top of page
379208.jpg

Fund Flow เข้าไทย โดยเฉพาะตราสารหนี้...ระวัง Bond Yield ผันผวน เป็นอันตรายต่อตลาดหุ้น


Interview : ผศ. ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนมหภาค เจ้าของเพจ MacroView


QE 1.9 ล้านล้านยุคปธน. โจ ไบเดน จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอเมริกา จีน ยุโรป และ Emerging Market ในช่วงไตรมาส 2-4 ปีนี้ แต่จะทำให้เกิดอาการข้างเคียงคือปัญหาภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงในระดับรุนแรง ถ้าเงินเฟ้อพุ่งสูงเกินรับมือ Fed จะส่งสัญญาณให้หยุดหรือลด QE ตามมาด้วยการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ Bond Yield มีความผันผวนและเป็นอันตรายต่อตลาดหุ้น นาทีนี้ Fed หวังคุมเงินเฟ้ออยู่ในระดับ 1.9-2% ไปจนถึงปี 65 ส่วน GDP อเมริกาปีนี้จะขยายตัว 6.4% ขณะที่เงินดอลลาร์อยู่ในโหมดทรงๆ ไปจนถึงแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ภาพใหญ่เศรษฐกิจโดยรวมของฝั่งอเมริกา-ยุโรป จะดีกว่า Emerging Market อย่างชัดเจน แต่ถ้าเทียบกันในกลุ่ม Emerging Market และอาเซียนแล้ว ไทยถือว่าดูดี มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะพลิกฟื้นได้ดีที่สุด Fund Flow น่าจะไหลเข้าไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดตราหนี้ พร้อมแนะนักลงทุนไทยควรกระจายการลงทุนไปต่างประเทศบ้าง เช่นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในอเมริกา-ยุโรป ด้าน คริปโต เคอร์เรนซี ลงทุนลุ้นกำไรเป็นกอบเป็นกำได้ แต่ต้องเผื่อใจถ้ามีเหตุผันผวนก็ขาดทุนบักโกรก ไม่เหลือแม้สตางค์แดงเดียว


มีมุมมองอย่างไรกับ 3 เดือนแรกของปี 2564

ถ้ามองไปถึง 3 ไตรมาสถัดไป ภาพรวมตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกดูแล้วมาจากสหรัฐมากกว่า ด้วยนโยบายกระตุ้น 1.9 ล้านล้านของโจ ไบเดน ตัวนี้น่าเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนทั้งเศรษฐกิจสหรัฐและรวมถึงยุโรป จีน และอานิสงส์มาถึงตลาดเกิดใหม่ อันนี้ในเชิงบวก

ถ้าเชิงลบความเสี่ยงพอมีน่ามาจากฝั่งยุโรปที่มีการระบาดรอบ 3 อยู่ แต่ถ้าเป็นมุมวัคซีนน่าจะจบได้ในครึ่งปีแรก ประเมินว่ารอบ 3 น่าจะคุมได้

แต่ความเสี่ยงจริงน่าจะเป็นความกังวลเรื่องเงินเฟ้อของสหรัฐ ในวงการนักเศรษฐศาสตร์ถึงคนนี้จะไม่ได้อยู่ทีมไบเดนแล้วแต่ยังทรงอิทธิพลในวงการเศรษฐกิจโลก คืออดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์เขาบอกว่าอเมริกาน่าจะโอเวอร์ฮีต การอัดฉีดเศรษฐกิจของไบเดน 1.9 ล้านล้านจะทำให้โอเวอร์ฮีต เกิดเงินเฟ้อค่อนข้างแรง จนกระทั่งทำให้เฟดต้องกลับลำขึ้นดอกเบี้ย หรืออย่างน้อยลดแล้วหยุด QE ในเร็ววันกว่าที่คาด ทำให้เป็นจุดที่หลายคนในวงการตลาดทุนและตลาดเงินเริ่มกังวล

ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ประธานเฟดกล่าวครั้งแรกว่าในปีนี้เงินเฟ้อจะขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างที่เราทราบกันว่าตลาด Bond Yield อเมริกาผันผวน ตอนนี้ขึ้นมา 1.74% รวมถึงตลาดแนสแด็ก หุ้นอเมริกามีความผันผวนแรงขึ้นลงค่อนข้างแรง ตรงนี้เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ตลอด

