top of page
312345.jpg

หวั่นกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำลายรายย่อย


ค้าส่ง-ค้าปลีก ยืนกราน แม้รัฐบาลจะสั่งลดราคาน้ำมัน-ค่าไฟฟ้า แต่ยากที่จะให้ผู้ประกอบการลดราคาสินค้าตามที่รัฐบาลเรียกร้อง พร้อมย้อนเกล็ด ตอนที่ราคาน้ำมัน-ค่าไฟฟ้าพุ่งสูง รัฐบาลไม่ยอมให้ปรับเพิ่มราคาสินค้า โดยอ้างว่าต้นทุนค่าไฟ-น้ำมันมีผลต่อต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่อชิ้นแค่ไม่กี่สตางค์ ดังนั้น เมื่อค่าไฟ-น้ำมันลดลงก็ไม่มีผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงมากเช่นกัน ส่วนนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเศรษฐา ภาคเอกชนมองว่ายังตีโจทย์ของปัญหาไม่แตก โดยเฉพาะนโยบายแจกเงินดิจิทัลที่ต้องกู้มาแจก แถมเม็ดเงินจะไปกระจุกตัวในกระเป๋าผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีเครือข่ายการผลิต การกระจายสินค้าควบคุมทั่วประเทศทั้งซอยเล็กซอยน้อยในเมืองกรุงและชุมชนต่างจังหวัด ซึ่งทำลายธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อย ธุรกิจชุมชน โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อของขาใหญ่ที่ให้บริการ 24 ชม. เป็นตัวกระตุ้นการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ทำให้มีการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และทำลายวิถีชีวิต วิถีการค้าของชุมชนไทยทั่วประเทศ ในขณะที่นโยบายพักหนี้ก็เป็นการแก้ปัญหาผิดจุด ไม่สามารถแก้หนี้ได้จริง ปัญหาหนี้-ความยากจนจะยังเวียนวนในสังคมไทยไม่มีที่สิ้นสุด แนะ...รัฐบาลควรแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศด้วยการลดอำนาจ ลดบทบาทและลดการเติมเงินให้นักธุรกิจรายใหญ่ ควรหันมาดำเนินนโยบายที่เป็นผลดีต่อประชาชนอย่างแท้จริงมากกว่า


Interview : คุณสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย


จากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เรียกผู้ประกอบการขอให้ปรับลดราคาสินค้าลง คิดว่าทำได้หรือไม่

ไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาภาครัฐเองก็เป็นคนบอกอยู่เสมอก่อนที่เขาจะขอขึ้นราคา คือก่อนหน้าที่ผู้ผลิตจะขอขึ้นราคาจะบอกว่าน้ำมันขึ้นราคา หรืออะไรก็ขึ้น ราคาก็จะบอกเขาเสมอว่ามันไม่ได้มีผลมาจากเรื่องของน้ำมันแพง ค่าไฟแพง ราคาน้ำมัน ค่าไฟ มีผลต่อหน่วยแค่ชิ้นหนึ่งไม่กี่สตางค์ จึงไม่ควรจะขึ้นราคา โดยจะได้ยินข่าวแบบนั้นเสมอในช่วงที่ผู้ผลิตเขาขอขึ้นราคากัน

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนระหว่างหน่วยงานที่จะให้ของมันถูก แบบบอกว่าจะคุมค่าครองชีพไม่ให้มันสูง ต้องมามองว่าจะสัมพันธ์กันอย่างไร ณ ปัจจุบันสิ่งที่ภาครัฐกำลังทำ งบประมาณมโหฬารที่ใส่เข้าไปในภาคกำลังซื้อประชาชน ส่วนใหญ่สุดท้ายปลายทางมันจะไปกองที่นายทุนที่มีธุรกิจใหญ่ๆ ทำทุกอาชีพในบ้านเรา เช่นเป็นเจ้าของโรงงานผลิตสินค้า มีที่การจัดจำหน่ายสินค้าส่ง-ค้าปลีกเอง และมีกิจการในเครือที่เป็นขนาดกลาง เล็ก จิ๋ว ย่อลงมาทุกสัดส่วนในสังคม และมีการขยายสาขาไปทั่วภูมิภาค มีการเปิดบริการ 24 ชั่วโมง

