top of page
327304.jpg

TAXI ฮึดสู้ UBER-GRAB...เตรียมพัฒนาแอปพลิเคชั่นรองรับ! ตีแผ่ความจริงยิ่งกว่านิยาย


นายวิฑูรย์ แนวพาณิชย์ ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” เกี่ยวกับการรับมือกับ Grab และ Uber ว่า อย่างแรกก็คงปฏิเสธเรื่องการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะโลกมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ กับเต็มไปด้วยการแข่งขัน แม้เราอยู่กับแท็กซี่เสรีมากว่า 20 ปี เราก็มีการแข่งขันมาโดยตลอด แต่ในยุคหลังมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็วมากในเรื่องเทคโนโลยี โดยเราปรับตัวแทบไม่ทัน

“เราเป็นรถที่ถูกต้องตามกฎหมายและปฏิบัติตามกฎหมายมาโดยตลอด แต่เราก็ไม่ไปกอดติดกับกฎหมายเพราะกฎหมายย่อมมีการเปลี่ยนแปลงได้ ถึงวันหนึ่งเมื่อความต้องการเปลี่ยนแปลงกฎหมายก็อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่ในขณะนี้ช่วงระยะการเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ต้องให้ภาครัฐปฏิบัติตามกฎหมายก่อน เพราะว่ารถที่ถูกกฎหมายกับผิดกฎหมายแล้วให้มาแข่งขันกันเองก็จะไม่เกิดความยุติธรรม เพราะอีกฝ่ายต้องทำตามกติกาแล้วอีกฝ่ายไม่ทำตามกติกาต้นทุนในการแข่งขันก็ต่างกัน เราก็ต้องพัฒนาไปสู่ความต้องการของผู้ใช้บริการ จะอยู่เฉยกับที่โดยมีกฎหมายคุ้มครองวันหนึ่งผู้ใช้บริการจะเป็นคนตัดสิน

เราเองก็ต้องพัฒนาเมื่อผู้ใช้บริการต้องการใช้บริการผ่านระบบของโทรศัพท์ ซึ่งเราเองก็ต้องเตรียมระบบแบบนี้ไว้ในการรองรับกับผู้ใช้บริการ” นายวิฑูรย์กล่าวและว่าปัจจุบันรายได้ของคนขับแท็กซี่ลดลงเยอะมาก ตอนนี้มีตลาดเดียวที่อยู่ในกรุงเทพฯที่นอกเหนือรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถตู้ รถโดยสารชนิดอื่น คือ รถแท็กซี่ แล้วผู้ใช้บริการรถแท็กซี่ไปใช้รถบริการอีกชนิดหนึ่งก็หมายถึงว่าเป็นลูกค้ากลุ่มเดิมไปใช้ชนิดอื่นก็ทำให้จำนวนเที่ยวหรือจำนวนค่าโดยสารหดหายไปขณะนี้ ซึ่งประเมินว่าลดลงประมาณ 20-30%

“การทำโปรโมชั่น ขับ 2 แถม 1 วัน หรือ ขับ 3 แถม 2 วัน ของแท็กซี่เสรีก็ต้องมีการทำโปรโมชั่นแข่งขันกัน แต่พอแข่งขันกัน ณ วันนี้ภายใต้โครงสร้างกติกาที่กำหนดไว้ว่าราคาเดียวกัน รถจะใช้งานได้ไม่เกิน 9 ปีก็ต้องปลดระวาง วันที่จะปลดระวางเหลือประมาณ 1 เดือน ค่าโดยสารก็เท่ากัน คือ เริ่ม 35 บาท แต่อีกคันที่จดทะเบียนมาได้ 1 เดือนค่าโดยสารก็เท่ากัน เพราะฉะนั้นผู้ใช้บริการจะเลือกใช้บริการแต่รถใหม่เพราะว่าค่าโดยสารเท่ากัน เจ้าของอู่ต้องออกแต่รถใหม่และคนขับจะแย่งแต่รถใหม่ขับกัน ทำให้มีการแข่งขันดึงคนขับกันโดยแข่งขันในเรื่องลดแลกแจกแถม เมื่อลดราคาคุณภาพย่อมได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ มีการร้องเรียนมากมายหรือแท็กซี่ปฏิเสธเพราะว่าตลาดไปแข่งขันในเรื่องของลดต้นทุน”

