top of page
379208.jpg

ถอดบทเรียน 'ศรีลังกา'...โครงสร้างเศรษฐกิจไม่แข็งแกร่ง พึ่งรายได้ท่องเที่ยวเป็นหลัก


ถอดบทเรียนศรีลังกาหลังเจอปัญหาโควิดถึงขั้นประกาศล้มละลาย เหตุมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจไม่แข็งแกร่ง พึ่งรายได้ท่องเที่ยวเป็นหลัก ราคาสินค้าแพง ค่าเงินลดฮวบ เงินเฟ้อพุ่งปรี๊ดถึง 25% เตือน...มีอีกหลายประเทศจะเจอวิบากกรรมแบบเดียวกันเช่นตุรกีและเลบานอน ส่วนไทยต้องยึดหลัก ‘กันไว้ดีกว่าแก้’ ควบคุมไม่ให้ราคาสินค้า-อาหารแพงเกินจริง คุมเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสม ค่าเงินบาทต้องไม่ต่ำเกินควร เร่งสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ด้านผู้ผลิต-ผู้ส่งออกต้องตั้งกฎเหล็กคือรับเงินมัดจำก่อนผลิตสินค้าตามออร์เดอร์ และก่อนส่งออกสินค้าต้องให้ผู้ซื้อโอนเงินค่าสินค้ามาให้ครบ พร้อมทั้งให้เสริมสภาพคล่องรองรับการผลิตในครึ่งหลังของปี ควบคู่กับการสร้างเครดิตให้กู้เงินจากแบงก์ได้ง่าย เร็ว และอัตราดอกเบี้ยไม่แพงเวอร์


Interview : คุณชัยชาญ เจริญสุข

ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)


ศรีลังกาประกาศไม่มีปัญญาชำระหนี้ เกิดภาวะล้มละลาย กระทบการค้าขายกับไทยไหม

ถ้าพูดถึงการส่งออกของไทยไปศรีลังกาถือว่าไม่เยอะ ประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้นเอง ผลกระทบโดยตรงถือว่าน้อยมาก ส่วนการนำเข้าของไทยจากศรีลังกาก็น้อย ประมาณแค่ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่เรานำเข้าสินค้าเกษตร และมีอัญมณี ดูแล้วก็ไม่ได้เป็นสินค้าทางด้านเชิงอุตสาหกรรมเลย แต่สามตัวหลักที่เราส่งออกไปจะมียางพารา อาหาร และเม็ดพลาสติก


คาดว่าศรีลังกาจะแก้ปัญหาได้ไหม หรือไทยจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง

ศรีลังกามีประชากร 23 ล้านคน ส่วนใหญ่เขาจะค้าขายกับพวกที่ซื้อแล้วส่งออกไปทางด้านสหรัฐอเมริกา และสินค้าที่เขานำเข้ามาก็จะมีจีน อินเดีย เขายังเป็นค้าขายแบบขอบเขตจำกัด และมีผู้ให้การสนับสนุนคือจีนกับอินเดีย เมื่อถามว่าจะกระทบกับไทยเราหรือไม่ คิดว่าตรงนี้ยังน้อย และถ้าถามว่าไทยเราจะช่วยเขาได้หรือไม่ ต้องบอกว่าตอนนี้มีหลายประเทศที่เขาเจรจากันอยู่ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย และรวมถึงไอเอ็มเอฟ


ศรีลังกาตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ก็เป็นยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของโลก

ใช่ เพียงแต่ว่าสินค้าของเขาเป็นสินค้าทางด้านเกษตรเสียส่วนใหญ่ เช่น ชา ข้าว และสินค้าทางด้านทะเล


ไทยควรสรุปบทเรียนจากกรณีศรีลังกาอย่างไร

เราถอดบทเรียนอย่างแรกคือ ปัญหาของเขาเริ่มจากโรคระบาดโควิดเหมือนกับทุกประเทศ ที่ผ่านมาศรีลังกาก็มีการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน อย่างสนามบิน ท่าเรือ เยอะ แต่ได้ผลตอบแทนที่ช้าและใช้เวลานาน ขณะที่สินค้าของเขายังเป็นสินค้าพื้นฐาน สินค้าเกษตร และสุดท้ายคือเขาพึ่งพาทางด้านท่องเที่ยวประมาณ 13% เหมือนของไทย เพียงแต่ว่าการลงทุนหรือการขยายอะไรต่างๆ ต้องสอดคล้องกับเงินที่มี อย่าลงทุนเกินตัว เพราะล่าสุดคือหนี้สาธารณะของเขามากกว่ารายได้จีดีพีของเขาถึง 111% ซึ่งสูงมาก และปัญหาอีกตัวคือเงินเฟ้อของเขาสูงถึง 25%

