top of page
379208.jpg

มองหุ้นไทยปรับลดแล้วน่าซื้อสะสม...แนะปรับพอร์ตรับมือวิกฤต


เงินเฟ้อพุ่งสูง อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น จะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายใน 2 ปีข้างหน้า โดยสงครามที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จะเป็นตัวเร่งสำคัญ ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังทำได้หลังปรับลดลงมาใกล้กรอบที่จะซื้อสะสมแล้ว แนะหุ้นที่ยังมีแนวโน้มที่ดีคือกลุ่มธนาคาร Commodity ค้าปลีก และอิเล็กทรอนิกส์ แต่ทั้งนี้ควรลดการลงทุนในหุ้นให้เหลือเพียง 40% ของพอร์ต อีก 60% ที่เหลือถือเป็นเงินสดชัวร์ที่สุด


Interview : คุณธนากร มนูญผล

รองกรรมการผู้อำนวยการหน่วยงาน Group Investment บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่


สถานการณ์เข้าสู่เดือนพฤษภาคม ซึ่งอยู่ในช่วง Sell in May ของในหุ้นต่างประเทศ และอาจเป็น Sell in May ในตลาดหุ้นไทยด้วยนักลงทุนไทยควรจะวางกลยุทธ์อย่างไร

เริ่มจากภาพใหญ่ มองไปในรอบ 2-3 ปี สิ่งที่ยังมีอยู่จริงเรื่องแรกคือเรื่องเงินเฟ้อ คิดว่าไม่น่าจะลงแล้ว ปีนี้ถ้าไปดูเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาคือขึ้นมาเรื่อยๆ เผลอๆ จบสิ้นปีจะอยู่แถวๆ 8% คือถ้าเราดูเดือนต่อเดือน เดือนมีนาคมขึ้นมา 1.2% อาจจะมีการลดลงบ้างในเดือนเมษายนและพฤษภาคม แต่ทั้งปีคิดว่าไปอยู่แถว 8% ถือว่าสูงมาก

ส่วนเรื่องที่สองที่เกิดขึ้น คิดว่าไม่น่าพลาดแล้ว คือเรื่องของเฟดขึ้นดอกเบี้ย ล่าสุดขึ้น 0.5% สูงที่สุด เรียกว่าเป็นการขึ้นเร็วที่สุดในรอบ 22 ปี แม้แต่ตอนปี 2008 ที่มีวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ตอนนั้นเขายังขึ้น 0.25% ยังไม่เคยขึ้นถึง 0.5% เรื่องหนึ่งที่เราสังเกตคือเงินเฟ้อมาจริงแน่แล้ว ตัวทางการของเฟดคอนเฟิร์มแล้ว แต่ถามว่ามองต่อไปในปีนี้จะขึ้นดอกเบี้ยอีกกี่ครั้ง ปีนี้เราเหลือการขึ้นอย่างน้อยอีก 3 ครั้ง คิดว่าจะขึ้นแน่ๆ ในเดือนมิถุนายนอีก 0.5% เดือนกรกฎาคม คาดจะขึ้นอีก 0.5% แต่เดือนกันยายน เริ่มมองแล้วว่าการปรับขึ้นอาจจะลดลงมาเหลือ 0.25% ซึ่งถือว่าเร็วมาก บวกกับ QT ที่เขาจะเริ่มลดขนาดงบดุลวันที่ 1 มิถุนายนนี้ เริ่มด้วย 47 พันล้านดอลลาร์/เดือน แล้วน่าจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปหลังจากนั้นอีก 3 เดือนจะลดขนาดงบดุล ถึงรอบ 95 พันล้านดอลลาร์/เดือน

ทั้งหมดทั้งมวลจาก 2 เรื่องใหญ่ที่กล่าวมาทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง...เกิดเรื่อง Inverted Yield Curve คืออัตราผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว ส่วนใหญ่เวลาเกิด Inverted Yield Curve ขึ้นทีไรจะเป็นสัญญาณไม่ดีของตลาดรวม ที่เกิดขึ้นล่าสุดคือก่อนโควิดรอบแรก ทั้งที่ตอนนั้นสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ได้มีอะไรบ่งชี้เลย อยู่ดีๆ ก็มีเหตุการณ์โควิดเกิดขึ้นมา ตลาดก็ค่อยเล็กลงไป รอบนั้นสหรัฐอเมริกาก็ลดลงไปประมาณ 25%

