top of page
347550.jpg

"หลั่นล้า" อีโคโนมี...เศรษฐกิจที่อิงอยู่กับความหลั่นล้าของคนไทยที่ถนัดโดยธรรมชาติ


ข่าวที่ว่ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐเริ่มออกมาตรการบีบ 13 ชาติ คู่ค้าที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐอย่างมีนัยสำคัญ โดยให้ชาติคู่ค้าชี้แจงประเด็นที่ทางการสหรัฐเห็นว่าไม่เป็นธรรมในการค้ากับสหรัฐภายในวันที่ 10 พฤษภาคมศกนี้

สำหรับประเด็นที่น่ากังวลต่อไทยมากที่สุด ได้แก่ มาตรการที่สหรัฐเห็นว่าเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ทางกระทรวงพาณิชย์ของไทยอยู่ระหว่างการจัดทำข้อชี้แจงต่างๆ ซึ่งทางการไทยหวังว่าจะเป็นที่พอใจของสหรัฐและไม่ดำเนินการตอบโต้ที่จะกระทบถึงการส่งออกของไทยไปสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทยและไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาตลอด

อย่างไรก็ตาม จัดว่าเป็นความเสี่ยงที่อาจกระทบถึงผลการส่งออกของไทยที่ขยายตัวเพียงเล็กน้อย ปีต่อปีมาหลายปี เพราะหากสหรัฐออกมาตรการตอบโต้คู่ค้าบางประเทศที่สั่งซื้อสินค้าจากไทยไปผลิตสินค้าเพื่อส่งไปขายในอเมริกา แม้ว่าจะไม่มีการตอบโต้กีดกันการส่งออกจากไทย การส่งออกของไทยก็อาจได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

นอกจากเรื่องปัญหาการถูกบีบจากสหรัฐแล้ว ยังมีข่าวว่าปัจจุบันภาคกลางของประเทศไทยกำลังประสบปัญหาภัยแล้งหนักที่สุดในรอบหลายสิบปี กระทบถึงการเพาะปลูกข้าวและผลผลิตการเกษตรอื่นซึ่งสร้างรายได้ให้เกษตรกร ผนวกกับปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูงคือประมาณร้อยละ 80 ของจีดีพี โอกาสที่การบริโภคจะเพิ่มขึ้นเพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโต จึงอาจจะยังต้องใช้เวลาปรับตัวนานพอสมควร เพราะกำลังซื้อที่มาจากต่างจังหวัด ซึ่งเป็นกำลังซื้อจากคนส่วนใหญ่ของประเทศอ่อนแอ เพราะผลผลิตน้อยแต่ราคายังไม่ปรับตัวสูงขึ้น เพราะราคาผลผลิตทางการเกษตรหลักๆ ถูกกำหนดในตลาดโลก

สิ่งที่เก็บมาเล่าสู่กันฟังจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ข้างต้นนั้น เป็นเพียงตัวอย่างของความเสี่ยงที่อาจทำให้การขยายตัวจากเศรษฐกิจไทยไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด แม้จะตั้งเป้าหมายไว้ไม่สูงเกินไปจนไม่สามารถปฏิบัติได้แล้วก็ตาม คืออยู่ในช่วง 3-3.5% ก็หวังว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายและรัฐสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้ลดความรุนแรงลงได้ระดับหนึ่ง เพราะรายได้จากการส่งออกยังเป็นรายได้หลักในจีดีพีของไทย การปรับตัวให้หันมาเน้นรายได้ภายในประเทศเป็นหลักสำหรับประเทศเล็กๆ อย่างไทยคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้ลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออก

แต่มีแนวคิดที่น่าจะทำให้การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยเกิดขึ้นเร็วขึ้น คือแนวคิดที่ผมนำมาตั้งชื่อของบทความวันนี้ที่มีชื่อว่า หลั่นล้าอีโคโนมี ซึ่งเป็นแนวคิดของนักวิชาการท่านหนึ่งคือ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ โดยท่านบอกว่า ไม่ได้แปลมาจากภาษาอังกฤษหรือก๊อบปี้ทฤษฎีฝรั่งมา แต่ท่านหมายถึงเศรษฐกิจที่อิงอยู่กับความ “หลั่นล้า” ของคนไทยที่ถนัดโดยธรรมชาติ เช่น ธุรกิจงานบริการ การมีสันถวไมตรี การเดินทางท่องเที่ยว บันเทิง งานสร้างความสนุก สถานรื่นเริง ศิลปวัฒนธรรม การพักผ่อนหย่อนใจ งานที่เกี่ยวกับความงาม รสชาติ แปลกใหม่ เช่น การเสริมสวย เครื่องสำอาง การกีฬาและสุขภาพ เป็นต้น

