top of page
312345.jpg

ขาย “แฟรนไชส์” สบายกว่า ตีแผ่ KFC ขายทิ้ง! ...ทอดไก่ขายโคตรเหนื่อย


โมเดลธุรกิจยุคใหม่ 4.0 ขายไก่ทอดเหนื่อยไป ขายแฟรนไชส์กำไรดีกว่า ที่มาของการประกาศขายเกลี้ยงร้านเคเอฟซีในไทย YUM โยกตัวเองเป็นเพียงผู้พัฒนาแบรนด์และทิศทางการตลาด ยกภาระการลงทุน บริหารร้าน บริหารคน บริหารงานขาย ให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ หลัง Balance Power ถ่วงดุลเกมอำนาจ เมื่อได้ RD มาเป็นผู้บริหารแฟรนไชส์อีกราย

นายสุรพงษ์ วงศ์พลับ ที่ปรึกษาธุรกิจ SME กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยทีมข่าวหนังสือพิมพ์ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงกรณีบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของธุรกิจร้านอาหาร แบรนด์ “เคเอฟซี” และ “พิซซ่า ฮัท” ประกาศขายร้านเคเอฟซีกว่า 244 สาขาให้กับผู้สนใจ แล้วผันตัวเองขึ้นเป็นผู้บริหารแฟรนไชส์เต็มตัวตามนโยบายบริษัทแม่ว่า เป็นไปตามกระแสธุรกิจยุคใหม่ ที่มุ่งทำกำไรโดยลดความเสี่ยงด้านการลงทุนในอนาคต

“ตอนหลังไม่ว่าจะเป็นคาร์ฟูร์ หรือบิ๊กซี เจ้าของซึ่งเป็นต่างชาติต่างขายกิจการไป ขณะที่ YUM ก็รู้ถึงกระแสนี้เหมือนกัน และต้องการลดความเสี่ยงในอนาคต ซึ่งเราเริ่มสังเกตตั้งแต่เห็นข่าวครั้งแรกที่เคเอฟซีขาย 130 สาขา ให้กับ RD เรสเทอรองตส์เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ตอนนั้นทาง YUM คงเริ่มเช็กแนวโน้มในอนาคตแล้วว่าจะเดินไปทางไหนดี แต่ตอนนั้นยังไม่ขายสาขาทั้งหมด เพราะอย่างน้อยต้องมีสาขาของตัวเองไว้ต่อรอง ถ้าขายสาขาเคเอฟซีหมด อำนาจต่อรองจะไม่มี หรือถ้าจะขาย CRG ในเครือเซ็นทรัลที่เป็นหุ้นส่วนเดิมก็ดูจะผูกขาดกันเกินไป ก็เลยออกมาในรูปแบบนี้”

นายสุรพงษ์กล่าวต่อด้วยว่า ก่อนหน้านี้ร้านเคเอฟซีจำนวน 374 สาขาบริหารจัดการโดย YUM ซึ่งเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ และอีก 219 สาขาบริหารจัดการโดย เซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป หรือ CRG ในเครือเซ็นทรัล ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ยัมฯทำสัญญาขายร้านเคเอฟซีให้บริษัท RD หรือ บริษัทเรสเทอรอตส์ ดีเวลลอปเม้นต์ 130 สาขา รวมทั้งให้สิทธิ RD ในการเปิดร้านเคเอฟซีในกรุงเทพฯและโซนภาคใต้อีก 100 สาขา

“แต่ครั้งนี้ที่จะขายอีก 244 สาขา และจะขายให้ใครนั้น...ก็คงเหมือนเมื่อครั้ง บิ๊กซี และคาร์ฟูร์ ประกาศขายกิจการ ทั้งๆ ที่รู้อยู่ในใจแล้วว่าจะขายให้ใคร เพราะยังไงทางยัมฯก็ต้องการขายให้กับผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจนี้ สรุปคือให้รายเดิมบริหารดีกว่า ก็คงจะเป็นสองรายเดิมเพื่อบาลานซ์ธุรกิจ เพราะถ้าขายให้เพียงรายเดียวก็จะซ้ำรอยกับที่เคยเกิดขึ้นในกรณีของพิซซ่า ฮัท...

