top of page
327304.jpg

พักสั้นๆ แต่ยังไม่เปลี่ยนแนวโน้มจากขึ้นเป็นลง


ต้องถอยก่อนในระยะสั้น !

ทิศทางของตลาดหุ้นโลกส่งสัญญาณฐานพักฐานลงในระยะสั้น หลังจากที่ดัชนี S&P500 ของตลาดหุ้นสหรัฐ, Stoxx50 ของตลาดหุ้นยุโรป และ NIKKEI ของตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปรับตัวลงมาเคลื่อนไหวต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย EMA 25 วันอีกครั้ง โดยเฉพาะดัชนี S&P500 และ NIKKEI ที่ปรับตัวลงมาเคลื่อนไหวต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย EMA 25 วันเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% พร้อมระบุว่าจะยังคงซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงินรวม 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน

อย่างไรก็ตามการที่เฟดไม่ได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ และเฟดแสดงความกังวลว่าการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 กำลังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วสหรัฐและทั่วโลก รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการออกมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐวงเงิน 1.9 ล้านล้านเหรียญ หลังจากมีกระแสการที่สภาสหรัฐอาจเสียงแตก และอาจลังเลยังไม่อนุมัติแพ็กเกจ ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐในฐานะตัวแทน หรือ Proxy ของตลาดหุ้นโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลงมากที่สุดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 50.71%, 34.78% และ 15.18% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา และผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลง 7.50% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 37.70% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่ เพิ่มขึ้น 6.60% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 38.30%

อย่างไรก็ดีถ้าพิจารณาจากการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นโลกในภาพรวม เมื่อเทียบกับดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นทั่วโลกแล้ว พบว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นหลักของโลกอย่างสหรัฐ, ยุโรป และ ญี่ปุ่นยังคงอยู่ในกลุ่มที่เคลื่อนไหวได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นโลก หรือ Outperform ขณะที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคอย่าง Asia ex Japan, ไทย และจีน กับปรับตัวลดลงมากกว่า หรือจัดอยู่ในกลุ่ม Underperform


ทั้งนี้ในเชิงเทคนิคของตลาดหุ้นไทย การที่ SET ไม่สามารถทะลุผ่าน 1,550 จุดไปได้ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ “นายหมูบิน” มองว่าในระยะสั้น SET ยังคงอยู่ในทิศทางของการแกว่งตัวลงต่อได้ โดยมีแรงกดดันหลักจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ หลังจากที่มูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging market ซึ่งมีประเทศไทยอยู่ในนั้นด้วยในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าการซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ -225 ล้านดอลลาร์ ซึ่งแย่กว่าเมื่อเทียบกับมูลค่าซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในประเทศภูมิภาคเอเชียอื่นๆ อาทิ อินโดนีเซีย +58.0 ล้านดอลลาร์ , ฟิลิปปินส์ -45 ล้านดอลลาร์ และเกาหลีใต้ -2,340 ล้านดอลลาร์ สอดคล้องกับการที่ในเชิงของเทคนิคที่ Indicator อย่าง MACD ของดัชนี Accumulated Foreign Fund Flow กลับมามีสัญญาณ Negative Convergence อีกครั้ง สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการไหลออกของเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น

แค่พักตัวระยะสั้นหลังปัจจัยหนุนยังเยอะ ! อย่างไรก็ดี “นายหมูบิน” ยังคงมองว่าการพักฐานลงของตลาดหุ้นโลกจะเกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น หลังจากที่ล่าสุดวุฒิสภาสหรัฐมีมติด้วยคะแนน 84 ต่อ 15 เสียง เห็นชอบให้ Janet Yellen อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังคนใหม่ ซึ่งทำให้ Janet Yellen กลายเป็นสุภาพสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐส่งสัญญาณฟื้นตัวแล้ว สะท้อนออกมาจากตัวเลข Initial Jobless Claim ที่ระดับ 847,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 875,000 ราย จากระดับ 914,000 รายที่มีการรายงานในสัปดาห์ก่อนหน้านี้

ขณะที่ Conference Board เปิดเผยว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ของสหรัฐปรับตัวขึ้น 0.3% สู่ระดับ 109.5 ในเดือน ธ.ค. 2563 โดยดีดตัวขึ้น 8 เดือนติดต่อกัน และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือน พ.ย. 2563 สอดคล้องกับทางด้านผลสำรวจของ Conference Board ที่ระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 89.3 ในเดือน ม.ค. 2563 จากระดับ 87.1 ในเดือน ธ.ค. 2563 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 89.0

ในสถานการณ์ที่ปัจจุบันสหรัฐเร่งฉีดวัคซีนต้าน COVID-19 ให้ประชาชนไปแล้วกว่า 20 ล้านโดส และขณะนี้พบว่าในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ยอดติดเชื้อ COVID-19 ภายในประเทศลดลง 21% ในส่วนของภาพใหญ่ของเศรษฐกิจโลก ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกหดตัว 3.5% ในปี 2563 ซึ่งดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ที่ระบุว่าเศรษฐกิจโลกอาจหดตัว 4.4% นอกจากนี้ IMF ยังปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 สู่ระดับ 5.5% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าอาจจะขยายตัว 5.2% และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 4.2% ในปี 2565

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังคงไม่ลงไปปิดต่ำกว่า 1,500 จุดอีกครั้ง เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,500 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

26 views
bottom of page