Interview : คุณสิริวุทธิ์ เสียมภักดี
ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC
อ้อยไม่หวาน น้ำตาลขม โรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ปิดตัวหลังแบกรับภาระขาดทุนไม่ไหว ธุรกิจอ้อย-น้ำตาลลุ่ม ๆ ดอนๆ ราคาในตลาดโลกตกต่ำต่อเนื่องมาหลายปี ทางรอดคือความร่วมมือของชาวไร่และโรงงาน ชาวไร่ต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น โรงงานต้องลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งนำน้ำตาลและ By Product ไปเพิ่มมูลค่าในการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์อื่นๆ นอกเหนือจากน้ำตาล แจง...ในยุคแบ่งรายได้ 70/30 ยังร่อแร่ขนาดนี้ ถ้าใช้กฎหมายใหม่เมื่อไหร่ โรงงานน้ำตาลมีสิทธิ์ตายหยังเขียด โดยเฉพาะเงื่อนไขเรื่องผลผลิตจาก By Product ที่โรงงานน้ำตาลต้องแบ่งสันปันส่วนให้ชาวไร่ ทั้งๆ ที่โรงงานน้ำตาลเป็นผู้ลงทุนเพียงฝ่ายเดียว
โรงงานน้ำตาลกุมภวาปีซึ่งเป็นกิจการขนาดใหญ่และเก่าแก่ อยู่ๆ ประกาศปิดกิจการ ถือเป็นสัญญาณบอกเหตุร้ายอะไรของอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยหรือไม่
ก็เป็นสัญญาณอันนึงที่แสดงให้เห็นว่าอ้อยและน้ำตาลไม่ได้หอมหวานอย่างที่หลายๆ คนข้างนอกมองว่าเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรมาก ก็เป็นธุรกิจตามปกติที่เป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจต่างๆ และเป็นไปตามวัฏจักรของธุรกิจ ถ้าขาดทุนมากก็อยู่ไม่ได้ ก็เป็นไปตามการประกอบธุรกิจโดยทั่วไป
โรงงานน้ำตาลกุมภวาปีบริหารโดยทุนญี่ปุ่นคือกลุ่มมิตซุย แล้วมาทิ้ง แสดงว่าขนาดญี่ปุ่นยังทิ้งเลย
ข้อมูลลึกๆ เป็นข้อมูลที่เราได้จากข่าวคราวต่างๆ ว่าเขาขาดทุนติดต่อกันมาจนแบกต่อไปไม่ไหว จนต้องปิดโรงงานไป เนื่องจากกลุ่มมิตซุยมีโรงงานน้ำตาลอีกโรงงานนึงคือโรงงานเกษตรผล เมื่อปิดโรงนี้ไปก็จะโอนชาวไร่ไปที่โรงงานเกษตรผล แต่การปิดกิจการก็ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ก็เป็นไปตามสภาพธุรกิจจริงๆ เมื่อขาดทุนก็ต้องปิดไป
จริงๆ แล้วโรงงานเกษตรผลอาการก็ย่ำแย่เหมือนกัน 5 ปีขาดทุนประมาณ 1,700 ล้านบาท
อันนั้นเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง ถ้าเรามองภาพกันลึกๆ แล้วธุรกิจอ้อยและน้ำตาลประสบปัญหาลุ่มๆ ดอนๆ มานานพอสมควร เราได้ยินแต่เพียงว่าเราเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับ 2 ของโลก จริงๆ เรามีโรงงานน้ำตาลแต่เราไม่ได้ผลิตมากเป็นอันดับ 2 ผลผลิตของเราเป็นอันดับ 5-6 ของโลก แต่ในภูมิภาคนี้เราเป็นผู้ผลิตน้ำตาลได้มากกว่าการบริโภคในประเทศ ที่เหลือเราส่งขาย ทีนี้การส่งขายก็ไม่ได้มากเป็นอันดับ 1 เมื่อเราไม่ได้มากอย่างนั้นเราก็ไม่สามารถไปกำหนดราคาน้ำตาลโลกได้ เราห่างจากอันดับ 1 คือบราซิลประมาณ 5 เท่า เราก็เหนื่อยใจ ต้องคอยเฝ้าดูราคาน้ำตาลที่ส่งออกไปซึ่งถือเป็นรายได้หลักของอุตสาหกรรมนี้
