ว่าไปแล้วปัญหาเงินเฟ้อในอเมริกามีทิศทางที่ดีขึ้น แต่เฟดยังไม่นิ่งนอนใจ ถือหลักกันไว้ดีกว่าแก้ กลัวว่าวางใจเร็วเกิน ปัญหาเงินเฟ้อที่ชะลอตัวอาจกลับมาสูงได้อีก เชื่อ...นโยบายอัตราดอกเบี้ยสูงของเฟดยังคงอยู่อีกนาน รวมทั้งควบคุมตลาดหุ้นอเมริกาไม่ให้ร้อนแรงเกินพิกัด ควบคู่กับการจัดการดอลลาร์ไม่ให้แข็งค่าเกินควร คาดดอลลาร์มีทิศทางอ่อนตัวลง เพื่อให้นักลงทุนลดการลงทุนในดอลลาร์และหันไปลงทุนด้านอื่นบ้าง โดยแหล่งลงทุนที่น่าสนใจคือไทย เวียดนาม อินเดีย อินโดฯ แต่ที่ฮอตสุดๆ คือเวียดนามและอินเดียที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก ส่วนจีนจะมีแนวโน้มดีขึ้นหลังการกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มมีผลดีชัดเจน ส่งผลให้สินค้าและหุ้นกลุ่มโภคภัณฑ์กลับมาโดดเด่น สำหรับตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นยังเน้นเข้า-ออกเป็นรอบๆ ได้ แต่ยังไม่เหมาะกับการลงทุนระยะยาว
Interview : คุณณัฏฐะ มหัทธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย
เพื่อสุขภาพที่ดีด้านพอร์ตการลงทุนของนักลงทุน ต้องทำอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยดีนัก เช่น ค่าเงินเยนอ่อนสุดในรอบ 24 ปี ECB ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในเกณฑ์สูง และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
การลงทุนช่วงนี้เรื่องใหญ่ที่สุดเป็นความคืบหน้าในการควบคุมเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับนึงทีเดียวในการควบคุมเงินเฟ้อ รวมถึงความคาดหวังเงินเฟ้อในอนาคตของนักลงทุนและผู้บริโภคดูจากตัวแปรในตลาด ความคาดหวังของเงินเฟ้อในอนาคตข้างหน้า 1 ปีของสหรัฐลงไปแล้ว 2% อันนี้เป็นตัวเลขเงินเฟ้อ เป็นอะไรที่เป็นปัจจุบัน แต่ความคาดหวังเงินเฟ้อมันสะท้อนในตลาดบอนด์ ความคาดหวังอันนี้ Brake Even Depression มีหลายช่วงอายุคล้ายกับ Yield Curve ความคาดหวังใกล้ๆ ปีนึงข้างหน้าต่ำกว่า 2% แล้ว ถ้ามองไปสัก 5 ปีความคาดหวังของเงินเฟ้อเหลือ 2%กลางๆ เป็นแนวโน้มที่ดูแล้วตลาดมองกันเองและคิดกันว่าเฟดน่าจะเริ่มพอใจ สุ้มเสียงของกรรมการเฟดหลายคนเดาใจไม่ยากและพอใจในผลงาน แต่ก็พยายามพูดไปในทางเข้มงวดอยู่ คือพยายามเตือนตลาดว่าอย่าเพิ่งชะล่าใจ ยังประกาศชัยชนะไม่ได้ ดูจากบทเรียน 10 ปีก่อนที่ผิดพลาดมาแล้วว่าเงินเฟ้อจะจบแล้ว ปรากฏยังเหมือนไข้ที่อุณหภูมิขึ้นมาได้ ถึงแม้บางทีไข้ลดแต่ไข้กลับมาใหม่ได้