ครั้งนี้เกิดขึ้นอีกรอบหนึ่ง แต่ละครั้งที่เกิดขึ้นนักวิเคราะห์ก็มีการวิเคราะห์กันว่า เวลาที่เกิด Inverted Yield Curve แล้ว เฉลี่ยประมาณกี่เดือนจากนั้นมันจะมีการคอลเลกชั่น ต้องบอกว่าโควิดไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจแล้ว ซึ่งโควิดเป็นภาวะที่โดน Collect จากโรคระบาด มันเกิดผลกระทบซัพพลายเชน แต่ว่าสถานการณ์เรื่องการเงิน ซึ่งเงินเฟ้ออะไรยังไม่มา

รอบนี้สิ่งที่แตกต่างจากรอบโควิดคือ Inverted Yield Curve เกิดพร้อมกับเงินเฟ้อ และเฟดเริ่มขึ้นดอกเบี้ยแล้ว จริงๆ ตอนนั้นยังไม่มี ตอนนั้นยังเรียกว่าโควิดเกิดปุ๊บ ปั๊มเงินสด แต่รอบนี้ทำไม่ได้ อันนี้เป็นรอบที่น่าสนใจ แต่ถามว่ามันต้องตกใจถึงขั้นต้องรีบออกไปจากตลาดเลยหรือไม่ แต่มองได้เลยว่าใน 2 ปีนี้อาจจะเห็น และ 2 ปีนี้ส่วนตัวมองว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย โอกาสเกิดขึ้นค่อนข้างเยอะขึ้นแล้ว โกลด์แมน แซคส์ให้โอกาสเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้น 38% คือประกาศไว้แล้วเมื่อเดือน 3 ถือว่ามีเปอร์เซ็นต์ที่สูงเลยทีเดียว


ยังมีอะไรที่น่ากังวลอีกไหม

ต้องดูว่าภาวะถัดมาจะมีอะไรเกิดขึ้นอีก พอเกิดเรื่องนี้ขึ้นมา สิ่งที่เราต้องกังวลเลยคือตอนนี้ฟันด์โฟลว์เริ่มกลับไปที่สหรัฐอเมริกามาก ดอลลาร์แข็งค่าอย่างรวดเร็วในรอบ 10 ปี ย้อนกลับมาเรื่องเงินเฟ้อ ถามว่าปีนี้บอกเงินเฟ้อจะจบที่ 8% แล้วจะมีโอกาสลงหรือไม่ ต้องมองกลับไปส่วนหลักๆ ของสหรัฐอเมริกาว่าเงินเฟ้อเกิดจากอะไร จะมาจากตลาดซื้อขายบ้าน 40% ปรากฏว่าราคาบ้านเปรียบเทียบกับปีที่แล้วขึ้นมาแล้ว 20% ดังนั้นโอกาสที่จะเห็นเงินเฟ้อลงคงจะยากมาก ราคาบ้านไม่ลง ราคาน้ำมัน ราคาพลังงานอยู่ในระดับสูง แถว 110 กว่าดอลลาร์ ต่อให้ปรับตัวลงมา แต่ก็ยังสูงมากๆ อยู่ มิหนำซ้ำยังเกิดปัญหาซัพพลายเชนอีกต่างหาก ดังนั้น เราจะได้เห็นอีกว่าค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าประปา ทั่วโลกขึ้นหมด

เรื่องตลาดซื้อขายบ้านเป็นเรื่องหนึ่ง ทำไม เจอโรม พาวเวล ถึงไม่ให้รู้ว่าเศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นเลย มันเบรกไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่นดอกเบี้ยบ้านในสหรัฐอเมริกาเมื่อปีที่แล้วยังอยู่ที่เฉลี่ย 3.7% เท่านั้นเอง ตอนนี้ขึ้นมา 5.4% ทำให้ตลาดบ้านสู่ภาวะที่ราคาไม่ลง คนซื้อก็ไม่ซื้อ เพราะคนจะเปลี่ยนมือมากไม่ได้ เดี๋ยวยอดขายน่าจะตกลง เป็นเรื่องที่ส่วนตัวผมมองว่าทางสหรัฐอเมริกาต้องคอนเฟิร์ม