ก็หมายความว่ากำลังซื้อในประเทศนี้ทั้งหมดครึ่งค่อนประเทศไปอยู่ในมือคนรวย เพราะเจ้าของผู้ผลิตรายใหญ่พวกนี้ มีที่จัดจำหน่ายสินค้าเอง แล้วยังกระจายไปอยู่ทั่วภูมิภาค และยังขายของได้ 24 ชั่วโมงอีก ดังนั้น เขาก็มีร้านค้าดูดเงินได้ตลอด อันนี้คือเรากำลังเอาความฟุ่มเฟือย เอาความบริโภคเกินเวลาไปอยู่ในต่างจังหวัดอยู่ตลอดเวลา ถ้าเป็นสมัยก่อน 2-3 ทุ่ม ต่างจังหวัด หัวเมืองต่างๆ ปิดบ้านนอนแล้ว มีความสงบสุข ประหยัด แต่ว่าปัจจุบันวิถีชีวิตแบบเหล่านั้นหายหมด เอาความเป็นบริโภคนิยมเข้าไป โดยรัฐไม่ได้ตั้งกฎ กติกา ไม่ได้อะไร อยากกินตอนไหน บางคนตั้งวงดื่มเหล้า 3-4 ทุ่ม สมัยก่อนปิดแล้ว ไม่มีแล้ว ไม่ขายแล้ว เดี๋ยวนี้พอเที่ยงคืนต่อได้ถึงตีหนึ่งตีสอง เพราะมีขายตลอดเวลา เป็นการเพิ่มการบริโภคสินค้าอุตสาหกรรมที่ไปแทนสินค้าท้องถิ่น


วิถีชีวิตเปลี่ยนไป

ใช่ สมัยก่อนถ้าคุณไปต่างจังหวัด คุณไปเดินตลาดเช้า ก็จะได้เห็นขนม นม เนย ที่เป็นของพื้นบ้าน ขนมใส่ไส้อะไรต่างๆ ขนมที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ปัจจุบันนี้แทบไม่มีแล้ว ถูกทำลายตรงนั้นไปหมด พวก snack food เป็นการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม กลายเป็นวัฒนธรรมขนมปัง ไปเปลี่ยนวิถีเขาหมด วิถีต่างๆ เหล่านี้เป็นวิถีที่ต้องใช้เงินซื้อหมด เพราะฉะนั้นชาวบ้านต่างจังหวัดมีเวลาหาเงินเพียง 8 ชั่วโมง แต่มีเวลาใช้เงิน 16 ชั่วโมง ไม่ต้องนอน เพราะมีที่ให้ใช้เงินตลอดเวลา

ดังนั้น รัฐบาลเติมเงินไปเท่าไหร่ ก็ไปกระจุกที่คนรวยไม่กี่คน เพราะเขามีท่อดูดเงินนี้ทั่วประเทศ ตรงนี้ถึงบอกยังเสียดายเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้านบาท ที่จะไปกู้หรืออะไรมาก็แล้วแต่ ที่จะเอามาจ่ายให้คนจน ซึ่งพอคนจนได้เงินหมื่นก็เอามากินใช้ ถ้าใช้เพลินแล้วหมดจะทำอย่างไรต่อ หนี้ก็ค้างอยู่ในภาครัฐ เงินก็มากองกับนายทุนรายใหญ่ที่มีหัวก้าวหน้า และกำลังมองดูว่าต่อไปนี้ พวกมนุษย์ต่างๆ ที่ทำงาน ก็จะเปลี่ยนเอาพวก AI พวกหุ่นยนต์มาใช้ในโรงงานเพราะไม่อู้ ไม่ปวดหัว ไม่ลาป่วย ไม่อะไร แล้วทีนี้คนจนระดับล่างจะไปทำอาชีพอะไร รัฐบาลก็ไปกู้เงินมาใส่เรื่อยๆ มันก็จะเหมือนตามที่เป็นข่าวว่าสหรัฐอเมริกาทำไมเข้าสู่ความยากจน เพราะเขาบริโภคจนหนี้เขาท่วมหัว ท่วมเมือง ท่วมโลก จนทั่วโลกปั่นป่วนไปหมด ซึ่งเราไม่ขยับตั้งแต่แรก เราไม่มีความพอเพียงตั้งแต่แรก


