top of page
327304.jpg

ข้าวไทยผันผวนหนัก...ผู้ส่งออกเสี่ยงสูง




Interview: คุณสมเกียรติ มรรคยาธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน)

ในฐานะเลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย


วิกฤต ‘ผู้ส่งออกข้าว’ เจอหลายเด้ง ทั้งบาทแข็งพ่นพิษขายสู้คู่แข่งไม่ได้ ทั้งคุณภาพข้าวไม่ได้มาตรฐานตามที่ลูกค้าตปท.ต้องการ ส่งผลออร์เดอร์สั่งซื้อลดฮวบ อินเดีย-เวียดนามรับส้มหล่นไปเต็มๆ ส่งผลให้เวียดนามหายใจรดต้นคอจ่อแซงขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของผู้ส่งออกข้าวโลก เพราะข้าวคุณภาพดี ระบบชลประทานเวียดนามดีกว่าไทยมาก ผลผลิตข้าวจึงได้มากกว่า หนำซ้ำภัยแล้งยังซ้ำเติมไทย คาดผลผลิตข้าวปีนี้น้อยลงกว่าทุกปี จะยิ่งทำให้ข้าวไทยราคาแพงกว่าคู่แข่งมากขึ้น ผู้ส่งออกที่ไม่มีข้าวในมือ ไม่กล้าเสนอขายข้าวล่วงหน้า ส่วนตลาดในประเทศยังไม่ขาดแคลนข้าว แต่ราคาข้าวขายปลีกมีสิทธิ์ปรับแพงขี้นกิโลละ 1-4 บาทในไตรมาสสองปีนี้


ประเมินสถานการณ์เพาะปลูกข้าวในปี 2563 อย่างไร

ตอนนี้ตามที่มีข่าวเรื่องภัยแล้ง เรื่องผลผลิตที่เราน่าจะเพาะปลูกได้คือในจำนวนที่น้อยลง เราประเมินว่าผลผลิตน่าจะลดลงจำนวนมาก ตอนนี้ตัวคำสั่งซื้อหรือออร์เดอร์จากต่างประเทศค่อนข้างน้อย คือน้อยมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ก็น่าจะมาจากเรื่องของค่าเงิน และเรื่องชนิดของพันธุ์ข้าวของประเทศไทยซึ่งอยู่ในระยะเวลาของการปรับเปลี่ยน ในส่วนหนึ่งยังไม่ได้ถูกพัฒนาให้ตรงตามความต้องการสำหรับตลาดบางตลาด ก็เลยทำให้กำลังซื้อตลาดทางด้านนี้กำลังซื้อน้อยลง และรวมถึงอัตราแลกเงินของประเทศเราซึ่งแข็งค่ามาก ก็เลยทำให้คำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนหลัง คือเดือน 10 ถึงเดือน 12 ของปี 2562 โดยปกติคำสั่งซื้อช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ในรอบ 7-8 ปีที่ผ่านมา มีประมาณ 8-9 แสนตัน แต่ไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมาเหลือแค่ 6 แสนตัน ก็คือหายไปประมาณ 20-30%


ส่วนผลผลิตตอนนี้ประมาณการว่าน้อย ผลผลิตที่เป็นข้าวขาว ที่เพาะปลูกกันในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ที่จะไปเก็บเกี่ยวได้ในเดือนเมษายนและพฤษภาคมก็ต้องหยุดรอบกันไป เข้าใจว่าผลผลิตสุดท้ายที่จะออกมาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ อีกสักชุดหนึ่งคือผลผลิตที่ปลูกไปเมื่อเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน แล้วมาเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ แต่ที่เหลืออยู่คือข้าวที่เริ่มปลูกกันเดือนมกราคมไม่น่าจะได้ข้าวแล้ว


