ขณะที่ภาคการส่งออกทำท่าว่าจะดีวันดีคืน แต่วิกฤตโควิด-19 กลับคืบคลานสร้างปัญหาต่อภาคการผลิตของไทย หลังการระบาดหนักเป็นกลุ่มก้อนในผู้ใช้แรงงานทั้งไทยและต่างชาติ ทำให้หลายโรงงานขาดแคลนแรงงาน ต้องลดกำลังการผลิต ชะลอ หรือต้องปิดโรงงานชั่วคราว แจง..ปัญหานี้เกินวิสัยที่ภาคอุตฯ จะแก้ได้โดยลำพัง ภาครัฐทั้งกระทรวงสาธารณสุข-กระทรวงแรงงาน ต้องเข้ามาแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการจัดหาวัคซีนมาฉีดให้แรงงานทั้งไทยและต่างชาติอย่างทั่วถึง รวมถึงจัดทำแผนในการนำแรงงานต่างชาติที่กลับบ้านก่อนหน้านี้ร่วมล้านคนให้กลับมาทำงานโดยเร็ว เตือน...หากแก้ปัญหาล่าช้า ภาคการผลิตของไทยมีสิทธิ์พังทั้งระบบ
Interview : คุณพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน
วันนี้แรงงานในประเทศไทย มีปัญหามากน้อยขนาดไหน
ตอนนี้มีปัญหา อย่าลืมว่านับจากเกิดโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่แล้วมา ภาคที่กระทบน้อยที่สุดคือภาคอุตสาหกรรม ช่วงแรกปัญหาโควิดยังไม่ลงไปถึงภาคแรงงานเท่าไหร่นัก เพิ่งจะมาลงหนักช่วงต้นปี 2564 นี้ โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกของปี ซึ่งช่วงแรกจะโดนแค่แรงงานมหาชัย สมุทรสาคร สมุทรสงครามบ้าง สมุทรปราการ และนนทบุรีเล็กน้อย แต่ในปัจจุบันกลับกระทบทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้มคือกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดนกันหมด เพราะเป็นเมืองเป็นจังหวัดอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นสมุทรสาคร สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี อยุธยา สระบุรี ลพบุรี สงขลา โดนกันหมดครบถ้วน ซึ่งมันเป็นแหล่งใหญ่ของอุตสาหกรรมจริงๆ
ในตัวเศรษฐกิจตัวนี้เอง เมื่อเราดูมันเหลือเครื่องจักรด้านส่งออกในภาคอุตสาหกรรมที่ยังเติบโตได้ตลอด เมื่อเดือนก่อนก็บวก 44% เมื่อเดือนกรกฎาคมบวก 20% เศษๆ ถ้าตัดพวกทองและน้ำมันออก จะเหลือ 25% กว่าๆ ลงมาบ้างแต่ก็ยังบวกอยู่พอสมควร ซึ่งในเดือนสิงหาคมนี้ก็ยังบวกอยู่ และไปถึงเดือนกันยายนก็ยังบวก แต่ว่าจะบวกเท่าไหร่ ซึ่งปัญหาดิสรัปที่มันเกิดจากภาคการผลิตมันเยอะ ตั้งแต่ค่าระวางเรือ ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเรื่องตู้คอนเทนเนอร์แก้ปัญหาแล้ว แต่ค่าระวางเรือยังแพงมาก 100% เลย และต้นทุนการผลิตหลายอย่างเช่นน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเชื้อเพลิง ขึ้นมาเยอะเหลือเกิน ต้นทุนมันขึ้น ยังโชคดีที่ค่าเงินบาทอ่อนมาช่วยได้หน่อย แต่วันนี้ภาคการผลิตเกิดปัญหา มีการระบาดของโควิดเป็นเข้าคลัสเตอร์ในโรงงาน เยอะพอควร ยิ่งอุตสาหกรรมถ้าแปรรูปยิ่งโดนหนักเลย มีพวกแรงงานต่างด้วยก็ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้นตอนนี้ จะต้องรีบแก้ปัญหาเหล่านี้ ถ้าไม่แก้มันจะมีผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตอย่างมาก
ตอนนี้ในตลาดแรงงาน มีแรงงานอยู่จำนวนมากน้อยแค่ไหน