ที่ผ่านมารัฐบาลแก้ปัญหาไม่ถูกจุด

รัฐบาลทุกรัฐบาลไม่มีปัญญาจะคิดจะให้คนทำงานอะไร ทำไมชาวไร่ชาวนามีผลผลิตออกมาแล้วขายไม่ได้ราคา ก็กลัวมันแพง ไปกดให้มันต่ำๆ โรงงานก็รับซื้อจากชาวไร่ชาวนาแบบถูกๆ พอมาแปลงเป็นสินค้าอุตสาหกรรมก็มาขายแพงๆ อ้างโน่นอ้างนี่สารพัด และรัฐบาลก็ไปหลงกล บอกชาวบ้านไม่มีกำลังซื้อก็ไปกู้เงินไปจ่ายชาวบ้าน จะได้เอาเงินมาซื้อของและกระตุ้นเศรษฐกิจ พอชาวบ้านได้เงินแจกมาก็กินไปจ่ายไปหมด ก็กลับมาจนเหมือนเดิม แต่คนรวยกลับรวยไปอีก ส่วนประเทศก็มีหนี้ก็กองอยู่ ซึ่งหนี้ท่วมท้นแล้วบ้านเรา ทะลุเพดานไปแล้ว

แล้วหลังจากนี้จะทำอย่างไร จะหาอะไรไปขาย ในบ้านมีอะไรที่ขายได้อีก ขายแผ่นดินมั้ย ขายแผ่นดินไปก็ยังติดเงื่อนไข ขยายเวลาเช่ามั้ย 30 ปี 60 ปี 99 ปี ใครมีสัญชาติอะไร หยวนๆ ขายไปเลย ยังไงแผ่นดินก็อยู่บ้านเรา เขามีความคิดแบบลูกคนรวยหาเงินไม่เป็น คิดแต่จะขายสมบัติกิน ซึ่งตรงนี้มองว่าอันตราย เพราะมุ่งเน้นว่าเศรษฐกิจต้องเติบโต เพราะเขาไปฟังคนที่เป็นองค์กรในการนำเสนอประเทศจะต้องมีจีดีพีโต ต้องมีอะไรโตตามที่ผ่านมา

เราจะเห็นว่าคนรวยหรือนักวิชาการทั้งหลาย พยายามเสนอให้รัฐบาลกระตุ้นกำลังซื้อ ไปลดเงื่อนไขของประเทศ ไปลดโน่นนี่ เพื่อจะดึงคนเข้ามา ซึ่งมันเป็นค่าใช้จ่ายทั้งนั้นเลย รัฐบาลจะเอาเงินที่ไหน ตรงนี้น่าเป็นห่วงที่ว่าเราไม่มีปัญญาหาเงิน แต่กำลังใช้เงินกันเพลินอยู่ ความคิดที่เขาเสนอกันมาอยู่ ณ ปัจจุบันกำลังทำให้สังคมเราอ่อนแอลง ตอนนี้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีความหวังกับชีวิต ซึ่งชีวิตได้ฝากความหวังไว้ลมๆ แล้งๆ กับหวยเถื่อน หวยทุกชั่วโมงในตลาดล่างๆ ไม่รู้เขาไปสำรวจกันมั้ย หวยลาว หวยเวียดนาม สารพัด บาทนึงก็ซื้อได้ ซึ่งเรามองแล้วก็เห็น ประเทศเรามีหน่วยงานตั้งเยอะแยะ ตั้งกันมาเต็มหมดเลย ทั้งหน่วยงานอะไรต่างๆ หน่วยงานปราบอะไรเยอะแยะเต็มไปหมดเลย แต่ผลงานไม่รู้มีมั้ย


