top of page
456218.jpg

ช้างไล่ฮุบเบียร์เวียดนาม


รัฐบาลเวียดนามใช้นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ขายกิจการให้เอกชน 12 แห่ง เป็นเบียร์ขายดีที่สุด 2 แบรนด์ ช้างกับไฮเนเก้นจ้องฮุบหวังครองตลาด

หลังจากพลาดหวังจากการซื้อบิ๊กซี เวียดนาม เครือข่ายค้าปลีก ไทยเบฟ ยังมีเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ที่ตั้งโรงงานแก้วและบรรจุภัณฑ์เป็นรากฐานในเวียดนามกับ Metro Cash & Carry เครือสาขาค้าส่งที่ TCC Holdings ซื้อมาเมื่อเมษายนที่ผ่านมาอยู่

เมื่อรัฐบาลเวียดนามประกาศขายรัฐวิสาหกิจ 12 แห่ง ตามนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจเครือไทยเบฟก็ไม่รีรอที่จะเข้าไปซื้อ Habeco (Hanoi Alcohol Beer and Beverage Company ) ในฮานอย และ Sabeco (Saigon Beer-Alcohol-Beverage Corporation) ในโฮจิมินห์ซิตี้ เป็น 2 บริษัทเบียร์ที่มียอดขายสูงสุดในเวียดนาม ที่รัฐบาลนำหุ้นออกมาขายเมื่อหลายปีก่อน เพื่อลดจำนวนหุ้นที่รัฐบาลถือ

ส่วนครั้งนี้ รัฐบาลขายหุ้นทั้งบริษัท เพื่อแปรรูปเป็นวิสาหกิจเอกชนโดยสมบูรณ์ โดยหลักการเศรษฐศาสตร์สังคมนิยม รัฐบาลจะเป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่และกิจการสาธารณูปโภคทั้งหมด หรืออย่างต่ำ 60%

แต่หลังจากเศรษฐกิจโลกมีสภาพเป็นเศรษฐกิจไร้พรมแดน เวียดนามมองการเติบโตมั่งคั่งอย่างรวดเร็วของจีนที่ใช้หลักการสี่ทันสมัยของ เติ้ง เสี่ยว ผิง ด้วยความกระตือรือร้น และหันมาเดินตาม โดยเปิดให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจมากขึ้น

เวียดนามกลายเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีอัตราเติบโตสูงที่สุดเพื่อนบ้านแห่กันไปลงทุน เฉพาะไทยนั้น เครือไทยเบฟฯ เข้าไปยืดพื้นที่ตั้งแต่ด้านเบียร์จนถึงค้าส่ง

การขายหุ้นทั้งหมดในฮาบีโก้และซาบีโก้ เป้าหมายคือทำรายได้เข้ารัฐ 7 พันล้านดอลลาร์ เพื่อไปโปะงบประมาณที่ขาดดุลมาก เนื่องจากเวียดนามลงทุนปรับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจมาก ทำให้ใช้งบประมาณเกินแผนพัฒนาประเทศหลักไป 4.95% ของจีดีพี

รัฐบาลถือหุ้นในฮาบิโก้ 81.79% และในซาบีโก้ 89.59%

จากการประเมินมูลค่าบริษัทของ VND 50000 บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนของเดนมาร์ก ที่คาร์ลสเบิร์กมอบให้ทำหน้าที่เจรจาซื้อหุ้น 17% ของฮาบีโก้ในปี 2008 มีการตีมูลค่าฮาบีโก้ปัจจุบันนี้อยู่ที่ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนบริษัท ซาบีโก้ ยังไม่มีการประเมินมูลค่า ทว่าเมื่อปี 2014 ThaiBev เสนอซื้อทั้งบริษัท 2 พันล้านดอลลาร์

ด้วยมูลค่าที่ยังไม่ตรงกันเช่นนี้ ทางบรรษัทเงินทุนเพื่อการลงทุนแห่งรัฐ (State Investment Corporation-SCIC) ที่ดูแลการลงทุนของรัฐจึงตกลงใช้มูลค่าการตลาดปัจจุบันของทั้งสองบริษัทเป็นมูลค่าบริษัท

เมื่อรวมกับมูลค่าของรัฐวิสาหกิจอีก 10 บริษัทที่จะแปรรูป ทั้ง 12 บริษัทจะมีมูลค่ารวม 7.4 พันล้านดอลลาร์