อย่างเฟดสร้างความเชื่อมั่น ยังไม่หยุดที่จะขึ้นดอกเบี้ย อย่างวันที่ 21 นี้คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คงขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เป็นการขึ้นในสเกลแรงๆ แบบนี้ 3 ครั้งติดต่อกัน แต่หลังจากนี้คนก็คิดกันว่าอาจจะลดดีกรีความแรง เหลือขึ้นครั้งละ 0.5 ก็ได้ หรือถ้าเงินเฟ้อมันลงเร็วก็อาจจะขึ้น 0.25 แปลว่าการประชุม 20-21 กันยายนอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายที่เขาอาจจะขึ้นดอกเบี้ยด้วยสเกล 0.75 พอตลาดตีความแบบนี้ ตลาดก็มองข้อมูลทุกวันๆ ทำให้บรรยากาศการลงทุนเริ่มดีขึ้น เราเห็นพัฒนาการสำคัญอย่างดัชนีดอลลาร์ คือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับเงินหลายสกุล เรียกว่า Dollar Index พุ่งขึ้นไปถึง 110 กว่า ถือว่าแข็งมาก แต่ในช่วงที่ผ่านมากลับลงมาคล้ายผ่านจุดสูงสุด กลับลงปิดต่ำกว่า 109
แนวโน้มดอลลาร์จะเป็นอย่างไร
ถ้าเป็นแบบนี้แนวโน้มดอลลาร์คงอ่อนค่าลงเรื่อยๆ ตลาดหุ้น ตลาดโภคภัณฑ์ สินทรัพย์ต่างๆ จะขึ้นกันมาก เพราะดอลลาร์เป็นตัวแปรที่เป็นประธาน ถ้าดอลลาร์แข็งและมีแนวโน้มแข็งแบบก่อนหน้านี้เรื่อยๆ การลงทุนอะไรก็ลำบาก ขึ้นไปเดี๋ยวก็หมดแรง เดี๋ยวก็กลับลงมา เพราะเวลาดอลลาร์แข็งคนไม่อยากลงทุน เพราะเงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลัก เวลามันแข็งแล้วมีแนวโน้มแข็งขึ้น คนก็ไปถือดอลลาร์เฉยๆ คนไม่อยากลงทุนอะไร เวลาดอลลาร์อ่อนคนจะไปหาการลงทุนเห็นการเติบโตที่ไหนเขาก็จะไปลงทุน ปัจจัยพื้นฐานจะกลับมาทำงาน อะไรที่ราคายังไม่แพง อนาคตข้างหน้าของแพงอาจจะลำบาก เพราะหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเราจะเห็นทุกอย่างขึ้นหมด เพราะตลาดบีบตัวมาก มันเริ่มขึ้นหมด พอเวลาผ่านไปเราคิดว่าของถูกอาจจะได้เปรียบ เพราะเฟดเขายังคงใช้นโยบายดอกเบี้ยสูงไปอีกนานพอสมควร คือดอกเบี้ยสูงกว่าปกติ สูงกว่าทศวรรษที่แล้ว อย่าคิดว่าจะลดดอกเบี้ยเร็ว ยังคงดอกเบี้ยสูงแบบนี้ไปอีกนาน ซึ่งผู้คนในตลาดยังไม่ได้รับรู้ประเด็นนี้สักเท่าไหร่
อย่างทศวรรษที่ผ่านมาบรรยากาศมันกลับกัน คือเฟดคงดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลายาวนาน สินทรัพย์ หุ้น ก็จะยกระดับราคา P/E ขึ้นไปสูงหลายสิบเท่า หรือ 100 เท่า สามารถทำได้เพราะดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานๆ คนสามารถเอาเงินไปซื้อหุ้นโดยที่รอกำไรในอนาคตที่จะเติบโตในหลายปีข้างหน้าเขาก็รอได้ P/E ในปัจจุบัน 40-50 เท่าก็ซื้อกันได้ถ้าดอกเบี้ยต่ำ แต่เวลานี้ดอกเบี้ยจะสูงอีกนาน