top of page
347550.jpg

ตลาดหุ้นโลกถอยตัวช่วงสั้นกดดัน SET...กังวลสถานการณ์ยูเครนกับรัสเซีย !



จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ประกอบกับความกังวลของนักลงทุนต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว เกี่ยวกับเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐ ส่งผลให้ทิศทางของตลาดหุ้นโลกเข้าสู่แนวโน้มของการพักฐานในระยะสั้น สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนี MSCI ACWI ซึ่งเป็นดัชนีถ่วงน้ำหนักตลาดหุ้นทั่วโลก ปรับตัวลดลง 2.33% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยตลาดหุ้นที่เป็นผู้นำในการกดดันให้เกิดการพักตัว ได้แก่ตลาดหุ้นหุ้นสหรัฐ, หุ้นยุโรป และ หุ้นญี่ปุ่น ที่ปรับตัวลดลง 2.75%, 1.65% และ 1.60% ตามลำดับ

ขณะที่สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงอยู่ในระดับสูง หลังเลขาธิการใหญ่ของ NATO ออกมาระบุว่า ไม่พบสัญญาณใดๆ ที่บอกว่า รัสเซียถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ใกล้ชายแดนยูเครน และรัสเซียยังคงมีกองกำลังใหญ่พร้อมสำหรับการบุกโจมตี สอดคล้องกับการที่ประธานาธิบดี Joe Biden ของสหรัฐ กล่าวเตือนเช่นกันว่า รัสเซียยังคงมีกำลังทหารมากกว่า 150,000 นาย ใกล้ชายแดนยูเครน

จากหลักฐานภาพถ่ายทางดาวเทียมจากบริษัท แม็กซาร์ เทคโนโลยีของสหรัฐเปิดเผยให้เห็นว่า กองทัพรัสเซียได้เคลื่อนย้ายยุทโธปกรณ์บางส่วนออกจากชายแดนยูเครนแล้ว แต่ก็มีการขนส่งอาวุธใหม่เข้ามา ซึ่งหลักฐานดังกล่าวบ่งชี้ว่า รัสเซียยังคงตรึงกำลังทหารและมียุทโธปกรณ์จำนวนมากตามแนวชายแดนยูเครน แม้กองทัพรัสเซียกล่าวอ้างก่อนหน้านี้ว่ามีการถอนกำลังทหารบางส่วนออกไปก็ตาม อย่างไรก็ตาม หากรัสเซียโจมตียูเครน NATO ก็อาจจะตอบโต้ด้วยการใช้มาตรการคว่ำบาตรภาคธนาคารของรัสเซียไม่ให้เข้าถึงสกุลเงินดอลลาร์ของสหรัฐ ซึ่งจะทำให้ธนาคารรัสเซียไม่สามารถทำธุรกรรมด้วยเงินสกุลดอลลาร์ได้

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ยังระบุว่าสหราชอาณาจักรจะคว่ำบาตรธนาคารและบริษัทของรัสเซีย หากกระทำการที่ก้าวร้าวมากขึ้นกับยูเครน ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียระบุว่า รัสเซียจะตอบโต้เช่นกันหากอังกฤษดำเนินการคว่ำบาตร

กระนั้นก็ยังคงพอมีปัจจัยบวกอยู่บ้าง จากที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดได้เปิดเผย FOMC Minute ซึ่งระบุว่า เฟดอาจจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงไปกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้แล้ว โดยที่รายงานดังกล่าว พบว่ากรรมการยังไม่มีการหารือกันเรื่องความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ยเลย ถึงแม้ทุกฝ่ายจะเห็นตรงกันว่าอัตราเงินเฟ้อสูงเกินไปแล้วขึ้น (CPI +7.5% จากระดับ 7.0% ในเดือน ธ.ค. 65 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ +7.2%) ซึ่งการที่ตลาดอาจรับรู้เรื่องการขึ้นดอกเบี้ยมากไปกว่าความจริง บ่งชี้ว่าเฟดมีความพร้อมที่จะรับมือกับตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี โดยที่สถาบันวิจัยชั้นนำของโลก อย่างโกลด์แมน แซคส์, ซิตี้กรุ๊ป และแบงก์ ออฟ อเมริกาคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 7 ครั้งในปีนี้ โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของเฟดพุ่งแตะ 1.75-2.00% ในปลายปีนี้ จากปัจจุบันที่ระดับ 0.00-0.25% สอดคล้องกับ Fed Watch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้โอกาสที่ 95% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในเดือน มี.ค. 65 จากเดิมที่ให้น้ำหนัก 35%

ต้องเฝ้าระวังจุดหมุนบริเวณ 1,655 จุด ! ในส่วนของตลาดหุ้นเอง ทางด้าน Goldman Sachs ได้ตัดสินใจปรับลดคาดการณ์ราคาเป้าหมายดัชนี S&P500 สำหรับสิ้นปีนี้ลงถึง 4% จากเดิมที่เชื่อว่าดัชนี S&P500 จะปิดสิ้นปีที่ 5,100 จุด แต่ตอนนี้ได้ปรับเป้าลดลงมาเป็น 4,900 จุด หลังจากประเมินว่าเฟดอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยมากถึง 7 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจากปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ที่ดัชนี VIX Index ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนความผันผวน และมีความสัมพันธ์เชิงลบ หรือ Negative Correlation กับตลาดหุ้น ของตลาดหุ้นสหรัฐ และยุโรปปรับตัวขึ้น 7.57% และ 31.83% สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่า สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เปลี่ยนแปลง -5.2% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 19.2% สวนทางกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เปลี่ยนแปลง +7.7% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 43.20%

ในส่วนของตลาดหุ้นไทย ปัจจัยในประเทศที่ต้องเฝ้าระวังยังคงเป็นสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในไทยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทะลุ 2 หมื่นรายไปแล้วต่อวัน ซึ่งร้อยละการตรวจพบเชื้อเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วัน ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ อยู่ที่ 19.02% แต่เสียชีวิตไม่มากที่ 27 ราย และรักษาหาย 12,511 ราย ซึ่งในขณะนี้ ศบค.ยังไม่มีมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม

อย่างไรก็ดีในส่วนของตลาดหุ้นไทยในเชิงเทคนิคตราบใดที่ SET ยังคงไม่ลงไปปิดต่ำกว่า EMA 75 วัน (ล่าสุดอยู่ที่ 1,655 จุด) อีกครั้ง แนวโน้มใหญ่ในราย 3 เดือนที่เป็นขาขึ้นจะยังคงอยู่ แต่ถ้าปิดต่ำกว่า 1,655 จุดลงมา การลงทุนระยะ 3 เดือนค่อยลดพอร์ตออกมาว่ากันใหม่ ส่วนการลงทุนระยะ 1 ปี ตราบใดที่ SET ยังคงยืนเหนือ EMA 200 วัน (ล่าสุดอยู่ที่ 1,610 จุด) ได้ ยังไม่มีอะไรน่ากังวล

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) เมื่อ SET ยังคงปิดเหนือ 1,630 จุดได้ เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,630 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97.00 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)


Source: Wealth Hunters Club

24 views
bottom of page