เรื่องคนขับแท็กซี่ทำผิดกฎหมายนั้น นายวิฑูรย์กล่าวว่ามีการจับปรับแต่เราจับปรับมา 20 ปีแล้ว ถือว่าไม่ลดจำนวนลงและมีแต่เพิ่มจำนวนมากขึ้น เพราะฉะนั้นวิธีการจับปรับหรือไปอิงว่าถ้าทำผิดแล้วช่วยจับคนขับให้น่าจะไม่เพียงพอแล้วในอนาคต

ขณะนี้ต้องพัฒนา ทำอย่างไรถึงไม่ให้เขาปฏิเสธ ทำไมของ Grab หรือ Uber ถึงไม่ปฏิเสธ ทำไมแท็กซี่ถึงปฏิเสธเพราะระบบแท็กซี่ใช้โบก แต่ของ Grab หรือ Uber คือผู้โดยสารรู้ปลายทางแล้วผู้ที่จะไปรับรู้เส้นทางแล้วพอใจถึงกดรับลูกค้า เพราะฉะนั้นจึงต้องสร้างโปรแกรมของเราและได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วเหลือเพียงแต่ในส่วนของราชการที่จะเข้าเกี่ยวข้องเท่านั้นเอง ถ้าเร็วๆ นี้ได้รับอนุญาตคงได้มีการแข่งขันในรูปแบบใหม่มากขึ้น เราเองก็ต้องมีแอปพลิเคชั่นรองรับผู้ใช้บริการ ถ้าเรียกผ่านแอปพลิเคชั่นถึงจะเป็นแท็กซี่รุ่นเดิมแต่จะไม่มีการปฏิเสธแน่นอน แต่ค่าบริการก็จะเสียเพิ่มขึ้นเหมือนกับ Grab หรือ Uber

“ที่ผ่านมารอมาตลอดว่าแอปพลิเคชั่นตรงนี้ที่มีรถแสนกว่าคัน ถ้าจะให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดก็ควรเป็นของราชการที่ต้องทำมารองรับ เพราะจะเกิดความยุติธรรมในการจ่ายงานหมดทุกอย่าง แต่เรารอมา 2 ปีก็ยังไม่เกิดขึ้นจึงต้องทำเองแล้วในขณะนี้ ขืนรอไปอีกตลาดรถแท็กซี่พังแน่นอน ขณะนี้ได้ทำแอปพลิเคชั่นเสร็จแล้วเหลือเพียงแต่รออุปกรณ์บางอย่างที่เป็นฮาร์ดแวร์ติดตั้งในรถเพื่อพ่วงกับระบบให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเรื่องนี้ต้องได้รับอนุญาตซึ่งทางกรมขนส่งทางบก แต่ยังรอขั้นตอนระเบียบต่างๆเท่านั้นเอง เช่น เมื่อเรียกแท็กซี่มาแล้วก็จะมีระบบ GPS เพื่อให้เห็นตลอดเวลาว่ารถไปไหน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการ ผู้โดยสารเมื่อขึ้นรถมาก็จะมีกล้องถ่ายไว้เพื่อความปลอดภัยทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ เวลาลงจากรถก็จะมีกล้องบันทึกไว้เผื่อแท็กซี่ปฏิเสธหรือมีการทำมิดีมิร้ายก็จะมีหลักฐานแน่นอน กับระบบของมิเตอร์ต้องมีความแม่นยำและเที่ยงตรงเชื่อถือได้ ต้องเป็นระบบดิจิตอลเพื่อพ่วงกับระบบที่ติดตั้ง ผู้โดยสารสามารถตรวจสอบผ่านมือถือได้เลยว่าค่าโดยสารต้องเท่ากัน อาจจะต่างกันเพียง 1-2 บาท สิ่งเหล่านี้อาจจะต้องใช้ส่วนราชการที่มาเห็นชอบในการอนุมัติสิ่งเหล่านี้ออกมาใช้ได้”

