top of page
312345.jpg

หุ้นไทย-หุ้นโลกแพงเวอร์ + ปัจจัยลบบาน...แนะลงทุนสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ


Interview : ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์


หลัง Fed อัดฉีด QE แบบ Unlimited และการระบาดของโควิด-19 รอบแรกเริ่มเบาบางลง ทำให้ตลาดหุ้น-บอนด์ ทั่วโลกกลับมาคึกคักในช่วง มี.ค.-เม.ย. แต่ไตรมาส 3 ตลาดหุ้น-การลงทุนจะเริ่มย่อตัวลง จากความเสี่ยงหลักคือราคาหุ้นค่อนข้างสูง การอัดฉีด QE ของ Fed เริ่มลดลง Trade War จีน-อเมริกาจะกลับมาอีกครั้ง ความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และเศรษฐกิจ-การเงินของจีนอยู่ในอาการน่าเป็นห่วง แนะ...ถือเงินสด รอจับจังหวะช่วงไตรมาส 3 เลือกหุ้นรายตัวในกลุ่มอาหาร โรงพยาบาล สื่อสาร คมนาคม รวมทั้งลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่นตราสารหนี้อินเวสต์เมนต์ เกรด และทองคำ

ผ่านมาครึ่งปีและกำลังจะเข้าสู่ไตรมาส 3 สถานการณ์หุ้นจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร

หลังเจอโควิด-19 ก็ลงไปบ้าง แต่ว่าก็ยังฟื้นขึ้นมาได้

หลักๆ ก็คือตลาดหุ้นทั่วโลกกำลังจะปรับฐานเมื่อเทียบกับสถานการณ์ตอนต้นปีกับปัจจุบัน หุ้นบางตลาดโดยเฉพาะของแนสแด็ก หลังจากลงไปเพราะโควิด-19 เดือนมีนาคมและเมษายนตอนนี้ก็ฟื้นขึ้นมา แนสแด็กขึ้นมาเกิน 5% แล้ว ส่วนหุ้นตัวอื่นๆ ยังขึ้นมาแล้วแต่ก็ยังต่ำกว่าต้นปีหน่อย เช่น S&P500 ขึ้นมาในช่วงเดือนมิถุนายน แต่ก็ยังต่ำกว่าตอนต้นปีประมาณ 6-7% ของญี่ปุ่น-ดาวน์โจนส์ก็ยังต่ำกว่าราว 12% แถวๆ นั้น เช่นเดียวกับของไทย

พูดง่ายๆ คือพอเข้ากลางปี เดือนมิถุนายนตลาดหุ้นโลกฟื้นขึ้นมาพอสมควรเหมือนกัน ทั้งที่ยังมีเรื่องของความเสี่ยงมาตั้งแต่ต้นปีคือเรื่องโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น

หลักๆ จะเล่าให้เห็นภาพก่อนก็คือว่า ช่วงที่ผ่านมาหุ้นฟื้นเพราะอะไร ลงเพราะอะไร

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา หุ้นฟื้นด้วยปัจจัยหลักๆ คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลก แต่พอเกิดโควิด-19 ระบาดในเดือนมีนาคมก็เกิดปัญหาสภาพคล่อง ทำให้หุ้นปรับลงกันไป จนกระทั่งทางการประเทศต่างๆ ช่วยฟื้นฟู เช่นเฟดอัดฉีดแบบ Unlimited ทำ QE ลดดอกเบี้ย ส่วนของไทยก็ลดดอกเบี้ยด้วยเหมือนกัน แล้วก็มีการช่วยบอนด์อะไรต่างๆ ก็ทำให้หุ้นทั่วโลกรวมถึงไทยได้อานิสงส์ ตัวงบดุลของเฟดอัดฉีดประมาณ 4 ล้านล้านดอลลาร์ ขึ้นมาเป็น 7 ล้านล้านดอลลาร์ คือขึ้นมา 50-60% ในช่วง 2-3 เดือน ถือว่าสูงมาก ตรงนี้คือปัจจัยแรกที่ทำให้หุ้นกลับมาใหม่

ส่วนปัจจัยสอง คือเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ทั่วโลกเริ่มมีการเปิดเมืองมากขึ้น ส่วนของไทยก็เพิ่งเปิดเฟส 4 หลายๆ แห่ง โรงเรียนก็จะเปิดมากขึ้น และมีการยกเลิกเคอร์ฟิว

