top of page
379208.jpg

อย่ามือหนัก-กำเงินสดไว้ก่อน...จับกลยุทธ์หุ้นตีกลับ คลายวิตก omicron



ตลาดหุ้นโลก/หุ้นไทยพลิกกลับเป็นบวกขึ้นมาใหม่อีกครั้ง หลังจากที่ปัจจัยกดดันจากกรณีโควิดกลายพันธุ์ โอไมครอนทำให้มีแรงเทขายหนักวันแบล็กฟรายเดย์ 26 พฤศจิกายน 2564 และอยู่ในทิศทางขาลงต่อเนื่องมาอีกหนึ่งสัปดาห์ เนื่องจากได้รับข้อมูลกันว่าโอไมครอนไม่ได้รุนแรงอย่างที่กลัวกันจนความวิตกกังวลที่มีผ่อนคลายลงและนักลงทุนกลับเข้าตลาดหุ้นอีกครั้ง


สำหรับตลาดหุ้นไทย ได้ปรับตัวขึ้นตามตลาดสำคัญของโลก โดยเปิดตลาดหุ้นในวันอังคารที่ 7 ธันวาคม(จากวันหยุดยาวจันทร์ที่ 6 ไม่ได้เปิดตลาด) สามารถกลับพลิกเป็นบวกขึ้นมา โดยกลุ่มนักลงทุนสถาบันเป็นหัวหมู่เข้าซื้อหุ้น ขณะที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อตามเล็กน้อย ทำให้ดัชนีขึ้นมาปิดเหนือ 1,600 จุดได้อีกครั้ง คือปิดที่ 1,609 จุด โดยในประเทศไทยรับข่าวกรณีมีคนไทยติดเชื้อโอไมครอนแต่ไม่ได้สร้างผลวิตกกังวลกับตลาดเนื่องจากการรับรู้ข่าวสารว่าโอไมครอนไม่ได้รุนแรงอย่างที่คิด และสามาถบวกต่อในวันถัดมาทดสอบแนว 1,620 จุด ซึ่งเป็นแนวที่สำคัญ

ทั้งนี้มีการวิเคราะห์ว่าการกลับขึ้นมาบวกเหนือ 1,600 จุดได้อีกครั้ง ทำให้การปรับลดลงของหุ้นจากปัจจัยกังวลโอไมครอนตั้งแต่ 26 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา ทำให้หุ้นลงจาก 1,650 จุดลงมาทำราคาปิดของวันต่ำสุดที่ 1,568 จุด หรือปรับลดลง 82 จุด จึงเป็นการยืนยันว่าหุ้นยังไม่จบขาขึ้นจากการขึ้นมาก่อนหน้านี้ เพราะหุ้นไม่ได้หลุดลงไปหาแนวรับสำคัญที่ 1,520 จุด อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นของหุ้นหลังรับข่าวคลายกังวลเรื่องโอไมครอนสำหรับหุ้นไทยก็ยังคงต้องลงทุนอย่างระมัดระวัง เนื่องจากการปรับขึ้นของหุ้นมาได้ครึ่งทางของการปรับลง ตลาดหุ้นจึงต้องผ่านจุดสำคัญ 1,625 จุดไปให้ได้ก่อน

บล.ไทยพาณิชย์ แนะกลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่ตีกลับหลังข่าวคราวคลายกังวลโอไมครอนว่าผู้ติดเชื้ออาการไม่รุนแรง ว่าแนวต้านบริเวณ 1,620-1,625 จุด ทำให้ Upside จำกัดขณะที่มีปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณาประกอบรอท่าอยู่ นั่นคือการประชุมธนาคารกลางของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะเฟดที่ประชุมวันที่ 14-15 ธันวาคม อาจมีการลดนโยบายผ่อนคลายการเงินลงตามถ้อยแถลงล่าสุดของ ประธานพาวเวล เป็นปัจจัยกดดันดัชนี

“กลยุทธ์คือต้อง Selective Buy หรือเก็งกำไรอย่างระมัดระวัง ส่วนพอร์ตหลักจุดซื้อเพิ่มรอสัญญาณอีกครั้ง หาจังหวะซื้อกลับหรือเพิ่มน้ำหนักพอร์ตหลัก 25% ในหุ้นกลุ่ม Global Reopening ที่ราคาหุ้นปรับลงแรง อย่าง MINT CRC AOT TOP และอีก 25% ในหุ้น blue chip ซึ่งไม่โดนผลกระทบมากและ Valuation ไม่แพง อย่าง KBANK GPSC INTUCH SPALI ขณะที่หุ้นกลุ่ม Domestic Reopening ที่น่าสนใจอย่าง KTC CPN BEM BTS ZEN M ยังแนะนำรอดูสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron ในไทยก่อน”

ข้อสังเกตจากด้าน ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป ให้ความเห็นทำนองยังคลายกังวลไม่ได้เต็มที่ว่า และว่าหุ้นโลกมีโอกาสปรับตัวลง 15-20% หาก COVID-19 สายพันธุ์โอไมครอนระบาดรุนแรง แนะเร่งเทขายหุ้นกลุ่ม ‘วัฏจักรเศรษฐกิจ’ เช่น Energy, Financials, Industrials และ Airlines พร้อมทยอยโยกเงินเข้าหุ้นเมกะเทรนด์ที่ได้รับประโยชน์ เช่น กลุ่มนวัตกรรมการแพทย์ ‘ไบโอเทค’ และกลุ่มเทคโนโลยีแห่งอนาคต

ขณะ บล.ทิสโก้ ชี้โควิดสายพันธุ์ โอไมครอน เขย่าและสร้างความผันผวนให้หุ้นไทยได้อีกเป็นเดือนนับจากนี้ แนะปรับพอร์ตตั้งรับและถือเงินสดเพิ่ม

นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ กล่าวว่า จากการประเมินของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ที่คาดว่า หากไวรัส โอไมครอนระบาดรุนแรง หุ้นทั่วโลกมีโอกาสปรับลงจากปัจจุบัน 15-20% เนื่องจากเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากการ Lockdown เงินเฟ้อยังคงสูงจากปัญหา Supply Chain และธนาคารกลางหมดกระสุนอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ธนาคารทิสโก้จึงแนะนำให้นักลงทุน ‘ขาย’ หุ้นกลุ่มวัฏจักรเศรษฐกิจ (Cyclical) ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มพลังงาน (Energy) กลุ่มธุรกิจการเงิน (Financials) กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม (Industrials) และกลุ่มสายการบิน (Airlines)

“หุ้นที่ธนาคารทิสโก้แนะนำให้ ขาย คือ หุ้นกลุ่ม Cyclical ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจฟื้นตัวและราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นสูงกว่าจุดที่จะมี COVID-19 ระบาดในปี 2563 ไปแล้ว โดยหลังจากนี้ผลประกอบการหุ้นกลุ่ม Cyclical จะเริ่มไม่แน่นอน นักลงทุนจะให้ความสำคัญลดลง และมีความเสี่ยงที่ราคาจะปรับตัวลดลง เช่น กลุ่ม Energy, Financials, Industrials รวมถึงกลุ่ม Airlines ซึ่งนับตั้งแต่มีข่าว COVID-19 โอไมครอนระบาดจนถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ราคาหุ้นกลุ่ม Energy ปรับตัวลง 6.7% กลุ่ม Financials ปรับตัวลง 6.3% กลุ่ม Industrials ปรับตัวลง 6.3% และกลุ่ม Airlines ปรับตัวลง 12.3% ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงมากกว่าดัชนี S&P 500 ที่ปรับตัวลดลงเพียง 4.0%”

ทั้งนี้ ธนาคารทิสโก้แนะให้นักลงทุนอาศัยจังหวะที่หุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงทยอยสะสมหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการกลับมาแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ และเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต แม้เศรษฐกิจชะลอตัว ดังนี้

1. หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่เป็นอนาคตของโลก (The Future Trend) ได้แก่ Video Games และ Esports, Cybersecurity, Social Media และ Cloud Computing โดย Global X Asset Management คาดว่าในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ธุรกิจกลุ่มนี้จะมีรายได้เติบโต 26%, 23%, 21% และ 20% ตามลำดับ อีกทั้ง ในอนาคตจะมีโอกาสเติบโตอีกมากจากธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นบนโลกเสมือนจริงใน Metaverse

นอกจากนี้หากมองย้อนกลับไปช่วงแรกที่ COVID -19 ระบาด ในปี 2563 หุ้นกลุ่มนี้สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างก้าวกระโดด สวนทางกับธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยหุ้นกลุ่ม Video Games และ Esports สร้างผลตอบแทนได้สูงถึง 84.25% หุ้นกลุ่ม Cybersecurity สร้างผลตอบแทนได้ 71.17% หุ้นกลุ่ม Social Media สร้างผลตอบแทนได้ 75.11% และหุ้นกลุ่ม Cloud Computing สร้างผลตอบแทนได้ 77.08%

2. หุ้นกลุ่มนวัตกรรมการแพทย์ (Healthcare Innovation) คือ ธุรกิจไบโอเทคโนโลยี (Biotechnology) ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามค่าใช้จ่ายการในการดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐ และเมื่อมี COVID-19 กลายพันธุ์รุ่นใหม่ กลุ่มนี้ก็จะเป็นพระเอกที่ใช้นวัตกรรมทางชีวภาพใหม่อย่าง mRNA มาปรับเปลี่ยนสูตรวัคซีนเพื่อรับมือกับสายพันธุ์โอไมครอนได้อย่างรวดเร็ว และสร้างรายได้ให้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มนี้สามารถสร้างผลตอบแทนได้มากถึง 48.19%

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ กล่าวว่าในการประชุมธนาคารกลางสำคัญหลายแห่งในต่างประเทศรวมทั้งของไทยในเดือนธันวาคมนี้ คาดว่าเกือบทุกแห่งจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามเดิม อย่างไรก็ตาม คาดว่าในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FED) อาจปรับคาดการณ์เงินเฟ้อ และอาจพิจารณาเร่งลดอัตราการเข้าซื้อสินทรัพย์ลง (QE Tapering) จากที่ให้ลดลงเดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นลดลงเดือนละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้มาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ (QE) ยุติลงเร็วขึ้นเป็นในเดือน มีนาคม 2565 จากเดิมคือในเดือน มิถุนายน 2565

นอกจากนี้ คาดว่าประมาณการแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในอนาคต (Dot Plot) จะบ่งชี้ว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกจะเร็วขึ้นจากปี 2566 เป็น 2565 แต่ บล.ทิสโก้ประเมินว่า คาดการณ์ขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วขึ้นในครั้งนี้จะไม่ส่งผลเชิงลบต่อตลาดมากนัก เพราะ Fed Funds Futures ปัจจุบันสะท้อนโอกาสการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ในปี 2565 จำนวน 2 ครั้งไปแล้ว

“ตลาดหุ้นทั่วโลกจะผันผวนจนกว่าจะมีข้อมูลสายพันธุ์โอไมครอนมากขึ้น ซึ่งอาจใช้เวลาอีกเป็นเดือน และในระหว่างนี้ก็ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ระบาดว่าจะลุกลามออกไปมากน้อยเพียงใด ซึ่งการตอบสนองของราคาหุ้นก็จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ระบาด และการเลือกใช้มาตรการควบคุมของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ เป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป” นายอภิชาต กล่าว

12 views

Comments


bottom of page