top of page
327304.jpg

ดีดกลับบนความเปราะบาง


Technical Rebound !

แม้ว่า SET จะมีการดีดตัวขึ้นจากแนวรับที่มีนัยสำคัญ ตามที่ประเมินกันไว้บริเวณ 1,530 จุด (+/-) จริงๆ แต่ถ้าพิจารณาจาก Relative Strength จะพบว่านอกจากการเคลื่อนไหวในเชิงเปรียบเทียบของ SET ที่ยังคงดูแย่ หรือ Underperform กว่าทั้งตลาดหุ้นสหรัฐ (S&P500) และอาเซียน (FTSE ASEAN40) ในรายเดือน หรือ Monthly น่าจะส่งผลให้การดีดตัวขึ้นระยะสั้นของ SET ในเชิง Momentum ดูยากขึ้นแล้ว โดยเฉพาะถ้าพิจารณาเพิ่มเติมจากองค์ประกอบที่กำหนดแนวโน้มของ SET ในระยะสั้นไม่เกิน 1 เดือน ก็จะพบว่าเกือบทั้งหมดยังคงสนับสนุนทิศทางการพักตัว หรือ Bearish ของ SET ทั้งสิ้น ทั้งในส่วนของ Moving Average (=Dead Cross ขั้นที่ 3), Trend Signal (Indicators ทุกตัว = Bearish) และ Momentum (Support on Bear และมี Momentum ที่แข็งแกร่ง หรือ Strength เสียด้วย)

ทั้งนี้จากองค์ประกอบทั้ง 3 ดังกล่าว ทำให้แม้ว่าในส่วนของ Fund Flows จะดูมีความหวังอยู่บ้าง โดยเฉพาะในส่วนของนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงมีสัญญาณที่เป็นบวก หรือ Optimism อยู่ แต่การที่ค่าเงินบาทเริ่มมีแนวโน้มกลับมาอ่อนค่าอีกครั้ง และองค์ประกอบอื่นๆ ของ SET ของเชิง Tactical ที่ดูอ่อนแอ และยังไม่มีสัญญาณการกลับทิศในระยะสั้นที่ชัดเจน ตราบใดที่ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดเหนือ 1,575 จุดได้ ทำให้การเข้าซื้อของนักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่ใช่ปัจจัยที่หนุน SET ในดีดกลับที่จะเกิดขึ้นได้ในระยะสั้นๆ และจะทำให้การดีดตัวขึ้นของ SET ในระยะสั้นๆ เป็นเพียงแค่การ Technical Rebound เท่านั้น

ตลาดหุ้นสหรัฐกลับมาอยู่ในความเสี่ยง ! “นายหมูบิน” เริ่มมองเห็นโอกาสที่ตลาดหุ้นสหรัฐจะปรับตัวลงเพิ่มขึ้น เพราะแม้ว่าในระยะกลาง (3-6 เดือน) แน่นอนตลาดหุ้นสหรัฐน่าจะยังคงได้รับปัจจัยหนุนจากการลดขนาดงบดุลของเฟด และแผนการลงทุนภาครัฐของสหรัฐ แต่ในระยะสั้นราย 1-2 สัปดาห์นี้ “นายหมูบิน” มองว่าตลาดหุ้นสหรัฐขาดปัจจัยกระตุ้นใหม่ สะท้อนออกมาจากการที่ล่าสุดรายงานผลสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนสหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมา (11-17 พ.ค. 2560) พบว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐยังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ในระยะ 6 เดือนข้างหน้าลดลงถึง 8.9% มาอยู่ที่ระดับ 23.9% เท่านั้น เทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 38.5% และถือเป็นสัปดาห์ที่ 10 ติดต่อกันแล้วที่สัดส่วน Bullish ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว สวนทางกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐกำลังกลับมาเป็นขาลง หรือ Bearish ในระยะ 6 เดือนข้างหน้าที่เพิ่มขึ้นถึง 4.0% มาอยู่ที่ระดับ 34.3% เทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 30.5%

ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนเดิม คือความเชื่อมั่นกับนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดี Donald Trump ลดลง หรือขายไม่ได้แล้วในมุมมองของตลาด สะท้อนออกมาจากระดับราคาหุ้นของสหรัฐในกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากนโยบายของ Donald Trump หรือ "Pro-Trump" มี Performance ที่แย่ลงอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับระดับราคาหุ้นของสหรัฐในกลุ่มที่ไม่ได้ประโยชน์จากนโยบายของ Donald Trump หรือ "Anti-Trump" โดยที่ปัจจุบันดัชนี Pro-Trump/ Anti-Trump Ratio ของหุ้น 2 กลุ่มดังกล่าว ที่เคยปรับตัวขึ้นถึง 16% หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ 1 เดือน (27 ก.ย.-8 ธ.ค. 2559) ปรับตัวลดลงมาต่ำกว่าระดับในช่วงก่อนการเลือกตั้งแล้ว

ตลาดหุ้นไทยเลี่ยงแรงกดดันได้ยาก ! ในทางตรงกันข้ามนอกจากจะไม่มีปัจจัยหนุนใหม่ที่ชัดเจนแล้ว ดูเหมือนว่าล่าสุดนักลงทุนกลับมาตระหนักถึงวิกฤติการเมืองสหรัฐที่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น จากกระแสข่าวที่ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ อาจจะเข้าแทรกแซงการสอบสวนของเอฟบีไอเกี่ยวกับความร่วมมือในช่วงการเลือกตั้งสหรัฐครั้งที่ผ่านมาระหว่างรัสเซีย และทีมงานของ โดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งนี้ในเบื้องต้นถ้าหากมีการยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง อาจนำไปสู่กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์เพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ ซึ่งจะเป็นเป็นอุปสรรคขัดขวางความพยายามของทรัมป์ ในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแน่นอน ซึ่งในมุมมองของ “นายหมูบิน” แม้ว่าประเด็นดังกล่าวจะส่งผลให้ Fed Fund Futures สะท้อนว่ามีโอกาสเพียงราว 60% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย.2560 ซึ่งปรับลดลงจากโอกาส 90% ก่อนที่จะมีประเด็นดังกล่าว

อย่างไรก็ดี “นายหมูบิน” มองว่าตลาดหุ้นโลก และภูมิภาคจะให้น้ำหนักกับปัจจัยลบบนความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ-การเมืองของสหรัฐ มากกว่าปัจจัยบวกบนโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยที่น้อยลงของเฟด ซึ่งความกลัวความเสี่ยงดังกล่าว สะท้อนออกมาจากการดัชนี VIX Index ของสหรัฐผันผวนมากๆ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง “นายหมูบิน” มองว่าความผันผวนดังกล่าวจะส่งกระทบต่อทิศทางของตลาดหุ้นไทยที่มีความเปราะบางมากๆ อย่างแน่นอน โดยที่ความเปราะบางที่ “นายหมูบิน” กล่าวถึงได้มองไปที่ Downside Potential ของ SET ที่สะท้อนออกมาจากการที่เราพิจารณาผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้นไทย (ตลาดหุ้น+ค่าเงิน) ตั้งแต่ปี 2559-ปัจจุบัน ซึ่งจะพบว่าอยู่ที่ระดับสูงถึง 23.6% (ตลาดหุ้น = 19.4% และค่าเงิน = 3.2%) สูงเป็นอันดับที่ 3 ในกลุ่มตลาดหุ้น Top10 ของเอเชีย เป็นรองเพียงแค่ตลาดหุ้นไต้หวัน (29.1%) และอินโดนีเซีย (27.1%) เท่านั้น

ขณะที่ถ้าพิจารณาระดับราคาในปัจจุบัน จะพบว่าตลาดหุ้นไต้หวัน และอินโดนีเซีย ซื้อขายที่ระดับ PEG ที่ 0.9 และ 0.3 เท่า เท่านั้น เทียบกับตลาดหุ้นไทยที่ 1.7 เท่า ทำให้ในมุมมองของ “นายหมูบิน” การดีดตัวขึ้นของ SET ในระยะสั้นยังคงเปราะบางมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยภูมิภาค และอาจให้ตลาดหุ้นไทยเป็นเป้าหมายในการลดพอร์ตออกมาก่อนของนักลงทุนต่างชาติได้

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงกลับไปปิดเหนือกว่า 1,575 (+/-5) จุดไม่ได้ แนะนำ กลับมา “ถือเงินสด” หรือ “Wait and See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/moobin.stockmania และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

45 views
bottom of page