สำหรับปัจจัยต่อมา คือเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ได้รุนแรงมากหลังโควิด-19 ผ่อนคลาย เช่นเรื่องสงครามการค้า ถ้าจำได้เมื่อเดือนพฤษภาคมจะมีสงครามเย็นระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา เรื่องภาษีที่จะกลับมาขึ้นอีกรอบหนึ่ง หลังจากสหรัฐอเมริกาไปพูดกับจีนอีกครั้งหนึ่งว่าคุณไม่ได้นำเข้าตามที่ตกลงไว้กันในสนธิสัญญาเฟสแรก แต่กลายเป็นว่าภาพเหมือนดีขึ้น จีนก็เปิดให้สายการบินต่างชาติเข้าจีนมากขึ้น สหรัฐอเมริกาที่เคยไปแบนสายการบินจีนก็ดูเบาบางลง และตัวผู้แทนการค้าก็ออกมาบอกว่าจีนเริ่มนำเข้าตามที่ตกลงกันไว้ได้แล้ว สัญญาณแบบนี้คือไม่ค่อยแย่ รวมถึงสงครามการเมือง การประท้วงอะไรต่างๆ ไม่ได้แย่มากนัก

สิ่งสุดท้ายก็คือตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มฟื้นตัว เราเห็นการจ้างงานของอเมริกาล่าสุดดีขึ้นมหาศาล คาดว่าการจ้างงานในสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มขึ้น จากที่ลดลงไป 7 ล้าน กลายเป็นว่าบวกขึ้นมา 7 ล้านกว่า เรื่องของดัชนี PMI ดัชนีการจัดซื้อทั่วโลกก็ฟื้นขึ้นจากเดือนเมษายน

3-4 ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้หุ้นในช่วงที่ผ่านมาขึ้นมาค่อนข้างแรง แต่ว่าหลังจากขยับขึ้นมาแล้วในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมิถุนายน กลับมีแรงขายออกมาหลักๆ ก็คือเรื่องการประชุมของเฟดที่เริ่มประกาศลดทอนการอัดฉีด QE คือจากที่ตั้งเป้า Unlimited กลายเป็นว่าอัดฉีดเดือนละ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ จริงๆ แล้วการเข้าซื้อ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับสมัยวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดก็มองว่าตอนนี้จากที่กระตุ้นอย่างไม่คิดชีวิต ก็เริ่มมีการจำกัดแล้วหุ้นก็เลยทำท่าจะลงอีก

ตรงนี้คือภาพของโลก ส่วนของไทยก็เป็นเช่นเดียวกัน เริ่มมีการปรับฐาน เช่นเดียวกับของโลก

เทียบกับช่วงโควิดระบาดใหม่ๆ ตอนนี้ความเชื่อมั่นเริ่มกลับเข้ามา

ใช่ ก็คือความเชื่อมั่นเข้ามามากขึ้น จนทำให้ภาพตลาดหุ้นค่อนข้างดี

แต่ว่าเราทราบกันดีว่าเรื่องโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจใน Q2 และ Q3 จะยังแย่อยู่ค่อนข้างเยอะ ทำให้เรื่องผลตอบแทนของบริษัทจดทะเบียนลดลงค่อนข้างเยอะ แม้การที่ Liquidity มีสภาพคล่องเข้ามา สถานการณ์ดูเหมือนจะดูดีขึ้นมาก หุ้นเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนอยู่ ในช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน เงินลงทุนก็ไหลเข้าตลาดหุ้นเพิ่มมาก อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันคนก็กลัวเพราะเงินลงทุนไหลเข้าในหุ้นกลุ่มที่อาจจะมีความเสี่ยง เช่นหุ้นที่โดนผลกระทบต่อสถานการณ์ธุรกิจการบิน เรื่องของการท่องเที่ยวจึงมีการเทขายมาบ้าง ซึ่งเรามองว่าภาพต่อไปในช่วง Q3 จะมีการย่อตัวลง

ประเด็นที่สนับสนุนว่า Q3 หุ้นจะมีทิศทางลง อย่างแรกคือราคาหุ้นที่ค่อนข้างสูง P/E Ratio ของตลาดโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยค่อนข้างสูงแล้ว ช่วงดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ 1,380-1,400 P/E ก็ 18 เท่าแล้ว ถ้าดูเฉลี่ยทั้งปีก็ประมาณ 20 เท่า ซึ่งถือว่าสูงมาก ก่อนโควิด-19 มันแค่ 15-16 เท่าเท่านั้น คาดว่าต่อไป Earning จะไม่ดีมาก ก็เลยทำให้ P/E ค่อนข้างสูง พอ P/E ขึ้นสูงมาก ตลาดก็จะเริ่มกังวลและเริ่มมองว่ามันสูงเกินไปหรือเปล่า

ส่วนเรื่องที่สองก็คือเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ลดลง คือการอัดฉีดยังสูงอยู่ แต่เริ่มมีเหตุและมีผลมากขึ้น ไม่ได้อัดฉีดแบบไม่ลืมหูลืมตา เริ่มคิดมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็แน่นอนมีผลต่อการลงทุนบ้างพอสมควร

