top of page
312345.jpg

เศรษฐกิจจีนถดถอยหนัก...ไทยต้องพึ่งลำแข้งตัวเอง ฝากความหวังไว้ 'รัฐบาลเศรษฐา'



ชยนนท์ รักกาญจนันท์ Mr.Messenger ชี้โลกสลับข้างพลิกขั้วความกังวลทางเศรษฐกิจจากสหรัฐมาทางฝั่งจีน โดยความกังวลเศรษฐกิจถดถอยในอเมริกาผ่อนคลายลง เนื่องจากภาคเศรษฐกิจจริงของสหรัฐปรับตัวดีขึ้น ขณะตลาดหุ้นโดดเด่นจาก “หุ้น 7 นางฟ้า” แต่ฝั่งจีนกลับมีปัญหามาแทนที่อันเนื่องมาจากการล้มละลายและเกิดฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ กระทบต่อ GDP ของจีน โดยคาดว่า GDP ปี 2566 ของจีนจะโตไม่ถึง 5% ซึ่งจะส่งผลกระทบลามถึง GDP โลกที่จะหดตัวตามไปด้วยโดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาเศรษฐกิจจีนเป็นหลัก เช่นภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทย ดังนั้น จากนี้ไทยต้องพึ่งตัวเองเป็นหลัก รวมถึงต้องพึ่งรัฐบาลใหม่ว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน ย้ำจุดเสี่ยงของไทยที่รัฐบาลใหม่ต้องเผชิญมีตั้งแต่ ภาวะภัยแล้ง ปัญหาการจัดทำงบประมาณประจำปีซึ่งเกิดจากการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า ทำให้ GDP ไทยในปีนี้ต่ำกว่า 3% ขณะที่ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวย/มีอำนาจ กับคนจน/คนรากหญ้า ส่วนตลาดหุ้นยังมีทิศทางไม่สดใส หนำซ้ำยังถูกกระทบจากกรณีผิดนัดชำระหุ้นกู้ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาด และต่างชาติยังไม่กลับมา แนะนักลงทุนสะสางพอร์ตตัดใจขายหุ้นที่ไม่ดีทิ้ง ส่วนการลงทุนในทองคำควรรอจังหวะหลุด 1,900 และลงทุนไม่เกิน 10-15% ของพอร์ต


ขออัปเดต สถานการณ์เวลานี้ซึ่งเข้าค้างท้ายไตรมาส 3 เหลืออีก 4 เดือนก็สิ้นปี สถานการณ์การลงทุนจะเป็นอย่างไร ของไทยได้นายกฯ และรัฐบาลใหม่แล้ว แต่หุ้นยังขึ้นแบบเหมือนได้ข่าวดีแป๊บเดียว..มองว่าหุ้นไทยจะมีปัจจัยบวกอะไรมาฉุดตลาดได้หรือไม่

สถานการณ์ภาพรวมในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่เข้าสู่เดือนกรกฎาคม ข้อดีเลยคือกำไรของบริษัท ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ในโลกออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด โดยที่ดีที่สุดมากกว่าตลาดคาดไว้เยอะคือทางฝั่งของสหรัฐอเมริกา ซึ่งนำโดยหุ้นกลุ่มที่เรียกกันว่า หุ้น 7 นางฟ้า หรือ Big 7 Tech Company

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าการบวกขึ้นมาของตลาดหุ้นสหรัฐนั้น ส่วนหนึ่งมาจากตัวกำไรที่ดี แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากความคาดหวังเรื่อง AI จริงๆ แล้วมันเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนที่ไมโครซอฟท์ไปร่วมมือเกี่ยวกับตัว Open AI และก่อกำเนิดเป็น ChatGPT และทุกคนก็เห็นว่าแค่แชตอย่างเดียวมันเปลี่ยนโลกได้ขนาดนี้ มันแปลว่าใครมีบิ๊กดาต้า แปลว่าใครมีฐานข้อมูลลูกค้าเยอะๆ ก็น่าจะได้ประโยชน์จาก AI แน่ๆ