คิดว่าถ้าเราจะถอดบทเรียนตรงนี้ก็คือจะต้องดูแลราคาสินค้าต่างๆ ไม่ให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นมากเหมือนศรีลังกาที่สูงถึง 25% ตรงนี้น่าเป็นห่วง

ส่วนข้อต่อมาคือเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ของเขาขึ้นมา 40% จากเดิม 200 ศรีลังการูปีต่อดอลลาร์ ก็ขึ้นมาถึง 330 ศรีลังการูปี ประมาณ 40% ประเด็นก็คือเราก็ต้องควบคุมค่าเงินบาทเราเหมือนกัน ไม่ให้อ่อนค่ามากจนเกินไป ส่วนตัวว่าระดับเงินบาทของเราที่อยู่ประมาณ 33-34 บาทถือว่าใช้ได้

การที่อัตราแลกเปลี่ยนหรือเงินอ่อนค่าเกินไป ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าสินค้าพวกน้ำมัน แก๊ส หรืออาหารอะไรต่างๆ ในราคาที่สูงมาก ข้อมูลที่ได้รับทราบมาอย่างข้าว 1 กิโลกรัมของเขา ตอนนี้เขาขายกันในตลาดอยู่ที่ 45 บาทต่อกิโลกรัม สูงมาก สูงมากจริงๆ


จะมีประเทศไหนมีปัญหาแบบศรีลังกาอีกบ้าง

ถามว่าจะมีประเทศอื่นหรือไม่ ก็ต้องสังเกตประเทศต่างๆ ด้วยเช่นกัน เช่น ตอนนี้ก็ดูที่ตุรกี ค่าเงินเขาก็อ่อนค่าลงไปเยอะ เกือบเท่าหนึ่ง จาก 8 ลีรา กลายเป็น 16 ลีรา ต่อมาคือเลบานอน ส่วนตัวว่าน่าจะมีอาการแบบนี้ในอีกหลายๆ ประเทศ เพราะดูแล้วต้องบอกว่าสินค้าตอนนี้มันแพงทั้งโลก จากเรื่องของราคาน้ำมันซึ่งสูงขึ้นมาก 40% เมื่อเปรียบเทียบกับปัญหาโควิด ตัวนี้เป็นตัวเร่งเร้า รวมถึงพวกปุ๋ย ข้าวสาลีที่เป็นสินค้าพื้นฐานในห่วงโซ่อาหารและห่วงโซ่อุปทานทางด้านภาคอุตสาหกรรม พวกนี้เป็นตัวเร่งที่ดีที่ทำให้สินค้าต่างๆ แพงขึ้นทั้งโลก

ส่วนตัวมองว่าประเทศไทยเราก็ต้องดูเหมือนกัน ต้องควบคุมราคาสินค้าให้เหตุสมผล ทั้งทางด้านผู้ประกอบการ และผู้บริโภคด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นส่วนตัวยังดูต่อว่า ตัวห่วงโซ่อาหารของเรา เราเป็นผู้ผลิตอาหาร เราก็ต้องรักษาตรงนี้ไว้ด้วย เราต้องมั่นใจว่าจะมีความมั่นคงทางด้านอาหาร และมีความมั่นคงทางด้านพลังงานด้วยเช่นกัน เพราะสองตัวนี้ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการที่จะพัฒนาประเทศให้มั่นคงต่อไป


ปัญหาหนึ่งของศรีลังกาคือมีประเด็นเรื่องผู้นำที่อยู่ในตำแหน่งนานจนเกินไป

ตรงนี้ก็เป็นกระแสของสังคมโลก คือประชาชนตอนนี้ก็คงต้องออกมาเรียกร้องต่างๆ ส่วนตัวว่าตอนนี้เราก็ต้องทำงานร่วมกันทั้งภาคเอกชนกับภาครัฐบาล ถ้าเราจับมือกันได้อย่างนี้แล้วเราก็คิดว่าการแก้ปัญหาต่างๆ จะสามารถจบลงด้วยดี


ราคาน้ำมันดิบขึ้นมา ก๊าซด้วย ส่งผลต่อค่าเดินทาง การขนส่งสินค้าในการส่งออก

ค่าระวางเรือก่อนโควิดกับปัจจุบัน ก็แพงกว่าเดิมประมาณ 5-7 เท่า ในทุกเส้นทาง เพียงแต่ว่าถ้าถามว่าปีนี้กับปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันเป็นอย่างไร ค่าระวางเรือก็ลดลง แต่ลดลงแค่ 10-20% เท่านั้น น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับที่ขึ้นไป 5-7 เท่า แต่ก็ยังโอเค ถือเป็นสัญญาณที่ดี ว่าจะมีแนวโน้มลดลง ส่วนเรื่องราคาน้ำมันมีผลหรือไม่ คำตอบคือมีแน่นอน เพราะจะมีในส่วนที่เรียกว่าค่าเซอร์ชาร์จ ซึ่งตรงนี้แปรผันไปตามราคาน้ำมันอยู่แล้ว ทางสายเรือเขาก็จะดูแลราคาน้ำมันว่าจะปรับขึ้นเท่าไหร่ในแง่ของเซอร์ชาร์จส่วนนี้ แต่สำหรับเรื่องของค่าสเปซพื้นฐานมีแนวโน้มลดลง 10-20% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยได้กับสิ่งที่ขึ้นมาก่อนโควิดที่ 5-7 เท่า