เราผลิตน้ำตาลทั้งหมด 12 ล้านตัน กินในประเทศประมาณ 3-4 ล้านตัน ที่เหลือส่งออก 7-8 ล้าน รายได้ส่วนใหญ่ของธุรกิจนี้มาจากการขายส่งออก ดังนั้น ราคาน้ำตาลในตลาดโลกเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด มีอิทธิพลต่อรายได้ธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย ตราบใดที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงมันก็ดึงราคาน้ำตาลบ้านเราสูงตามด้วย ก็ส่งผลถึงราคาอ้อยบ้านเราก็สูงขึ้น รายได้เกษตรกรก็สูงขึ้น อันนี้เป็นสภาพที่เกี่ยวเนื่องกัน ประเด็นคือถ้าราคาน้ำตาลโลกที่ผ่านมาไม่สูงเหมือนในอดีตที่สูงถึง 20-30 เซ็นต์ต่อปอนด์ โดย 4-5 ปีที่ผ่านมาราคาปอนด์ละ 12-13 เซ็นต์ ถือว่าค่อนข้างต่ำ เมื่อเปลี่ยนออกมาเป็นราคาอ้อยก็อยู่ที่ประมาณ 1,000 บาทต่อตันราคาอ้อย ถ้าเรากดดันมากๆ ให้อยู่ได้ราคาน้ำตาลต้องถูก เกษตรกรอยู่ได้ โรงงานน้ำตาลอยู่ได้ มันต้องฝืนธรรมชาติก็มีผลขาดทุนอย่างที่ว่า
พอดีโลกตอนนี้เข้าสู่ยุคเงินเฟ้อ ราคาน้ำตาลขึ้นมาอยู่แถว 17-18 เซ็นต์ต่อปอนด์
ก่อนหน้านี้ไม่ได้เป็น 17-18 เซ็นต์ เคยลงไป 10 เซ็นต์ยังมี 11-13 เซ็นต์รออยู่ตั้งนาน เพิ่งปรับขึ้นมาเมื่อเร็วๆ นี้เอง เนื่องจากทุกคนรู้สภาพซัพพลายดีมานด์ของน้ำตาลโลกว่ามีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภค และอิทธิพลของการดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งโลกที่มีความเชื่อว่าถ้ากินน้ำตาลมากๆ จะเป็นโรคอ้วนหรืออะไรต่างๆ ซึ่งจริงๆ แล้วพฤติกรรมที่บอกว่ากินน้ำตาลแล้วเป็นโรคอ้วนขึ้นอยู่กับการบริโภคว่าเกินสมควรไหม เหมือนกับการกินข้าว ซึ่งข้าวเป็นแป้ง ถ้ากินมากก็เปลี่ยนจากแป้งเป็นน้ำตาล ก็เป็นโรคอ้วนได้ เราต้องยอมรับว่าน้ำตาลใครกินมากก็เกิดโทษได้ คือปัจจุบันน้ำตาลไม่ได้เป็นแค่เฉพาะเพื่อการบริโภค แต่ยังนำมาผลิตทั้งแอลกอฮอล์ ทั้งพลังงาน ก็ต้องหาทางว่าถ้ายังสนับสนุนให้มีการปลูกอ้อยและทำน้ำตาลอยู่ก็ต้องคิดแนวทางที่จะเอาน้ำตาลไปทำอย่างอื่นมากกว่าเพื่อช่องทางการอยู่รอด ประเด็นคือยังไปไม่ถึง พูดคุยกันยังตกลงกันไม่ได้
มีโรงงานแบบกุมภวาปีซึ่งมีปัญหาที่จะต้องปิดมีอีกมากไหม
ถามว่ามีเยอะไหม ผมไม่อาจจะล่วงรู้ได้ว่าสถานะแต่ละโรงเป็นอย่างไร แต่เรามองเพียงว่าธุรกิจอ้อยและน้ำตาลขณะนี้ถ้าโรงน้ำตาลโรงใดไม่สามารถประหยัดต้นทุนหรือไม่สามารถเอากากน้ำตาลไปทำธุรกิจอื่นได้เพื่อหาทางสร้างมูลค่าขึ้นมา มันจะอยู่ลำบาก ทางออกคือเขาต้องช่วยตัวเองว่าจะเอาความรู้ต่างๆ เข้ามาใช้ มันต้องใช้เงินทั้งนั้น เพราะเป็นโพรดักต์ใหม่ เป็นการลงทุนใหม่ ก็มีความเสี่ยงทั้งนั้น