เพราะฉะนั้น ต้องบอกอย่างนี้ว่าแนวคิดเรื่อง AI ทำให้ตลาดหุ้น 8 เดือนแรกของปีวิ่งขึ้นมาได้ ซึ่งกำไรของบริษัทไตรมาส 2/2566 ที่ประกาศออกมา ถามว่าเกี่ยวกับ AI มันสะท้อนเข้ามาอยู่ในกำไรหรือยัง ต้องบอกว่ามันเป็นแค่ความหวัง แต่ความจริงยังไม่ปรากฏว่า AI มันถูกใช้ได้จริงในหลายๆ ธุรกิจ ที่เราเชื่อคืออนาคตมันถูกใช้แน่ๆ แต่เราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ ตรงนี้จึงเป็นความท้าทายว่าตลาดหุ้นรีบาวด์มาขนาดนี้ กำไรดูดีขนาดนี้ แต่มันวิ่งเร็วเกินไปหรือเปล่า

ทั้งนี้ ก็ต้องกลับมาดูว่า บริษัทจดทะเบียนในอีก 3-4 ไตรมาสข้างหน้าหรือไตรมาส 4/2566 จะออกมาดีหรือไม่ สิ่งที่เห็นคือมันน่ากังวลตรงที่ว่าถ้ามองในระยะสั้นผลของ AI มันคงน้อย ฉะนั้นต้องกลับมาดูที่ตัวเศรษฐกิจจริงมากกว่าว่าเป็นอย่างไรบ้าง ปรากฏว่าช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐอเมริกายังค่อนข้างแข็งแกร่ง พอแข็งแกร่งแบบนี้ ตลาดก็มองว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาน่าจะไม่มีภาวะถดถอยแล้ว (อย่างที่เคยกังวลกัน) ในปีนี้ ตรงนี้จึงเป็นจุดยืนยันอีกจุดหนึ่งว่า ไม่ใช่แค่ Tech Company ที่ลากตลาดหุ้นให้บวกขึ้นมาอย่างเดียว สหรัฐอเมริกามีโอกาสหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

คิดว่ามันชัดเจนว่าตอนนี้ถ้ามองของภาพการลงทุน ใครที่ลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ต้นปี และอยู่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ในไตรมาส 4 คิดว่ายังมีโอกาสไปได้อยู่ คือสามารถสร้างผลตอบแทนได้ต่อ


ทิศทางความเสี่ยงของโลกเลยเปลี่ยนไป

คือความเสี่ยงต้นปี และความเสี่ยงของตลาดครึ่งปีนี้ คือการกลัวว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะถดถอย ถือเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งเลย แต่มาถึงตรงนี้ความจริงแล้วความเสี่ยงของการลงทุนในภาพรวมของโลกตอนนี้จะอยู่ที่จีนแล้ว เพราะจีนไม่ได้มีการอัดฉีดมาตรการเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจเลยตอนนี้ ปัญหาก็เพิ่งจะมาโผล่เอาเมื่อเดือนที่ผ่านมาก็คือการที่ทั้ง ไชน่าเอเวอร์แกรนด์ และคันทรีการ์เด้น มีปัญหาหุ้นกู้ และถึงขั้นที่ไชน่าเอเวอร์แกรนด์ต้องยื่นขอล้มละลายด้วยซ้ำไป ซึ่งก่อนที่จะเกิดปัญหานี้ มีการคาดกันว่า GDP ของจีนจะโตระดับ 8-10% และจะช่วยให้ GDP โลกโตได้ แต่ตอนนี้ถูกหั่นเป้า GDP เรียบร้อย อย่างเช่น Bloomberg หั่นเป้า GDP ของจีนลงมาว่าอาจจะโตไม่ถึง 5% แปลว่านอกจากจีนจะไม่ช่วยโลกอย่างที่เคยคาดหวังกันเมื่อต้นปีแล้ว จีนอาจจะช่วยตัวเองไม่ไหวด้วยเช่นเดียวกัน ฉะนั้น เราจะเข้าสู่ไซเคิลที่ GDP หรืออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกต่ำกว่าในช่วงที่ผ่านมาเสียอีก ตรงนี้เป็นจุดที่น่าสนใจ

มีนักเศรษฐศาสตร์จากอเมริกาบอกว่าประเทศใดก็แล้วแต่ที่มี GDP โตในระดับต่ำกว่า 3% ลงมา การกระจายตัวทางด้านรายได้หรือความมั่งคั่งจะกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มคนข้างบน คือกลุ่มทุนกับกลุ่มผู้มีอำนาจ ถ้าอยากให้คนข้างล่างได้ผลประโยชน์ อยากให้คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ อาจจะต้องให้ GDP อยู่ที่ประมาณ 5-6% ขึ้นไป