ผมเห็นด้วยกับ ดร.เอนก ที่ควรจะพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบยั่งยืนไปในแนวที่คนไทยถนัด ซึ่งธุรกิจหลายประเภทเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้จำนวนมากให้เศรษฐกิจไทยอยู่แล้ว เช่น ธุรกิจการรักษาพยาบาล อาหารไทยซึ่งไม่จำกัดอยู่ที่ร้านค้าหรูๆ ติดดาวยางรถยนต์เท่านั้น แต่หมายถึงอาหารข้างถนนที่ถือว่าเป็นอาหารที่มีรสชาติอร่อย และมีบรรยากาศแตกต่างไปจากประเทศอื่นจนเป็นที่ยอมรับทั่วโลก แม้แต่นิตยสารระดับโลก ยังเอาไปแนะนำให้นักท่องเที่ยวมาลองชิมในเมืองไทย ธุรกิจนวดแผนไทย ธุรกิจการเปิดบ้านพักให้นักท่องเที่ยวได้พักเพื่อสัมผัสบรรยากาศและวิถีการดำเนินชีวิตในท้องถิ่น ไม่เฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวเช่นตามตลาดน้ำต่างๆ แม้แต่แถวชานเมืองใกล้บ้านผม ยังมีการเปิดโฮมสเตย์ให้คนต่างชาติพักหลายแห่ง ทั้งกลางทุ่งนาและริมคลองหลายแห่ง

ผมเคยมีแขกต่างประเทศมาพักค้างที่บ้าน เขาชอบมากคือการให้ลูกสาวผมพาไปทำเล็บ เพนท์เล็บ นวดตัว กลับมาอวดเล็บที่ทำมาว่าสวยและราคาถูกกว่าที่บ้านเขา ทำให้ผมได้คิดว่าแม้แต่การทำเล็บยังสร้างรายได้เข้าประเทศได้ ถ้ามองตั้งแต่หัวจรดเท้าคนไทยน่าจะสามารถทำเงินได้อีกมากมาย เพราะความหลั่นล้า มีศิลปะและมีจิตวิญญาณในการให้บริการของคนไทย

กลับมาที่ข้อเขียนของ ดร.เอนก ใหม่ ท่านบอกว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของไทยในปีนี้จากการรวบรวมของสภาการเดินทางและท่องเที่ยวโลกนั้น สูงถึง 20% ของรายได้ประชาชาติ สูงกว่ารายได้จากการเกษตรกรรมซึ่งทำรายได้เพียง 8% ของรายได้ประชาชาติ และพอคาดได้ว่าอีกไม่นานรายได้จากการท่องเที่ยวจะสูงกว่ารายได้จากภาคอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันทำรายได้ให้ประเทศร้อยละ 30 ของรายได้ประชาชาติ เพราะรายได้จากภาคการท่องเที่ยวขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี เพราะฉะนั้นในปี 2570 ขนาดของธุรกิจการท่องเที่ยวจะสูงถึงร้อยละ 33.33 ของเศรษฐกิจรวมของประเทศไทย

ด้วยตัวเลขข้างต้นจึงเห็นว่า ความหลั่นล้าของคนไทยนั้นสามารถนำมาสร้างรายได้ หางาน หรือหาธุรกิจมาทำได้แบบสบายๆ ร่าเริง ไม่เครียด และตรงกับอุปนิสัยความชอบของเจ้าตัว เพราะคนไทยไม่เครียดนาน ไม่ชอบการขัดแย้ง มีความเป็นกันเอง โดยเฉพาะกับคนต่างชาติ

ถ้าจะยกตัวอย่างธุรกิจหลั่นล้า ต่อไปคงเกินหน้ากระดาษ แต่ผมอดคิดไม่ได้ว่าทำไมใครต่อใครนิยมไปเกาหลีเพื่อเสริมความหล่อความงาม ในเมื่อเมืองไทยมีศัลยแพทย์มือดีๆ ที่ถนัดงานด้านนี้ สมควรไหมที่จะส่งเสริมให้ก้าวหน้าดั่งสาวจีน สาวญวน ฯลฯ เข้ามาทำศัลยกรรมพลาสติกแข่งกับเกาหลีบ้างไม่ดีหรือ

อาจารย์เอนกมองว่าประเทศที่น่าจะเป็นแม่แบบของการพัฒนาเศรษฐกิจหลั่นล้าอย่างเป็นระบบน่าจะได้แก่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผมว่าอีกประเทศหนึ่งที่น่าจะเป็นแม่แบบได้คือประเทศเกาหลีที่สร้างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ออกมาจนเป็นที่รู้จักทั่วโลก มีเมืองถ่ายทำภาพยนตร์ขนาดใหญ่ให้นักท่องเที่ยวเข้าชม ก็หวังว่าวันหนึ่งอาจมีภาพยนตร์ไทยระดับโลกออกฉายทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น และมีภาพยนตร์ซีรีส์ดีๆ มีสาระออกมาฉายทั้งในประเทศและต่างประเทศเหมือนเกาหลีหรือจีนบ้าง เพราะเมืองไทยไม่ขาดแคลนหนุ่มสวยสาวหล่ออยู่แล้ว

มาใช้ความหลั่นล้าดึงคนต่างชาติให้เข้ามาใช้เงินในประเทศไทยดีกว่าไหมครับ ถ้าการส่งสินค้าไปขายต่างประเทศเต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรคในยุคที่ใครต่อใครตั้งข้อรังเกียจการค้าแบบโลกาภิวัตน์ที่สร้างกันมาเกือบยี่สิบปีแล้ว

24 views
bottom of page