top of page
312345.jpg

เฝ้าระวัง DEMAND เทียมอสังหา...เร่งปรับตัวเพื่อเดินหน้าต่อไป


ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เร่งปรับตัว เพื่อเดินหน้าต่อไปได้ เผยรายใหญ่ครองส่วนแบ่งตลาด 61% ยอมรับมีสัญญาณเริ่มเห็นดีมานด์เทียมในตลาด นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนตัวเล่นในตลาดระดับราคาขายแสนบาทต่อตารางเมตร หวังขยายฐานลูกค้าในซีบีดีมากขึ้น

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวในงานสัมมนา "ทิศทางและกลยุทธ์ ธุรกิจคอนโดมิเนียม การปรับตัวของผู้ประกอบการปี 2560" ว่าปี 2560 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล คาดว่าจะขยายตัวได้ 5% โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 3.7 แสนล้านบาท ส่วนข้อห่วงใยเรื่องการเกิดฟองสบู่นั้น คงจะไม่ซ้ำรอยเหมือนปี 2540 เนื่องจากธุรกิจอสังหาฯ สามารถเข้าถึงข้อมูล ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ก็มีข้อมูลทั้งในส่วนของสินค้าคงเหลือ และความต้องการของตลาดที่วิจัยด้วยตนเองทุกบริษัท ทำให้มีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว และส่วนแบ่งตลาดกว่า 61% อยู่ในมือของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความระมัดระวังในการเติมสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาด ขณะที่ตลาดคอนโดมิเนียมในช่วงครึ่งปีหลัง ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในสภาพตลาดมากขึ้น คาดว่าจะมีการเปิดตัวโครงการใหม่มากขึ้นกว่าครึ่งปีแรก

ส่วนด้านมาตรการป้องกันดีมานด์เทียมโดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมระดับบนว่า จะมีการระบุตัวบุคคลที่ได้รับส่วนลด ห้ามเปลี่ยนมือก่อนวันโอน แต่หากโอนก่อนกำหนดจะถูกตัดสิทธิ์ในเรื่องส่วนลด ซึ่งเป็นวิธีป้องกันดีมานด์เทียม และการขายลูกค้าระดับบน ทางพฤกษาจะขายเจาะจงลูกค้าที่ต้องการอยู่ และโอนจริง และการเข้าคิวจับฉลาก หากนำมาใช้กับโครงการระดับบนเมื่อไหร่ รับรองโครงการนั้น จะเจอลูกค้าเก็งกำไรแน่นอน แนวโน้มตลาดทาวน์เฮาส์มีการเติบโต ซึ่งเป็นการเข้ามารองรับกับตลาดคอนโดมิเนียม เนื่องจากลูกค้าบางรายไม่มีความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย โดยข้อมูลพบว่า หน่วยคอนโดฯ เปิดใหม่เติบโต 8% มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 16% โดยระดับราคาที่มากกว่า 10 ล้านบาท มีการเติบโตถึง 56% อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่า ครึ่งปีแรกตลาดทาวน์เฮาส์มีการเปิดเพิ่มขึ้น 62% ยอดขายโตขึ้น 11% และบ้านแฝดยอดขายโตขึ้น 40%

นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันว่า ตลาดเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง ผู้ประกอบการจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาในส่วนของบริษัทเองก็มีการวางแผนเพื่อรองรับ และสร้างความมั่นคงให้กับองค์กรมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการศึกษาความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งพฤติกรรมการอยู่อาศัยมีการเปลี่ยนแปลงไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเองเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้

“ภายใน 3 ปีหลังจากนี้ หากบริษัท แอล.พี.เอ็น. ไม่มีการปรับเปลี่ยน เชื่อว่าจะหายออกไปจากตลาด โดยในช่วงที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่ในยุคที่ตลาดมีการแข่งขันสูง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการปรับตัว จากรายได้ที่ประมาณ 15,000-16,000 ล้านบาท แต่ในปัจจุบัน รายได้เหลืออยู่ที่ 7,000 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทจึงได้มีการนำกลับมาคิด โดยการปรับความคิดของภาพรวมองค์กร และต้องปรับแนวคิดในการพัฒนาโครงการ เพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด” นายโอภาส กล่าว

นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก มูลค่าตลาดประมาณ 3 แสนล้านบาท แต่ที่มากระทบในปัจจุบันในช่วง 3 ปี เกิดจากผู้บริโภคมีหนี้ก้อนใหม่จากโครงการรถคันแรก และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้น ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนที่เคยอยู่ระดับ 40% ขยับเป็น 80% บริษัทออริจิ้นกำลังปรับพอร์ตเพื่อบริหารความเสี่ยง เรามีการเติมสินค้าระดับพรีเมียมผ่านโครงการ PARK 24 โครงการมูลค่า 17,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในทำเลซีบีดี เป็นโครงการที่บริษัทได้เข้าไปซื้อโครงการมา ทำให้มีแบรนด์ PARK เข้ามาเสริมตลาดระดับบน

 

Picture Credit: Pixabay

64 views
bottom of page