เพราะฉะนั้นที่จีนเขาบอกว่า 2 ปีที่ผ่านมาอยากให้มีความเจริญรุ่งเรืองเท่าเทียม จีนน่าจะเห็นว่าสังคมนิยมเป็นใหญ่กว่าทุนนิยม สุดท้ายก็จะมีคนรวยขึ้นมา แต่คนรวยเหล่านี้มันรวยกระจุก แต่จนกระจาย ทางการจีนจึงพยายามที่จะใช้นโยบายเพื่อให้เท่าเทียมหรือมีการกระจายรายได้เกิดขึ้น แต่มันมาในจังหวะที่มีสงครามการค้าระหว่างทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา และจีนมีปัญหาของตัวเองในแง่ของการกระตุ้นและลงทุนในเรื่องอินฟราสตรักเจอร์ที่มากเกินไป เลยเป็นปัญหาซ้อนปัญหาใหญ่ๆ อยู่ ตรงนี้คิดว่าความท้าทายตอนนี้ของเศรษฐกิจโลกก็คือ เมื่อจีนชะลอตัวจริง การบริโภคของจีนก็ลดลง และการที่จีนเคยเป็นฐานการผลิต 20-30 ปีที่ผ่านมาก็จะเปลี่ยนไป

ตอนนี้ก็เลยเป็นมุมที่ว่า สำหรับผมแล้วตลาดสหรัฐอเมริกาลงทุนได้ ส่วนจีนพอมาถึงตอนนี้คิดว่ามันเริ่มชัดเจนแล้วว่าทางการจีนคงยังไม่กระตุ้นเศรษฐกิจอะไรแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยได้ในช่วงนี้ ต้องเคลียร์ปัญหาของตัวเองก่อน ซึ่งประเทศใดก็แล้วแต่ที่มีเศรษฐกิจผูกพันกับจีน แปลว่าประเทศนั้นจะโดนหางเลขด้วย ในแง่ของการส่งออกและนำเข้าหรือในแง่ที่ว่ามีความผูกพันกับจีนเยอะ ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาจะมาตกอยู่ที่ประเทศในเอเชีย รวมทั้งไทยด้วยเช่นเดียวกัน


ไทยเองก็หวังพึ่งตลาดจีนมากมาตั้งแต่ต้นปี

มองอย่างนี้คือ ไทยเองต้องหวังเรื่องมาตรการการกระตุ้นจากทางฝั่งรัฐบาลซึ่งเพิ่งจะมีทูลเกล้าฯ ตั้งคณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1 และเห็นว่าหลักๆ ที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐาตั้งใจที่จะทำคือกระตุ้น 2 ส่วน คือการกระตุ้นการบริโภคเพื่อให้เกิดการหมุนของเงินและกิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศ อีกเรื่องที่ต้องทำและสำคัญไม่แพ้กันคือต้องกระตุ้นการส่งออก โดยการกระตุ้นส่งออกที่ใหญ่ก็คือการส่งออกด้านบริการ นั่นคือการท่องเที่ยว

ส่วนตัวผมหวังเป็นอย่างยิ่ง ถ้าอยากจะให้ไทยเราไม่ติดหล่ม เศรษฐกิจไทยไม่หดตัวไปพร้อมๆ กับจีน ในช่วงนี้มาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวที่กลับมาอาจจะจำเป็นต้องทำทันที ส่งสัญญาณให้ชัดไปเลย สมมติออกมาตรการฟรีวีซ่าปุ๊บกว่านักท่องเที่ยวจะเห็น กว่าจะบิน กว่าจะจองตั๋วเข้ามา มันเป็นปลายไตรมาส 4 พอดี คือถ้าทำได้คิดว่านักท่องเที่ยวปลายปีจะมากขึ้น ส่งผลทั้งปีนี้เราอาจจะเห็นยอดนักท่องเที่ยวแตะ 30 ล้านคน ถ้านักท่องเที่ยวเข้าไทย 30 ล้านคนจริงๆ คิดว่าการจับจ่ายใช้สอย การบริโภคในประเทศจะดีขึ้น แล้วจะไปต่อในเรื่องตัวนโยบายเงิน Digital Wallet ในไตรมาส 1/2567 หรือ ต้นไตรมาส 2/2567 คิดว่าพอพยุงระยะสั้นเศรษฐกิจไทยยังพอไปได้