ก็ทำให้เอาเงินไปแช่ไว้เพื่อรอในอนาคตนานๆ ไม่ได้ ต้องซื้ออะไร Flow เดี๋ยวนี้ มี Cash Flow เดี๋ยวนี้ หรือถ้าไม่ได้โตแรงมากแต่ทิศทางกำลังฟื้น ตัวอย่างหุ้นไทยก็ใช้ได้ กำลังฟื้นตัว คนก็จะชอบสังเกตว่าแถวอาเซียนหรือบ้านเราค่อนข้างดี มีจุดน่าสนใจ คนต้องการฟื้นตัวเดี๋ยวนี้ เติบโตเดี๋ยวนี้ ไม่แรงไม่เป็นไร แต่ขอเดี๋ยวนี้ ถ้าเป็นหุ้นเราก็ชอบราคาถูกหน่อย และปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตจะต้องเติบโตได้ถึงแม้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอลง
เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังไม่ฟื้นตัวจริงจัง
ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจสหรัฐ ถึงจะดูค่อนข้างดี แต่กระบวนการคุมเงินเฟ้อของเฟดเขาจะต้องทำให้การเติบโตของสหรัฐชะลอลง ถ้าการเติบโตของสหรัฐดีขึ้นมา แม้แต่ตลาดหุ้นสหรัฐดีมากเฟดก็จะไม่สบายใจแล้ว เพราะเดี๋ยวเงินเฟ้อจะกลับมา เพราะตลาดหุ้นดีก็จะทำให้คนรวยขึ้น มีการใช้จ่าย เพราะคนอเมริกันมีหุ้นกันเยอะ ตลาดหุ้นสหรัฐดีนานดีเยอะไม่ได้ โดยส่วนตัวไม่น่าทำได้ดีกว่าตลาดอื่น ไม่เหมือน 10 ปีที่ผ่านมา เราพยายามไปหาตลาดอื่นที่น่าจะโตได้แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐชะลอ ผมมองไปที่สินค้าโภคภัณฑ์ ตอนนี้คนเริ่มมีความหวัง เดี๋ยวเศรษฐกิจจีนจะดี เดือนหน้ามีเลือกผู้นำใหม่
จีนอยู่ในความสนใจ
ตอนนี้มีคนพูดเรื่องจีนมากขึ้น การกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อหลายเดือนผ่านไปเริ่มมีผลตามมา เศรษฐกิจจีนเริ่มดีขึ้น ความคาดหวังดีๆ แบบนี้มันจะส่งต่อไปถึงตลาดโภคภัณฑ์ เป็นหลัก เราสนใจอะไรที่อิงกับโภคภัณฑ์ อย่างน้ำมันลงมาสวน พื้นฐานน้ำมันควรจะกลับขึ้นไปซึ่งจะมี 150 เหรียญ มันจะไปได้ถึงประมาณนั้น
ส่วนยุโรปมีความกังวลในเดือนที่ผ่านมา เพราะเศรษฐกิจเขาวินาศสันตะโร แก๊สไม่พอใช้ ต้องปิดโรงงาน จุดเทียนอยู่กันแบบนี้ กังวลกันมาก แต่ในช่วงสัปดาห์นี้สังเกตว่ารัฐบาลของประเทศใหญ่ๆ ในยุโรป อย่างยูเครนเห็นชัดว่าเขาเลือกทางเดินอีกทางนึง คือ แทนที่จะดับไฟแล้วหาพลังงานกัน เขากลับอัดเงินสู้ รัฐบาลจัดแพ็กเกจใหญ่โตมโหฬาร บอกว่าครัวเรือนทั่วๆ คุณจ่ายค่าไฟเท่านี้ ส่วนต่างรัฐบาลออกให้ จัดแพ็กเกจมาหลายหมื่นล้าน กล้ามาก เงินเฟ้อสูงขนาด 2 หลัก แต่เขายังอัดเงินสู้ได้ คือเป็นเส้นทางที่อันตรายเหมือนกัน เสถียรภาพทางการเงินก็เป็นความเสี่ยง