นอกจากเรื่องของเงินเฟ้อ มันไปถึงเรื่องซัพพลายเชนทั่วโลกเลย เรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในรอบที่ผ่านมาคือเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน รอบที่แล้วเรามองว่าจบเร็ว แต่ปรากฏว่าลากยาวมาหลายเดือนแล้ว โอกาสจบเร็วอาจจะยากขึ้น ดังนั้น ถ้าลากยาวเกิน 3 เดือนขึ้นไปจะต้องคิดเผื่อ ถามว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออะไร ตอนนี้เริ่มมีการวิเคราะห์แล้วว่าปูตินต้องการอะไร อาจต้องการแบ่งยูเครนเป็นยูเครนตะวันออกกับยูเครนตะวันตก อาจจะเริ่มจากตะวันออกอยู่ใกล้รัสเซีย แยกรัฐบาลรวบตรงนี้ไว้ก่อนหรือเปล่า ทำให้เมื่อมองตรงนี้เรื่องความขัดแย้งตรงนี้อาจจะต้องอยู่กับเราไประยะหนึ่ง ก็กลับมาที่เงินเฟ้ออีกรอบแล้ว เงินเฟ้ออาจจะลงยากแล้ว


ข่าวลบรอบด้าน ต้องระวังเรื่องการลงทุนอย่างไร

ถามว่าเรื่องร้ายๆ ทำให้เราต้องระวังการลงทุนอย่างไรบ้าง แต่ว่าข้อดีคือตลาดก็รับข่าวพอสมควร อย่างเช่นไล่จากสหรัฐอเมริกา ดาวโจนส์ลงไป 10% ตั้งแต่ต้นปี เอสแอนด์พีลงไป 14% ดังนั้น ระดับตรงนี้มันใกล้เคียงตอนที่เกิดโควิด ลงมาใกล้ๆ กันเลย หมายความว่าถ้าวัดว่าเข้าสู่ช่วงถดถอยจะมี 2 มุม มุมแรกคือจีดีพีติดลบกันติดต่อ 2 ไตรมาส ตอนนี้จีดีพีสหรัฐอเมริกาประกาศออกมาแล้วลบไป 1.4% ตัวตลาดหุ้น ถ้าตลาดหุ้นสหรัฐ ดาวโจนส์ แนสแด็ก เอสแอนด์พี ลงมา 20 จะเป็นการบ่งชี้ที่น่ากลัวมากๆ ส่วนตัวคิดว่าแนสแด็กจะให้สัญญาณคล้ายๆ Emerging Market ถ้าเราดูจากอดีต สิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกคือสิ่งที่จะมาเร็วก่อนเสมอคือตลาดหุ้นจะชี้นำเรา และก็ตามด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจ ท้ายที่สุดที่เกิดขึ้นเสมอเลยคือดอกเบี้ยที่จะมาช้าที่สุด ดอกเบี้ยจะมาช้าเสมอ เมื่อไหร่เริ่มขึ้นดอกเบี้ยมันเหมือนจริงๆ มันเริ่มแย่มาก่อนแล้ว แต่ว่ามันยังมีเวลา ดังนั้น เรายังมีเวลาเตรียมตัวที่จะรอรับผลกระทบตรงนั้น แต่อย่าตื่นตระหนกจนเกินไป


ตลาดหุ้นไทยยังลงทุนได้ไหม

ต้องบอกว่าตลาดหุ้นไหลลงมาแล้ว ตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวนำมาแล้ว ดอกเบี้ยขึ้นแล้ว เตรียมตัวรอรับได้เลย สำหรับตลาดไทยส่วนตัวว่ายังมีเวลาเตรียมตัวเกือบๆ ปี ตลาดไทยตั้งแต่ต้นปีเรียกว่า sideway แล้วกัน เรายังมองว่าในไตรมาสสอง ยังเชื่อว่า sideway เพราะคนที่อุ้มกลับกลายเป็นว่ายังเป็นต่างชาติ ซื้อสุทธิตั้งแต่ต้นปีแสนกว่าล้าน กองทุนกับรายย่อยที่ขายออกมา...คิดว่าตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในกรอบค่อนข้างเทรดได้