การขายแฟนไชส์จะลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ ขณะที่สาขาเคเอฟซีที่จะขายจะมีผู้ประกอบการเข้ามาซื้อแน่นอน แต่ว่าจะขายใครที่สามารถสร้างแบรนด์ที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น คราวที่แล้วที่เคเอฟซีขายสาขาบางส่วนให้กับ RD ก็ถือเป็นรายที่มีฝีมือ เป็นกองทุนระดับญี่ปุ่น เป็นทุนอาเซียนทั้งหมด มีเงินทุนมหาศาล และแบรนด์มันดี สินค้ามันเป็นลองเทอม ดังนั้น รายที่สามที่จะเข้ามาคงถูกกีดกัน เชื่อว่าน่าจะเป็นสองรายเดิม แต่จะมีการแบ่งตลาดชัดเจนว่าในห้างใครดำเนินการ Drive-Thru Stand Alone ใครดำเนินการ จะได้ไม่ทับไลน์กัน โดยการขายแฟรนไชส์ ทางยัมฯยังคุมเรื่องคุณภาพแต่ละสาขาของเคเอฟซีอยู่”

สำหรับการขายร้านและแฟรนไชส์ของ YUM ดังกล่าว นายสุรพงษ์กล่าวว่า เป็น Business Model ที่มุ่งเน้นการทำกำไรสูงสุด ลงทุนน้อยสุดและเหนื่อยน้อยสุด

“คือทำน้อยแต่ได้มาก ไม่ต้องลงทุน คอยคอนโทรลอย่างเดียว เงินจะได้เยอะมากกว่ามาบริหารจัดการสาขา การทำน้อยแล้วได้มากก็เหมือนอุตสาหกรรม 4.0 นี่คือการปรับตัวของธุรกิจรายใหญ่จะไม่ทำสินค้าขาย แต่จะทำบริษัทขาย เพราะยุค 4.0 ถ้ามัวทำสินค้าขายอาจจะไม่สำเร็จหรืออาจจะล้มเหลว ถ้าทำบริษัทแล้วดี เอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ไปวัดดวงกับคนที่เขาซื้อแล้วนำไปบริหารต่อ คือทำธุรกิจขาย ไม่ทำสินค้าขาย ยุคนี้จะเป็นอย่างนี้หมด จะสังเกตเห็น ขณะที่บริษัทใหญ่ๆ จะไปได้ก่อน เพราะแบรนด์เขาแข็งแรง ทำให้ทำได้ง่าย และในเมืองไทย ถ้าต้องเข้าตลาด ต้องใช้เวลา ส่วนเมืองนอกมีฟันด์เยอะแยะที่จะเล่นจะลงทุน ซึ่งบ้านเราก็เริ่มมีฟันด์ที่เป็นของสตาร์ทอัพ แต่ว่าเมื่อสตาร์ทอัพขึ้นมามันดาวน์ทันที ไม่สามารถพัฒนาไปถึงขั้นเป็นโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรซ์ และบ้านเราแปลกอยู่อย่างพอล้มเหลวแล้วไม่ค่อยมุมานะ ก็ออกจากตลาดไปเยอะ หลายอย่างมาเป็นกระแสแล้วก็จบ...