ถ้าในมาตรา 33 แรงงานในประเทศไทยจะมีอยู่ประมาณ 30 ล้านคนเศษๆ เราตัดภาคการเกษตรไป 12 ล้านคน ก็จะเหลือประมาณ 18-19 ล้านคนที่อยู่ในภาคแรงงานภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ วันนี้ในภาคบริการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเต็ม 100% กลายมาเป็นคนตกงาน แต่สำหรับภาคการผลิตกลายมาเป็นขาดคนงาน เพราะแรงงานต่างด้าว กลับไปเยอะมากตั้งแต่ปีที่แล้ว และกลับเข้ามาไม่ได้เพราะเราปิดชายแดน และเราก็ยังติดปัญหาแรงงานไทย ที่ไม่สามารถทำงานเหมือนแรงงานต่างด้าวได้ ในส่วนนี้คือประมาณ 18 ล้านคนอยู่ในมาตรา 33 ประกันสังคมประมาณ 11 ล้านคนเศษๆ ส่วนมาตรา 39 และมาตรา 40 มีประมาณ 2 ล้านคนกับ 3 ล้านคน แรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายไม่ได้อยู่ในประกันสังคมประมาณ 1 ล้านคน และกลุ่มต่างด้าวที่มีปัญหาเรื่องบัตรทั้งหลายสีเทาสีดำลักลอบเข้ามา ที่รัฐบาลมีมติครม.ออกมา ส่วนนี้ก็เป็นล้านคนเหมือนกัน และยังมีคนไทยที่ไม่ได้เข้ามาตราอะไรเลย โดยยังมีอาชีพอิสระอีกเยอะ ที่รับจ้างอย่างขับแท็กซี่ ดังนั้นแรงงาน 20 ล้านคนมีแน่ในส่วนนี้
ที่สภาหอการค้าไทยนำเสนอ 6 มาตรการแก้ไขออกมา มีความจำเป็นเร่งด่วนแค่ไหน
เรามองการแก้ปัญหาระยะสั้นอย่างเร่งด่วน และระยะกลาง ยังไม่ถึงระยะยาว คือวันนี้ในกระบวนการผลิตทั้งหมด แรงงานถูกดิสรัปจากโรคเยอะ และนั่นคือคำตอบสุดท้ายจริงๆ ต้องรีบแก้ วันนี้จากที่ได้ตัวเลขจากกระทรวงแรงงานมา ณ ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม รวมถึงที่ได้จากกระทรวงสาธารณสุขมีแรงงานที่ได้ฉีดวัคซีนแค่ประมาณ 2.5-2.6 ล้านจากตัวแรงงานทั้งหมด 18 ล้านคน เอาแค่ประกันสังคมก็ประมาณ 11 ล้านคนแล้ว ที่ได้มาจาก 1.5 ล้าน และคนต่างด้าวฉีดวัคซีนน้อยมาก แทบจะไม่ได้ ยังน้อยอยู่ตอนนี้คนต่างด้าวเพิ่งเริ่มได้ฉีด ฉะนั้นถ้าไม่รีบจัดหาวัคซีนโดยด่วน เชื่อว่าคลัสเตอร์โรงงานจะติดมากขึ้นเรื่อยๆ และดิสรัปการผลิต
เราต้องเร่งเลยทั้งในจังหวัดที่ใช้แรงงานเข้มข้นมากๆ และเป็นภาคการผลิตทั้งไทยและเทศ อยากให้วัคซีนทั่วถึงทุกจังหวัดที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ในช่วงที่ผ่านมาการฉีดวัคซีนให้แรงงานได้แค่กรุงเทพฯ กับอีก 4 จังหวัดเท่านั้นเอง คือปทุมธานี นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ซึ่งเราต้องกระจายไปที่อื่นที่ใช้แรงงานเยอะด้วย ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อการผลิตแน่นอน ถ้าส่วนนี้โดน เรื่องการส่งออกมีปัญหาแน่ นอกจากนี้ กระบวนการแปรรูปโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าการเกษตร และอาหารบ้านเราซึ่งเป็นรากหญ้าเกษตรกรก็จะมีปัญหาตามมา นอกจากนี้ การผลิตเพื่อการบริโภคภายใน ถ้าดิสรัปไป สินค้าขาดแคลนอีก ดังนั้นเหล่านี้คือหัวใจเลย
ทั้งนี้เราให้การสนับสนุนโครงการแซนด์บอกซ์ของกระทรวงแรงงานมาก โดยตอนนี้เริ่มที่สมุทรสาครก่อน ตอนนี้กำลังทดลองอยู่ ซึ่งเราดูแล้วเป็นโครงการที่ดีมาก ถ้าสามารถกระจายออกไปทุกจังหวัดที่มีแรงงาน คาดว่าจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อแรงงานได้
