top of page
369286.jpg

SME ส่งออก Software....ธุรกิจที่รัฐลืม



Interview : คุณวิษณุพงษ์ วงศ์วาสน์

นายกสมาคมการค้าส่งเสริมการส่งออกอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (TSEP)


SME ส่งออกซอฟต์แวร์ไทย ธุรกิจที่รัฐลืม ขาดการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ทั้งด้านทุน การตลาดเพื่อส่งออก การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาหลักสูตร ต้องดิ้นรนสู้กันไปเองในกลุ่มผู้ผลิตซอฟต์แวร์ไทย ทำให้ไปได้ไม่ไกลเท่าที่ควร ส่วนใหญ่เป็นเพียง SME รายเล็ก เป็นแค่ปลาซิวปลาสร้อย สู้ปลาใหญ่ที่ทุนหนาไม่ได้ ถ้ารัฐส่งเสริมจริงจังจะช่วยปลาซิวปลาสร้อยให้กลายเป็นปลาใหญ่ที่สร้างรายได้เข้าประเทศได้มหาศาล พร้อมยกตัวอย่างจุดอ่อนของไทยว่าเป็นผู้ใช้สื่อดิจิทัลมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ไม่สามารถพัฒนาข้ามชั้นให้ไทยเป็นผู้สร้าง-พัฒนาสื่อดิจิทัลระดับโลกได้ ซึ่งเป็นการขาดโอกาสในยุคดิจิทัล ฟีเวอร์ ในขณะนี้และในอนาคต


สถานการณ์การส่งออกอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยในปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

ถ้าแยกเฉพาะซอฟต์แวร์ออกมา ในส่วนของซอฟต์แวร์ไทยก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ติดลบค่อนข้างเยอะ แต่ถ้าเป็นตัวเลขภาพรวมตามที่ภาครัฐออกมาในส่วนของคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ซึ่งรวม คอมพิวเตอร์น่าจะเติบโตสูง เนื่องจากปริมาณการใช้งาน Work from Home หรือผู้คนอยู่บ้านเยอะขึ้นก็จะใช้อุปกรณ์ต่างๆ ของคอมพิวเตอร์มากขึ้น ทำให้ส่วนของภาคชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โต แต่ตรงข้ามกับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของคนไทยที่ส่งออกไป เราอิงตามธุรกิจ ซอฟต์แวร์ที่เราส่งออกไปเยอะก็เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าธุรกิจการท่องเที่ยวแย่ที่สุด เป็นอุตสาหกรรมที่ตกที่สุดในช่วงโควิด ทำให้ดึงในส่วนซอฟต์แวร์ปี 2563 ค่อนข้างที่จะติดลบเยอะ


ตีเป็นมูลค่าเท่าไหร่

ถ้าเป็นมูลค่าในสมาคมที่มีสมาชิกกว่า 20 รายก็หลายล้านเหรียญ ตกลงมาประมาณกว่า 50%


ซอฟต์แวร์ที่เขียนส่วนใหญ่ส่งขายประเทศอะไรบ้าง

ก็จะเป็นกลุ่มเอเชีย โอเชียเนียเยอะสุด รวมถึงแอฟริกาจะเป็นประเทศที่ยังไม่เจริญอย่างยุโรปหรืออเมริกา เนื่องจากว่ากลุ่มนั้นมองว่าซอฟต์แวร์ฝั่งเอเชียยังสู้ฝั่งเขาไม่ได้ ก็มีที่ขายได้บ้าง แต่ไม่ได้เยอะมากเมื่อเทียบกับฝั่งเอเชียด้วยกัน


ธุรกิจซอฟต์แวร์ของไทยจัดเป็น SME หรือกิจการขนาดไหน

ของพวกเราส่วนใหญ่เป็น SME ทั้งหมด ธุรกิจระดับเล็กไม่ได้ใหญ่


ลงทุนรายละเท่าไหร่

ลงทุนส่วนใหญ่ 30 ล้าน มีบางบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ บ้าง แต่ไม่เยอะ เป็นแค่ส่วนน้อย


มีบุคลากรในธุรกิจซอฟต์แวร์ไทยประมาณเท่าไหร่

ถ้าอยู่ในสมาคมเรา เรามีสมาชิก 21 บริษัท เฉลี่ยบริษัทนึงมีบุคลากรประมาณ 100-150 คน ส่วนใหญ่เป็นนักพัฒนาโปรแกรม โปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาระบบ Project Manager


ปัญหาอุปสรรคจริงๆ ของธุรกิจซอฟต์แวร์ไทยอยู่ที่ไหน ระหว่างเงิน คิดงานไม่ออก หรือมีเรื่องลิขสิทธิ์ หรือรัฐบาลยังไม่ให้การส่งเสริมที่ดีพอ

ก็มีหลายส่วน เงินทุนก็เป็นปัญหาส่วนนึง แต่ไม่ได้เยอะมาก ถ้ามองที่เราคุยกันบ่อยก็คือพยายามส่งเสียงให้ภาครัฐได้ยิน คือให้การส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ถ้าย้อนไปในอดีตประมาณ 20 ปีที่แล้วภาครัฐส่งเสริมในส่วนของ SME กลุ่มพัฒนาซอฟต์แวร์ มายุคหลังส่งเสริมกลุ่ม Start up ที่เป็นดิจิทัล แต่ลืมดูว่าที่เคยส่งเสริมในอดีตไปแล้วเขากำลังโตขึ้นมา กำลังขายโปรแกรมออกไปต่างประเทศเยอะแล้ว แต่มีปัญหาขาดคน เพราะไม่ได้รับการส่งเสริม เพราะรัฐบาลหันไปส่งเสริม Start up