ที่ว่าออร์เดอร์สั่งซื้อข้าวจากไทยน้อยลง ลูกค้าไปซื้อจากที่ไหนแทน

ตอนนี้คนที่ได้ส้มหล่นจากเราไปคือเวียดนาม อินเดีย เพราะช่วงจังหวะนี้ทางเวียดนามเขามีระบบชลประทานที่ดีกว่าบ้านเรา เขามีระบบชลประทานอย่างน้อย 70-80% ในขณะที่บ้านเราเป็นระบบชลประทาน 20-30% ส่วนที่อินเดียผลผลิตในปีที่ผ่านมาถือว่ามีผลผลิตค่อนข้างดี ปีที่ผ่านมาอินเดียยังส่งออกเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนไทยเป็นอันดับสอง แต่ปีนี้เราตามห่างมาก โดยที่ปี 2561 อินเดียเป็นที่หนึ่งจะอยู่ที่ 12.5 ล้านตัน ไทยอันดับสองอยู่ที่ 11.6 ล้านตัน ขณะที่ปี 2562 อินเดียน่าจะส่งออกลดลงเหลือ 11 ล้านตัน ส่วนไทยตกลงมาอยู่ที่ 7.8 ล้านตัน เราก็ยังอยู่อันดับสอง ส่วนเวียดนามตามเรามาติดๆ สัก 6.5 ล้านตัน ในขณะที่แนวโน้มปีนี้ ไทยเราน่าจะส่งออกได้ไม่มาก คือปี 2561 ถึงก่อนไตรมาส 3 ของปี 2562 เราส่งออกเดือนละเป็นล้านตัน แต่เดือนธันวาคม 2562 เหลือส่งออกอยู่ที่ประมาณ 6 แสนตัน ดังนั้นในเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็คงจะอยู่ราวๆ 6 แสนตัน ก็เลยเป็นว่าเราเองโดนผลกระทบไปพอสมควร


แต่ตอนนี้ก็มาคาดหวังกันว่าราคาผลผลิตก็น่าจะสูงขึ้นมาค่อนข้างมากสำหรับข้าวขาว ข้าวเปลือกที่อยู่ในโครงการประกันรายได้ตอนนี้ประมาณตันละหมื่นบาท เดิมชาวนาก็ได้ส่วนต่างประมาณ 2 พันกว่า ตอนนี้ถึงปัจจุบันก็ประมาณ 1 พัน ก็คือราคาข้าวเปลือกขยับขึ้นมาราวๆ 9,000 บาท จากเดิมอยู่ที่ 7,500-8,000 บาท ผ่านมาตอนนี้ราคาข้าวเปลือกขึ้นมาที่ 9,000 บาท ก็ถือว่าราคาช่วงนี้ขยับขึ้นสูงสุด ผลผลิตของข้าวหอมมะลิเก็บเกี่ยวไปแล้วปีละครั้ง โดยส่วนใหญ่ เก็บเกี่ยวไปเมื่อเดือนธันวาคม น่าจะจบหมดทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว คือราคาข้าวหอมมะลิกับข้าวเหนียวยังสูงอยู่ รัฐบาลไม่ได้ชดเชยประกันรายได้ให้กับชาวนา คือถ้าชดเชยก็น้อยมาก ราคาข้าวหอมมะลิในช่วงนี้อาจจะตกมาจาก 15,000 บาท ชาวนาอาจจะได้ชดเชย 300-400 บาท


ส่งออกข้าวจากนี้ไป ไม่ใช่ดาวเด่นอีกแล้ว

ต้องระมัดระวัง ในปีนี้ผู้ส่งออกข้าวถ้ายังไม่มีข้าวในมือ ก็คงไม่มีใครกล้าขายล่วงหน้า เพราะขายล่วงหน้าไป ไม่รู้จะซื้อข้าวในราคาที่เท่าไหร่ ตั้งแต่ปีที่แล้วก็ลำบากอยู่แล้วสำหรับผู้ส่งออก เพราะสถานการณ์ต่างๆ คู่แข่งขัน อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินต่างๆ ก็รุมเร้าเราอยู่แล้ว ปีที่แล้วราคาข้าวไม่ได้ขยับ แต่ไปขยับตรงอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้เราแข่งขันกับเขาลำบาก ปีนี้เจอเด้งที่สองคือคาดว่าราคาน่าจะเพิ่มขึ้นด้วย แล้วอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินก็ดูแล้วไม่น่าจะดี แต่ปริมาณผลผลิตที่น้อยลง น่าจะช่วยพยุงราคาภายในประเทศ และราคาผลผลิตน่าจะอยู่ในระดับที่สูง และน่าจะสูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของปี เพราะยังไม่น่าจะมีผลผลิตใหม่ๆ ออกมาทดแทนได้ เนื่องจากปัญหาปริมาณน้ำและภัยแล้ง ยังเป็นปีที่ผู้ส่งออกข้าวต้องอดทนกันต่อไป