ตอนนี้มีแรงอยู่ 2 แรงซึ่งกำลังคานนโยบายธนาคารกลางอยู่ คือ เจอโรม พาวเวล ต้องคงดอกเบี้ยต่ำและทำ QE อย่างต่อเนื่องเพื่อสู้กับโควิดให้ได้ แรงที่ 2 ดูแล้วมีโอกาสที่จะขึ้นมาเนื่องจากเม็ดเงินที่แจกคนละ 1,400 ดอลลาร์เป็นเงินเกือบ 800,000 ล้านดอลลาร์ เงินก้อนนี้จะทำให้เกิดเงินเฟ้อในช่วง Q3-Q4 ทั้ง 2 แรงนี้มันจะคานกัน เพราะถ้าเงินเฟ้อมาจริงเฟดจะเริ่มส่งสัญญาณว่าลดหรือหยุด QE แล้วขึ้นดอกเบี้ย แต่ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะต้องทำเศรษฐกิจให้หลุดจากโควิดให้ได้ซึ่งก็คือต้องคงดอกเบี้ยต่ำ

ทั้ง 2 แรงนี้จะหน่วงให้ Bond Yield สหรัฐ 10 ปีมีความผันผวนค่อนข้างแรง ตอนนี้ขึ้นมา 1.74 ปกติถ้า Bond Yield ขึ้นเกิน 2.5 จะเป็นจุดที่อันตรายต่อตลาดหุ้น ตอนนี้มีแก็ปอยู่ระดับนึง ก่อนโควิดอยู่ประมาณ 2.1 เมื่อเดือนที่แล้วที่พาวเวล พูดด้วยความตั้งใจที่จะลดแรงกดดัน เมื่อ Yield ต่ำไปก็พูดให้ตลาดมีความคาดหวังขึ้นมาก็เป็นได้ อันนี้คือความเสี่ยงที่เราเจอเรื่อยๆ ในเรื่องเงินเฟ้อ แต่เมื่อเฟดมีการประชุมกันล่าสุดก็คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อไตรมาส 4 ปีนี้กับไตรมาส 1 ปีหน้าที่ร้อยละ 2.4 เกินเป้าหมาย 2% เฟดมองว่าจะลงมานิดหน่อยเหลือร้อยละ 2 และ 1.9 ในช่วงสิ้นปีหน้า คือเฟดมองว่าเงินเฟ้อจะกระชากในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ต่อไตรมาส 1 ปีหน้า รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐน่าจะขึ้นๆ ได้ถึงร้อยละ 6.4 ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ต่อไตรมาส 1 ปีหน้าจากนั้นค่อยๆ ลงไปร้อยละ 5 และ 4 ในไตรมาส 3 และ 4 ปีหน้า

เฟดมองว่าเม็ดเงินของไบเดน 1.9 ล้านล้าน โดยเฉพาะการแจกเงินประชาชนสหรัฐจะทำให้เศรษฐกิจอเมริการ้อนแรงสูงสุดแบบชั่วคราวในปลายปีนี้ถึงปีหน้าไตรมาสแรก จากนั้นเศรษฐกิจที่ร้อนแรงจะชะลอลงหลังจากอานิสงส์ของการแจกเงินหมดไป ประเด็นคือ ในมุมแบบนี้สมมุติตัวเลขจริงออกมาแบบนั้นตลาดไม่เซอร์ไพรส์เท่าไหร่ แต่ถ้าตัวเลขเพี้ยนออกไปแล้วเศรษฐกิจดีกว่าที่คาดก็จะไปกังวลเรื่องเงินเฟ้อ ถ้าน้อยกว่าที่คาดก็กังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐไม่หลุดจากโควิด แบบนี้เฟดจะทำงานหนักนิดนึงในการควบคุมการคาดหวังต่อ GDP Growth และอัตราเงินเฟ้อ ภาพรวมไบเดนกระตุ้น 1.9 ล้านล้าน ช่วยเศรษฐกิจอเมริกาอยู่แล้ว แต่ความเสี่ยงอยู่ที่เงินเฟ้อ และเฟดคาดการณ์ว่า GDP และเงินเฟ้อจะขึ้นสูงสุดในช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้า ถ้ามันไม่เป็นไปตามนั้นก็เป็นเรื่องความผันผวนของ Bond Yield 10 ปีสหรัฐ และตลาดหุ้นสหรัฐโดยเฉพาะตลาดหุ้นแนสแด็ก


เรื่องค่าเงินดอลลาร์


ช่วงปลายปีที่แล้วเราคาดว่าจะอ่อนลงเพราะไบเดนเสนองบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้าน เป็นเม็ดเงินที่เยอะขึ้น โดยส่วนตัวคิดว่าแนวโน้มดอลลาร์จากนี้ไปไม่น่าจะอ่อนลงตามที่คาดไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว จะมีแนวโน้มแข็งค่าเล็กน้อยหรืออยู่ระดับนี้มากกว่า เพราะส่วนนึงมาจากการที่มองว่าการแจกเงินให้ชาวอเมริกาส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะเอาไปใช้จ่ายหนี้บัตรเครดิตหรือเก็บไว้มากกว่าใช้จ่ายเพื่อหมุนเวียนในระบบ อานิสงส์จากการแจกเงินที่จะเข้าไปในระบบแล้วทำให้เงินดอลลาร์อ่อนมีโอกาสค่อนข้างน้อย

