top of page
312345.jpg

โจทย์ยากลงทุนในตลาดหุ้น...ปัจจัยลบเพียบ!


ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บล.ไทยพาณิชย์ เตือนปัจจัยลบยังรุมเร้าทั่วโลก เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยชัดเจน ฝั่งอเมริกา-ยุโรป ศึกหนักทั้งเรื่องเงินเฟ้อ รวมถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อฉุดราคาน้ำมัน ต้นทุนการผลิตพุ่งสูง สินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลน ราคาแพงระยับ ขณะที่ฝั่งจีนยังเข้มงวดกับนโยบาย COVID Zero ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจเดินหน้าไม่ได้เต็มที่ ในที่สุดปัจจัยลบในอเมริกา ยุโรป และจีน จะลามไปทั่วโลก ประเทศที่พึ่งพาเงินกู้มาก จะมีความเสี่ยงมากขึ้น สำทับด้วยเงินทุนจะไหลออกต่อเนื่อง ภาพการเป็นประเทศที่ล้มละลายจะลามจากศรีลังกาไปยังประเทศต่างๆ ที่ชัดเจนคือปากีสถานซึ่งจ่อคิวจวนอยู่จวนไป เตือน...ไทยมีสิทธิ์อยู่ในวังวนปัญหาแบบเดียวกัน จากการบริโภค-การลงทุนในประเทศลดลงอย่างชัดเจน ค่าครองชีพสูง ราคาอาหารสินค้าแพงสุดๆ การส่งออกเริ่มป้อแป้ ไม่ดีเท่าที่คาด ส่วนการลงทุนในหุ้นยากขึ้นในทุกมิติ แต่ไม่แนะให้กอดเงินสดอย่างเดียว รอจังหวะดีๆ ยังพอเข้าซื้อและขายออกได้อยู่


มุมมองการเงิน การลงทุนต่อจากนี้เป็นอย่างไร

ถ้ามองในภาพรวม แน่นอนความเสี่ยงในเรื่องของเศรษฐกิจถดถอยมีมากขึ้น จะเห็นภาพว่าในเขตเศรษฐกิจหลัก 5 ที่ สัญญาณเริ่มชะลอลงอย่างชัดเจน อย่างในสหรัฐอเมริกา ถึงแม้เรื่องการค้าอย่างค้าปลีกยังไปได้ แต่ว่าตัวเลขไม่ว่าจะเป็นดัชนีชี้นำต่างๆ PMI ต่างๆ เริ่มชะลอลง ความเชื่อมั่นก็ลดลง รวมไปถึงเรื่องของผลประกอบการของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคอย่างเช่นพวกรีเทลใหญ่ๆ เช่น วอลมาร์ท ก็เริ่มลดลงค่อนข้างมาก แต่ว่าผลประกอบการของบริษัทขนาดเล็ก กลับปรับตัวเพิ่มขึ้น ก็แปลว่าคนเริ่มหันมาจับจ่ายในร้านดิสเคานต์สโตร์หรือร้านสินค้าราคาถูกมากขึ้น ก็บ่งชี้เลยว่ายังมีกำลังซื้อ ยังอยากที่จะซื้ออยู่ รวมถึงยืมเงินมาซื้อ หรือใช้เงินที่เก็บไว้มาซื้อ

แต่ว่าต้นทุนที่ว่าขึ้นก็กดดันเขา ตรงนี้ชัดเจนว่าขึ้นอยู่กับเรื่องของเงินเฟ้อ ซึ่งเงินเฟ้อที่ขึ้นสูงก็ทำให้นโยบายการเงินตึงตัวด้วย และเรื่องของเฟดก็ยังส่งสัญญาณในเรื่องของการที่จะลดทอนอยู่ต่อเนื่อง มีทิศทางที่จะขึ้นดอกเบี้ย 50 สตางค์ 2 ครั้ง ขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง 25 สตางค์ ตอนนี้ดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกาอยู่แถว 0.8% แต่ว่าเขาจะขึ้นอีก 1% ในช่วงอีก 2 เดือนข้างหน้าก็คือเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม จากนั้นจะขึ้นในการประชุมครั้งละ 25 รวม 3 ครั้ง จนทำให้เรื่องของตัวดอกเบี้ยแตะอยู่ที่ประมาณ 2.5% ในสิ้นปีอย่างน้อย ภาพเป็นอย่างนั้น ก็จะตึงตัวมากขึ้น รวมถึงการทำ QT ก็จะมีการทำมากขึ้น ตรงนี้เป็นภาพในส่วนของสหรัฐอเมริกา