ธนาคารกลางยุโรปขึ้นดอกเบี้ย 0.75 ดูแรงก็จริง แต่มีมาตรการบางอย่างที่ไปสร้างแรงจูงใจให้แบงก์พาณิชย์ในยูโรโซนไม่คืนเงินช่วยเหลือที่ยืมมา 2 ปีที่ผ่านมา ECB ไม่เหมือนกับเฟด คือเขาไม่ยอมลดขนาดงบดุล แอคชั่นของเขาในการประชุมที่ผ่านมามีความซับซ้อนบางอย่าง มีมาตรการออกมาตีความได้ว่า ECB ไม่ต้องลดขนาดงบดุล ซึ่งสวนทางกับความรู้สึกของนักลงทุน แต่ความคาดหวังของนักลงทุนคิดว่าเดี๋ยว ECB คงต้องเดินตามเฟด ลดงบดุลเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ ดูเหมือนธนาคารกลางยุโรปก็เข้มงวดไม่จริง รัฐบาลยุโรปประเทศรวยเขาแก้ปัญหาแบบคนรวย แก้ปัญหาเงินเฟ้อด้วยการอัดฉีดเงินแก้ปัญหาพลังงานด้วยการอุดหนุนตรงๆ มันจะไปซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อ เหมือนผลักปัญหาไปหาอนาคต แต่เวลานี้ ปีนี้ สิ่งที่คนกังวลกันคงไม่เกิดขึ้น คือเศรษฐกิจยุโรปคงไม่พังในวันนี้ เดี๋ยววันหน้าค่อยว่ากัน ตอนนี้นักลงทุนเลยซื้อหุ้นไปก่อนเพราะยังมีเงินมีทองใช้กันอยู่เพราะรัฐบาลอุดหนุนไว้เต็มที่ ไปหาสินทรัพย์อะไรที่แข็งแรง
เช่นอะไร
ถ้าไปดูหุ้นในประเทศบางประเทศ หาอะไรที่มีพื้นฐานแข็งๆ ไม่ได้อยู่ด้วยการฉีดยา อย่างเวียดนาม หรือไทยโดดเด่นเรื่องการฟื้นตัว แต่ถ้าโดดเด่นเติบโตยาวๆ เวียดนามเป็นอะไรที่ชัดเจนมาก อีกอันก็เป็นอินเดีย เวียดนามได้เปรียบที่ราคาถูก อินเดียแพงหน่อยแต่ก็เป็นของดีคือการเติบโตเขาแรงจริง ดูตัวเลขเศรษฐกิจอินเดียเรียกว่าบ่ยั่น คือโตแรงเพราะมีเหตุปัจจัยพื้นฐานทางโครงสร้างระยะยาว ยังโตได้เยอะ เพราะยังต้องการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกเยอะ ยังอยู่ในเส้นทางการปฏิรูป แค่ 2 เรื่องนี้ก็ขับเคลื่อนการเติบโตได้มาก ธนาคารอยู่ในเฟสของการที่ยังไม่มีบริการอะไรครบครันเหมือนบ้านเราซึ่งมีกันเยอะแล้ว เวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย ภาคธนาคารยังเติบโตแบบ Hyper Growth ก็น่าสนใจ พวกนี้ถ้าเอาเงินไปลงทุนก็สนใจกลุ่มนี้เป็นหลักเพราะเรามองไปไกล อย่างตอนนี้เป็นการฟื้นตัวแบบฉีดยา
สำหรับคนที่ต้องลงทุนในไทย มองว่าไทยยังเป็นตลาดที่สดใสหรือลงทุนได้หรือไม่ แล้วการที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาขาย เป็นสัญญาณอะไร หรือปกติ
ไทยและอาเซียนมีจุดเด่น ตอนนี้มีการฟื้นตัวตามวัฏจักร เพราะเราฟื้นตัวทีหลังคนอื่น และปีที่แล้วแย่มากโดยเฉพาะเวลานี้ปีที่แล้วเราเจอเดลตาอยู่ เลยมีจุดเด่นเรื่องฟื้นตัวตามวัฏจักร ถือเป็นการฟื้นตัวระยะสั้น ระยะกลาง เล่นเป็นรอบๆ สำหรับไทย แต่เรื่องการเติบโตระยะยาวอาจจะไม่โดดเด่น เล่นเป็นรอบๆ ได้เลย หมดรอบแล้วค่อยว่ากัน
Kommentare