สำหรับ 2 บริษัทเบียร์ มูลค่าทั้งหมดรวมกัน 2.2 พันล้านดอลลาร์ แยกเป็นซาบีโก้ 89.59% มูลค่า 1.81 พันล้านดอลลาร์ ฮาบีโก้ 81.79% มูลค่า 404 ล้านดอลลาร์

การขายบริษัทเบียร์ทั้งสอง จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือการซื้อขายฮาบีโก้ จะจบภายในปี 2016 นี้ส่วนซาบีโก้ จะจบภายในปี 2017

อาเซียนเป็นดินแดนที่อัตราการบริโภคเบียร์สูงระดับต้นๆ ของโลก โดยปีที่ผ่านมามีอัตราเติบโตสูงถึง 40%จากปีก่อนหน้า

สำหรับปีนี้ คาดว่าอัตราเติบโตของการบริโภคเบียร์ในเวียดนามจะเพิ่มขึ้นมาถึง 4.04 พันล้านลิตร จากปีที่แล้วอยู่ที่ 3.88 พันล้านลิตร

อัตราเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดเบียร์เวียดนามดึงดูดใจยักษ์ใหญ่เบียร์นานาชาติให้เข้ามาร่วมวง โดยรายใหญ่ที่สุดคือค่ายช้างในนาม Thai Beverage PCL

รองลงมาคือ Asahi Group Holdings Ltd. Heineken NV และ Sab Miller

ทั้ง 4 ค่ายต่างจ้องฮุบซาบีโก้และฮาบีโก้ เพราะใครได้ 2 บริษัทนี้ไป เท่ากับได้เป็นผู้ครองตลาดเบียร์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม

โดยเฉพาะไทยเบฟกับไฮเนเก้น ที่จะสามารถต่อยอดส่วนแบ่งตลาดที่มีอยู่แล้วให้เป็นตลาดรายใหญ่ที่สุด

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาไฮเนเก้นซื้อโรงงานเบียร์ของ Carlsberg A/S ในเมืองวังเตา ทำให้ได้ตลาดเบียร์ของคาร์ลสเบิร์กที่มีสัดส่วน 20% ของตลาดเบียร์เวียดนามมาครอง

หากชิงซาบีโก้มาได้อีกแห่งก็จะได้อีก 40% ของตลาดเบียร์เวียดนามที่แบรนด์ Bia Saigon กับ 333 Beer ครองตลาดอยู่ รวมกันจะเป็น 60%

สำหรับไทยเบฟ มีความเป็นไปได้สูงที่สุดในการครอบครอง 2 บริษัทเจ้าตลาดเบียร์เวียดนาม

เพราะเคยเสนอซื้อด้วยวงเงินถึง 2 พันล้านดอลลาร์เมื่อ 2 ปีก่อน การจะเพิ่มราคาให้อีกแค่ 200 ล้านดอลลาร์จึงไม่น่าจะมีปัญหา

หากเป็นไปได้ ตลาดเบียร์เวียดนามก็จะเป็นของไทยเบฟโดยสมบูรณ์

“หากไทยเบฟสามารถซื้อซาบีโก้ได้ พวกเขาไม่เพียงแต่ควบคุมผลผลิตด้านเบียร์เท่านั้น หากแต่ยังได้ส่วนแบ่งตลาดทั้งหมดมาด้วย”

เหงียน วัน เวียต ประธานสมาคมเครื่องดื่มเวียดนาม (VBA) แสดงอาการวิตกว่าบริษัทเบียร์ไทยจะกลายเป็นผู้ผูกขาดตลาดเบียร์เวียดนาม

เพราะนอกจากเบียร์นำเข้าสัญชาติต่างด้าว ที่มีทั้งเยอรมนี เช็ก เบลเยียม ญี่ปุ่น และเม็กซิโกแล้ว

ยังมีเบียร์แบรนด์โลกที่ผลิตจากประเทศไทยเข้าไปขายอีก อย่าง อาซาฮี (ไทย) เป็นต้น ที่สามารถพบได้ทุกหนทุกแห่งในเวียดนาม

นอกจากนี้ยังมีช้าง มีสิงห์อีก

คนไทยดื่มเบียร์กันปีละ 1.5 พันล้านลิตร คนเวียดนามดื่มเบียร์กันปีละ 4.04 พันล้านลิตร มากกว่าที่คนไทยดื่มกว่า 3 เท่าตัว

แรงจูงใจเช่นนี้ มีหรือที่ช้างจะไม่ลุยเวียดนาม

Credit โลโก้: http://changbeer.com

Comments


bottom of page