ขณะที่เรื่องที่สามก็คือเรื่องความเสี่ยงของสงครามเย็นสหรัฐอเมริกากับจีน แม้ว่าตอนนี้จะพักรบกันชั่วคราว แต่มองว่าสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน เรื่องของ Trade War มันเป็นเครื่องมือของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการที่จะโชว์ว่าเขาแข็งแกร่ง สามารถต่อกรกับจีนได้ ซึ่งมีผลต่อคะแนนการเลือกตั้งปลายปี ซึ่งปัจจุบันนี้คะแนนเลือกตั้ง และเรตติ้งความนิยมของ โดนัลด์ ทรัมป์ ลดลงต่อเนื่องเลย ตอนนี้เหลือประมาณ 42%

หลักๆ ก็คือเรื่องของการประท้วง จอร์จ ฟลอยด์ คนผิวสีที่เราทราบกัน ก็เลยทำให้คนไม่ชอบ โดนัลด์ ทรัมป์ ค่อนข้างเยอะ ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปจะเป็นไปได้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะดึงเรื่องสงครามเย็นกลับมา อาจจะมาขู่เรื่องของภาษี โดยจะขึ้นภาษีอะไรต่างๆ เพราะต่อให้จีนจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกามากขึ้นเท่าไหร่ ก็คงไม่ได้มากนัก เพราะปีนี้เศรษฐกิจทั่วโลกแย่ลง จีนก็แย่ลงจะนำเข้าเยอะก็ลำบากอยู่ ตรงนี้ก็จะเป็นอีกความเสี่ยงหนึ่ง

ส่วนเรื่องความเสี่ยงที่สี่คือเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เราเริ่มเห็นการติดเชื้อรอบสองที่บางรัฐของสหรัฐอเมริกา อย่างเช่นแคลิฟอร์เนีย ฟลอริดา เท็กซัส แอริโซนา เขาทำ Social Distancing ของเขาไม่ดีเท่าของประเทศไทย บางรัฐก็ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย ฉะนั้นต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเริ่มเห็นการติดเชื้อรอบสองเพิ่มขึ้น ก็ต้องดูต่อไปว่ารัฐใหญ่ๆ อย่างนิวยอร์กจะมีการติดเชื้อหรือไม่ ถ้านิวยอร์กติด ทั้งสหรัฐอเมริกาจะมีการติดเชื้อขึ้นเยอะ ก็เป็นปัจจัยที่ต้องดู

อีกเรื่องก็คือเรื่องการหาเสียงของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กับ โจ ไบเดน ของทางพรรคเดโมแครต ถ้าคะแนนนิยมเดโมแครตมากขึ้นเรื่อยๆ คนอาจจะกังวลแล้วว่า อาจจะเป็นไปได้หรือไม่ที่เดโมแครตได้เป็นประธานาธิบดี จะทำให้ได้สภาสูงกลับมา จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะนำไปสู่เรื่องการขึ้นภาษีอีกครั้งหนึ่ง เพราะเดโมแครตเขาเป็นพรรคที่มักจะขึ้นภาษี ขณะที่พรรครีพับลิกันเป็นพรรคที่ลดภาษีเป็นหลัก ฉะนั้นถ้าขึ้นภาษีก็แน่นอนว่าจะกระทบเรื่องของเศรษฐกิจและเรื่องฐานเสียง

ส่วนปัจจัยสุดท้ายก็คือเศรษฐกิจจีน ในช่วงหลังๆ เราจะเห็นว่าจีนไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนกับประเทศอื่นๆ เพราะเขากังวลว่าถ้ากระตุ้นมากอาจจะทำให้หนี้ค่อนข้างสูง ช่วงหลังๆ เราจะเห็นความเสี่ยงมากขึ้น เช่นเรื่องของการว่างงานในจีนอย่างไม่เป็นทางการมีถึง 20% เลยทีเดียว และเรื่องของการระดมทุนของบริษัทต่างๆ ในจีนก็ไม่สามารถระดมทุนได้เท่าไหร่ ก็คือคนค่อนข้างกังวลมากขึ้น


พูดง่ายๆ ก็คือจากที่เคยให้น้ำหนักที่เทคนิเคิลมากกว่าปัจจัยพื้นฐานความเสี่ยงใน Q3 มันเริ่มเป็นความเสี่ยงที่มาจากปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น รวมถึงอีเวนต์ต่างๆ อย่างเช่นเรื่องการเลือกตั้ง เรื่องของสงครามเย็นที่เริ่มกลับมา ฉะนั้น เป็นไปได้ว่าระยะต่อไปการลงทุนในระดับโลกจะย่อลง โดยเฉพาะของสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้การลงทุนในไทยมีความเสี่ยง ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลดลงตามไปด้วย ถึงแม้จะไม่แรงเท่ากับสมัยตอนโควิด-19 ตอนเดือนมีนาคม เมษายน แต่ก็น่าจะเห็นการย่อลงจากปัจจุบันบ้าง