กลับกันคือนโยบายการคลังที่ผ่อนคลาย 1.9 ล้านล้าน และการที่พาวเวลมีแนวโน้มน่าจะทำนโยบายการเงินมากขึ้น ทั้ง 2 ทางเลือกนี้มันเอื้อต่อนโยบายค่าเงินดอลลาร์ให้มีแนวโน้มที่แข็งค่าขึ้นมากกว่าอ่อน มุมมองส่วนใหญ่เลยมองว่าค่าเงินดอลลาร์จากนี้ไปยังอยู่ในระดับนี้หรือแข็งค่าเล็กน้อย


Fund Flow จะไหลไปประเทศไหน

มุมนึง คือ Emerging Market มีข้อเสียเปรียบ คือปกติการฉีดวัคซีนในฝั่งตลาดประเทศพัฒนาแล้วไปได้ไกลกว่า เร็วกว่า ครอบคลุมประชาชนได้เร็วกว่า ตัว Emerging Market ส่วนใหญ่อยู่ระดับเริ่มๆ กว่าจะฉีดเสร็จน่าจะปีหน้า จุดนี้ทำให้เศรษฐกิจจริงของ Emerging Market ค่อนข้างโตช้ากว่าประเทศพัฒนาแล้ว การที่ตัวเลขเศรษฐกิจจริง GDP Growth ออกมาเรียกว่าแพ้ คือปกติ GDP Growth จะสูงกว่า แต่ความสูงจะน้อยลงเพราะเศรษฐกิจไปได้ไม่ไกล เพราะการฉีดวัคซีนยังไปไม่เกินครึ่ง เศรษฐกิจจริงจะสู้ประเทศพัฒนาแล้วไม่ได้ ตัว GDP Growth ไม่ค่อยไป ถ้าจะให้ QE ขึ้นคงยาก แม้ว่า Fund Flow จะพยายามเข้า Emerging Market แต่ด้วย Fundamental ไม่ค่อยซัพพอร์ตตัวเลขเศรษฐกิจ ทำให้การเข้าของ Fund Flow ใน Emerging Market ไม่ได้มากนัก

แนวเทรนด์ควรไปอย่างนั้น คือ Emerging Market เป็นรองประเทศพัฒนาแล้ว แต่ในกลุ่ม Emerging Market ด้วยกัน หรืออาเซียนอาจจะได้เปรียบประเทศอื่น เพราะเม็ดเงินที่เข้าไม่ได้มากเท่าไหร่ สัดส่วนเข้าไทยน่าจะเยอะกว่าเพื่อนเพราะไทยมีภาคบริการค่อนข้างเยอะที่สุดประมาณ 60% เป็นรองแค่สิงคโปร์ ภาคการท่องเที่ยวเราเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ GDP 22-25% ซึ่งปกติกรณีที่โควิด-19 พ้นจุดต่ำสุด เศรษฐกิจเป็นบวกคือประเทศที่มีบริการด้านท่องเที่ยวและภาคบริการที่เยอะๆ ถึงเราจะสูญเสียรายได้ส่วนนี้ไปเยอะ แต่จะเริ่มได้เปรียบขึ้น เพราะถ้ากราฟตรงโควิด-19 ผงกจากจุดต่ำสุด ประเทศไทยที่มีภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เยอะแทบจะได้เปรียบมากในการดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติ ถึงแม้เม็ดเงินเข้า Emerging Market ไม่เยอะอย่างที่เราคาดเพราะ GDP Growth และเศรษฐกิจจริงเราสู้ไม่ได้ก็ตาม แต่สัดส่วน Fund Flow จะเข้าไทยเยอะ น่าจะเป็นเบอร์ 1 หรือ 2 ในกลุ่มอาเซียน แม้จริงๆ เม็ดเงินเข้า Emerging Market หรืออาเซียนไม่เยอะ สู้ช่วงปลายปีที่แล้วยังไม่ได้ แต่ช่วงกลางปีถึงปลายปีโควิด-19 คงผ่านจุดต่ำสุดและประเทศที่โดนเยอะที่สุดในปีที่แล้วคือ ไทย ดังนั้นเวลาขึ้นจะได้อานิสงส์ที่ดีจากการพ้นจุดต่ำสุด