ส่วนมาตรการต่อไปที่เสนอคือช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีแรงงาน 50 ขึ้นไป ในการจัดเตียงหรือที่พัก กักคนงานไว้ก่อน เป็นการเฝ้าระวังดูหากสงสัยว่าติดโควิด วันนี้ปัญหาก็คือถ้ามีคนเจ็บหนักขึ้นมา เตียงที่เหลือมันไม่พอ กระทรวงแรงงานเอง ประกันสังคมเอง สาธารณสุขเองต้องรีบดู ไม่เช่นนั้นจะไม่สัมพันธ์กัน
อีกมาตรการหนึ่งคือ จากมติครม.เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ให้แรงงานทั้งหลายที่สีเทาสีดำ บัตรขาดหมดอายุ ให้มาขึ้นทะเบียนใหม่ได้ ส่วนนี้ขอให้กระบวนการมันชัดเจนหน่อย คือที่ผ่านมายังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะข้อสำคัญคือถ้ากระบวนการนี้สำเร็จก็จะมีวัคซีนฉีดให้เขา ซึ่งถ้าไม่มีวัคซีนฉีดให้เขา นายจ้างที่ไหนจะรับเข้าทำงาน ตรงนี้ก็ควรจะใช้วัคซีนโควตาพิเศษให้คนกลุ่มนี้ด้วยว่าถ้ามารายงานตัวเรียบร้อย ขึ้นทะเบียนกับนายจ้างให้มารับตัวไป ตรงนี้ก็ประมาณ 1.3 ล้านโดส
และมาตรการสุดท้ายที่เสนอคือ ต้องมองระยะถัดไปว่าที่รัฐบาลต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยด่วน 120 วันที่จะเปิดประเทศ เราจะมั่นใจได้ถ้ามีการฉีดวัคซีนมากขึ้นในภาคประชาชน ซึ่งขณะนี้ยังน้อยอยู่ ดังนั้นในส่วนนี้ เรามองว่าเศรษฐกิจต้องโตต่อ แต่วันนี้แรงงานในประเทศไทยมันขาดแคลนจริงๆ ในส่วนภาคการผลิต ถ้าถึงเวลาที่จะต้องเปิด ก็จะไม่มีแรงงาน จากตัวเลขของกระทรวงแรงงานเคยแจ้งมาแรงงานที่กลับประเทศมีจำนวนถึง 5 แสนคน แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นล้านคน
ทีนี้กระบวนการที่จะนำแรงงานต่างชาติกลับเข้ามา ต้องมานั่งเริ่มคิดกันแล้ว ตั้งทีมขึ้นมาระหว่างกระทรวงแรงงาน สาธารณสุข มหาดไทย ตม.ทั้งหมด ร่วมกับเอกชนเพื่อตั้งโรดแมปที่จะเอาคนงานเข้ามาใหม่อย่างถูกต้อง และสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย ต้องเริ่มคิดตอนนี้เลย ปล่อยช้าไม่ได้
ในภาคปฏิบัติต้องทำอย่างไร
ทางกระทรวงแรงงานทำอยู่มากเลยตอนนี้ จริงๆ การฉีดวัคซีนเขาพร้อม ของเราประกันสังคมพร้อม ตอนนี้เพียงเราขอความร่วมมือจากสาธารณสุขเท่านั้นเองในแง่การจัดวัคซีน เพราะการจะฉีดให้แรงงานที่ไม่มีมาตรา 33 คงต้องประสานทางสาธารณสุขเพื่อจัดพื้นที่ฉีดไว้ให้ จริงๆ เรื่องนี้มีการประชุมรัฐมนตรีมาหลายครั้งแล้วก่อนจะระบาดหนัก และตามจุดชายแดนเรามีให้กับตัวแรงงานใหม่อยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่เริ่มเท่านั้นเอง ส่วนการแก้ปัญหาแรงงานสีเทาสีดำตามมติครม. ส่วนนี้ส่วนตัวเชื่อว่าทุกคนพร้อมหมด เหลือแต่วัคซีน สุดท้ายเอาแรงงานมาแต่ไม่ได้ฉีดวัคซีน นายจ้างไม่กล้าจ้างแน่นอน เรื่องนี้ทางโรงงานขับเคลื่อนมานานแล้ว ถือว่าหนักพอควรสำหรับส่วนนี้ แต่ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
เรื่องการขาดแคลนแรงงาน ตรงนี้จะรอได้นานแค่ไหน
