บนความคืบหน้าวัคซีน !
ความคืบหน้าหลังจากที่ประธานาธิบดี Donald Trump ประกาศว่าสหรัฐกำลังจะมีวัคซีน COVID-19 ภายในไม่กี่อาทิตย์นี้ หรือประมาณ 4-8 สัปดาห์ นอกจากนี้ประธานาธิบดี Donald Trump ยังกล่าวว่าการทดลองของบริษัท Pfizer, Johnson & Johnson, Moderna และบริษัทอื่นๆ อีกมากมาย ผลการทดลองกำลังเป็นไปอย่างราบรื่น และสหรัฐจะสั่งให้มีการกระจายยาวัคซีนทันทีที่ทดลองสำเร็จ
ขณะที่บริษัท AstraZeneca ประกาศว่าจะกลับมาทดลองวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 ในเฟส 3 อีกครั้ง หลังระงับโครงการไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และบริษัท Pfizer ได้แสดงความเชื่อมั่นว่าวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 ที่ Pfizer กำลังพัฒนาร่วมกับบริษัท BioNTech ซึ่งเป็นบริษัทยาของเยอรมันนั้น มีความปลอดภัย และคาดว่าจะสามารถฉีดให้กับชาวสหรัฐได้ก่อนสิ้นปีนี้
หากเป็นจริงอาจจะทำให้สหรัฐมีวัคซีนก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และจะเป็นโอกาสที่ประธานาธิบดี Donald Trump จะสามารถนำคะแนนเสียงกลับมาจาก Joe Biden ได้
รวมทั้งการที่เจ้าหน้าที่จากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีนเผยว่าวัคซีน COVID-19 หลายขนานที่พัฒนาขึ้นในประเทศจีน อาจพร้อมใช้งานกับประชาชนทั่วไปเร็วที่สุดในเดือน พ.ย. นี้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวขึ้น สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้น 0.83% สอดคล้องกับทิศทางของดัชนี VIX Index ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนความผันผวนของนักลงทุนในตลาด และมีความสัมพันธ์ หรือ Correlation ในทิศทางตรงกันข้ามกับตลาดหุ้น โดยเป็นการหาค่า Volatility (ค่าความผันผวน) ผ่านตัว Option
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะพบว่าดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ และยุโรป ลดลงลง 10.94% และ 9.83% โดยปัจจุบันดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ และยุโรป เคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 25 วัน (SMA 25) สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่ลดลง ซึ่งทิศทางดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เพิ่มขึ้น 8.31% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมามาอยู่ที่ 32.02%
ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่ลดลง 8.06% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 40.39%
นักลงทุนผิดหวังเล็กๆ กับเฟด ! ทั้งนี้แม้ว่าในรายสัปดาห์ตลาดหุ้นโลกยังคงมีแนวโน้มที่จะ Rebound ต่อเนื่องได้ จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0-0.25% และจากการเปิดเผย Dot plot หรือมุมมองอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ หรือ FOMC ซึ่งสะท้อนว่าจะคงไว้ที่อัตราดังกล่าวไปอย่างน้อยจนถึงปี 2566
ขณะเดียวกันเฟดยังยืนยันเช่นเดิมว่าจะใช้เครื่องมือการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และยังคงการเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งพันธบัตรและ MBS ในอัตราเท่าเดิม คือที่ 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดการเงิน สำหรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจพบว่าเฟดคาด GDP ของสหรัฐในปี 63 จะหดตัว 3.7% ลดลงจากประมาณการเมื่อเดือน มิ.ย. 63 ที่คาดว่าจะหดตัวถึง 6.5% และคาด GDP ของสหรัฐในปี 2564 จะกลับมาขยายตัว 4% ด้านอัตราการว่างงานมีประมาณการที่ดีขึ้นเช่นกัน คาดไว้ที่ระดับ 7.6% จาก 9.3% ในการประชุมครั้งก่อน เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อ ที่เฟดคาดการณ์ตัวเลข PCE ไว้ที่ 1.2% และ Core PCE คาดที่ 1.5% เพิ่มขึ้นจากประมาณการเมื่อเดือน มิ.ย. 63 ที่ 0.8% และ 1.0% ตามลำดับ อย่างไรก็ตามนักลงทุนในตลาดยังผิดหวังที่เฟดยังคงการเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งพันธบัตรและ MBS ในอัตราเท่าเดิม ซึ่งมีบางส่วนคาดว่าจะมีการเข้าซื้อสินทรัพย์เพิ่มขึ้น ส่วนการคงอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก 3 ปีเป็นเรื่องที่ตลาดคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว
เฟดระบุว่าการจะขยายมาตรการ QE และเพิ่มการเข้าซื้อสินทรัพย์อาจเป็นไปได้ยากมากชึ้น หลังจากการปรับมุมมองเศรษฐกิจของเฟดดีขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าความจำเป็นในการทำ QE น้อยลง สวนทางกับตลาดที่อยากให้มีการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมหลัง Jerome Powell ประธานเฟดจะระบุว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และทิศทางเศรษฐกิจในวันข้างหน้ายังคงมีความไม่แน่นอนที่สูงมาก และถึงแม้ตัวเลขการจ้างงานเริ่มฟื้นตัวเนื่องจากประชาชนเริ่มกลับเข้าทำงาน แต่อัตราว่างงานที่ระดับ 8.4% ในเดือน ส.ค. 63 ยังถือว่าสูงมาก
นอกจากนี้ในแถลงการณ์ของเฟดยังเปิดเผยแนวทางของเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 2% ที่เพิ่งเข้ามาแทนที่เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% โดยคณะกรรมการ FOMC มีวางเป้าให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นไปสูงกว่าระดับ 2% ได้บ้าง โดยใช้คำว่า 'Moderately' ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2%
ขณะที่แนวโน้มของตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิคระยะสั้น “นายหมูบิน” ยังคงยืนยันมุมมองเดิมว่าสำหรับตลาดหุ้นไทย ตราบใดก็ตามที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิด เพื่อสร้างฐานในกรอบ 1,370-1,400 จุดได้ การดีดตัวขึ้นช่วงสั้นยังคงมองว่าเป็นเพียงแค่การ Technical Rebound เท่านั้น และยังคงไม่สามารถยืนยันการปรับตัวขึ้นต่ออย่างจริงจังได้ รวมทั้งโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะยังคงขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย หรือ Foreign Fund Flow จะยังคงไหลออกยังคงมีอยู่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะขายสุทธิออกมาแล้ว 2.6 แสนล้านบาทตั้งแต่ต้นปี 63 หลังจากที่ Indicator ระยะกลางอย่าง MACD ของดัชนี Accumulated Foreign Fund Flow ยังคงมีสัญญาณ “Negative Convergence” อย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังกลับไปยืนเหนือ 1,370 จุด (+/-) ไม่ได้ เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น CPALL, BJC, BEM, EGCO, BCH, GPSC, BTS, HMPRO, ADVANC และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Commentaires