว่านโยบายการชดเชยราคาก๊าซ LPG ไม่ยั่งยืนแน่ถ้ายังคงนโยบายนี้ไปตลอดจะมีปัญหาในภาพรวมของประเทศ ประกอบกับช่วงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะมีปัญหาเรื่องการขุดเจาะก๊าซในอ่าวไทย ถ้าหากดูจากตามแผนยังคงล่าช้าเนื่องจากการขุดเจาะก๊าซในอ่าวไทยมีปริมาณน้อยลง ส่งผลทำให้ก๊าซ LPG ที่ผลิตได้ในประเทศที่มาจากอ่าวไทยได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยเมื่อการผลิตก๊าซ LPG ลดลงแต่ความต้องการยังมีอยู่สิ่งที่ตามมา คือ ต้องนำเข้าก๊าซ LPG เพิ่มขึ้น และเมื่อนำเข้ามาก็ต้องคิดตามราคาตลาดโลกจริงก็จะเป็นผลกระทบต่อเนื่องตามมา เพราะถ้าไทยหากยังไม่มีนโยบายปล่อยราคาก๊าซ LPG ลอยตัวก็จะประสบปัญหาเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน” นายวิฑูรย์เปิดเผยสาเหตุการลอยตัวราคาก๊าซหุงต้ม

“ปริมาณการใช้ก๊าซ LPG ในประเทศขณะนี้เฉพาะในส่วนของก๊าซหุงต้มมีประมาณ 170,000 ตันต่อเดือน แต่หากเทียบกับเมื่อก่อนคิดเป็น 1 ใน 3 ของปิโตรเคมี , 1 ใน 3 ของก๊าซหุงต้มครัวเรือน และ 1 ใน 3 ของภาคขนส่ง ส่วนที่เหลืออยู่ในอุตสาหกรรมเล็กๆ แต่ตอนนี้ภาพการใช้มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย 30% เพราะครัวเรือนเริ่มหันไปใช้ไฟฟ้าแทนมากขึ้น ตามทฤษฎีเป็นเรื่องที่พูดยากเพราะนับตั้งแต่ 1 สิงหาคมเป็นต้นไป ราคาขายคิดตามราคาตลาดโลก ในต่างประเทศจะประกาศราคาออกมาเป็นรายเดือน โดยทางกระทรวงพลังงานก็ได้ประกาศราคาเป็นรายเดือนเช่นกัน แต่แนวโน้มคงไม่เพิ่มขึ้นราคามาก”

นายวิฑูรย์เปิดเผยว่าในช่วงที่ผ่านมาเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงติดลบหลายแสนล้านบาท โดยในส่วนของกองทุนก๊าซ LPG มีประมาณ 40,000 - 50,000 ล้านบาท แต่ในช่วงหลังราคาน้ำมันในตลาดโลกมีราคาลดลง ทำให้ราคาก๊าซ LPG ลดลงตามไปด้วย แต่เงินอุดหนุนในส่วนของก๊าซ LPG ยังมีไม่มากนัก กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้แบ่งเป็น 2 บัญชีเพื่อดูเรื่องก๊าซ LPG และ น้ำมันโดยเฉพาะ แต่ก็ยังมีเงินส่วนหนึ่งที่ยังดูแลประชาชนได้ประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท

“ปัจจุบันราคาก๊าซ LPG ของไทยยังมีราคาที่ต่ำกว่าตลาดโลก เพราะได้มีการขุดขึ้นมาใช้จากอ่าวไทยส่วนหนึ่ง และยังได้ให้กลุ่มโรงกลั่นที่เป็นผู้ผลิต LPG จากน้ำมันโดยการนำเข้ามาขายในราคาที่ต่ำกว่าปกติส่วนหนึ่ง แต่หลังจากการปล่อยลอยตัวราคาก๊าซ LPG วันที่ 1 สิงหาคมก็จะให้ราคากับกลุ่มโรงกลั่นคิดตามราคาตลาดโลก ส่วนการนำเข้าก็จะคิดราคาตามราคาตลาดโลกเช่นกัน โดยทุกอย่างจะคิดตามราคาตลาดโลกเนื่องจากแนวโน้มของราคาไม่ควรจะสูงขึ้นมาก เพราะเงินในกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีอยู่ส่วนหนึ่ง คาดการณ์ว่าภายใน 2-3 เดือนราคายังคงทรงตัวประมาณ 20.49 บาทต่อกิโลกรัม” นายวิฑูรย์กล่าวและแนะผู้ใช้ก๊าซหุงต้มว่าไม่จำเป็นต้องกักตุน เพราะกลัวราคาแพง

“แต่ก็ไม่ได้ห้ามที่จะสั่งมากักตุน เพียงแต่เห็นว่าอันตรายและไม่รู้ว่าจะเก็บไปเพื่ออะไร หากสั่งมา 2 ถัง โดยแต่ละถังจะใช้ประมาณเดือนครึ่ง ทำให้ไม่ต้องกลัวว่าก๊าซจะขาดตลาดเพราะไทยมีปริมาณที่เพียงพอ เพราะหากนึกภาพเหมือนน้ำมันสมัยก่อนที่ไทยลอยตัวราคาน้ำมัน โดยตอนนั้นคนไทยก็ยังไม่คุ้นเคย พอประกาศว่าพรุ่งนี้ปรับขึ้นราคาน้ำมัน 30 สตางค์ คนก็จะไปจอดต่อคิวเติมน้ำมันเต็มไปหมด แต่ตอนนี้เริ่มไม่มีใครเดือดร้อนแล้วเพราะเริ่มมีความคุ้นชิน อย่างจะมีการปรับขึ้นราคาน้ำมัน 30 สตางค์ แต่อีก 4-5 วัน ก็ปรับลดราคาลง 40 สตางค์ แต่สำหรับก๊าซ LPG ไม่ได้มีการปรับขึ้นลงรายวันแต่จะกำหนดราคาเป็นรายเดือน เพราะฉะนั้นเรื่องความเสถียรของราคาน่าจะดีกว่าน้ำมัน”

