top of page
347550.jpg

เตือนดอกเบี้ยขาขึ้น กนง.ปรับต้นปี 61 - ยึดหลักกระจายความเสี่ยง!


เตือนสถานการณ์การเงินผันผวน! ดอกเบี้ยโลกขาขึ้น “ไทย” เป็นชาติเล็กยากหลีกเลี่ยงผลกระทบ เงินเริ่มหดหาย-ดอกแพง ฟันธง! แบงก์ชาติปรับขึ้นดอกเบี้ยต้นปี นักการเงิน-นักลงทุนต้องกระจายความเสี่ยง พึงยึดหลักอย่าเอาไข่ใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียว

นายวิทัย รัตนากร รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มลงทุนและบริหารการเงิน เปิดเผยกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงการบริหารการเงินในภาวะที่เงินบาทแข็งค่าว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่เงินบาทแข็งค่า และเป็นไปตามสถานการณ์ทั้งภูมิภาค มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหลายเรื่องให้ต้องติดตามไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่า มองเรื่องนี้เป็นเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า ส่วนหนึ่งมาจากเงินดอลลาร์อ่อนค่าชัดเจน ประกอบกับสหรัฐอเมริกาเองมีปัญหาการเมืองภายใน โดยช่วง 3-4 อาทิตย์ที่ผ่านมามีความรุนแรงมากขึ้นและมีความเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ อาจถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งในอนาคต จากที่ดูก่อนหน้านี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ขณะนี้เริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้น ประเด็นเหล่านี้ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง อีกถ้าความแข็งแกร่งของ โดนัลด์ ทรัมป์ ลดลง การเข็นมาตรการต่างๆ หรือการลดภาษีด้วยการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจจะลดลงตามมา

“ในเมื่อลดภาษีไม่ได้หรือกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ เงินเฟ้อก็อาจจะไม่มากอย่างที่คิด พอไม่มากอย่างที่คิด อัตราดอกเบี้ยเฟดซึ่งระยะยาวจะขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็จะเริ่มมีคำถามแล้วว่าระยะสั้นคงขึ้นแน่ในช่วงเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม แต่ระยะยาวจะขึ้นเร็วอย่างที่คาดการณ์หรือไม่ ก็เลยมีความกังวล และคนเริ่มเทขายดอลลาร์” นายวิทัยกล่าวและมองอีกปัจจัยหนึ่งเกิดจากเยอรมนีบอกว่า ค่าเงินยูโรต่ำกว่าที่ควรจะเป็นส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลเข้าภูมิภาคเอเชียค่อนข้างมาก ขณะที่ไทยเป็นประเทศหนึ่งในเป้าหมาย ถือเป็นเรื่องดี เพราะมีเสถียรภาพทางด้านมหภาคค่อนข้างดี จากที่ไทยมีเงินทุนสำรองค่อนข้างสูงมาก มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ตลอดเวลา ทำให้เงินเข้ามาพักในตลาดเงิน ช่วงนี้นอกจากเงินบาทแข็งค่าแล้ว เห็นได้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา สะท้อนว่ามีการนำเงินมาพักที่ตลาดพันธบัตร

“ปัจจัยที่ต้องติดตามจากนี้ คือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดยอมรับว่าตอนนี้เป็นเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้นทั้งโลก เพียงแต่ว่าในแต่ละประเทศการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะช้าหรือเร็วแตกต่างกัน แต่ทั้งโลกมีปัจจัยจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เพราะฉะนั้นระยะยาว เฟดก็ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่วนระยะสั้นจะขึ้นช้าหรือเร็ว ระยะสั้น 70-80% จะปรับขึ้นในเดือนมิถุนายน และอีก 50% มีความเชื่อว่าจะปรับขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ โดยตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาไตรมาส 1 ก็เติบโต 1.2% ซึ่งสูงมากจากที่ตลาดคาดการณ์แค่ 0.7% ตรงนี้ยิ่งตอกย้ำว่าระยะสั้นขึ้นแน่ ส่วนระยะยาวจะขึ้นเร็วหรือไม่เร็วอย่างที่คิด”

สำหรับประเทศไทยนายวิทัยกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยดีขึ้นอย่างชัดเจน รัฐบาลมีนโยบายลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง พอสภาพคล่องอาจจะเริ่มหายไปบ้าง เมื่ออัตราดอกเบี้ยของเฟดกลับมาอยู่ที่ 1.5% แต่สุดท้ายแล้ว ถ้าสภาพคล่องเริ่มลด เศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้นอย่างชัดเจน ตัวเงินเฟ้อเริ่มกลับขึ้นมา อัตราดอกเบี้ยไทยก็อาจมีแรงถูกผลักดันด้วยปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในที่พร้อมมากขึ้น ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว แบงก์ชาติไม่ขยับดอกเบี้ยเร็วมากนัก ค่าเงินบาทอาจทยอยกลับมาอ่อนค่าได้บ้าง เป็นแนวทางที่แบงก์ชาติต้องการอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งค่าจนเกินไป ดังนั้น เงินบาทที่แข็งค่าในช่วงนี้ น่าจะไม่แข็งค่าในระยะยาว

“อัตราดอกเบี้ยทั้งโลกมีความเชื่อมโยงกัน ไทยเป็นประเทศเล็กคงหลีกหนีแรงกดดันไม่ได้ แต่ว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ดูปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก นอกเหนือจากที่เฟดขยับดอกเบี้ย ผมมองว่าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นอย่างชัดเจน ด้วยความสำเร็จของมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ออกไป โดยนโยบายที่ช่วยเอสเอ็มอีให้แบงก์ลดดอกเบี้ยประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้น ในปัจจุบันยังไม่มีแรงผลักดันภายในประเทศที่ชัดเจนมากนัก เชื่อว่าโดยหลักแล้วคนส่วนใหญ่เชื่อว่า เมื่อเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 1.5% ปลายปี และเมื่อแรงผลักดันภายในมีมากขึ้น เงินเฟ้อเริ่มดีขึ้น เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ขณะที่สหรัฐอเมริกาเริ่มขายได้บ้าง ตลาดเงินทุนไหลออก และส่วนต่างของเฟดจากที่เคยอยู่ 1%, 0.5% จะเหลือ 0% ในครึ่งปี”

นายวิทัยคาดอีกว่า กนง.จะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย ตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป แต่ก่อนที่กนง.จะปรับ ดอกเบี้ยพันธบัตรจะวิ่งขึ้นไปก่อน และหลังจากนั้นพอกนง.ปรับในช่วงเวลาใกล้ๆ กันแล้ว ถ้าสภาพคล่องเริ่มหายไปจากการขาดดุลบัญชี งบประมาณของรัฐบาลด้วย และเฟดปรับเงินที่ไหลออกด้วย อัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็อาจทยอยปรับขึ้นไปบ้าง

“สถานการณ์การเงินดังกล่าวนักลงทุนควรจัดพอร์ตอย่างไรจากนี้นั้น ผมขอแนะนำว่า ทุกคนยังควรยึดหลักปกติของเรา ก็คือว่าเราวางเงินไว้กระจายความเสี่ยงในหลายตะกร้า ไม่ควรวางเงินในตะกร้าใดตะกร้าหนึ่ง เพียงแต่ว่าขึ้นอยู่กับความเสี่ยงหรือความต้องการ ถ้านักลงทุนมีความเสี่ยงแต่รับได้ การลงทุนในหุ้นเองก็อาจจะไปได้ แต่ตลาดเองก็ตื้อๆ เพราะขาดปัจจัยใหม่ แต่ถ้าสภาพเศรษฐกิจค่อยๆ ดีขึ้นจริง ระยะยาวตลาดหุ้นอาจจะดีขึ้นบ้าง เพียงแต่ว่าช่วงนี้ขาดปัจจัยใหม่ และตลาดหุ้นไทยก็ขึ้นราคามารับแล้ว ช่วงนี้ก็ค่อนข้างยากในการจัดสรร นักลงทุนก็ควรระมัดระวัง ส่วนตราสารหนี้คิดว่าเหมาะสมในการเข้าไปลงทุนในระยะเวลาสั้นๆ แต่อย่างไรก็ควรกระจายความเสี่ยง”

72 views
bottom of page