ไม่เห็นด้วยกับนโยบายแจกเงิน

จากเหตุการณ์ที่เราเห็นรอบบ้านอยู่ทุกวันนี้ ได้ยินได้เห็นกันอยู่ประจำ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราคิดว่ารัฐบาลอย่าเพิ่งเติมเงินลงไปในสังคมเลย ควรมากวาดล้างขยะสังคมให้จบก่อน แล้วมาดูว่าต้นทุนชีวิตของคนระดับล่าง ระดับการทำงานในปัจจุบันจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างไร อย่างค่าใช้จ่ายเรื่องของการเดินทาง วันนี้ทำไมตั๋วรถไฟฟ้าถึงแพงขนาดนั้น ตอนนี้ก็บอกว่าจะให้ลดราคาค่าโดยสารเหลือ 20 บาท ทำไมต้องเอางบประมาณแผ่นดินไปเจือจานเขา ไปทำให้เขา ทั้งที่สายนี้วิ่งก็ขาดทุนอยู่แล้ว จากที่เราไปช่วยเขา 20 บาท เพื่อให้เจ้าของที่รับสัมปทานรวยขึ้น หรือหนีจากความยากจนหรือไม่ ดูเหมือนประชาชนได้ถูก แต่ความจริงคือรัฐบาลกู้เงินไปใส่


แล้วเรื่องการพักหนี้

การพักหนี้ก็เหมือนไปช่วยรัฐบาลที่เป็นเจ้าของหนี้ชาวไร่ชาวนา แต่หนี้ก็ไม่ได้หมดไม่ได้หายไป เพราะรัฐบาลอุดหนุนเรื่องของดอกที่หยุดไป 3 ปี ทีนี้นายแบงก์ก็สบาย ไม่ต้องทำอะไร พักหนี้ไปเลย ตกลงนี่เป็นการทำงานหรือเป็นการช่วยเพื่อใครแน่ ถ้าเราคิดดูตรรกะง่ายๆ ที่ไม่ต้องเรียนวิชาการ ไม่ต้องเป็นดอกเตอร์อะไรชั้นสูง มาจากชาวบ้านพื้นๆ เราไม่ได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ร่ำรวยที่เก่งมาจากเมืองนอกเมืองนา

หนี้ของประชาชนมีอยู่ส่วนใหญ่มาจากการสร้างหนี้โดยไร้ระเบียบ พักหนี้ไป 3 ปี คุณไม่ต้องจ่าย เสร็จแล้วดอกเบี้ยเท่าไหร่ เอากองกลางใส่ไป แบงก์ก็กำไรเยอะ สบายไม่ต้องตามออกไปเก็บหนี้ แต่ 3 ปีผ่านไปจะเป็นอย่างไร รัฐบาลเสียเงินไปก้อนใหญ่ แต่หนี้ประชาชนยังอยู่เหมือนเดิม

เราต้องคิดแบบใหม่ว่าถ้าอย่างนั้นลูกหนี้ชั้นดีเคยจ่ายดอกเบี้ยเท่าไหร่ ลดไปครึ่งหนึ่งเลยมั้ย รัฐบาลช่วยจ่ายให้ ส่วนลูกหนี้ชั้นที่ไม่ค่อยดี ไม่มีเงินจ่ายแล้ว รัฐบาลซื้อหนี้มาอยู่กับรัฐบาลทั้งหมดเลย พอคุณเก็บเงินได้ มีปัญญาคุณก็กลับซื้อไป มันก็จะทำให้ไม่เกิดนิสัยเสีย ส่วนงานคุณก็ทำงานได้ปกติ รัฐบาลก็คุมเลย

