ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
การจัดงานโตเกียวโอลิมปิกกำหนดการเดิมคือปี 2563 แต่เลื่อนมาเป็นปี 2564 ท่ามกลางโควิด-19 ที่ยังระบาดหนักในญี่ปุ่น แม้จะมีบางฝ่ายคัดค้านเนื่องจากกังวลว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงอีก แต่ในที่สุดรัฐบาลก็ยืนยันจัดงานตามแผนแม้จะไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ แต่หากยกเลิกการจัดงานจะยิ่งสูญเสียงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์ กระทบต่อหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังทำให้พลาดโอกาสที่จะได้เป็นเจ้าภาพงานกีฬาระดับโลกที่รอคอยมานาน
การจัดงานโอลิมปิกส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นค่อนข้างจำกัดทั้งยังทำให้ญี่ปุ่นประสบภาวะขาดทุนซ้ำเติมภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2564 ก็น่าจะกลับมาประคองการเติบโตได้ที่ร้อยละ 2.6 จากฐานที่ต่ำในปีก่อนและแรงขับเคลื่อนสำคัญของภาคการส่งออกที่ขยายตัวดี แม้จะยังมีปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจจากภาวะเงินฝืดเรื้อรังที่มีอยู่ก่อนหน้าและกำลังซื้ออ่อนแรงลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในเวลานี้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เริ่มเร่งตัวสูงอย่างมาก หากหลังสิ้นสุดการแข่งขันโอลิมปิกยังไม่สามารถควบคุมได้ อาจฉุดเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้เติบโตต่ำกว่าที่คาดไว้
อานิสงส์ส่วนเพิ่มจากการจัดงานโอลิมปิกส่งผลต่อการส่งออกของไทยอย่างจำกัด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้โควิด-19 ยังคงระบาดอยู่ แต่กำลังซื้อของญี่ปุ่นเริ่มฟื้นกลับมาจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหนุนให้การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นในปี 2564 จะกลับมาเติบโตได้ครั้งแรกในรอบ 3 ปีที่ร้อยละ 12.2 มีมูลค่าการส่งออกทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 25,600 ล้านดอลลาร์ฯ (กรอบคาดการณ์ขยายตัวร้อยละ 11.0-13.1 มีมูลค่า 25,300-25,800 ล้านดอลลาร์ฯ) สินค้าสำคัญของไทยกลับมาทำตลาดได้ดีขึ้น อาทิ รถยนต์/ส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ คอมพิวเตอร์/ส่วนประกอบ
#tokyo2020olympics #ศูนย์วิจัยกสิกรไทย #DokbiaOnline
Comments