top of page
327304.jpg

ผ่าดีล 'เฟส 1' มะกัน VS จีน...ซื้อเวลารอหลังเลือกตั้ง



Interview : ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

นักเศรษฐศาสตร์มหภาค


ศ.ดร.ตีรณ วิเคราะห์...ข้อตกลงเฟส 1 จีน-อเมริกา เงื่อนไขเป็นจริงได้ยาก หรือจะเป็นแค่เกมซื้อเวลาของทรัมป์และสี จิ้นผิง? ฟากทรัมป์ได้คะแนนเสียงคนอเมริกันไปเต็มๆ ส่วนจีนเริ่มหวั่นเศรษฐกิจภายในที่กำลังแย่จึงกัดฟันเซ็นข้อตกลง ซื้อเวลารอหลังเลือกตั้ง ปธน.อเมริกา หวังทรัมป์แพ้ ค่อยเจรจาแก้ข้อตกลงกับ ปธน.คนใหม่ ส่วนไทยไม่ได้-ไม่เสียกับข้อตกลงนี้ เพราะเศรษฐกิจ-การเงินไทยที่ย่ำแย่ไม่ใช่ผลจาก Trade War แต่เป็นผลมาจากโครงสร้างภายในของเศรษฐกิจไทยที่ไม่ดีด้วยตัวเอง เช่นโครงสร้างการผลิตที่ต้นทุนสูง ขายใครก็ไม่มีใครซื้อ นักลงทุนไทยหมดใจ อยากไปลงทุนนอกประเทศมากกว่า พร้อมฟันธงทิ้งท้าย...หลังเลือกตั้ง ปธน.อเมริกา สถานการณ์ค่าเงินจะวุ่นวายทั้งในอเมริกาและทั่วโลก


สงครามการค้าดูท่าทางจะหมดไปแล้วหรือเปล่า หรือต้องรอดูเฟส 1 ก่อนว่าเป็นอย่างไร

หลักใหญ่ความขัดแย้งของจีนกับสหรัฐต้องมองว่าเป็นเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจควบคู่กัน ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจหรือการค้าล้วนๆ แรงจูงใจในการสร้างคู่ค้าก็มาจากปัจจัยการเมืองภายในประเทศด้วย เป็นประเด็นซึ่งทำให้สถานการณ์มากน้อยแค่ไหน มีช่วงจังหวะอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการเมืองสหรัฐด้วยเหมือนกัน จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาจุดเริ่มต้นของทรัมป์คือมีความรู้สึกว่าสามารถจะบีบจีนให้มาจ่ายค่าสินไหมต่างๆ ได้เต็มที่ พูดง่ายๆ คืออยากกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐในช่วงที่ตนเป็นประธานาธิบดี แต่ปัญหาคือทรัมป์ประเมินสถานการณ์ดีเกินไป ประเมินว่าสามารถเอาชนะจีนได้อย่างทันที จีนไม่กล้าหือ เพราะแสนยานุภาพของสหรัฐมีมาก แต่ปรากฏว่าข่มจีนไม่ลง ต้องใช้เวลานานมาก พูดง่ายๆ คือผิดแผน อย่างไรก็ตาม อำนาจต่อรองที่สหรัฐใช้เจรจาการค้าถือว่ายังดีกับจีน ทำให้จีนยอมเจรจาในเฟสแรกก่อน


เฟสแรกก็เกิดการตกลงกันได้ ทางสหรัฐก็มองว่าจะเซฟทรัมป์อย่างไร ต้องมีข้อตกลงเป็นชิ้นเป็นอันเพื่อให้ทรัมป์ไปพูดว่าเศรษฐกิจสหรัฐดีหรือไม่ก็เพราะนโยบายที่เขาดำเนินการ ข้อตกลงที่สามารถบีบจีนได้แสดงว่าสหรัฐยิ่งใหญ่พอ และเป็นข้อตกลงที่ดีที่สุดที่เป็นประวัติศาสตร์ของสหรัฐ ก็เป็นรางวัลทางการเมืองของทรัมป์ที่จะเอาไปใช้ในการเลือกตั้ง ถ้าไม่ได้ตรงนี้เขาก็เหนื่อย ถือว่าประสบความสำเร็จในแง่จีนไม่กล้าตอบโต้ เพราะจีนกลัวสถานการณ์จะบานปลายและถูกตีล้อมจากการเมืองทั้งฮ่องกงและซินเกียง ตรงนี้ทำให้จีนต้องยอมเจรจา ท้ายสุดตกลงกันได้ เป็นการรักษาหน้าประธานาธิบดีสหรัฐว่ามีความสำเร็จในเรื่องนี้ และเป็นข้อตกลงที่จีนไม่ต้องแก้กฎหมายภายในประเทศซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จีนไม่ยอมมาตลอด

