top of page
369286.jpg

3 สายการบินแห่งชาติกับสภาวะล้มละลาย



วันนี้ Dokbia Online ขอนำเสนอเรื่องราวของ 3 สายการบินแห่งชาติ ที่มีปัญหาการเงินจนถึงขั้นล้มละลาย และบทบาทของรัฐบาลในการพยุงสายการบินให้อยู่รอด


Alitalia สายการบินแห่งชาติอิตาลี ที่แดนมักกะโรนีต้องโอบอุ้ม


- สายการบิน Alitalia (อลิตาเลีย) เริ่มให้บริการหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลอิตาลีและ British European Airways (ปัจจุบัน คือ British Airways) มีฐานการบินอยู่ที่สนามบิน Fiumicino ณ กรุงโรม และมีจิออร์จิโอ อาร์มานี ดีไซเนอร์ชื่อดังชาวอิตาลี เป็นผู้ออกแบบเครื่องแบบพนักงานและการตกแต่งภายในเครื่องบิน


- ในฐานะสายการบินประจำชาติ Alitalia เป็นผู้จัดเครื่องบินพระที่นั่งหมายเลข AZ4000 หรือ “Shepherd One” ถวายต่อพระสันตปาปาและคณะ ในการเสด็จเยือนที่ต่างๆ


- แม้ว่าอิตาลีจะเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวสุดฮอต แต่สายการบินแห่งชาติ Alitalia กลับขาดทุนตั้งแต่วันแรกที่เปิดทำการ ส่งผลให้รัฐบาลอิตาลีต้องอัดฉีดเงินอุ้ม Alitalia เรื่อยมา จนถึงปี 2006 สหภาพยุโรป (EU) มีมติห้ามรัฐบาลอิตาลีอัดฉีดเงินให้ Alitalia ทำให้รัฐบาลต้องเสาะหาภาคเอกชนมาร่วมทุน แม้ว่าหลายสายการบินจะให้ความสนใจ แต่ก็ไม่สามารถผ่านด่านสหภาพแรงงานได้ ทำให้สถานการณ์การเงินฝืดเคืองยืดเยื้อออกไป จนAlitalia ต้องยื่นขอล้มละลายในปี 2008 ทำให้รัฐบาลอิตาลีต้องยื่นมือเข้ามาช่วยอีกครั้ง


- ระหว่างปี 2009 – 2014 รัฐบาลอิตาลีสามารถหาผู้ลงทุนยักษ์ใหญ่ได้ถึง 3 ราย คือ กลุ่มนักลงทุนอิตาลี Compagnia Aerena Italiana (CAI), กลุ่มสายการบิน Air France – KLM Group, และกลุ่มสายการบิน Etihad Airways จากอาบูดาบี (Etihad ซื้อหุ้น 49% มูลค่า 560 ล้านยูโร) การเข้ามาของภาคเอกชนนำไปสู่การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ทั้งการลดค่าใช้จ่ายและการเลิกจ้างพนักงาน ท่ามการกระแสต่อต้านจากสหภาพ นอกจากนี้ Alitalia ยังต้องเผชิญกับคู่แข่งอย่าง Ryanair สายการบินโลว์คอสต์สัญชาติไอร์แลนด์ที่เข้ามาตีตลาดการบินอิตาลีอย่างดุเดือด


- แม้ว่าจะมีอัศวินขี่ม้าขาวเข้ามาช่วย แต่ Alitalia ยังประสบปัญหาการเงินอย่างต่อเนื่อง และต้องประกาศล้มละลายเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2017 รัฐบาลอิตาลีต้องกลับมาอัดฉีดเงินให้ Alitalia บินต่อไปได้ แม้ว่าจะมีกระแสคัดค้านประชาชนที่ไม่อยากให้รัฐบาลเอาเงินภาษีมาพยุงสายการบินแห่งชาตินี้อีกต่อไปแล้ว (มีรายงานว่า ระหว่างปี 2008 - 2019 รัฐบาลอิตาลีได้ใช้งบ 1หมื่นล้านยูโรอุ้ม Alitalia ทั้งในฐานะผู้ถือหุ้นและรัฐบาของประเทศ)


- ปัจจุบัน สายการบิน Alitalia ยังให้บริการในฐานะสายการบินแห่งชาติอิตาลี พร้อมทั้งเดินหน้าเจรจาร่วมทุนกับสายการบินยักษ์ใหญ่ อาทิ Delta Airlines จากฝั่งอเมริกา ไปจนถึง China Eastern จากฝั่งจีน