ในฝั่งยุโรปก็ชัดเจน เรื่องของดัชนีการจัดซื้ออะไรต่างๆ เริ่มชะลอลง ตัวเงินเฟ้อก็สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และแน่นอนทุกอย่างขึ้นอยู่กับสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุโรปเขาก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด มีเรื่องของการสั่งซื้อน้ำมัน สั่งซื้อแก๊สธรรมชาติ รวมถึงอาหารด้วย สงครามก็ดูยืดเยื้อยาวนานมากขึ้น เพราะทางปูตินก็พูดในวันดีเดย์ วันวิกตอรีเดย์ของเขา พูดชัดเจนว่าจะปกป้องดินแดนของตัวเอง ซึ่งไม่ได้พูดชื่อยูเครนเลย ถ้าเป็นอย่างนี้บ่งชี้ว่าเขาก็ยังเชื่อว่ายูเครนเป็นของเขา ขณะที่ทางสหรัฐอเมริกาก็ไม่ยอมแพ้ ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่ให้ยูเครนต่อเนื่องเลย ก็เลยทำให้สงครามลากยาวมากขึ้น ความเสี่ยงของยุโรปที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยจึงมีมากขึ้น ตัวผู้ว่าฯ แบงก์ชาติอังกฤษเอง รวมถึงประธาน ECB ก็ส่งสัญญาณเช่นเดียวกันว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจมีมากขึ้นทั้งในฝั่งของยุโรปและในฝั่งของอังกฤษ

ส่วนฝั่งของจีน ประเด็นสำคัญก็คือ COVID Zero ดังนั้น พอมีการระบาด ก็จะมีการล็อกดาวน์ ถึงแม้ว่ารูปแบบการล็อกดาวน์อาจจะไม่เข้มข้น คือลดความเข้มข้น แต่ก็ยังหนักหน่วงมาก คือปิดอย่างน้อย 7-14 วันแล้วแต่ที่ และตัวเซี่ยงไฮ้ก็ยังไม่ได้เปิดเต็มที่ ถึงแม้จะมีการเปิดบางส่วนแล้วก็ตาม และตัวปักกิ่งก็มีการระบาดอยู่พอสมควร ก็มีการเปิดเป็นที่ๆ ไป ราชการก็ปิดอยู่ ซึ่งพอวันที่ราชการปิดอยู่ เศรษฐกิจมันก็ผลิตไม่ได้ ก็จะมีความเสี่ยง

ช่วงหลังจะเห็นแบงก์ชาติจีน รวมถึงรัฐบาลจีนเอง ก็มีมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น แบงก์ชาติจีนลดดอกเบี้ย เพื่อจะช่วยภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงรัฐบาลก็มีมาตรการประมาณ 20 กว่ามาตรการที่ออกมาช่วยลดทอนในเรื่องของภาษี มาช่วยธุรกิจขนาดเล็กๆ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ภาพใหญ่มันคือเศรษฐกิจที่ชะลอลงเนื่องจากการล็อกดาวน์ ซึ่งเรามองว่าการล็อกดาวน์และนโยบายเรื่องโควิดไม่น่าจะยุติง่ายๆ ถ้าเผื่อทาง สี จิ้นผิง ยังไม่สาบานตน สมัยที่ 3 เพราะเขาต้องการไม่ให้การระบาดรุนแรง ถ้าระบาดรุนแรงตอนที่สาบานตน เข้ารับตำแหน่ง ภาพคงไม่สวย


ภาพค่อนข้างน่ากลัว

จีนก็จะเผชิญภาวะเปิดๆ ปิดๆ อย่างนี้ สหรัฐอเมริกาก็เผชิญกับดอกเบี้ยขาขึ้น ยุโรปก็เผชิญกับสงคราม ทั้ง 3 ที่นี้เป็นแรงกดดันของเศรษฐกิจโลก และความกดดันก็ไหลเข้ามาตลาดเกิดใหม่ ซึ่งต้องพึ่งพาในเรื่องของอาหาร พลังงานจากฝั่งของยุโรป ฝั่งของรัสเซียด้วยเหมือนกัน แล้วเรื่องของดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงที่ผ่านมา ก็เริ่มมีปัญหาขาดดุลเยอะต่อไป มีการกู้ยืมเงินมาค่อนข้างมาก เศรษฐกิจไหนที่มีการกู้ยืมเงินมามาก ก็มีความเสี่ยงภายในประเทศ การเมืองไม่มั่นคง ก็จะเริ่มมีความเสี่ยงในแง่เงินทุนไหลออกมาก