ขณะนี้แรงงานใหม่ๆ หรือน้องที่จบใหม่จนกระทั่งจบมาระยะนึงก็จะผันตัวเป็นผู้ประกอบการ อาจจะมีทีมงาน 5-10 คนที่ตั้งเป็นบริษัทใหม่ขึ้นมา แต่ก็จะโตไม่ได้ เพราะถ้าจะโตจริงต้องมีหลักร้อยคนแยกเป็นหลายทีมเพื่อจะทำสเกลให้ใหญ่ขึ้น น่าจะเป็นที่การส่งเสริม

หลังสุดน่าจะเป็นปัญหาเรื่องของคุณภาพการศึกษาเรา เรื่องของหลักสูตรที่ไม่ตรงกับที่ผู้ประกอบการอยากได้ แม้เราพยายามคุยกับภาคมหาวิทยาลัยที่พยายามปรับหลักสูตร แต่หลักสูตรของบ้านเราก็ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย ทำให้น้องๆ ที่จบมาอาจจะไม่เข้าใจวิถีของคนดิจิทัล หรือผู้พัฒนาซอฟต์แวร์

ผมมองว่าถ้าเราส่งเสริมต่อเนื่องจะดีกว่านี้ คือการส่งเสริม Start up ก็ดี แต่จะให้ภาค SME แข็งแรงเราก็ต้องส่งเสริมเขาต่อ และเมื่อ SME แข็งแรงเชื่อว่าทำให้ SME เหล่านี้กลับมาสร้าง eco system เทรนด์ดิจิทัลบ้านเราก็จะแข็งแรง ทำให้น้องๆ ใน Start up แข็งแรงเพราะมี SME ที่แข็งแรง


อย่าง Start up ที่จะเกิดขึ้นมีเรื่องของ Disrupt ต่างๆ พวกนี้ก็ไม่เกิดใช่ไหม อย่างจะมี Disrupt แบงก์ก็ทำไม่ได้

ในเชิงทฤษฎีควรทำได้ แต่ด้วยบริษัทเล็กๆ เหมือนปลาซิว แม้ข้อดีของปลาซิวตัวเล็กๆ คือมีเรื่องของความเร็ว เปลี่ยนแปลงได้ง่าย แต่การจะไปสู้กับปลาใหญ่ได้ความเร็วอย่างเดียวไม่พอ มันต้องการอีกหลายอย่างมาประกอบ หรืออาจจะเป็นปลาซิวหลายๆ ตัวรวมเป็นฝูงถึงจะไปสู้กับปลาใหญ่ได้ มองว่าในทาง Disrupt เป็นไปได้ แต่ด้วยบริษัทเล็กๆ เป็นไปได้ยากถ้าคนของเราไม่ได้เก่งหรือมีไอคิวขนาด มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หรือ สตีฟ จอบส์ ก็คงยาก


ประเทศไทยจะเป็น Digital Economy ได้ไหม

เวลาเรามีดิจิทัลอะไรใหม่ๆ เราเป็นผู้ใช้ดิจิทัลได้เร็ว ผมว่าคนไทยเก่งเรื่องดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น Clubhouse, TikTok, Facebook, Line เรากลายเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในการบริโภคใช้งาน แต่ในมุมกลับกันคือเราไม่สามารถผลิตดิจิทัลได้เอง อันนี้เราควรจะต้องร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน ถ้าคนไทยเราเก่งเรื่องการบริโภคดิจิทัลขนาดนี้ เราควรมาสร้างให้คนไทยเป็นผู้ผลิตดิจิทัลขึ้นมาเป็นระดับโลกจริงๆ ดีไหม


อย่างบริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคม ส่วนใหญ่ผลิตซอฟต์แวร์ทำแล้วส่งออกใช่ไหม

ใช่ แต่เราทำทั้งในประเทศและส่งออก คือเมื่อเราทำในประเทศจนเริ่มแข็งแรงเราก็เริ่มขยายตลาดไปต่างประเทศ เพราะตลาดในประเทศไทยจริงๆ ถือว่าเล็กมาก ไม่ได้ใหญ่ แต่ไม่ถึงขนาดเล็กจนเกินไป แต่ก็พอจะสร้างระบบหรือพวกซิสเต็ม ให้ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อย่างพวกเราได้เรียนรู้ พอเรียนรู้ก็จับกลุ่มกันเพื่อส่งออกก็เลยก่อตั้งเป็นสมาคมขึ้นมาและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการส่งออก แต่ก็มีภาครัฐที่สนับสนุน เช่น กรมส่งเสริมการส่งออก BOI ที่เข้ามา หรือ สวทช. มาร่วมมือพาเราไป Business Matching ไปขาย แต่แผนไม่ได้เป็นแผนระยะยาว คือเวลารัฐบาลจัดตั้งขึ้นมารัฐบาลมีงบประมาณก็มีเป็นแค่ช่วงๆ เลยไม่ต่อเนื่อง ถ้าต่อเนื่องจะทำให้อุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยไปได้ไกล เพราะการผลิตซอฟต์แวร์จริงๆ เราไม่ได้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยเราใช้แต่หัวสมองคน และพวกเราเป็นคนไทยทั้งหมดไม่มีบริษัทต่างชาติ ยิ่งเราขายได้เยอะแปลว่าเรานำเงินเข้ามาในประเทศได้เยอะโดยที่เราไม่ต้องเพิ่มต้นทุนอีกแล้ว ยกเว้นทุนเรื่องคน ถ้าจะขยายต้องใช้คนมาก คนแค่ 1 คนในซอฟต์แวร์สามารถสร้างรายได้หลายเท่ามากกว่าธุรกิจอื่นด้วยซ้ำ

99 views

Kommentare


bottom of page