- ล่าสุด รัฐบาลอิตาลีได้ตกลงกับสหภาพ Alitalia ในการพักงานพนักงาน 6,600 คนเป็นการชั่วคราว (โดยพนักงานจะได้รับเงินเดือน 70% ของเงินเดือน) พร้อมเตรียมอัดฉีดเงิน 3พันล้านยูโรเพื่อพยุงให้สายการบินแห่งชาติผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ไปให้ได้


Swissair …บทเรียนราคาแพง ของอดีตสายการบินแห่งชาติสวิส


- สายการบิน Swissair เริ่มกิจการในปี 1931 มีสถานะเป็นสายการบินเอกชน โดยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ ได้เข้ามาลงทุนและทำให้Swissair กลายสถานะเป็นสายการบินแห่งชาติ โดยมีฐานการบินอยู่ที่เมืองซูริค


- หลังยุค 1960s ถือเป็นยุคทองของ Swissair เพราะตลาดสายการบินยังมีคู่แข่งน้อยและให้รายได้สูง โดย Swissair ได้ชื่อว่าเป็น The Flying Bank เพราะมีทรัพย์สินมหาศาล มีสภาพคล่องสูง และมีผู้บริหารที่ “เน้นเรื่องการบริหารเงินมากกว่าการบิน” นอกจากนี้ ความเป็นกลางของสวิสเซอร์แลนด์ ยังเป็นใบเบิกทางให้ Swissair เปิดเส้นทางการบินไปยังแอฟริกาและตะวันออกกลางได้


- อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของธุรกิจสายการบินเริ่มระส่ำในยุค 1990s เนื่องการเปิดเสรีทางการบิน ที่เชิญให้ผู้เล่นอย่าง Ryan air และ Easy Jet เข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาด ประกอบกับสงครามอ่าวเปอร์เซียและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น


- เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ในปี 2000-2001 Swissair ตกเป็นข่าวถึงสภาพการเงินที่ย่ำแย่ ที่เกิดจากการตัดสินใจพลาดของ Swiss air ที่มือเติบกว้านซื้อสายการบินต่างๆ ภายใต้กลยุทธ์ “Hunter Strategy” ตามคำแนะนำของบริษัทที่ปรึกษา Mckinsey & Co. โดยมีรายงานว่าทั้ง Swissair และ Sabena Airways (สายการบินเบลเยี่ยมที่ Swissair เข้าซื้อ) ขาดทุนถึงวันละ 1 ล้านสวิสฟรังก์ต่อวัน ซึ่งความเสียหายครั้งนี้นำไปสู่การสอบสวนผู้บริหารSwissairในปี 2007


- สถานการณ์ทางเงินเข้าสู่ขั้นวิกฤต เมื่อ Swissair ไม่สามารถจ่ายค่าน้ำมัน และค่าบินขึ้น-ลงสนามบินได้ ทำให้เที่ยวบินกว่า 230 เที่ยวถูกยกเลิก ผู้โดยสารค้างเติ่งทั่วโลก และพนักงานต้อนรับที่อยู่ต่างประเทศถูกเชิญให้ออกจากโรงแรม


- เหตุการณ์ครั้งนี้ รัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ตัดสินใจยื่นมือเขามาช่วยในรูปแบบเงินกู้ระยะสั้นก้อนใหญ่หรือ Bridge loan ก้เพื่อพยุงให้ Swissair บินต่อได้ และเพื่อคงให้สวิสเซอร์แลนด์เป็นจุดหมายการทำธุรกิจได้ต่อไป


- ปี 2002 Swissair ได้ทำการยื่นขอล้มละลายและทำการบินเที่ยวสุดท้าย (บัวโนสเรส – ซูริค) ถือเป็นเป็นการปิดฉากตำนานสายการบินแห่งชาติ 71 ปี โดยภายหลังธนาคาร UBS และ Credit Suisse ได้เข้าซื้อ สายการบิน Crossair (บริษัทลูกของSwissair) พร้อมพนักงานและเครื่องบินเดิมของSwissair และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Swiss International Air lines หรือ Swiss ที่ให้บริการมาถึงทุกวันนี้


- ปี 2005 Lufthansa Group กลุ่มธุรกิจการบินเยอรมัน เข้าซื้อ Swiss ด้วยเงินลงทุน 310 ล้านยูโร ทำให้ Swiss เป็นสายการบินแห่งชาติสวิสเซอร์แลนด์ ที่มีชาวเยอรมันเป็นเจ้าของ