สงครามรัสเซีย ทำให้การขนส่งสินค้าทางเรือมีอุปสรรคปัญหาอะไรบ้าง

การเดินเรือทางด้านทะเลเป็นการขนส่งที่เยอะที่สุดในโลก มากกว่า 90% เพราะฉะนั้นท่าเรือในยูเครนอย่างโอเดสซา ซึ่งเป็นท่าเรือยูเครนปิดไปตั้งแต่วันเริ่มสงครามคือ 24 กุมภาพันธ์ แล้วหลังจากนั้นทางด้านรัสเซียก็ถูกแซงชั่นปิดท่าเรือด้วยเช่นกัน

เพราะฉะนั้นการเดินทาง การขนส่งไปทั้ง 2 ประเทศนี้ ก็ไปทางเรือไม่ได้แล้ว ดังนั้น ตอนนี้เท่าที่ทราบการขนส่งทางบกยังไปได้ อาจจะผ่านประเทศจีน คงขึ้นอยู่กับนโยบายของประเทศทั้งสองว่าจะเป็นอย่างไร แต่ตรงนี้กระทบการขนส่งสินค้าแน่นอน เพราะค่าขนส่งที่จะไป 2 ประเทศนี้จะสูงขึ้น และใช้ระยะเวลานานขึ้น ความสะดวกสบายคงไม่มีแน่นอน


จีนตอนนี้เจอวิกฤตหนักจากโควิดที่ระบาด ถึงขั้นต้องล็อกดาวน์เมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ และอีกหลายเมือง ไทยมีปัญหาหรือไม่กับการส่งสินค้าไปจีน หรือสินค้าจีนที่จะส่งมาขายในไทย

ต้องบอกว่าจากนโยบาย Zero COVID ของจีน ทำให้มีการล็อกดาวน์เมือง ล็อกดาวน์ท่าเรือ ล่าสุดนี้ ทาง สรท.ได้ตรวจสอบในเรื่องของความหนาแน่นของท่าเรือพบว่ามีความหนาแน่นอยู่ทั้งที่ท่าเรือเมืองหนิงโปและท่าเรือที่เซี่ยงไฮ้ เมื่อมีความหนาแน่น สิ่งที่ตามมาคือในเรื่องของความล่าช้า ตู้สินค้าที่จะมาเทียบท่าที่ไทยก็อาจจะมีความล่าช้า ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัว และมีการตรวจสอบตารางการเดินเรือกับสายเรืออย่างใกล้ชิด ตรงนี้คือเรื่องที่ได้รับผลกระทบ แต่ไม่ใช่หมายความว่าถึงขั้นขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ แต่ทำให้เรือเข้ามาช้ากว่าตารางเดินเรือ

เรื่องต่อมาคือเรื่องการล็อกดาวน์ที่เซี่ยงไฮ้ ถ้าถามว่าโรงงานในช่วงแรกๆ ใช่ ถูกล็อกดาวน์ แต่ตอนนี้ทางจีนก็มีมาตรการผ่อนคลายเพิ่มขึ้นมา ดังนั้น สินค้าที่จะต้องจับตามองก็คือพวกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ว่าทางด้านซัพพลายเชนของเขาจะเป็นอย่างไร แต่จากข้อมูลที่ได้รับทราบจากสมาชิกของ สรท.ก็ยังถือว่าตรงนี้เรายังสามารถบริหารจัดการได้อยู่ เพราะมีการประสานงานที่ดี


มีปัญหาแต่ไม่ได้ถึงขั้นเป็นเรื่องอุปสรรคใหญ่

ใช่ ณ วันนี้ แต่มันอยู่ภายใต้สมมติฐาน ว่าถ้านานไปกว่านี้ อันนี้มีปัญหาแน่นอน ดังนั้น ถ้าดูแล้วทุกอย่างคลี่คลายได้เร็ว ทุกอย่างก็จะกลับเข้ามาที่เข้าทาง แต่ถ้านานเกินไปหรือว่าขยายการล็อกดาวน์ไปสู่เมืองอื่นๆ อย่างเช่นกวางโจวด้านล่าง ตรงนี้ก็เริ่มน่าเป็นห่วงในเรื่องของการขนส่ง รวมไปถึงเรื่องภาคการผลิตด้วยเช่นกัน เพราะไทยกับจีนมีมูลค่าการซื้อขายมากถึง 20% ของการส่งออกของไทย และสินค้าส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้าทางด้านอุตสาหกรรมและทางด้านอาหาร คิดว่าถ้าปัญหาที่เซี่ยงไฮ้จบ แล้วไม่มีการล็อกดาวน์เมืองอื่นก็ถือว่าใช้ได้ ถ้าจบเร็วก็สามารถบริหารจัดการได้