แต่ถ้าทำ 2 เงื่อนไขนี้ไม่ได้ คือกระตุ้นการบริโภคในประเทศก็กระตุ้นไม่ได้ กระตุ้นท่องเที่ยวก็กระตุ้นไม่ได้ คนจีนไม่ยอมมาเที่ยวไทย คิดว่าคงเป็นไปอย่างที่สภาพัฒน์ประมาณการล่าสุดว่า GDP ไทยจะลดลงไปอีก (จากที่ประกาศไตรมาส 2/2566 โตเพียงแค่ 1.8%) ซึ่งทางฝั่งการเมืองคงไม่พอใจ แต่คนที่เป็นคนคาดการณ์เขาไม่เอาสิ่งที่ยังไม่รู้ในอนาคตจะเอามาทำประมาณการก่อน ดังนั้น รอให้มีการกระตุ้นก่อน อาจจะมีการปรับประมาณการ ยังพอมีหวัง แต่เราต้องเห็นมาตรการเป็นชิ้นเป็นอัน


คุณชยนนท์มองจากสิ่งที่เห็น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ สถานการณ์ต่างๆ คิดว่าถึงที่สุดแล้ว GDP ไทยปีนี้จะเกิน 3% หรือไม่

อย่างหนึ่งก็คือปกติแล้ว พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีในรัฐบาลสมัยปกติ เขาจะพิจารณากันตั้งแต่เดือนมิถุนายน แล้วก็ทำงบฯ พิจารณาถกกันไปถกกันมา แล้วส่งยื่นเข้า ครม.และสภา 3 เดือนหลังจากนั้นคือประมาณปลายเดือนกรกฎาคม แต่ปีนี้เพิ่งได้ ครม.ได้รัฐบาลชุดใหม่มาเดือนกันยายนเข้าไปแล้ว พิจารณางบประมาณไม่ทัน ก็จะใช้งบประมาณเดิมก่อน ก็ค่อนข้างช้า... แต่ก็ไม่แน่สำหรับ ครม.ชุดนี้ เพราะเป็น ครม.ที่มีความคล้าย ครม.ชุดเดิมอยู่

สมมติว่าเร่งสปีดเรื่องงบประมาณให้เร็วขึ้นจากการพิจารณา 3 เดือน เป็น 2 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนนี้ แต่กว่าจะอนุมัติจริงๆ น่าจะราวตุลาคม เบิกจ่ายจริงคงจะไม่ทันธันวาคม 2566 คงจะไปปีหน้า 2567 เลย ... ฉะนั้นพอเห็นแบบนี้ก็น่าเป็นห่วง

อีกอย่างที่คิดว่าเป็นความเสี่ยงก็คือ กรณีที่องค์การภูมิศาสตร์อุตุนิยมโลกบอกว่าปีนี้อาจจะแล้งหนัก และเราก็เห็นหลายๆ ประเทศมีปัญหาทั้งน้ำท่วม ทั้งอุณหภูมิสูงขึ้น ปรากฏการณ์โดยเอลนีโญ คิดว่าไตรมาส 4/2566 นี้เราจะเจอภาวะพืชผลทางการเกษตรของทั้งโลกจะถูกกระทบ ซึ่งตอนนี้ก็เห็นราคาสินค้าเกษตรปรับขึ้น ทั้งราคามะพร้าวที่ราคาดีดขึ้นมาก ล่าสุดน้ำตาลราคาดีดขึ้นมา เพราะทางฝั่งอินเดียเริ่มตรึงสินค้า ราคาข้าวก็เห็นดีดกลับขึ้นมาใหม่อีกรอบหนึ่ง ตรงนี้ที่เป็นห่วง คือนโยบายทั้งหมดของไทย อาจจะมีผลกระทบต่อ GDP ของเราในปีหน้า... มองว่าปีนี้ GDP ไทยน่าจะต่ำกว่า 3%


สถานการณ์เช่นนี้ การบริโภคลดลง หนี้เพิ่มขึ้น..สภาพคล่องทางการเงิน ผลการประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไทย คงจะไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่