สิ่งที่จะเหมือนเดิม ซึ่งส่วนตัวเคยแนะนำไปเมื่อครั้งที่มาพูดวิทยุในรอบที่แล้วว่าจะมี 2 เรื่อง เรื่องแรกคือตลาดหุ้นไทยตอนนี้ปรับตัวลดลงมาใกล้กรอบที่จะสะสมได้อีกรอบหนึ่งแล้ว คือประมาณ 1,580 ตอนนี้เขาปิดอยู่แถวๆ 1,629 เรียกว่าใกล้เคียง เพราะสถานการณ์ไทยยังไม่ได้มีอะไร จริงๆ เรากำลังเปิดประเทศ เริ่มมีการผ่อนคลายมากขึ้น มีจุดให้เล่นได้ และที่สำคัญคือตลาดไทยยังมีเซ็กเตอร์ที่ได้รับอานิสงส์จากเงินเฟ้อพอควร ยังมีเรื่องของดอกเบี้ยขึ้น เงินเฟ้อขึ้น เงินบาทอ่อน แบบนี้มาดูว่ายังมีเซ็กเตอร์ที่ยังคิดว่าค่อยๆ สะสมแล้วเล่นได้ เช่นกลุ่มธนาคาร เพราะธนาคารถูกขายออกมาเยอะในช่วงตลาดกังวลมากๆ จะมีเอ็นพีแอลมากไหม โอเคถึงแม้จะมีแต่ว่าด้วยทุนของธนาคารไทย ส่วนตัวว่ายังมีของอยู่เยอะ กลุ่มธนาคารที่โดนขายออกมาก็น่าสนใจ...เงินเฟ้อยังอยู่กับเรา ดังนั้น กลุ่ม Commodity ยังเล่นได้ ดังนั้น ถ้าเกิดมีช่วงที่ตลาดคอลเลกชั่นก็ถือว่าเล่นรอบได้

กลุ่มที่สาม ที่เรียกว่าต้องมีในพอร์ต เรียกว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ต้องกินต้องใช้ นั่นคือกลุ่มค้าปลีก ของใช้ทั่วไป แต่ทั้งหมดทั้งมวล ต้องหาหุ้นที่เป็น value ในภาวะที่เงินเฟ้อขึ้น ดอกเบี้ยขึ้น สิ่งที่ควรดูคือหุ้นที่ทำกำไรและมีอัตราการจ่ายเงินปันผลในระดับสูง นั่นคือสิ่งที่ประกันความเสี่ยงของเราในช่วงที่เงินเฟ้อมา

สังเกตเลย ทำไมนักสะสมลงทุนเยอะคือหุ้นเทคโนโลยีคือหุ้นที่คาดหวังเยอะ คาดหวังว่ามันจะเติบโตรุนแรง แต่พอเจอแบงก์ชาติแตะเบรกขึ้นมา หุ้นกลุ่มโกรท ก็จะลดความน่าสนใจลงไป อีกกลุ่มคืออิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับผลประโยชน์ชัดเจนจากเงินบาทที่อ่อนค่า ตอนนี้กลับมาที่เกือบ 35 บาท อ่อนค่ามากสุดในรอบ 5 ปีเลยทีเดียว

ดังนั้นมองว่าตลาดหุ้นไทยที่ 1,610 สะสมเล่นรอบได้แล้ว และให้กรอบล่างไว้เลยคือ 1,580 ยังไม่ได้คาดหวังว่าตลาดจะพลิกกลับมาเป็นการรีบาวด์อย่างรุนแรง ยังไม่ได้เชื่อขนาดนั้น อาการโลกยังไม่ได้เอื้อ เลยจึงให้กรอบการกลับขึ้นไปยังอยู่ที่ 1,650-1,700 ถ้าอยู่ใกล้ๆ กรอบนี้ก็ขายทำกำไรออกมาก่อน จะเห็นว่ากรอบช่วง 2-3 ปี จะอยู่แถวนี้ คือในกรอบนี้ยังเล่นได้ แต่โดยภาพรวมอยากให้ลดหุ้นในพอร์ตลงเหลือ 40% ของพอร์ตดีกว่า


ให้ลดพอร์ตหุ้นลง แล้วไปซื้อทองคำจะมีประโยชน์หรือไม่ หรือว่าถือเงินสดไว้

ถือเงินสดไว้ก่อน ส่วนตัวมองว่าจากนี้นักลงทุนควรจะต้องเก็บเงินสดไว้กับตัว อย่าลืมว่า การลงมารอบนี้ ที่เห็นว่าลงมาเยอะๆ พอเราไปลากกราฟดู 10 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าเหมือนลงมาจากยอดเขา อยู่สูงอยู่เลย ตัวสหรัฐอเมริกาการลงมาคือมันเคยแพงมาก แค่ลดลงมาแพงน้อยลงเท่านั้นเอง ปีที่แล้วถ้าจำกันได้ช่วงไตรมาส 2 แบงก์ชาติออกมาบอกเรื่องเงินเฟ้อเป็นแค่ชั่วคราว แต่ผ่านไป 1 ปี คำว่าแค่ชั่วคราวนี้หายไปเรียบร้อย ค่าเงินเฟ้อมันมาจริง

20 views

Commentaires


bottom of page