อย่างไรก็ตาม หลังลอยตัวราคาก๊าซ LPG นายวิฑูรย์มองแนวโน้มการนำเข้าก๊าซ LPG จะมีเพิ่มมากขึ้นเพราะส่วนหนึ่งเกิดจากกำลังการผลิตในประเทศมีจำนวนลดลง รวมถึงความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังวันที่ 1 สิงหาคม น่าจะมีเรื่องการแข่งขันการนำเข้าก๊าซ LPG รวมไปถึงการแข่งขันด้านราคา คุณภาพ และการให้บริการ ถ้าเป็นการเปิดเสรีจริงผู้ค้าคงมีการแข่งขันกัน สิ่งที่ประชาชนจะได้รับ คือได้ประโยชน์จากการได้รับการบริการที่ดีขึ้น สังเกตว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาราคาก๊าซ LPG ที่นำเข้ามามีราคาถูกลงกว่าเดิม ทำให้ราคาขายก๊าซ LPG ต่ำกว่าที่เคยขายกันในช่วงที่ผ่านมา 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม ตอนนี้มีหลายบริษัทที่กำลังพัฒนาหรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เช่น ถังก๊าซที่มีสนิมคาดว่าในอนาคตจะได้รับการดูแลมากขึ้นหรือการบริการที่ดีขึ้น

“คนที่มอง ปตท.ผูกขาดเรื่องก๊าซ LPG มายาวนานนั้น ทางกระทรวงพลังงานขอแก้ต่างแทน ปตท.ว่าเป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องรองรับนโยบาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ภาครัฐต้องการให้เอกชนทำแต่เอกชนไม่อยากจะทำ ทำให้ภาครัฐต้องบังคับให้ ปตท.ทำเพื่อให้เอกชนทำตามจึงมีข้อบัญญัติไว้ อย่างเช่น ตรวจคลังก๊าซเขาบ่อยา จังหวัดชลบุรีเป็นท่าเรือที่นำเข้าก๊าซ LPG ขนาดใหญ่ จึงได้ให้ ปตท.เป็นผู้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ค้ารายอื่นมาใช้อยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน สมมุติว่า ปตท.กำหนดเงื่อนไขให้ตัวเองอย่างไรก็ต้องกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ค้ารายอื่นเช่นเดียวกัน จึงไม่มีการเอารัดเอาเปรียบกัน ทำให้ท่าเรือนี้เปรียบเสมือนเป็นท่ากลางโดยใครจะนำเข้าก็สามารถใช้ท่านี้ได้ การแข่งขันก็จะอยู่บนพื้นฐานเท่าเทียมกัน” นายวิฑูรย์กล่าว

“เรื่องว่า ปตท.ผูกขาดก็ไม่เชิง เพราะภาครัฐก็ต้องอาศัย ปตท.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจดูแลเรื่องก๊าซ LPG ให้ และ ปตท.ก็ขาดทุนเรื่องก๊าซ LPG เป็นจำนวนมาก เรื่องผูกขาดที่จริงแล้วเอกชนรายอื่นไม่อยากจะนำเข้าและค้าขาย เพราะราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกสูง ทางภาครัฐดูแลไม่ให้ราคาก๊าซ LPG สูง และส่วนหนึ่ง ปตท.เป็นผู้ดูแลซึ่งก็ไม่ได้อยากเป็นผู้ดูแลมากนัก เพราะเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯต้องดูแลผู้ถือหุ้นด้วย เนื่องจากก๊าซในอ่าวเป็นของประเทศไทยหากมองในอีกมิติหนึ่งทำไมไม่ขายในประเทศให้ถูก ซึ่งนโยบายนี้เคยได้ทำในสมัยก่อน แต่ประชาชนใช้ก๊าซ LPG ผิดประเภทมากขึ้น ใช้ไม่คุ้มค่าและไม่ประหยัดทำให้กลไกราคาบิดเบือนไป ทำให้ถึงเวลาที่ต้องมาปรับเปลี่ยนเพราะปัจจุบันจะพึ่งพาก๊าซจากอ่าวไทยมากไม่ได้แล้ว และเมื่อต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นก็ต้องสะท้อนราคาจากต่างประเทศ”

หลังจากการลอยตัวราคาก๊าซ LPG นายวิฑูรย์กล่าวว่าภาคการขนส่งและภาคอุตสาหกรรมต้องมีการปรับตัวบ้างแต่คงจะไม่กระทบกระเทือนมากสำหรับในช่วงสภาวะแบบนี้ เพราะราคาก๊าซ LPG คงไม่ได้ปรับขึ้นสูง แม้ว่าช่วงฤดูหนาวการใช้ก๊าซ LPG จะสูงขึ้นตามฤดูกาล แต่ภาครัฐสามารถดูแลในส่วนนี้ได้ไม่ให้การใช้ก๊าซ LPG กระโดดสูงขึ้นไป เพราะถ้าเป็นช่วงการใช้ก๊าซ LPG ต่ำก็จะต่ำจริง ทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องกังวลเรื่องนี้แต่ว่าอยากจะให้ปรับตัวรับราคาที่จะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งราคาอาจจะสูงหรือลงมากกว่าปกติไม่มากนัก “จะให้ทางภาครัฐดูแลไปตลอดแล้วมีคนลักลอบไปขายในต่างประเทศ เช่น ลาว หรือ เขมร ก็คงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง”

 

Picture Credit: Pixabay

29 views
bottom of page