วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุนประจำสัปดาห์ วันที่ 13 - 17 ก.ค. 2563
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (6 – 10 ก.ค.) ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปิดบวก โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาดี เช่น ดัชนี ISM ภาคบริการ และการจ้างงานนอกภาคเกษตร นอกจากนี้ ดัชนีฯยังได้แรงหนุนจากความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีน และยาต้านไวรัส หลัง Gilead ซึ่งเป็นบริษัทผลิตยาของสหรัฐฯ เปิดเผยผลการทดลองพบว่า ยา remdesivir สามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 ได้ถึง 62% เมื่อเทียบกับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน ด้านตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเล็กน้อย โดยนักลงทุนยังกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจของยุโรป หลังคณะกรรมาธิการยุโรปปรับลดคาดการณ์ GDP ยุโรป โดยคาดว่าจะหดตัวลง 8.3% ในปีนี้ จากที่เคยคาดการณ์ในเดือน พ.ค.ว่าจะหดตัว 7.4%สำหรับตลาดหุ้นจีน (A-Share) ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากความคาดหวังที่ว่า ทางการจีนจะออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และความเชื่อมั่นว่า กรุงปักกิ่งจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสองได้ ประกอบกับสื่อของทางการจีนได้เผยแพร่บทบรรณาธิการและบทความที่กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นเพื่อสนับสนุนตลาดภายในประเทศ ด้านตลาดหุ้นไทย ปรับลดลง หลังนักลงทุนจับตาปัจจัยการเมืองในประเทศ เรื่องการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรี สำหรับราคาน้ำมัน ปรับลดลง หลังสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) รายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 5.7 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 3.7 ล้านบาร์เรล
มุมมองของเราในสัปดาห์นี้
ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังเคลื่อนไหวผันผวน ได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ธนาคารกลาง และรัฐบาลของประเทศต่างๆ ยังส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินการคลังเชิงผ่อนคลาย และพร้อมออกมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม หากจำเป็น โดยในสัปดาห์นี้ จะมีการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) และการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกอบกับ การพัฒนาวัคซีน และยาต้านไวรัสมีความคืบหน้ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สอง ในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้หลายรัฐฯ ต้องกลับมากำหนดดำเนินมาตรการ lockdown อีกครั้ง อาจส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่า เศรษฐกิจอาจฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีอยู่ หลังทางการจีนประกาศใช้มาตรการเดียวกับสถาบันและบุคคลในสหรัฐฯที่ประพฤติผิดในเรื่องเกี่ยวกับเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เพื่อตอบโต้ทางการสหรัฐฯ ด้านราคาน้ำมันดิบ WTI มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สองในสหรัฐฯ จะกดดันอุปสงค์น้ำมันให้ปรับลดลงอีกครั้ง และนักลงทุนติดตามการประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต (JMMC) ของกลุ่มโอเปกพลัส สำหรับตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้น และเคลื่อนไหวผันผวน ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ขณะที่ นักลงทุนรอติดตามการทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยในไตรมาสที่ 2 ของกลุ่มธนาคาร
เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)
· สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสอง ในสหรัฐฯ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการทยอยกลับมาดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด
· การประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต (JMMC) ของกลุ่มโอเปกพลัส (15 ก.ค.) โดยจะมีการหารือกันเกี่ยวกับข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดภายในสิ้นเดือนนี้
· ผลการประชุม BoJ (15 ก.ค.) คาดว่า BoJ จะคงนโยบายการเงิน เพื่อรอประเมินผลกระทบของการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมาก่อน แต่อาจส่งสัญญาณเพิ่มวงเงินกู้ให้ภาคธุรกิจเพิ่มเติม หากจำเป็น หลังญี่ปุ่นเผชิญความเสี่ยงการแพร่ระบาดระลอกสอง และประสบปัญหาน้ำท่วมที่เกาะคิวชู นอกจากนี้ BoJ อาจมีแนวโน้มคาดการณ์ GDP ในปีงบประมาณปัจจุบัน จะหดตัวอย่างมาก ขณะที่ มองว่า อัตราเงินเฟ้อจะกลับมาขยายตัวในเป็นบวกในปีงบประมาณถัดไป
· ผลการประชุม ECB (16 ก.ค.) คาดว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิม และคงการเข้าซื้อสินทรัพย์ในโครงการ PEPP ตามเดิม หลังจากที่ปรับเพิ่มการเข้าซื้อในการประชุมเดือนก่อนหน้า 6 แสนล้านยูโร สู่ระดับ 1.35 ล้านล้านยูโร เพื่อรอดูประสิทธิผลของมาตรการต่างๆที่ได้ดำเนินไปแล้วก่อนหน้านี้
· การประชุม EU Summit (17-18 ก.ค.) โดยคาดว่า ผู้นำทั้ง 27 ประเทศ จะหารือเกี่ยวกับกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจมูลค่า 7.5 แสนล้านยูโร ในส่วนของรายละเอียดและสัดส่วนความช่วยเหลือที่แต่ละประเทศจะได้รับให้มีความชัดเจนมากขึ้น
· การทยอยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯในไตรมาสที่ 2 โดยในสัปดาห์นี้จะเริ่มด้วยกลุ่มการเงิน ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Refinitiv บ่งชี้ว่า ผลกำไรรวมของของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯในดัชนี S&P500 จะลดลงมากกว่า 40%
ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้
ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนี สหรัฐฯ และจีน, รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของ Fed 12 เขต (Beige Book) ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ยอดค้าปลีก ยอดขออนุญาตก่อสร้าง และยอดการเริ่มสร้างบ้านของสหรัฐฯ, GDP ใน 2Q2020 การส่งออก นำเข้า ดุลการค้า ยอดค้าปลีก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของจีน
เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่สอง, การประชุม BoJ, การประชุมกลุ่มประเทศยูโรโซน, การประชุม ECB, การประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต (JMMC) ของกลุ่มโอเปกพลัส และการทยอยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 2
วิเคราะห์โดย: SCB Chief Investment Office
Comments