คนไทยต้องทานข้าวแพงขึ้นหรือไม่

จริงๆ แล้วช่วงนี้อาจจะแพงขึ้นกิโลกรัมละ 1 บาท อัตราส่วนการบริโภคข้าวในประเทศของเราปกติคือประมาณครึ่งหนึ่งของปริมาณผลผลิต เพราะฉะนั้น ความเพียงพอที่จะใช้ภายในประเทศปีนี้คิดว่าเพียงพอแน่นอน ไม่มีปัญหา แต่อาจจะเหลือส่งจริงๆ คือเหลือส่งออกน้อยลง เพราะราคาเราแข่งขันกับเขาไม่ได้อยู่แล้วส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นราคาภายในประเทศตอนนี้ส่วนตัวคิดว่าน่าจะอยู่ในระดับแข็งตัวขึ้นมาบ้าง ไม่น่าจะสูงมากนัก แต่ถ้าหากเกิดพลิกล็อก เกิดมีดีมานด์อะไรใหญ่ๆ โตๆ ขึ้นมาสักนิด ราคาข้าวจะหยุดไม่อยู่เลย


ช่วงนี้ส่วนตัวมองว่ายังไม่กระทบ เพราะทางด้านผู้ผลิตในประเทศเขายังแข่งขันกันอยู่ และยังอยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน โปรโมชันมันทำล่วงหน้าไปแล้ว 3 เดือน คือตอนนี้ถ้ารีบไปซื้อไว้ก็ดี เพราะตอนนี้ราคายังไม่ขยับ คิดว่าหลังเดือนมีนาคมอาจจะเริ่มมีผลกระทบ


ราคาข้าวมีโอกาสปรับขึ้น

คือมีโอกาสปรับขึ้น อยากจะไล่สถิติให้ดูว่าข้าวขาวเราเดิมราคาเฉลี่ยก่อนขึ้นราคาจะตกประมาณกิโลกรัมละ 12 บาท มาตอนนี้ขึ้นไปประมาณกิโลกรัมละ 13 บาท ถ้าเป็นข้าวถุงขึ้น 5 บาท เพราะข้าวถุง 5 กิโลกรัม เมื่อปี 2560 ในช่วงเดียวกันนี้ก็มีภัยแล้ง ราคาข้าวเคยขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 15 บาท ก็คือเพิ่มไป 2 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มถุงละ 10-15 บาท แต่ว่าข้าวขาวในปัจจุบัน ตกถุงหนึ่งประมาณสัก 80-90 บาท ก็มีโอกาสขึ้นไปถุงละ 20 บาท ในช่วงไตรมาสที่สอง


ที่สำคัญคือจะมีข้าว

คือมีแน่นอน เพียงแต่ต้นทุนเพิ่ม เรื่องของขายคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา ไม่มีวิกฤตขาดแคลนต้องนำเข้า ผลผลิตมีเกินความต้องการมากกว่า 50% และออร์เดอร์ส่งออกปีนี้ก็มีไม่มาก ต้องบอกว่าปีที่ผ่านมาผู้ส่งออกหลายราย หันมาทำตลาดเพื่อขายในประเทศเยอะมาก เลยเป็นเหตุให้การแข่งขันส่งเสริมการขายที่ผ่านมาสูงมาก และยังสูงต่อไป เพราะตอนนี้ออร์เดอร์ต่างประเทศยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน


ในส่วนข้าวเหนียวเป็นอย่างไร

เป็นอะไรที่มีราคาสูงขึ้นมาก เนื่องจากผลผลิตเกือบทั้งหมดเป็นการบริโภคในประเทศ และส่งออกน้อยมากแค่ 10-20% ในปีที่ผ่านมาผลผลิตข้าวเหนียวก็ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ข้าวเหนียวจริงๆ มันเป็นข้าวเหนียวที่สามารถปลูกได้ทั้งนาปรังด้วย ไม่เหมือนข้าวหอมมะลิ ดังนั้นข้าวเหนียวนาปรังปีนี้ก็มีโอกาสไม่ได้ผลผลิต ราคาข้าวเหนียวค่อนข้างสูง แต่ก็ยังตกลงมาจากปลายปีที่แล้ว ซึ่งปลายปีที่แล้วราคาขึ้นสูงถึงกิโลกรัมละ 45-50 บาท แล้วลดลงมาตอนนี้กิโลกรัมละ 35 บาท แต่แนวโน้มต่อไปกำลังเป็นขาขึ้น มีโอกาสที่เราจะกลับไปเห็นข้าวเหนียวกิโลกรัมละ 45 บาทในเร็ววันนี้ ไม่ต้องรอถึงไตรมาสสองเหมือนข้าวขาว เพราะเราบริโภคข้าวเหนียวกันค่อนข้างเยอะ แล้วเราใช้ในอุตสาหกรรมในประเทศค่อนข้างเยอะมาก ราคาข้าวเหนียวในปัจจุบันเมื่อเทียบกับเมื่อปลายปี จากกิโลกรัมละ 32 บาท ตอนนี้ไปที่ราคากิโลกรัมละ 36-37 บาท เท่ากับขึ้นมากิโลกรัมละ 5 บาทเลย ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราคิดว่ามันเป็นไปได้ คือข้าวเหนียวเพิ่มบ้างก็ได้ ส่วนข้าวเหนียวก็อยู่ในอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น แล้วชาวนาก็เก็บเอาไว้บริโภคในครัวเรือน เก็บเอาไว้ทำพันธุ์ปีหน้า ข้าวเหนียวถือว่าราคาดีมาก


สมาชิกสมาคมผู้ส่งออกข้าว ตอนนี้สถานภาพเป็นอย่างไรบ้าง

ในปีที่ผ่านมาต้องถือว่าส่งออกลดลงกันเกือบทุกคน แต่สมาชิกที่เหลืออยู่ก็เป็นสมาชิกที่แข็งแรง ที่เหลืออยู่จะผ่านวิกฤตต่างๆ มาระดับหนึ่ง ถือว่ามีความแข็งแรงมาก เพียงแต่สถานการณ์ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่ทำให้เราอยู่ในภาวะที่สุ่มเสี่ยงมาก เลยทำให้พวกเราเองทุกคนลดกำลังการส่งออก ตอนนี้ถือว่ารักษาลูกค้า เป็นลูกค้าเดิม แทบไม่ได้ลูกค้าใหม่เพิ่ม เพราะลูกค้าใหม่ก็มีความเสี่ยง ที่อาจจะมีหนี้เสียหนี้ศูนย์ในอนาคต ทุกคนจึงพยายามรักษาลูกค้าเดิมไว้ ไม่ค่อยไปขยายตลาดใหม่

อยากเห็นค่าเงินบาทอยู่ในระดับไหน

ถ้านิ่งๆ เราเห็นแล้วว่าประมาณสัก 32 บาท เป็นสิ่งที่อยู่ในสภาวะค่อนข้างดีและแข่งขันได้ แต่ตอนนี้อยู่ที่ระดับ 29-30 บาท ก็ลำบากนิดนึง ถ้าต่ำไปกว่านั้นก็จะยิ่งแย่ ซึ่งสถานการณ์ของผู้ส่งออกเองก็ต้องเรียกว่ากล้ำกลืนฝืนทนเหมือนกัน อยากให้ทุกคนเข้าใจผู้ส่งออกว่าเราเองไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคาเลย ในเรื่องราคาตลาดจะเป็นผู้พาไป รวมทั้งเราเองได้รับผลกระทบจากตลาดเช่นเดียวกัน ไม่ได้อยู่สบายๆ แต่ถ้าเป็นตลาดภายในประเทศมองว่าไม่มีปัญหา เชื่อว่าเราผ่านวิกฤตภายในประเทศเมื่อปี 2550 มาเรียบร้อยแล้ว ตอนนั้นข้าวขาวขึ้นไปกิโลกรัมละ 24-25 บาท ตอนนี้เพิ่ง 10 กว่าบาท ยังสบายๆ

33 views
bottom of page