ใช่ จริงๆ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนในไทยก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว และมีปัญหาหนึ่งคือการขึ้นดอกเบี้ยที่ไปกระทบกับตัวต้นทุนในการกู้ยืม ซึ่งเมื่อกลางปีที่ผ่านมาก็มีกรณีหุ้นกู้ของบริษัทตัวใหญ่ตัวหนึ่งมีปัญหาการชำระคืนเงินกู้ และล่าสุดก็มีอีกบริษัทหนึ่งที่มีปัญหา แม้จะไม่ใช้คำว่าผิดนัดชำระหนี้ โดยเลี่ยงไปใช้คำว่าเลื่อนการจ่าย เลื่อนวันครบกำหนดออกไป แต่ตรงนี้มันเป็นสัญญาณว่า ตลาดตราสารหนี้เกิดปัญหาในหุ้นกู้ แม้จะเป็นเพียงบางตัว แต่มันทำลายความเชื่อมั่นของคนทั้งตลาด ทุกคนน่าจะพอเห็นภาพ คิดว่าทุกคนก็ต้องระวังมากขึ้น อย่างกรณี STARK ชัดเจนว่ามันถึงขั้นว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ คนไม่เชื่อมั่นกับมาตรฐานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชี คือถ้าไปมีถึงตรงนั้นแล้วเราต้องเก่งขนาดไหน เราต้องวิเคราะห์ขนาดไหน เราถึงซื้อหุ้นกู้ถึงจะปลอดภัย พอเป็นอย่างนั้นมันก็เลยกลายเป็นว่าตลาดบอนด์ในประเทศระดมทุนลำบาก พอตลาดบอนด์ในประเทศลงทุนลำบาก ยอดขายก็ไม่กระเตื้อง เศรษฐกิจไทยก็จะเกิดภาวะสุญญากาศจากการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่มีนโยบายอะไรมากระตุ้น

สิ่งที่เป็นห่วงคือระหว่างนี้ จะมีบริษัทไหนที่มีปัญหาสภาพคล่องอย่างที่เราเจอมาในช่วงประมาณ 1-2 ไตรมาสที่ผ่านมาอีกหรือเปล่า (ทั้งจาก STARK, JKN) ถ้ายังมีต่อ คิดว่าเหนื่อย

เพราะฉะนั้นในความเห็นส่วนตัวคือที่คนคาดหวังว่าหุ้นไทยจะดีเมื่อมีเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว ...แต่ถึงหุ้นไทยจะดีดขึ้นได้แต่ก็เป็นความคาดหวังของรายได้และกำไรของปีหน้าไม่ใช่ปีนี้ ก็จะมีคำถามว่าแล้วอย่างนี้จะถือหุ้นไทยตัวไหนดี ก็คือต้องกลับไปดู ต้องหาตัวที่มีพีอีเรโชต่ำๆ ตอนนี้ดูแค่งบดุล งบกำไรขาดทุน แค่นั้นไม่ได้ ต้องไปดูงบกระแสเงินสดด้วยว่ามีรายได้ที่เข้ามาเป็นเงินสดจริงหรือไม่ หรือถ้ามีลูกหนี้การค้าเยอะๆ อย่างนี้ก็อันตราย มันกลายเป็นว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่คิดว่านักลงทุนจะเก่งขึ้นเยอะเลย เพราะเราให้ความหวังกับนักวิเคราะห์ก็ไม่ได้ บอกไปดูงบอย่างเดียวก็ไม่ได้ ไปบอกว่านั่งเทียนใช้สัญญาณทางเทคนิคอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะหุ้นต่ำก็เยอะแยะ

แต่อย่างไรก็ตาม ในตลาดก็ยังมีหุ้นคุณภาพดีหลายๆ ตัวที่อยู่ในไทย แต่ถ้าซื้อเป็นกลุ่ม ซื้อเป็นก้อนเป็นตะกร้าเลย คิดว่าเราอาจจะไม่ได้อัพไซด์เท่าที่ควร เรียกว่าผลตอบแทนไม่ได้เป็นกอบเป็นกำ ลงทุนในตลาดหุ้นเมืองนอกอาจจะดีกว่า


นักลงทุนควรเคลียร์พอร์ต ล้างพอร์ตให้ว่างไว้ก่อน กำเงินสดไว้ก่อนดีกว่า อย่างนั้นหรือ

ไม่จำเป็นต้องเคลียร์พอร์ต คือมองอย่างนี้ว่าหุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็น่าสนใจอยู่ สมมติว่านโยบายฟรีวีซ่าเขาออกมาแน่ๆ หุ้นท่องเที่ยวก็เป็นหุ้นที่หลายๆ โบรกออกมาคอยกันแล้ว พอพูดถึงท่องเที่ยวแล้วเป็นท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาในไทยเอาแค่นี้ มีหุ้นตัวหนึ่งที่ได้ประโยชน์แน่ๆ อะไรอย่างนี้ คิดว่าหุ้นเหล่านี้ยังพอถือได้

