top of page
358556.jpg

เน้น Wait and See...บนความเชื่อมั่นตกต่ำ ความเสี่ยงที่ยังมีอยู่มาก


เครดิต สวิส ยังจะมีผลที่ตามมาอีก !

แนวโน้มของตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นขาลงในระยะสั้น จากความกังวลเกี่ยวกับสถานะของระบบธนาคารในสหรัฐและยุโรป โดยเครดิต สวิส (CS) ซึ่งเป็นธนาคารเก่าแก่อายุ 167 ปี เป็นธนาคารขนาดใหญ่รายล่าสุดที่เข้ามาสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาด หลังจากเกิดวิกฤตการเงินกับธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และ ซิกเนเจอร์ แบงก์ (SB) ของสหรัฐ แม้ว่าล่าสุดยูบีเอส (UBS) ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ ได้ตกลงเข้าซื้อกิจการธนาคารเครดิต สวิส ในวงเงิน 3 พันล้านฟรังก์สวิส (3.23 พันล้านดอลลาร์) แล้ว

อย่างไรก็ดีการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้มีรายละเอียดที่ทำให้นักลงทุนในตลาดหุ้นโลก ยังคงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่แท้จริงของ CS อยู่ หลังหน่วยงานฝ่ายกำกับดูแลด้านการเงินของรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ได้เข้ามามีส่วนในการกำหนดเงื่อนไขในการทำข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์นี้ด้วย โดยเฉพาะเมื่อ โคล์ม เคลเลเฮอร์ ประธาน UBS ได้ระบุว่าสถานการณ์ของ CS ยังคงเป็นเรื่องที่น่ากังวล และนี่เป็นการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน ซึ่งการซื้อกิจการดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานร่วมกันระหว่างธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์, รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ และหน่วยงานกำกับดูแลตลาดการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ โดยธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ได้ให้คำมั่นว่าจะจัดสรรเงินกู้ยืมจำนวนสูงถึง 1 แสนล้านฟรังก์ (1.08 แสนล้านดอลลาร์) เพื่อสนับสนุนการเทกโอเวอร์กิจการ ขณะที่รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ได้อนุมัติเงินค้ำประกันจำนวนสูงถึง 9 พันล้านดอลลาร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงให้กับ UBS

ขณะที่ในฝั่งสหรัฐ แม้ว่า เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ และ เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะออกมาระบุว่าสถานะด้านเงินทุนและสภาพคล่องในระบบธนาคารของสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง และระบบการเงินของสหรัฐก็อยู่ในสถานะที่ดีเช่นกัน รวมทั้งที่ผ่านมานั้นสหรัฐได้ติดต่อประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินทั่วโลก เพื่อสนับสนุนการสร้างระบบที่แข็งแกร่ง

ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ออกมายืนยันว่า ระบบธนาคารของอังกฤษยังคงมีความแข็งแกร่ง สอดคล้องกับหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบในเอเชียทั้งฮ่องกง ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ที่พร้อมใจกันออกแถลงการณ์เรียกความเชื่อมั่นประชาชน โดยต่างระบุว่าระบบธนาคารในประเทศยังคงมีความแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ แต่ดูเหมือนจะยังคงไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้มากเท่าไรนัก โดยราคาหุ้นของ CS และ UBS ปรับตัวลดลงถึง 62% และ 14% ในวันที่มีการประกาศว่า UBS ได้ตกลงเข้าซื้อกิจการ CS นอกจากนี้ผลกระทบต่อเนื่อง ยังส่งผลให้ราคาหุ้นกู้ที่นับเป็นกองทุนชั้นที่ 1 (Additional Tier 1) ของธนาคารบางแห่งในเอเชียร่วงลงอย่างรุนแรง หลังจากหน่วยงานกำกับดูแลของสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์หุ้นกู้ของ CS อาจจะหายไปถึง 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังจาก CS ขายกิจการให้กับ UBS

นักลงทุนกำลังประเมินว่า ธนาคารระดับภูมิภาคมีความเกี่ยวข้องกับหุ้นกู้ของเครดิต สวิสมากเพียงใด และจะส่งผลกระทบต่อการระดมทุนของกลุ่มผู้ปล่อยกู้หรือไม่