กรอบดัชนีจะไปถึงไหน

สำหรับนักเทคนิเคิลเขามองว่าตอนนี้ 1,450 เขาถือว่าค่อนข้างสูงแล้ว เป็นพีคแล้ว และต่อไปก็อาจจะย่อลงได้ ดัชนีน่าจะอยู่ที่กรอบ 1,350-1,450 ก็จะวิ่งอยู่แถวๆ นี้ แต่ที่คาดการณ์ก็คือ 1,400 แต่สิ่งที่จะต้องจับตาต่อไปก็คือเรื่องของปัจจัยพื้นฐานซึ่งจะมีการนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจมากขึ้น ธุรกิจไหนที่มีความมั่นคง การกู้น้อย ก็ยังสามารถที่จะไปได้ แต่ธุรกิจไหนที่มี D/E Ratio มีการกู้เยอะๆ แล้วรายได้ลดลง ก็เป็นความเสี่ยง ค่อนข้างน่ากังวล

ดังนั้น เรื่องของการลงทุนในหุ้น ถ้าจะลงทุนคงต้องเลือกดูหุ้น Defensive ถึงแม้จะค่อนข้างแพงอยู่แล้วก็ตาม เช่นหุ้นกลุ่มอาหาร โรงพยาบาล สื่อสาร คมนาคม ต้องเลือกเป็นรายตัว เลือกรายที่คุณภาพค่อนข้างดี ยังสามารถไปได้

นักกลยุทธ์ของทางบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ มองว่าถ้าจะแบ่งเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างเช่นพวกตราสารหนี้ อินเวสต์เมนต์ เกรด ทั้งในระดับโลกและระดับของไทยเอง เพราะตราสารหนี้พวกนี้แบงก์ชาติ ธนาคารกลางซัพพอร์ตอยู่ รวมไปถึงสินทรัพย์ที่ปลอดภัยอย่างทองคำ ถือไว้ในพอร์ตบ้างก็ไม่เสียหายอะไร ถือเป็นการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์อื่นๆ มากขึ้นจะดีกว่า


สำหรับคนที่ถือเงินสดอยู่ ยังไม่จำเป็นต้องกระโดดลงไปในตลาดหุ้นตอนนี้ไม่ต้องกลัวตกรถ รอ Q3 ก็ยังทัน

ใช่ เพราะจะมีจุดที่แย่ลงจากนี้อีกสักพักหนึ่ง แต่คงไม่มีแรงเท่าสมัยที่ลงเพราะโควิด-19 ในช่วงเดือนมีนาคม เมษายน ลงไปต่ำกว่า 1,000 จุด ตอนนั้นถือว่าลงแรง แต่คงเห็นการย่อลงในระยะต่อไป

นักลงทุนต่างชาติที่ทำท่าว่ากลับมาซื้อช่วงต้นเดือนมิถุนายน ดูแล้วไม่ใช่ของจริง ไม่กลับมาจริง

เขาเริ่มเข้ามาทีหลัง คือเรามองอย่างนี้ว่า พอนักลงทุนต่างชาติเขาเห็นว่าในตลาดสหรัฐอเมริกา ในตลาดอะไรต่อมิอะไรมันเริ่มอิ่มตัวแล้ว เขาก็เลยเริ่มมาในตลาดต่างประเทศบ้าง ขณะที่เราก็เริ่มมีเงินไหลเข้ามากขึ้นช่วงต้นเดือนมิถุนายน ที่ประมาณเกือบ 6 พันล้าน คือไหลเข้าระดับเดียวกันกับอินโดนีเซีย เกาหลี แต่ต่ำกว่าในประเทศเอเชียเหนือพวกไต้หวัน ญี่ปุ่น รวมไปถึงอินเดียด้วย

เหตุผลที่เงินต่างชาติไหลเข้ามาในไทยหลายวันติดกัน ต้นเดือนมิถุนายนอย่างหนึ่งคือเราการ์ดดีในเรื่องโควิด-19 เราคอนโทรลค่อนข้างดีในเรื่องผู้ติดเชื้อแต่ก็ไหลเข้ามาได้ไม่มากนัก เริ่มมีแววขายออกและถ้าจะเปรียบเทียบเงินต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้น กับตลาดพันธบัตรเงินต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรมากกว่า Year to Date 8 พันกว่าล้าน Month to Date 2 หมื่นกว่าล้าน ส่วนของตลาดหุ้นยังขายสุทธิมากว่า

43 views
bottom of page