ข้อตกลงรอบนี้คือจีนยอมซื้อสินค้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้น ปีละ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรและรวมไปถึงสินค้าอุตสาหกรรม อันนี้จีนก็ยอมอย่างไม่น่าเชื่อเหมือนกัน เพราะการยอมเซ็นเฟส 1 เท่ากับบอกว่าการเจรจาทวิภาคีของจีน-สหรัฐชอบธรรมแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปหา WTO เท่ากับส่งผลเสียต่อจีนระยะยาว ซึ่งต้องเฝ้าดูต่อไป ผมมีความรู้สึกเป็นลางสังหรณ์ว่าการยอมครั้งนี้แสดงว่าทางจีนกังวลมากว่าเศรษฐกิจภายในซึ่งเริ่มแย่ จีนต้องยอมเพื่อซื้อเวลาไปก่อน ส่วนสหรัฐไม่ต้องทำอะไรเลยเพียงแต่ไม่ขึ้นภาษี ก็คาจนไปถึงข้อตกลงเฟส 2 ก็ลากไปบอกว่าจะลดให้เมื่อเกิดเฟส 2 แต่จีนก็ฉลาดคือเขายอมเสียพอสมควรเพื่อรอว่าเลือกตั้งสหรัฐคราวหน้าสถานการณ์อาจไม่เป็นแบบนี้ เพราะทรัมป์อาจจะแพ้เลือกตั้งก็ได้ แม้โอกาสที่ทรัมป์จะแพ้เลือกตั้งจะน้อยมาก แต่ก็ยังมีโอกาส คือถ้าไบเดนหรือแซนเดอร์สชนะ สถานการณ์ก็จะพลิก เพราะเดโมแครตซึ่งเดิมดูเหมือนไม่ดีกับจีน เช่นพยายามปั่นป่วนในฮ่องกงก็พวกเดโมแครตทั้งนั้น แต่เป็นคนละสายกับไบเดนหรือแซนเดอร์ส เพราะฉะนั้นไบเดนหรือแซนเดอร์สคงไม่มีปัญหามาก


ประเด็นอยู่ที่เลือกตั้งคราวหน้ายังเร็วไปที่จะบอก คนที่จะล้อมทรัมป์ได้คือแซนเดอร์สแต่ก็มีปัญหาเพราะเขาเป็นคนซ้ายมากในพรรคเดโมแครต ไม่ใช่คนของพรรคแท้ๆ ไม่ใช่กลุ่มที่กุมอำนาจในพรรคเหมือนโอบามา ฝ่ายโอบามาสนับสนุนไบเดน แต่โอกาสที่ไบเดนจะแพ้เลือกตั้งทรัมป์มีสูงมากเหมือนกัน อันนี้ต้องทายใจว่ากลุ่มโอบามาหรือกลุ่มแกนนำพรรคจะยอมส่งแซนเดอร์สขึ้นไปประชันไหม ถ้าขึ้นไปก็น่าเป็นห่วงว่าทรัมป์มีสิทธิ์แพ้เหมือนกัน ก็เป็นประเด็นที่ทำให้จีนรู้และยอมเซ็นเฟส 1 ดีกว่าและยอมถอยให้ การเซ็นนี้เป็นการเซ็นระหว่างรองนายกรัฐมนตรีกับประธานาธิบดี คือ หลิว เหอ ระดับแค่รองนายกฯ เป็นตัวแทนฝั่งบริหาร ถ้าคุณทำผิดพลาดมาก็ปลดคุณถือว่าเป็นการเซ็นในนามของรัฐบาลก่อนรัฐบาลแท้ๆ คือ ประเทศต่อประเทศ สหรัฐมีประมุขและนายกรัฐมนตรีคือคนเดียวกัน แต่ของจีนไม่ใช่ จีนมีประธานาธิบดีเป็นประมุขกำหนดนโยบายทิศทาง แต่นายกรัฐมนตรีดูแลการบริหาร คงเป็นทางออกของจีนที่วางไว้ว่า อย่างน้อยไม่เสียหายมากและเป็นการซื้อเวลาที่ดี ถือว่าลงตัวเพราะต่างคนต่างไม่ได้อย่างที่ตัวเองต้องการมากนัก แต่ถือว่าดีกว่าไม่ได้อะไรเลย ถามใครได้มากกว่าใคร หลิว เหอเขาบอกว่า win-win ได้ทั้งคู่ แต่ผมไม่เชื่อ เพราะจีนเสีย รอบนี้แพ้ แต่ไม่มาก ส่วนสหรัฐได้เพราะไม่เสียอะไรเลย เพราะเรียกร้องอย่างเดียว ข้อตกลงการค้าชุดนี้เป็นข้อตกลงที่เรียกว่าเป็นบทลงโทษประเทศอื่นด้วย โดยเท่ากับสหรัฐบอกประเทศคู่ค้าอื่นๆ ว่าคุณต้องมาเจรจากับผม ถ้าคุณอยากถูกลงโทษน้อยคุณต้องมาซื้อของผมช่วยเศรษฐกิจผม


ดูเหมือนเชือดลิงให้ไก่ดูแทนที่จะเชือดไก่ให้ลิงดู

ใช่ เป็นการเชือดลิงให้ไก่ดู ว่าคุณจะยอมไหม เป็นการแสดงแสนยานุภาพว่าสหรัฐเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 และคนอเมริกาก็จะชื่นชมเขา เพราะสิ่งที่ทรัมป์ทำทุกวันนี้คือให้ประเทศอื่นจ่ายให้เศรษฐกิจเขา เหมือนส่งส่วย คือถ้าผมไม่พอใจ คุณก็จ่ายผมมา ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นผมไม่จ่ายคุณ ก็เป็นนโยบายที่ดีต่อสหรัฐในระยะสั้น แต่ในระยะยาวต้องดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร


คิดว่าอเมริกาจะไปไล่บี้ใครต่ออีก

ก็คงทำเรื่อยๆ เพราะทำได้แล้ว ได้ประโยชน์ เหมือนแทนที่จะเก็บภาษีคนอเมริกันเพื่อจ่ายรายจ่ายให้รัฐบาล ก็ไปเก็บภาษีประเทศอื่น อย่างภาษีนำเข้าแบ่งกันคนละครึ่ง ภาษี 100 คนอเมริกาจ่าย 50 ส่วนคนผลิตคือจีนจ่าย 50 เขาก็แฮปปี้ อันนี้เป็นวิธีคิดแบบนักธุรกิจ แต่เป็นการมองในมุมนึงซึ่งไม่ได้สวยหรูและความต้องการของทั่วโลกก็คงไม่ดีนัก คนจะมองสหรัฐว่าเป็นผู้นำที่ไม่ดี แต่ ณ วันนี้ทรัมป์ไม่แคร์ เขาแคร์แค่ว่าจะทำอย่างไรให้คนมาเลือกเขารอบต่อไป


ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไม่ดี จีดีพีไม่ดี เป็นเพราะสงครามการค้า อย่างนี้ไทยรอดแล้วหรือเปล่า

ที่ไทยมีปัญหาซึมทุกวันนี้เพราะตัวเองมากกว่า แต่ถ้าเป็นสิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลี ออสเตรเลีย ประเทศที่ส่งออกน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ พวกนั้นได้รับผลกระทบจาก Trade War จริง แต่ของเราไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง จริงๆ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะโครงสร้างภายในของเศรษฐกิจไทยมันไม่ดี คือเราผลิตสินค้าที่ต้นทุนสูงและไม่รู้จะขายให้ใคร ไม่มีใครซื้อ นักธุรกิจไทยจะลงทุนก็อยากไปลงทุนประเทศอื่นมากกว่าในประเทศตัวเอง ปัญหานี้เป็นปัญหาโครงสร้างระยะยาว แม้จะไม่มี Trade War ก็คงเป็นแบบซึมอย่างนี้ Trade War ทำให้ประเทศอื่นปั่นป่วน แต่เราไม่ได้ปั่นป่วนด้วย


เท่ากับไทยไม่ได้ประโยชน์จากข้อตกลงเฟส 1

ก็ได้ประโยชน์เพียงเล็กน้อย เช่นความรู้สึกว่าเดี๋ยวนักธุรกิจฮ่องกงจะมาลงทุนไทย จะย้ายฐานการผลิตมา ก็เป็นราคาคุยพอสมควร โอกาสที่จะเกิดขึ้นไม่ง่าย เพราะเขาจะมาลงทุนเขาต้องดูว่าได้ประโยชน์แค่ไหนเมื่อเทียบกับประเทศอื่นด้วย คิดว่าการมองในเชิงเปรียบเทียบของไทยที่แย่ลงเป็นเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกก็คงไม่ใช่ ประเทศอื่นเขาหนักกว่าเราเยอะ ประเทศที่ลำบากคือเป็นประเทศที่เศรษฐกิจดีทั้งนั้น ประเทศที่ดีมา 4-5 ปีแย่หมดเลยเพราะถูกทรัมป์โจมตี


ผลที่ลงนามกันในเฟส 1 ทำให้ดอลลาร์แข็ง บาทอ่อน ที่บาทอ่อนก็แค่ช่วงสั้นๆ ใช่ไหม

บาทอ่อนเป็นเพราะค่าเงินของประเทศกำลังพัฒนาเขาดีขึ้น ที่จริงตั้งแต่กลางปีมาค่าเงินของประเทศเกิดใหม่ที่เรียกว่า EM ดีขึ้นมาตลอด ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างๆ ทรัมป์ก็ให้เฟดเอาสภาพคล่องขึ้นมาด้วย ดอลลาร์ก็เลยลง แต่ดอลลาร์ลงเมื่อเทียบแล้วของไทยเลยลงมากกว่าสหรัฐ ดูเหมือนว่าค่าเงินบาทไม่ได้แข็งกว่าที่คนเคยประเมินไว้ อันนี้เป็นเพราะอดีตเรามองแค่จุดเดียว มองแค่ Crisis เงินบาทเทียบกับสหรัฐ ไม่ได้มองว่าสถานการณ์จะเป็นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นด้วย ขณะนี้ค่าเงินประเทศอื่นแข็งขึ้น ของไทยอ่อนลงเมื่อเทียบกับค่าเงินทั่วไป แต่เทียบกับดอลลาร์แล้วใกล้เคียง ไม่ต่างกันมาก ผมว่าสถานการณ์จะยุ่งหลังจากเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในรอบหน้า

7 views
bottom of page