แบงก์สหรัฐยังไม่จบง่ายๆ แน่ ! ในส่วนของสหรัฐ แม้ว่าจะมีความพยายามในการเข้าไปช่วยเหลือธนาคารที่ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด แฟลกสตาร์ แบงก์ (Flagstar Bank) ซึ่งเป็นธนาคารในเครือของนิวยอร์ก คอมมูนิตี้ บันคอร์ป อิงค์ (New York Community Bankcorp Inc) ได้บรรลุข้อตกลงกับหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐ เพื่อเข้าซื้อสินทรัพย์ซึ่งประกอบด้วยเงินฝากและเงินกู้ ของ ซิกเนเจอร์ แบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซี และถูกสั่งปิดกิจการในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา และบรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) ระบุว่าข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้แฟลกสตาร์ แบงก์ สามารถรับช่วงการดำเนินการเงินฝากและเงินกู้ทั้งหมดในพอร์ต รวมทั้งสาขาธนาคารทั้ง 40 แห่งของซิกเนเจอร์ แบงก์ และธนาคารสาขาเหล่านี้จะยังคงดำเนินงานตามปกติ โดยที่เงินกู้มูลค่าเกือบ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ และเงินฝากมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์ของซิกเนเจอร์แบงก์ จะยังคงอยู่ภายใต้มาตรการพิทักษ์ทรัพย์ (Receivership) ของรัฐบาล แต่มีความเป็นไปได้ที่จะไม่ช่วยให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนสามารถกลับมาได้ในระยะสั้น สะท้อนออกมาจากตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการที่ราคาหุ้นของธนาคารเฟิร์สต์ รีพับลิก แบงก์ (First Republic Bank) หรือ FRB ซึ่งเป็นธนาคารในระดับภูมิภาคของสหรัฐ ยังคงปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐประกาศอัดฉีดเม็ดเงินรวมกันถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1 ล้านล้านบาทเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ FRB แล้ว ได้แก่แบงก์ ออฟ อเมริกา, เวลส์ ฟาร์โก, ซิตี้กรุ๊ป และเจพีมอร์แกน จะฝากเงินใน FRB รายละ 5 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่โกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ จะฝากเงินรายละ 2.5 พันล้านดอลลาร์ ส่วนธนาคารทรูอิสต์ ไฟแนนเชียล, พีเอ็นซี, ยูเอส แบงคอร์ป, สเตทสตรีท และแบงก์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน จะฝากเงินใน FRB รายละ 1 พันล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ FRB เป็นธนาคารที่มีปริมาณเงินฝากที่ไม่ได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลสหรัฐสูงสุดเป็นอันดับ 3 รองจากซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ และซิกเนเจอร์ แบงก์ ซึ่งถูกปิดกิจการไปก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ลูกค้าจำนวนมากพากันโยกย้ายเงินฝากออกจาก FRB ไปยังธนาคารขนาดใหญ่

นอกจากนี้ล่าสุดเอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P) ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ FRB สู่ระดับขยะ (Junk) เนื่องจากมองว่าการที่กลุ่มธนาคารรายใหญ่ 11 แห่งของสหรัฐฝากเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ที่ FRB นั้นไม่ช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่องให้กับธนาคารแห่งดังกล่าว ทั้งนี้ เอสแอนด์พีได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ FRB ลงรวดเดียว 3 ขั้น สู่ระดับ "B+" จากระดับ "BB+" ซึ่งเป็นการปรับลดอันอับความน่าเชื่อถือครั้งที่สองในเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ โดยเอสแอนด์พีระบุว่า FRB เผชิญแรงกดดันด้านสภาพคล่องอย่างสูง โดยมีกระแสเม็ดเงินไหลออกอย่างมากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า FRB จำเป็นต้องมีเงินฝากเพิ่มมากขึ้น รวมถึงจำเป็นต้องกู้เงินจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มากขึ้นและระงับการจ่ายเงินปันผลหุ้นสามัญ โดยเอสแอนด์พีระบุว่า เงินฝาก 3 หมื่นล้านดอลลาร์อาจช่วยผ่อนคลายแรงกดดันด้านสภาพคล่องในระยะใกล้ แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาด้านธุรกิจพื้นฐาน สภาพคล่อง การระดมทุน และความสามารถในการทำกำไร ซึ่งทางเอสแอนด์พีเชื่อว่า FRB กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้จากเหตุผลดังกล่าว ส่งผลให้ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เปลี่ยนแปลง +5.6% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 19.2% ต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือน ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เปลี่ยนแปลง +6.7% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 48.4%

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งต่ำกว่า 1,630 จุด เน้น “Wait and See” ไปก่อน สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจากนายหมูบินได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Weekly)

Source: TradingView

19 views

Comments


bottom of page