เราไม่ได้อยากจะมองในมุมร้าย แต่เท่าที่ทราบมา ทางกระทรวงสาธารณสุขบอกว่าทางรัฐบาล จากนี้ไปก็พยายามจัดสรรวัคซีน และตัวเลขวัคซีนจากนี้ก็จะมากขึ้น ซึ่งที่ทราบมาตอนนี้ได้จัดสรรออกมาแล้ว
ตอนนี้ภาคการผลิต ไม่ได้ผลิตเต็มกำลัง
มันจะมีดิสรัปบางส่วนที่ต้องปิดเลย บางส่วนนำแรงงานไปกักตัวเยอะ เลยต้องชะลอหรือหยุดโรงงานเลย
จังหวัดที่เป็นแบบนี้ ทำการผลิตไม่ได้ เปลี่ยนเป็นว่าใช้เครื่องจักรที่จะทดแทนแรงงานได้ไหม
ตรงนี้สามารถตอบได้เลยว่า ตั้งแต่นโยบายแรงงาน กฎหมายแรงงานของอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ค่าแรง 300 บาท ผู้ประกอบการเองก็ได้พยายามปรับแล้ว เพราะค่าแรงขึ้นไปตอนนั้น 70-80% เลย และพอมานโยบายของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ สมัย คสช. และรองนายกฯ สมคิด ก็ผลักดันเรื่อง AI นำโรบอตเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต ก็มีการปรับอยู่ แต่รอบนี้ปัญหาแรงงานมันมาอย่างเต็มๆ ด่วนๆ ดังนั้นก็ต้องปรับต่อไปเท่านั้นเอง แต่ทุกคนอย่างไรก็ต้องมีแรงงานอยู่ในมือ เพราะถ้าภาคการผลิตสามารถใช้เครื่องจักรได้หมด ต่างประเทศก็คงไม่มาผลิตที่บ้านเรา คงไปที่อื่นแทนกันหมด เพราะใช้เครื่องจักรกันหมด ฉะนั้นเราต้องขายทั้งสมรรถภาพ ประสิทธิภาพ จากระบบทั้งหลายมาบวกกับสกิลของคนด้วย
ยุคนี้ที่ไทยติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ เขามีเงื่อนไขในเรื่องของความปลอดภัยในเรื่องความเสี่ยงด้านโควิด-19 กับแรงงานบ้างไหม
ตอนนี้ยังไม่มีเป็นทางการ มีเฉพาะของจีนนิดหน่อย ซึ่งตอนนี้ทางกระทรวงเกษตรฯ ทั้งกรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กำลังประสานงานกับทางจีนอยู่ ในการที่จะผลิตตรวจสอบอย่างไรก่อนจะส่งของไป แต่สำหรับของรัฐบาลและผู้ประกอบการเองตั้งแต่กลางปี ทางจีนกับทางเรา สมาคมหอการค้าทั้งหลายที่แปรรูปสินค้าอาหารจากการเกษตร เราเห็นปัญหาแล้ว และได้ร่วมกันทำ 4 กระทรวง คือกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรฯ ทำเป็นมาตรการ เป็นไกด์ไลน์ของทางกระทรวงสาธารณสุข คือให้กรมของกระทรวงเกษตรฯ ช่วยตรวจสอบในการทำพรีเวนชัน หรือทำการป้องกัน คือทำมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ซึ่งก็ได้ผลพอสมควรในส่วนนี้
ทีมของประเทศไทย ในการแก้ปัญหาแรงงานจากผลกระทบโควิดจะตั้งขึ้นมาแบบไหนอย่างไร
ก็คงเป็นหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่นกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ตม. หลักๆ ที่เกี่ยวกับการนำเข้าพวกแรงงาน ส่วนภาคเอกชนก็จะมีสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สภานายจ้าง เข้ามาช่วยกันดูในส่วนนี้เพื่อหาแนวทาง แต่ที่ผ่านมาก็มีนโยบายอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าตอนนี้ต้องเร่งรีบ ซึ่งถ้าเราไม่รีบเอาแรงงานเข้ามา อนาคตจะเสียเปรียบ เพราะถ้าโอกาสเศรษฐกิจกลับมา แต่เราทำไม่ได้ ก็จะเสียโอกาส
Comments