ปัญหาของศรีลังกา อาจกลายเป็นโดมิโนได้ อาจจะกระทบประเทศต่างๆ ที่มีปัญหาเดียวกัน เพียงแต่รอวันระเบิดอยู่ ผู้ส่งออกเป็นห่วงหรือไม่ว่า ส่งของไปแล้วประเทศโน้นประเทศนี้ วันดีคืนดีเป็นแบบศรีลังกาจะชักดาบกัน กลัวหรือไม่

มีความเป็นไปได้สูง ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออกจะต้องทำสองเรื่องคือ 1. ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เวลารับออร์เดอร์สินค้าอะไรจะต้องมีการเรียกเก็บเงินมัดจำไว้ก่อนการผลิต เพราะถ้าเราผลิตไปแล้วและเขาไม่สามารถรับได้ ก็จะมีผลได้ ตรงนี้ไม่เฉพาะศรีลังกา อาจจะต้องออกนโยบายใหม่ในเรื่องของการที่จะเริ่มการผลิตใหม่ได้ 2. การที่จะส่งของได้ ต้องได้รับเงินอย่างแน่นอน ก็คือโอนเงินก่อนส่งมอบ ตรงนี้ต้องขีดเส้นเลย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วไปตามเงินหรือไปทวงเงินในอนาคตมันยาก

แต่สิ่งที่อยากจะฝากไว้คือ ตอนนี้ทาง สรท.ประสานงานร่วมกับกระทรวงการคลังในการทำ 2 เรื่องคือ 1. เพิ่มสภาพคล่อง เพราะเราเห็นแล้วว่าเรื่องต้นทุนต่างๆ มันเพิ่มขึ้นแน่นอน ต้นทุนสินค้า ต้นทุนพลังงาน ต้นทุนแรงงาน สูงขึ้นแน่นอน ผู้ประกอบการอาจขาดสภาพคล่องสำหรับผลิตเพื่อการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังได้ ฉะนั้นตอนนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ สรท.ต้องประสานงานกับกระทรวงการคลัง เอ็กซิมแบงก์ ซึ่งมีการประชุมกันทุกเดือนเพื่อหามาตรการ หาทางช่วยผู้ส่งออก 2. คงจะต้องดูเรื่องดอกเบี้ย ตอนนี้อาจจะยังไม่มีผล แต่ถ้าครึ่งปีหลัง สินค้าอะไรต่างๆ สูงขึ้น เราอาจจะต้องไปกู้เงินมากขึ้น เมื่อกู้เงินมากขึ้น เราจะทำอย่างไรให้กู้ง่าย ให้ธนาคารมั่นใจด้วยว่าหนี้ไม่เสียแน่นอน และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในอัตราที่เหมาะสมและไม่เป็นภาระกับผู้ส่งออก ตอนนี้ทาง สรท. กระทรวงการคลัง และเอ็กซิมแบงก์ ต้องทำงานร่วมกันสองเรื่องนี้


แบงก์เข้มงวดมาก

ใช่ เราเห็นเลย จากนี้ทาง สรท. กระทรวงการคลัง และเอ็กซิมแบงก์ คงต้องนั่งหารือกันในเรื่องนี้ เพราะเราเห็นแล้วว่า เราส่งออกอยู่ดีๆ เราเป็นผู้ส่งออกที่ดี เพียงแต่ว่าต้นทุนต่างๆ สูงขึ้น สภาพคล่องจะไม่พอเอา ดังนั้น ถ้าเราเป็นผู้ส่งออกที่ดีอยู่แล้ว จะช่องทางอื่นได้ไหม ถ้าเราจะต้องไปต่อคิว กว่าเราจะได้เงินเพื่อมาเสริมสภาพคล่อง ก็จะไม่ทันกาล ออร์เดอร์ไม่เคยรอใคร ฉะนั้นทุกอย่างต้องรันไปได้ ดังนั้น แบงก์ก็น่าจะแบ่งการให้บริการสินเชื่อเป็นประเภทของผู้ส่งออก เช่น มีอีซี่พาส ที่รวดเร็ว อย่างนี้เป็นต้น เพื่อลดอุปสรรคทางด้านระเบียบและวิธีการในการที่จะขอกู้เงิน


106 views

Comments


bottom of page