ถัดจากตัวนี้ไป สมมติถ้าราคาสินค้าเกษตรพุ่งสูง เกิดปรากฏการณ์การขาดแคลนอาหารในเวทีโลกขึ้นมา แต่ว่าไม่ได้กระทบไทยขนาดนั้น ไทยก็จะได้ประโยชน์ มีหุ้นกลุ่มสินค้าเกษตรหรือคอมโมดิตี อาจจะมีใครได้อีกรอบหนึ่ง หรือหวังไปไกลกว่านั้นถ้ามีการกระตุ้น Digital Wallet ในปีหน้า สมมติว่าตลาดหุ้นมีการปรับฐานในตอนนี้ แต่ว่าปีหน้าอย่างไรรัฐบาลก็มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแน่ๆ ซึ่งการบริโภคอะไรที่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจบ้าง ก็พอจะเห็นภาพอยู่

เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องถึงกับว่าถือเงินสด เก็บเป็นเงินฝากแล้วได้ดอกเบี้ยแค่ 1% ซึ่งมันกลายเป็นมีค่าเสียโอกาสอีกแบบหนึ่ง คือไม่ต้องถึงขนาดนั้น มาดูแลพอร์ตหน่อย อะไรที่เคยถือแล้วดูว่าไม่ใช่แล้ว ก็ต้องยอมตัดใจขายออกไป แล้วมาหาตัวใหม่ที่มีทิศทางที่พอไปได้เข้ามาเติมในพอร์ตแทน


ลงทุนในทองคำได้หรือไม่

เรื่องทองคำต้องกลับไปดูที่ค่าเงินดอลลาร์ ถ้ามองในภาพรวม เราให้กระจายพอร์ตในทองคำประมาณ 10-15% ของพอร์ต ให้ไม่เกินนี้ ถ้าอยากลงทุนเกินกว่านี้จะต้องเห็นสัญญาณอย่างที่หนึ่งคือเราต้องเห็นดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าอย่างชัดเจน ต่อมาเราต้องเห็นบอนด์ยีลด์หรืออัตราตอบแทนพันธบัตรทั้งโลกรวมถึงที่สหรัฐอเมริกาต้องค่อยๆ ต่ำลงมา คือเฟดต้องลดดอกเบี้ย ถามว่าสองอย่างนี้อะไรจะเกิดก่อน คำตอบคือไม่รู้ เพราะตอนนี้ดอลลาร์อยู่ในโซนการแข็งค่า อย่างบาทไทยเราเองอยู่ในโซนของการอ่อนค่ามาก่อนหน้านี้ มีแข็งค่าระยะสั้นๆ ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม ตอนที่เราได้นายกรัฐมนตรีชื่อคุณเศรษฐา ตอนนั้นบาทก็กลับมาแข็งบ้าง แต่ไปดู Fund Flow ที่ไหลไปลงที่ตราสารหนี้ หรือ Fund Flow ที่ไหลลงไปหุ้น เราก็ไม่พบว่ามีต่างชาตินำเม็ดเงินเข้าไปซื้อ....ก็เลยยังชะล่าใจไม่ได้

อีกเรื่องหนึ่งคือยังมองว่าเฟดก็ยังส่งสัญญาณค่อนข้างชัดเจน มีการส่งสัญญาณในงานสัมมนาวิชาการประจำปีที่แจ็กสันโฮล ชัดเจนว่า ปีนี้อย่างไรดอกเบี้ยก็คงไม่ลด มีแต่คงกับขึ้นเท่านั้น ดังนั้นดอลลาร์จะอยู่ในโซนของการทรงตัว ไม่ได้อยู่ในระดับของการแข็งค่า เมื่อเป็นแบบนั้น ทองคำระยะสั้นอาจจะมี Technical Rebound บ้าง แต่คิดว่าสมมติว่ามีเซอร์ไพรส์ ว่าขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบ ทองคำอาจจะมีรอบของการปรับฐาน และเราอาจเห็นหลุด 1,900 อีกรอบหนึ่ง ถ้าเห็นหลุด 1,900 อีกรอบหนึ่งตรงนั้น นั่นเป็นโอกาสของการซื้อ ฉะนั้นตอนนี้ทองคำมีไว้เพื่อการกระจายความเสี่ยงซึ่งต้องรอจังหวะ

251 views
bottom of page