ศรีลังกาเป็นประเทศแรกที่โดน ตอนนี้ก็เริ่มมีผลมากขึ้นในปากีสถาน เพราะตอนนี้ทุนสำรองเหลือน้อยมาก เพียง 2 เดือนของการนำเข้า ตามเลเวลที่นักเศรษฐศาสตร์มองถือว่าอยู่ไม่ได้ เขาก็เลยขอเงินกู้ยืมจาก IMF ซึ่ง IMF ยังไม่ให้กู้ เขาบอกว่าตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลปากีสถานทำคือเอาเงินมาอุดหนุนเรื่องของน้ำมันและเรื่องของอาหาร ซึ่งเรื่องน้ำมันมีการอุดหนุนเดือนละกว่า 600 ล้านดอลลาร์ ตรงนี้ทำให้ความเสี่ยงมีมากขึ้น ดังนั้น ถ้าคุณไม่ยุติการอุดหนุนหลัก ฉันก็จะไม่ให้เงินคุณยืมเพื่อมาเติมทุนสำรอง ซึ่งถ้าไม่ได้เงินมา ในที่สุดปากีสถานก็ผิดนัดชำระหนี้ พอปากีสถานผิดชำระหนี้ก็มีความเสี่ยงมากขึ้น อย่างศรีลังกาประเทศเล็กมากเกือบ 1 ใน 10 ของบ้านเรา ส่วนปากีสถานประมาณครึ่งหนึ่งของบ้านเรา คราวนี้ปัญหาก็จะลามสู่ประเทศใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ หมายถึงประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็ต้องมานั่งดูแต่ละประเทศว่า ประเทศไหนมีความเสี่ยงอะไร มีเงินเฟ้อสูง มีอะไรต่างๆ มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด มีเงินทุนไหลออก

จากภาพความเสี่ยงของ 3 อันแรกคือของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และของจีน ก็จะผลักดันเข้าสู่ตัว EM หรือตลาดเกิดใหม่ในที่สุด ฉะนั้น ภาพความเสี่ยง 4 ที่ คือสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น EM ซึ่งก็หนีไม่พ้นว่าไทยเราต้องเผชิญปัญหานี้ด้วยเหมือนกัน สิ่งที่เราเห็นก็คือการบริโภคในประเทศ การลงทุนในประเทศเริ่มชะลอลง เริ่มชัดเจนจากความเสี่ยงในเรื่องของราคา พวกค่าครองชีพที่สูงขึ้นอะไรต่างๆ การบริโภคก็ลดลง เรื่องของการส่งออกด้วย ก็ทำให้การลงทุนลดลง และการส่งออกเมื่อวันศุกร์ที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา ตัวเลขออกมาล่าสุดต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาด ออกมาเกือบๆ 10% จากที่คาดกันประมาณ 15% อย่างนี้ก็แย่เลย ซึ่งส่วนตัวค่อนข้างกังวล อาจจะเป็นเพราะส่วนตัวเพิ่งปรับประมาณการส่งออกขึ้นด้วยซ้ำ เพราะเดิมทีจะมองในแง่ร้ายหน่อย มองเรื่องส่งออกอาจจะไม่ดี เศรษฐกิจในประเทศอาจจะโตขึ้นมาในปีนี้ มันกลายเป็นว่าเศรษฐกิจในประเทศได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น ส่วนส่งออกก็ได้รับผลกระทบจากภาพของเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงมากขึ้น

ฉะนั้น ในภาพรวมเลยทำให้ในระยะต่อไปมีความเสี่ยงมากขึ้นในแง่ของภาคเศรษฐกิจที่จะไปสู่ในภาวะถดถอย แต่ก็มีข้อดีอย่างหนึ่งคือ ทำให้พวกสัญญาณทางการจากหลายประเทศโดยเฉพาะเฟดหรือหลายประเทศก็ตาม คือกังวลเงินเฟ้อก็กังวล แต่เริ่มกังวลเศรษฐกิจแล้ว ถ้าเศรษฐกิจชะลอลงมากๆ ก็อาจจะมีการคิดอีกครั้งหนึ่งในการที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่ก็ยังพูดภาพหลัก ยังคุมเงินเฟ้ออยู่ เริ่มมากังวลกับเศรษฐกิจมากขึ้น พอเป็นภาพอย่างนี้ ประกอบกับเรื่องของตัวความกังวลในเรื่องของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ Bond Yield ลดลง พอ Bond Yield ลดลง มันกลายเป็นว่าพันธบัตร 10 ปีเหลือ 2.6 หรือ 2.7 เอง ลงมากจาก 3.1 จากต้นเดือนที่ผ่านมา เลยกลายเป็นแค่ปัจจัยบวกในช่วงสั้น