ขณะที่หนี้เอ็นพีแอลก็ไปศึกษาเลย นาย ก. นาย ข. ที่ผ่านมาเป็นหนี้ทำไม เพราะอะไร ปลูกข้าวมาแล้วขายไม่ดี เพราะอะไร พอขายข้าวก็โดนโรงสีกดราคา ขณะที่โรงสีพอมีข้าวก็ปั่นให้ขึ้นราคา อะไรอย่างนี้ ทำไมรัฐบาลไม่มาดูก่อน ถ้าเป็นการขายของ เราต้องทำอย่างไร ทำไมเวลาชาวนาออกมาคุณสังเกตดีๆ เวลาชาวนามีข้าว ก็มีอ้างโน่นนี่สารพัดว่าน้ำท่วมบ้าง ตลาดไม่ดี พอข้าวอยู่โรงสี จะขึ้นราคาสารพัด ซึ่งมันมีหลายสิ่งหลายอย่าง ขณะที่หน่วยงานรู้เท่าไม่ถึงการณ์ความเจ้าเล่ห์ของพ่อค้าหรือเปล่า

ส่วนการไปซื้อเพื่อพยุงราคาสินค้า มีเหตุผลอะไรที่ไปซื้อ ไปพยุงเพื่ออะไร เพราะในเมื่อเขาจะขายขึ้นราคา คุณไม่ให้เขาขึ้น คุณไปกดราคาเขาต่ำๆ ราคาต่ำนี่เพื่อใคร เพื่อโรงสีรวย มันย้อนแย้งกัน บางทีจำเป็นต้องขึ้นก็ต้องปล่อยไป ส่วนประชาชนมีหน้าที่ต้องเรียนรู้ว่าข้าวตัวนี้แพง มีตัวอื่นที่ถูกกว่ามั้ย ซีอิ๊ว น้ำปลาตัวไหนที่แพง เรามีเบอร์สองและสามที่ถูกกว่า ทำไมไม่ซื้อกัน

สำหรับรัฐบาลเองก็จะเอาน้ำปลายี่ห้อที่แพงสุดในตลาดมาขอลดราคาหน่อย เพื่อกระตุ้นให้ขายดีขึ้น เลยกลายเป็นว่าไปดันตัวเอกให้ขึ้นไปอีก และมากดตัวรองเบอร์สอง เบอร์สาม ทำให้เอสเอ็มอีที่ผลิตสินค้าเบอร์สอง เบอร์สามขายไม่ได้ ที่ผ่านมาจะเป็นลักษณะนี้ เพราะคนที่เป็นเจ้าของแบรนด์ใหญ่ๆ เราก็ไม่รู้ว่ามีส่วนได้เสียกับโครงการอย่างไร แต่นี่มันขาดการชี้แจง ซึ่งคนในวงการมองว่ามันเป็นอย่างนี้


การแก้ปัญหาที่ถูกต้องควรทำอย่างไร

ถ้าผมมีเงินเยอะ 10 อันดับแรกเลยเรียกรถไฟที่รับสัมปทานทั้งหมดของประเทศที่รัฐบาลเป็นคนสร้าง เอาคนมาบริหาร มาจัดระเบียบใหม่ ทำไมต้องแพงขนาดนั้น ถ้าแพงไม่มีคนขึ้น มันถูกต้องหรือไม่ ทำไมรัฐบาลไม่ทำเองทั้งหมด แล้วก็เอาเงินที่จะมาเสียพวกนี้มาบริหารเอง ถ้าคนที่ต้องเดินทางด้วยรถไฟฟ้า 30 กว่าบาทถึง 100 กว่าบาท สำหรับคนที่ไกลหน่อย เราเอามาเฉลี่ยคนละ 50 บาทขาไป กลับอีก 50 บาท และนั่งรถในซอย 10-20 บาท ไปกลับ 40 บาท นั่นคือ 140 บาท ในการเป็นค่าเดินทางไปทำงาน ซึ่งได้เงินเดือนตีไปว่า 2 หมื่นบาท ตีไปหนึ่งในสาม ทำให้กำลังซื้อในตลาดลดลง