ส่วนการออกกฎหมายไปห้าม Grab หรือ Uber นั้น นายวิฑูรย์กล่าวว่าคงไม่ได้ไปห้าม เพราะคงไม่ไปปฏิเสธเทคโนโลยี ถึงวันหนึ่งเราก็ต้องทำเทคโนโลยีขึ้นมาพัฒนาเหมือนกัน เพียงแต่ตัวรถในขณะนี้ใช้เป็นรถป้ายดำซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ ของเราเป็นรถป้ายเหลืองลงทุนไปกว่า 1 ล้านบาท แล้วจะเอารถที่ใช้มา 3-4 ปีมาทำก็ทำไม่ได้ และต้องใช้รถตามสเปกที่กำหนด คือ ต้องเป็นรถป้ายแดงต้นทุน 1 คันมี 800,000-900,000 บาท อุปกรณ์ที่พ่วงเข้ารวมกันราคาเป็นล้านบาท แต่ของ Grab หรือ Uber เป็นรถป้ายดำ สเปกรถที่นำมาให้บริการ 200,000-300,000 บาทก็ให้บริการได้ ค่าโดยสารเท่ากันคนหนึ่งลงทุนเป็นล้านบาทแต่อีกคนลงทุน 200,000-300,000 บาททำให้แข่งกันไม่ได้ ถ้าจะอนุญาตให้รถป้ายดำใช้บริการได้ก็ไม่ว่ากันซึ่งเราก็จะได้ไม่ต้องจดทะเบียนป้ายเหลือง เราก็สามารถนำรถป้ายดำมาให้บริการ แต่เวลารถเป็นป้ายดำทั้งหมดแล้วรถป้ายเหลืองไม่มีให้คนโบกแล้วจะมีผลกระทบหรือไม่ก็อยู่ที่นโยบายของรัฐ

“คนที่ขับรถแท็กซี่ป้ายเหลืองที่จะต้องมีการเปลี่ยนรถแล้วจะทำต่อหรือไม่ก็เป็นไปตามกลไกลตลาด เพราะฉะนั้นวันนี้จะประกาศอะไรไม่ใช่วันต่อวัน ภาครัฐจะต้องมองเผื่ออนาคต 2 ปี แล้วรถแท็กซี่ VIP ที่จะเกิดขึ้นมาพูดมาแล้ว 2 ปีแต่วันนี้ก็ยังไม่เกิด หรือระบบเทคโนโลยีที่จะเข้ามาหวังพึ่งพามา 2 ปีแล้วก็ยังไม่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ภาครัฐถ้าคิดว่าจะสนับสนุนคุ้มครองรถที่ถูกกฎหมายก็ต้องเอื้ออำนวยในเรื่องของอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้หรือเทคโนโลยีที่พัฒนาเพื่อมาแข่งขัน” นายวิฑูรย์กล่าว

“รถแท็กซี่ที่จะปลดประจำการในปี 2560 นี้ คงมีไม่ถึง 40,000 คัน ด้วยกลไกลของรถแท็กซี่และอายุของรถจะหมุนเวียนปีละประมาณ 5,000 คัน คือรถเก่าปลดระวางประมาณ 5,000 คัน แล้วก็จดทะเบียนรถขึ้นมาทดแทนประมาณ 5,000 คัน แต่จังหวะรอบนี้ที่จดทะเบียนเมื่อ 9 ปีที่แล้วก็จะมาลงล็อกปี 2560 จะมีการปลดมากที่สุดอยู่ที่ประมาณ 20,000 คัน เพียงแต่จะจดทะเบียนขึ้นมาทดแทน 20,000 คันหรือว่าจะจดทะเบียนไม่ถึง ก็ต้องดูว่าอนาคตนโยบายของรัฐจะมุ่งไปในทิศทางใด ถ้ายังยึดนโยบายบายเดิมก็อาจจะจดทะเบียนขึ้นมา 10,000-20,000 คัน ส่วนเรื่องการร้องเรียนรถแท็กซี่ที่ปฏิเสธถือว่ามีส่วนน้อย แต่เมื่อภาพลักษณ์ออกมาแบบนี้คนขับแท็กซี่ดีก็ได้รับผลกระทบไปด้วย”

1 view
bottom of page