แนวโน้มตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไรต่อไป

เราจะเห็นหุ้นในช่วง 23-27 พ.ค.ดีมาก เพราะเริ่มมีความเสี่ยงแยกลงมาค่อนข้างเยอะ สาเหตุที่ดีขึ้นเพราะตลาดเชื่อว่าทางการเริ่มกังวลเรื่องของเศรษฐกิจชะลอตัว และจะลดทอนการตึงตัวนโยบายการเงิน ซึ่งส่วนตัวยินดีด้วยกับนักลงทุนในช่วงสั้นๆ แต่ว่าในภาพยาวๆ คือภาพในระยะต่อไปจะไม่สวย ทุกเขตเศรษฐกิจมีความเสี่ยงหมดเลย ภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำจะกลบตัวตลาดมากกว่าเรื่องของนโยบายที่อาจดีขึ้นเป็นการชั่วคราว หรือว่าเป็นสัญญาณที่ดีขึ้นแต่ว่าอาจจะช่วยไม่ได้มากนักถ้าเงินเฟ้อยังเป็นแบบนี้


หุ้นสหรัฐอเมริกาที่ดูดีขึ้นมาหน่อย ทำให้ดูว่าตลาดพลิกกลับมา มองว่าในเดือนมิถุนายน จะออกมาแนวไหน

มองว่าก็อาจจะมีการปรับขึ้นได้ชั่วคราว เพราะตอนนี้คนกังวลเรื่องความเสี่ยงเศรษฐกิจอะไรต่างๆ เลยเชื่อว่าแบงก์ชาติอาจจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยมาก เลยเหมือนภาพบวกในระยะสั้น ถ้าขึ้นมาในช่วงนี้ มุมมองส่วนตัวมองว่าอาจจะต้องระมัดระวังนิดนึง ถ้าคิดว่าราคาเหมาะสมก็ควรขายบ้าง เพราะความเสี่ยงค่อนข้างมากขึ้น ดังนั้น ในแง่ของทุกเขตเศรษฐกิจของไทย อาจจะยังมีการขัดกันอยู่ แข่งกันอยู่ระหว่างเรื่องของการเปิดประเทศ การเปิดอะไรที่ทำให้ดูดีขึ้น ไปไหนมาไหนรู้สึกรถติดมากขึ้น เรารู้สึกว่าการจับจ่ายดีขึ้น มีการเปิดเมือง นักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาบ้าง ตรงนี้เป็นภาพจุดหนึ่ง แต่อีกจุดหนึ่งคือตัวเลขจริงที่ชี้ออกมาว่าการบริโภคการลงทุนเริ่มชะลอชัดเจน การส่งออกเริ่มชะลอชัดเจน

แต่กระนั้นก็ยังมีโมเมนตัมที่ยังให้ไปได้ แต่คราวนี้เราต้องเลือกบริษัทที่ดีถ้าจะลงทุน ซึ่งถ้าจะลงทุนในหุ้นกู้ ต้องไปดูว่าบริษัทที่ออกหุ้นกู้ มีงบการเงินที่แข็งแกร่งอย่างไร ที่ผ่านมาต้องไม่ขาดทุน ต้องดูให้ดีมากขึ้น ต้องยอมรับว่าในระยะต่อไป มีความเสี่ยงมากขึ้น และเราเห็นว่ามีการออกหุ้นกู้มากขึ้นในช่วงนี้ เพราะเขาเชื่อว่าดอกเบี้ยจะขึ้นมากกว่านี้ ก็เป็นภาพที่จะต้องระมัดระวังต่อไปด้วย แต่ก็ยังลงทุนได้ ไม่ใช่จะกอดเงินสดอย่างเดียว คือต้องลงทุนบ้าง แต่ต้องยอมรับว่าการลงทุนจะยากขึ้น

25 views
bottom of page