top of page
369286.jpg

ธพว. พร้อมเคียงข้างช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19....ลดภาระค่าใช้จ่ายทะลุ 4 หมื่นราย

ธพว. พร้อมเคียงข้างช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19

ลดภาระค่าใช้จ่ายทะลุ 4 หมื่นราย เติมทุนเสริมสภาพคล่องกว่า  6 พันล้าน


ธพว.ห่วงใยเอสเอ็มอีไทย พร้อมเดินเคียงข้างไม่ทิ้งกัน ยกขบวนช่วยเหลือฝ่าวิกฤตโควิด-19 ชูแนวทางให้ “ความรู้คู่ทุน” แจงด้านการเงิน เยียวยาลดภาระค่าใช้จ่าย  บรรเทาผลกระทบไปแล้วกว่า 4 หมื่นราย  และเติมทุนสินเชื่อดอกเบี้ยถูกเสริมสภาพคล่อง จำนวนกว่า 3,300 ราย วงเงินรวม 6.2 พันล้านบาท  ควบคู่มาตรการด้านความรู้ ผู้ประกอบการเข้าใช้บริการกว่า 12,800 ราย ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันปรับตัวสามารถก้าวผ่านวิกฤต ปูทางเพื่อความยั่งยืน

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า ธพว.ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อการพัฒนา SMEs ไทย ให้เติบโตและยั่งยืน พร้อมเคียงข้างช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึง ปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น สงครามการค้า และภัยแล้ง เป็นต้น ตามนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง  ซึ่งระยะแรก ธพว.มุ่งมาตรการด้านการเงินเพื่อเยียวยาช่วยเหลือเอสเอ็มอีลดภาระค่าใช้จ่าย สามารถประคองธุรกิจให้อยู่รอด รักษาการจ้างงาน ภายใต้ชื่อมาตรการ "ลด-พัก-ขยาย-ผ่อน-เพิ่ม"  โดย  ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 มีเอสเอ็มอีไทยเข้าสู่มาตรการแล้ว  9,458 ราย คิดเป็นมูลค่ารวม 14,924.63 ล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มได้รับผลกระทบทางตรง 4,892 ราย คิดเป็นมูลค่า 7,082 ล้านบาท และกลุ่มได้รับผลกระทบทางอ้อม 4,566 ราย คิดเป็นมูลค่า 7,842.63 ล้านบาท

สำหรับ "ลด-พัก-ขยาย-ผ่อน-เพิ่ม" ประกอบด้วย  1.มาตรการลด  ลดดอกเบี้ย 1% เป็นเวลา 1 ปี สำหรับลูกค้า 5 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย 1.ธุรกิจโรงแรม/ห้องพัก 2.ธุรกิจสปา 3.ธุรกิจร้านอาหาร/ภัตตาคาร 4.ธุรกิจนำเที่ยว มัคคุเทศก์ และ 5.บริการขนส่งนักท่องเที่ยว  ใน 22 จังหวัดหลักตามข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) 2.มาตรการพัก ลูกค้าสามารถแจ้งความประสงค์ขอชะลอการชำระหนี้เงินต้นให้นานขึ้นจากสิทธิ์อัตโนมัติ เพื่อให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจนานสูงสุด 12-24 เดือน 3.มาตรการขยายเวลาชำระหนี้  ให้สอดคล้องตามความสามารถในการชำระหนี้ นานสูงสุด 5 ปี  4.มาตรการผ่อนปรนการชำระหนี้ โดยระหว่างที่พักชำระหนี้เงินต้น  ลูกค้าสามารถขอผ่อนปรนการชำระหนี้ของดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นได้ด้วย และ 5.มาตรการเติมทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่อง มีเงินทุนสำรอง ผ่านโครงการสินเชื่อต่าง ๆ เช่น สินเชื่อรายเล็ก  Extra Cash  สำหรับผู้ประกอบการนิติบุคคลธุรกิจการท่องเที่ยว ได้แก่ ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า)  บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย ผ่อนชำระนานสูงสุด 5 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก 3% ต่อปี และไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน    สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ช่วยเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ปรับปรุง ตลอดจนสำรองเป็นค่าใช้จ่าย  ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ  เปิดโอกาสให้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี  กลุ่มนิติบุคคล  วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท (ลูกค้ามีศักยภาพแต่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงินกู้สูงสุด 1 ล้านบาท)  อัตราดอกเบี้ย  3%ต่อปี  3 ปีแรก  และกลุ่มบุคคลธรรมดา วงเงินกู้สูงสุด 2 ล้านบาท (ลูกค้ามีศักยภาพแต่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงินกู้สูงสุด  5 แสนบาท) อัตราดอกเบี้ย 5%ต่อปี  3 ปีแรก

อีกทั้ง ธพว. ยังช่วยเหลือลูกค้าลดภาระค่าใช้จ่าย  ตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  โดยชะลอการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติ สูงสุด 6 เดือน  ให้ลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน  100 ล้านบาท  มีลูกค้า ธพว. ชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติจำนวน 43,215 ราย คิดเป็นมูลค่ารวม 66,479 ล้านบาท


ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 15 พ.ค.2563 ธพว. ได้เติมทุนเสริมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีไปแล้ว จำนวน 3,329 ราย วงเงินรวม 6,231.31 ล้านบาท


ขณะเดียวกัน ธพว. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรดำเนินมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ประกอบด้วย รับมอบนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม  ดำเนินมาตรการพักชำระหนี้เงินต้น สูงสุด 12 เดือน กลุ่มเป้าหมายประมาณ 10,000 ราย ภาระหนี้รวม 11,800 ล้านบาท  และเติมทุนใหม่ ให้แก่ลูกค้ากองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ โดยด้านการพักชำระหนี้เงินต้น เปิดรับคำขอเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา นับถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 มีลูกค้ากองทุนประชารัฐเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 2,834 ราย วงเงินประมาณ 5,300 ล้านบาท  ขณะที่ด้านการให้เติมทุนสินเชื่อใหม่ วงเงินรวม 1,700 ล้านบาท  จากกระทรวงอุตสาหกรรม คิดอัตราดอกเบี้ย 1% ตลอดอายุสัญญา ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 5 ปี  ปลอดชำระคืนเงินต้น 1 ปี  ลูกค้ากองทุนฯ ได้รับการเติมทุนกว่า 10,000 ราย

และร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดำเนินการสินเชื่อ “SMEs One” สนับสนุน SMEs รายย่อยเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำพิเศษเพียง 1% ต่อปี ระยะเวลากู้นานสูงสุด  7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุด 12 เดือน เพื่อให้เอสเอ็มอีนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง  ลงทุน ขยายกิจการ ปรับปรุง ซ่อมแซม หรือยกระดับการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นางสาวนารถนารี กล่าวต่อว่า  นอกจากมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินข้างต้นแล้ว  ธพว.ยังช่วยเหลือด้วยมาตรการเติมความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการควบคู่ไปด้วย เพื่อจะเสริมภูมิคุ้มกันธุรกิจ  ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถปรับตัวก้าวฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปได้ รวมถึง ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจแข็งแกร่งกว่าเดิมที่เคยเป็นมา  ช่วยให้ในอนาคตธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน เช่น  มาตรการ "วัคซีนเติมความรู้" ผ่านอบรมออนไลน์ ด้วยหลักสูตร เรียนง่ายเข้าใจเร็ว เช่น การเขียนแผนธุรกิจ, การทำบัญชี, การทำ E-Commerce ฯลฯ ที่สามารถศึกษาได้ด้วยตัวเองที่เว็บไซต์ wdev.smebank.co.th "วัคซีนเพิ่มรายได้" ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขายสินค้าในตลาดนัดออนไลน์ สร้างโอกาสจับคู่ธุรกิจ ด้วยเฟซบุ๊กกรุ๊ป "ฝากร้านฟรี SME D Bank"  ในแฟนเพจ powersmethai  และ "วัคซีนขยายตลาด” ดันสินค้าขยายตลาดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดัง เช่น Shopee, LAZADA, Thailandpostmart.com, Alibaba, LINE, JD Central เป็นต้น  ณ 23 พ.ค. 2563  ผู้ประกอบการเข้าใช้บริการ 12,844 ราย ด้านเติมความรู้  ผู้เข้าใช้บริการ 3,086 ราย ด้านเพิ่มรายได้จากการเปิดตลาดนัดออนไลน์ "ฝากร้านฟรี SME D Bank"  ผู้เข้าใช้บริการ 6,605 ราย และกิจกรรมดันขยายตลาดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์  มีผู้เข้าใช้บริการ 3,153 ราย

“จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ธพว.ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ  มีความห่วงใยเอสเอ็มอีไทยอย่างยิ่ง  และพร้อมเดินเคียงข้างไม่ทิ้งกัน ธนาคารจึงดำเนินมาตรการช่วยเหลือ ภายใต้แนวคิดมอบวัคซีน “ความรู้คู่เงินทุน” นอกจากเติมเงินทุนดอกเบี้ยต่ำแล้ว ธนาคารจะเติมความรู้ควบคู่ไปด้วย เช่น การทำตลาดออนไลน์ บัญชี มาตรฐาน ฯลฯ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายไปแล้ว ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยจะมีศักยภาพทางธุรกิจแข็งแกร่งกว่าที่เคยเป็นมา สามารถปรับตัวทางธุรกิจตอบโจทย์ผู้บริโภคยุค New Normal ได้เป็นอย่างดี และดำเนินธุรกิจต่อเนื่องได้อย่างยั่งยืน”นางสาวนารถนารี กล่า


นอกจากนี้ ธพว.ยังทำกิจกรรมดูแลสังคมไทย ด้วยการเปิดโครงการ “ตู้ปันสุข ธพว.” มอบให้ด้วยใจ ปันให้ด้วยรัก จำนวน 2 ตู้ บริเวณด้านหน้าอาคาร SME Bank Tower สำนักงานใหญ่ เพื่อแบ่งปันสิ่งของ เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง และของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม ที่สนับสนุนและส่งเสริมสังคมไทยเกิดการแบ่งปันน้ำใจ ลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โดยรอบธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

3 views

Comments


bottom of page