มองว่าเงินที่จะเข้าไทยจะไปตลาดไหน

เข้าใจว่าถ้าเป็นระหว่างตลาดตราสารหนี้กับตลาดตราสารทุน ผมยังมองว่ามีแนวโน้มเข้าตลาดตราสารหนี้มากกว่าเล็กน้อย ถ้าดูตัว PE หรือดัชนีตลาดหุ้นไทยตอนนี้ระดับ 1,500 ปลายๆ ค่อนข้างขยับขึ้นเรื่อยๆ เรามีลักษณะเรื่องซัพพอร์ตตลาดหุ้นค่อนข้างเยอะ ในทางกลับกันตราสารหนี้ในปีนี้ของตลาด Emerging Market ค่อนข้างอันตรายมาก คือผู้อ่อนแอทั้ง 4 พวกตุรกี อินโดนีเซีย ชิลี บราซิล กลุ่มนี้เจอผลกระทบเชิงลบจากค่าเงินดอลลาร์แข็งแล้วราคาน้ำมันขึ้น กลุ่มที่มีสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่มีต่อ GDP ค่อนข้างน้อยค่อนข้างอันตรายมาก ประเทศเรามีสัดส่วนที่ถือว่าดีที่สุด ถ้าจะเข้ามาในมุมตราสารหนี้คงสำรวจแล้วว่าไม่เลวที่มีสำรองเงินตราต่างประเทศต่อ GDP ในระดับนึง เพราะภายใต้ราคาน้ำมันที่ค่อนข้างสูงและค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งต้องเลี่ยง Emerging Market ที่อันตราย ของเราเป็น Emerging Market ที่ค่อนข้างเซฟ และคิดว่าแบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ยแน่นอน คือมีแต่คงที่เท่านั้น ทำให้ yield rate ของเราสูสีกับกลุ่มพวกนั้น ตลาดตราสารหนี้เราดูน่าสนใจกว่าตลาดตราสารทุนเลยมองว่าในปีนี้เม็ดเงินน่าจะเข้าไปตราสารหนี้มากกว่าตลาดตราสารทุน


นักลงทุนไทยควรจัดการพอร์ตอย่างไร

ไปลงทุนต่างประเทศ ควรจะกระจายไปบ้าง เพราะต้องยอมรับว่าไทย Fundamental ระยะยาวเราเหมือนพายเรือในอ่าง ถ้าจำได้คือ 10 ปีผ่านไปเรากลับมาที่เดิม ผมเชื่อว่าวัฏจักรแบบนี้มันก็จะเป็นแบบนี้อีกพักใหญ่ ตอนนี้เทคโนโลยีของโลกมันบูมมาก แน่นอนว่าอเมริกาเป็นอันดับหนึ่ง เป็นเจ้าเทคโนโลยี บริษัทเทคโนโลยีของอเมริกากับยุโรปน่าสนใจ คิดว่าควรกระจายการลงทุนไปต่างประเทศบ้าง ในระยะยาวคิดว่าผลตอบแทนของตลาดหุ้นต่างประเทศยังดีกว่าเพราะเทคโนโลยีฝั่งนั้นเขาไปไกล โลกของเราตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเป็นโลกของเทคโนโลยีชัดเจน


นักลงทุนไทยควรไปลงทุนในทองคำหรือคริปโตไหม หรือคนไทยควรทำเงินคริปโตของตัวเองขึ้นมาหรือไม่

คิดว่าทองคำมีไว้ 5-8% เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นทองคำจะน่าสนใจ ส่วนคริปโตให้มองเหมือนออปชัน เราซื้อคริปโตอย่าไปคิดลงทุนแบบหุ้น คือถ้ามันเสียคือหมดเลย คือหวังกำไรพองโต แต่ถ้าขาดทุนไปหมดต้องไม่เสียใจ คือหวังกำไรแบบเป็นหลักค่อนข้างเยอะได้ แต่ถ้าเงินสูญหมดต้องไม่เสียใจ ต้องรับได้เพราะเป็นไปได้ที่จะขึ้นหรือลง เพราะมันมีความเสี่ยงสูง ไม่ได้ห้ามการลงทุนในคริปโต แต่ถ้าลงแล้วเป็นศูนย์ต้องไม่เสียใจ

ในโลกทุนนิยมแบ่งเป็น 2 ค่าย ฝั่งแรกพวกดอลลาร์ภายใต้เฟด และพวกแอปเปิลทิม คุก ยักษ์ใหญ่ดั้งเดิม อีกค่าย คือ Tesla กลุ่มนี้หนุนคริปโต กลุ่มนี้เหมือนมาคานอำนาจกับกลุ่มเฟด แต่ก็อันตรายเหมือนกันถ้ากลุ่มอำนาจเดิมพวกเฟดหรือดอลลาร์ไม่อยากเอาคริปโตในวันใดวันนึง ถ้าวันใดเป็นศูนย์ต้องรับได้ คริปโตถูกสร้างมาค่อนข้างนานและถูกสร้างด้วยระบบที่ดีระดับนึงแต่ไม่ 100% สามารถยืนได้ในช่วงนึง คิดว่าเป็นออปชันอย่าคิดว่าเป็นหุ้นจะได้สบายใจถ้าเราหวังกำไรคำโต

15 views

Comments


bottom of page