- แม้ว่าในภายหลัง Swiss จะมีผลประกอบการที่ดี แต่ผลกระทบของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ตัดสินใจอนุมัติเงินกู้ 1.875 พันล้านสวิสฟรังก์ เพื่อใช้ช่วยเหลือสายการบิน SWISS สายการบินอื่นๆที่บินในสวิส รวมถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน แม้ว่าจะเป็นของต่างชาติก็ตาม เพราะรัฐบาลต้องการรักษาอุตสาหกรรมการบินไว้เพื่อเกื้อกูลการขนส่งและธุรกิจอื่นๆของสวิสเซอร์แลนด์ อีกทั้งอุตสาหกรรมการบินยังมีมูลค่าถึง 5% ของ GDP ประเทศ


South Africa Airways (SAA) สัญชาติแอฟริกาใต้ กับอนาคตที่ไม่แน่นอน


- South Africa Airways (SAA) สายการบินรัฐวิสาหกิจแห่งชาติแอฟริกาใต้ เปิดกิจการในปี 1934 ในสมัยที่แอฟริกาใต้ยังอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ โดยเริ่มให้บริการในภาคพื้นทวีปแอฟริกา ก่อนจะเริ่มเส้นทางบินข้ามทวีปไปประเทศ พร้อมบริการ in-flight movies และพนักงานต้อนรับบนเครื่อง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2


- ในยุค 1980s ประเทศตะวันตก อาทิ อเมริกาและออสเตรเลียไม่อนุญาตให้ SAA บินเข้าประเทศ เพราะชาติตะวันตกกำลังแบนนโยบาย Apartheid (การแบ่งแยกสีผิว) ของรัฐบาลแอฟริกาใต้ ทำให้ SAA ต้องพักเส้นทางเหล่านี้ชั่วคราว ก่อนจะกลับมาบินได้ใหม่ในยุค 1990s


- แม้ SAA จะเป็นสายการบินแถวหน้าของทวีปแอฟริกา แต่ SAA กลับประสบปัญหาทางการเงินและขาดทุนตั้งแต่ปี 2011 อันเป็นผลมาจากการบริหารงานที่ผิดพลาดและการคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในแอฟริกาใต้ โดยสิ้นปี 2019 สายการบิน SAA มีหนี้สินเกือบ 3พันล้านดอลลาร์


- รัฐบาลแอฟริกาใต้ได้ยื่นมือเข้ามาช่วย SAA อย่างต่อเนื่อง โดยมีรายงานว่ารัฐบาลต้องใช้งบ 1.1 พันล้านดอลลาร์ในการอุดรอยรั่ว ทำให้เกิดเป็นคำถามว่ารัฐบาลควรจะพยุง SAA ต่อไปไหม ซึ่งนาย Tito Mboweni รมต.คลังของแอฟริกาให้ความเห็นว่า SAA ควรปิดกิจการลง เพื่อที่รัฐบาลจะได้ตั้งสายการบินแห่งชาติเจ้าใหม่ร่วมกับภาคเอกชน แทนที่จะไปทุ่มงบประมาณฟื้นฟู SAA ซึ่งมองอย่างไรก็ไม่น่าจะทำได้


- เดือนธันวาคม 2019 SAA ประกาศล้มละลายและเข้าสู่กระบวนการพิทักษ์ทรัพย์ (Bankruptcy protection) โดย SAA พยายามที่จะรักษาสายการบินและพนักงานไว้ ด้วยการปรับโครงสร้างและเจรจาขอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลและเงินกู้ก้อนใหม่รวม 278 ล้านดอลลาร์


- แม้ว่าสายการบินจะอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ SAA กลับเปิดตัวเครื่องบิน Airbus A350-900 XWB ลำใหม่สำหรับเส้นทางบินโจฮันเนสเบิร์ก - นิวยอร์ก ในเดือนมกราคม 2020 เหมือนเป็นการส่งสัญญาณบวกว่า SAA จะได้รับการช่วยเหลือให้พ้นวิกฤตินี้ไปได้


- อย่างไรก็ตาม ในเดือน เมษายน 2020 รัฐบาลแอฟริกาใต้ประกาศไม่ต่อท่อน้ำเลี้ยและ ให้SAAแก้วิกฤตนี้ด้วยตัวเอง ทำให้ SAA ตัดสินใจยื่นข้อเสนอจ่ายเงินชดเชย (Severance package) ให้กับพนักงาน 5,000 คน โดยให้เวลาสหภาพแรงงานและพนักงานเซ็นรับข้อเสนอถึงวันที่ 11 พฤษภาคม และเข้าสู่กระบวนการขายทรัพย์สินทอดตลาด โดยรัฐบาลแอฟริกาใต้กำลังมองหาผู้ลงทุนภาคเอกชนมาสร้างสายการบินเจ้าใหม่ แทนสายการบิน South Africa Airways ที่อาจจะต้องปิดฉากการสายการบินแห่งชาติ 86ปี ในเร็วๆนี้

766 views

Yorumlar


bottom of page