สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นได้เพียงช่วงสั้นๆ ในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เนื่องจากการปรับตัวลงของบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่น่าผิดหวัง อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยถูกกดดันจากความไม่แน่นอนของปัจจัยในประเทศ ทั้งประเด็นทางการเมือง และสถานการณ์ของโควิด-19 รวมถึงแรงขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังสามารถฟื้นตัวขึ้นได้บางส่วน หลังรายงานการประชุมเฟดไม่ได้สะท้อนว่า สหรัฐฯ จะมีโอกาสใช้ Yield Curve Control ในระยะใกล้ๆ นี้
ในวันศุกร์ (21 ส.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 31.55 (ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์) เทียบกับ 31.14 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (14 ส.ค.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (24-28 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.20-31.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญ ได้แก่ สุนทรพจน์ของประธานเฟดในการประชุมประจำปีของเฟดที่แจ็กสัน โฮล (27-28 ส.ค.) สถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน และสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย รายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือนก.ค. ดัชนีราคาบ้านเดือนมิ.ย. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2563 (ครั้งที่ 2) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามข้อมูลการส่งออกของไทยในเดือนก.ค. และสถานการณ์การเมืองในประเทศด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย
หุ้นไทยปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อน แม้ฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,299.26 จุด ลดลง 2.09% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 49,466.48 ล้านบาท ลดลง 19.33% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.75% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 302.33 จุด
หุ้นไทยปรับตัวลงช่วงต้นสัปดาห์ โดยถูกกดดันจากตัวเลขจีดีพีไทยไตรมาส 2/63 ซึ่งหดตัวลงอย่างหนัก ก่อนจะปรับตัวขึ้นในเวลาต่อมาโดยมีแรงหนุนจากความคาดหวังต่อการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มเติม แต่อย่างไรก็ดี หุ้นไทยกลับมาเผชิญแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติช่วงกลางสัปดาห์ ประกอบกับตลาดมีความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 และปัจจัยทางการเมืองในประเทศ รวมถึงความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางของหุ้นภูมิภาค
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (24-28 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,280 และ 1,270 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,315 และ 1,335 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนก.ค. ของไทย ความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มเติม รวมถึงสุนทรพจน์ของประธานเฟด และความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 2/63 ยอดขายบ้านใหม่และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ กำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค. ของจีน
Comments