ถ้ารัฐบาลคิดเป็น เอาเงินมาทำรถไฟฟ้าให้ได้ 20-30 บาทก็ได้ ทำเป็นตั๋วเดือนอะไรก็ได้สำหรับคนที่เดินทางประจำ รัฐบาลก็อุดหนุนไป ส่วนพวกนานๆ นั่งทีก็นั่งแพงไป อะไรอย่างนี้ ก็จะทำให้กำลังซื้อของคนกินเงินเดือนมีเงินเหลือมากขึ้น แทนที่รัฐบาลจะต้องไปจ่ายเงินเรื่อยๆ

อีกเรื่องคือค่าที่ดิน ภาษีตึก ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร ตึกสูงๆ ลดภาษีให้ไปตึกนึงเป็น 10 เท่า 20 เท่า จากที่เคยจ่าย 10 ล้าน เหลือล้านบาทอย่างนี้ แล้วค่าเช่าในตึกลงมั้ย ไปถามเลยไม่มีใครได้ลดลง ดังนั้น พอแพงแล้วของจะถูกได้อย่างไร ซึ่งรัฐบาลเป็นต้นเหตุของการขายสินค้า แล้วคุณจะให้เขาขายลดลง 5-10 บาท มันไม่ใช่ รัฐบาลต้องหาที่ที่มันฟรี ผมเองก็ให้ที่ที่มันถูกๆ เช่นรัฐบาลมีที่ตรงไหนศุกร์เสาร์อาทิตย์ ให้คนค้าขายเพิ่ม หารายได้เพิ่ม เปิดท้ายขายของ เก็บค่าทำความสะอาด 10-20 บาท แล้วก็นัดกันเลย เสาร์นี้มาขายตรงนี้ รัฐบาลส่งเสริมให้คนมีของมาขาย โดยไม่มีค่าที่มากนัก ก็จะทำให้คนมาขายของถูกได้ โดยไม่ต้องมานั่งเสียค่าเช่าเบื้องต้น 500-1,000 บาทต่อวัน ของก็ถูกลงได้

ขณะที่รัฐบาลไปลดค่าไฟ ถามว่าลดค่าไฟ ร้านค้าที่เขาเปิดใหญ่ๆ เปิด 24 ชั่วโมง มีค่าไฟเดือนละล้านบาท ได้ลดไปอีกหน่อย เขารวยขึ้น ซึ่งล่าสุดที่ดูข่าวมีคนใช้ไฟ 8,980 บาท ได้ลดไป 80 บาท แล้วถ้ามองย้อนไปคนที่ใช้ไฟล้านกว่าบาท ได้เท่าไหร่ คือได้เยอะแยะ แสดงว่าการลดราคาสินค้าแบบนี้หรือลดค่าไฟแบบนี้ คนที่ได้คือคนรวย คนที่ใช้เยอะ คนที่ขับรถบรรทุก 100 คัน รัฐบาลบอกลดน้ำมันให้นิดนึง 30 บาท จากการเอาภาษีไปอุดหนุน คนที่มีใช้น้ำมันเยอะๆ วันนึงใช้เป็นหมื่นลิตรประหยัดไปเลย แล้วมาลดของต่างๆ แต่คนทั่วไปใช้วันละ 50 ลิตร ลดลิตรละ 2 บาท ก็วันละ 100 บาท แต่คนที่ใช้เป็นหมื่นลิตรได้เท่าไหร่ ดังนั้น ถือว่ารัฐบาลใช้เงินไม่ได้ตรงวัตถุประสงค์

45 views
bottom of page