ปัจจุบัน มีการพูดถึงสตาร์ทอัพ พร้อมเพย์ ฟินเทค คือพูดแล้วแต่ไม่ขับเคลื่อนต่อ ทุกอย่างก็นิ่งหมด ขณะที่เมืองนอก บริษัทใหญ่ๆอย่าง YUM จะรู้ระบบเหล่านี้หมด คือทำน้อยแต่ได้มากดีกว่า แต่ว่าก่อนจะปล่อยมือก็ต้องวางแผนอย่างดี ขายทีละสเต็ปก่อน จับมือพันธมิตรก่อน ส่วนเอสเอ็มอีรายเล็กๆก็ต้องล้มลุกคลุกคลาน ซึ่งเมื่อรัฐบาลมาช่วย จะเห็นว่าจะช่วยรายที่รอดแล้ว เวลาอัดเงินลงมา ดังนั้น ก็สำเร็จ ส่วนเอสเอ็มอีรายที่รอดยากหรือสตาร์ทอัพ ในความเป็นจริงไม่ค่อยมีใครลงมาดูจริงๆ ...

“อย่างเอาคน 2.0 กับคน 4.0 มานั่งและเรียนสตาร์ทอัพ ก็จะมีคนที่เข้าใจกับคนที่ไม่เข้าใจ ก็จะรอดบ้างไม่รอดบ้าง คือคนมีพื้นฐานไม่เหมือนกัน เวลาทำธุรกิจก็เลยต่างกัน โดยเฉลี่ยมันเป็นแบบนั้น อย่างไรคนรุ่นใหม่ จะเริ่มขายของแล้วเติบใหญ่เป็นเจ้าสัวในยุคนี้ได้หรือไม่นั้น เรื่องนี้เป็นโปรดักส์ ไลฟ์ ไซเคิลของธุรกิจอยู่แล้ว เราจะเห็นทั้งที่ล้มเหลว และมีไต่ระดับ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสินค้า ขึ้นกับยุค บางทีเราเห็นแบรนด์น้ำดำกำลังจะล้มเหลว เราจึงควรเรียนรู้ว่าเขาทำอะไรไปบ้างในการกอบกู้ความล้มเหลว”

ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ยืนยันว่า แนวโน้มการขายกิจการของต่างชาติในไทย ไม่ใช่เพราะศักยภาพเมืองไทยไม่ดี ตอนนี้ศักยภาพเมืองไทยถือว่ายังดีอยู่ ถ้ากล่าวถึงไทยในอาเซียนก็เปรียบเหมือนอนุสาวรีย์เออีซี แต่ที่มีการขายธุรกิจ เพราะเป็นโมเดลทำเงินที่กำลังเป็นที่นิยมของธุรกิจข้ามชาติ

“ยกตัวอย่างขายไก่ กระบวนการไหนทำเงินมากสุด คำตอบคือคนขายลูกเจี๊ยบ ไม่ใช่เคเอฟซี ซึ่งมันมีจุดทำเงิน ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นโมเดลธุรกิจอะไร จุดไหนที่ทำเงินก็เข้าไปทำตรงนั้น หากเราไม่ถนัด ก็ไปจ้างที่ปรึกษา เวลาทำธุรกิจถ้าใช้เอาท์ซอร์ซจะเติบโตมากกว่าที่จะตั้งโรงงานเอง

นอกจากนี้ นายสุรพงษ์ยังกล่าวถึง โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา ด้วยว่าทรัมป์ประสบความสำเร็จมาจากการทำธุรกิจ การเป็นนักการตลาดมองว่าที่มีแนวคิดว่าต้องทำอย่างไรให้ตัวเองชนะ เมื่อนักการตลาดเล่นการเมือง การเมืองก็จะเป็นการตลาด

“ทรัมป์เป็นนักการตลาดระดับโลก เมืองไทยอาจไม่มีผลกระทบอะไร แต่ว่าก่อนหน้านี้ ความสัมพันธ์มันขนาดไหน ปัจจุบันเขาไม่กีดกันทางการค้า แต่เขาจะดูเรื่องแรงงาน สินค้ามีอะไรเจือปน ส่งข้าวไปสหรัฐอเมริกาต้องผ่านไลเซนอียู แล้วต้องไปตรวจอีกว่าเอาแรงงานเด็กมาทำหรือไม่ ดังนั้น ในแง่ธุรกิจการทำตลาดไทยคงไม่ได้รับผลกระทบ”

141 views
bottom of page