อ่านข่าวจากการสัมภาษณ์ที่คุณสิริวุทธิ์บอกว่าตอนนี้อยู่ในยุค 70/30 ถ้าใช้กฎหมายใหม่คือ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลแก้ไขใหม่อาจจะเหนื่อยกว่านี้ เพราะจะเอาผลพลอยได้จากการผลิตอื่นๆ ฟาร์มาซี เครื่องสำอาง จะทำให้ชาวไร่มีรายได้มากขึ้น แต่โรงงานน้ำตาลจะมีรายได้ลดลง
มันต้องร่วมกันเพราะเราอยู่ในธุรกิจเดียวกันทั้งชาวไร่ โรงงาน หรือฝ่ายราชการ ต้องเข้าใจว่าในอดีตเป็นอย่างนั้นที่ตกลงกันจริงๆ คือโพรดักต์ที่เป็นน้ำตาลเอามาแบ่งกันในระบบ 70/30 คือ ชาวไร่ได้ 70 โรงงานได้ 30 อัตราส่วนถือว่าได้มากที่สุดในโลกแล้ว ที่อื่น 65/35 มีเยอะแยะ แต่ของเราถือว่าชาวไร่ได้สูงมาก ถ้าเราจะทำอย่างนั้นจะเอาทุกอย่างเข้ามาต้องคิดให้ดีว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมต่างๆ จะเป็นอย่างไร อะไรที่เป็นความยุติธรรมสำหรับธุรกิจที่เกิดใหม่จากการเอาโพรดักต์น้ำตาลผลิตโพรดักต์อื่น ไม่อย่างนั้นโพรดักต์อื่นๆ ก็จะไม่เกิดหรือเกิดน้อย มันต้องคุยกันหมด หลายๆ commodity ก็จ้องเหมือนกันว่าถ้ากรณีนี้ได้ ต่อไปก็เอาแบบอ้อยและน้ำตาลได้ว่าถ้าใครทำโพรดักต์นี้ได้แล้ว โพรดักต์นี้ไปทำโพรดักต์อื่นได้อีก ก็ไปตามเอารายได้จากโพรดักต์อื่น ผมคิดว่าอันนั้นเป็นสิ่งที่ทำลายอุตสาหกรรมบ้านเราได้ ต้องระวังเหมือนกัน
สุดท้ายต้องทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาไม่ให้เกิดวิกฤตแบบกุมภวาปี
เป็นความเห็นส่วนตัวว่าอย่างน้อยที่สุดธุรกิจอ้อยและน้ำตาลเป็นเรื่องของชาวไร่กับโรงงาน ความยุติธรรมอยู่ตรงไหนมาตกลงกัน ขณะเดียวกันทั้ง 2 ฝ่ายต้องพยายามให้เกิดต้นทุนที่ต่ำ เช่น อ้อยต้องทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น หมายความว่าถ้าคุณทำอ้อยได้มาก ต้นทุนต่อไร่ก็ต่ำ ขณะเดียวกันโรงงานก็พยายามทำให้ 1 ตันอ้อยได้น้ำตาลได้มากที่สุด ทั้ง 2 ฝ่ายต้องคุยกันเสร็จเรียบร้อย ต้องช่วยกันขายน้ำตาล ไม่ใช่บอกว่าคุณเอาของฉันไปผลิตมาแล้วขาย ฉันต้องได้ส่วนแบ่งด้วย ถ้าทุกคนไม่ทำหน้าที่แต่คอยมาคิดว่าอันไหนจะได้เท่าไหร่ ซึ่งมันไม่ถูก หลายๆ คนบอกถ้าพัฒนาก็ต้องพัฒนาทั้งชาวไร่ โรงงาน และแนวคิดนโยบายบริหารอุตสาหกรรมนี้มันต้องไป 2-3 หมวดด้วยกัน ไม่ใช่นั่งคิดอย่างเดียวว่าฉันจะเอาโดยไม่พัฒนาตัวเองหรือเพิ่มอะไร การพัฒนาต้องมีค่าใช้จ่าย ต้องร่วมมือร่วมใจกันถึงจะอยู่ได้ ชาวไร่ต้องมีต้นทุนต่อไร่ที่ลดลง โรงงานสกัดน้ำตาลก็ทำได้ดีขึ้น ถึงจะอยู่กันได้
Comments