แม้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่ได้หายไปจากประเทศไทย แถมยังคงลุ้นวิตกกันเล็กๆ ว่าจะมีโอกาสเกิดการระบาดรอบสองหรือไม่นั้น ในมุมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนายหน้าประกันภัย (โบรกเกอร์) โดยสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย (TIBA) ได้ทำแบบสำรวจสอบถามผู้ประกอบการบริษัทนายหน้าประกันภัยที่เป็นสมาชิกสมาคมกว่า 100 แห่ง ในช่วงระหว่างวันที่ 8-19 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อต้องการทราบถึงการเปลี่ยนไปของพฤติกรรมการบริโภคประกันภัยของคนไทยในยุคหลังโควิด-19 หรือในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 นี้ ซึ่งผลการวิเคราะห์ จะได้เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการทำงานของบริษัทสมาชิกและผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัยทุกฝ่าย
ผลสำรวจที่ตอบรับกลับมาเกินครึ่งของจำนวนบริษัทสมาชิกสมาคมฯ 43 แห่ง โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 50 คน แบ่งเป็นผู้บริหารระดับสูง 13 ราย ผู้บริหารระดับกลาง 15 ราย ผู้บริหารระดับต้น 21 ราย และอื่นๆ โดย 92% ผู้ที่ตอบแบบสอบถามอยู่ในแวดวงของธุรกิจประกันวินาศภัย และอีก 8% มีความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต
1. ผลการสำรวจพบว่า ประมาณ 56% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เชื่อว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะซื้อประกันภัยลดลงในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ และประมาณ 30% มีความเห็นว่าความต้องการประกันภัยในตลาดประเทศไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้น อีก 14% ที่เหลือ มีความเห็นว่าภาวะตลาดจะไม่แตกต่างจากปีที่แล้ว
2. ประกันสุขภาพ ประกันภัยไซเบอร์ ประกันอัคคีภัย ประกันความรับผิดทางกฎหมาย การประกันชีวิต การประกันภัยอุบัติเหตุและการประกันภัยทรัพย์สิน (IAR & BI for IAR) น่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่คนไทยต้องการเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคน่าจะมีความต้องการลดลง เรียงตามลำดับ คือการประกันภัยการเดินทาง การประกันภัยรถยนต์และการประกันภัยขนส่งทางทะเลและขนส่ง
3. บริษัทสมาชิกที่ตอบแบบสอบถาม 74% เชื่อว่าในปี 2563 นี้ รายได้ของบริษัทตนเองจะลงลง โดย 68%เชื่อว่าสัดส่วนรายได้ที่ลดลงนั้น อาจจะมากถึง 15%
4. บริษัทสมาชิกที่ตอบแบบสอบถาม 76% เชื่อว่าผู้บริโภคต้องการซื้อประกันภัยผ่านช่องทางดิจิทัล
บริษัทสมาชิกที่ตอบแบบสอบถาม 94% เชื่อว่าคนไทยต้องการแผนประกันภัยที่เป็นเฉพาะประเภทและราคาไม่แพง
คำถามที่ว่าผู้บริโภคยังให้น้ำหนักในเรื่องแบรนด์ของบริษัทประกันภัยอยู่หรือไม่นั้น ดูเสมือนว่าบริษัทสมาชิกมีความเห็นว่าผู้บริโภคอาจจะใช้ปัจจัยอื่นๆ ประกอบการตัดสินใจซื้อแผนประกันภัยที่นอกเหนือไปจากเรื่อง Brand
นอกจากนี้ บริษัทสมาชิกเกือบ 68% ยังเชื่อว่าผู้บริโภคยังต้องการ Human touch ในการรับบริการ และในขณะเดียวกัน สมาชิกเกือบ 68% เชื่อว่าชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของบริษัทนายหน้าประกันภัย หรือโบรกเกอร์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคนึกถึงเมื่อพิจารณาเลือกซือผลิตภัณฑ์ประกันภัย
5. ผู้ตอบแบบสอบถาม ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านไปแล้ว ผู้บริโภคน่าจะต้องการประหยัด โดยที่ยังมองว่าการประกันภัยเป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่จ่ายไปและเทรนด์ของแผนประกันภัยสุขภาพจะโดดเด่น แต่อาจเป็นการเฉพาะเจาะจงเป็นโรคๆ ไป เพื่อราคาเบี้ยจะได้ไม่สูงมากนักและเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจที่ยังคาดว่าจะลุ่มๆ ดอนๆ ต่อจากนี้ไปอีก
สรุปภาพรวมแบบสอบถามผลสำรวจ คือ Savings, Value for Money, Health และ Economic
ในขณะที่บรรดานายหน้าโบรกเกอร์ประกันภัยน้อยใหญ่ทั้งหลาย ประเมินแนวโน้มผลกระทบจากภาวะสถานการณ์โควิด-19 เช่นนี้แล้ว ฟากธุรกิจประกันวินาศภัยที่เป็นธุรกิจต้นน้ำ ยังออกอาการไม่ค่อยดีจากผลพวงเหล่านี้ เพราะได้รับแรงกระแทกจากทุกทิศทุกทางเข้ามา ชนิดต้องตั้งรับแบบพยายามไม่ให้การ์ดตกมากที่สุด
เนื่องจากภาวะแบบนี้ ถ้าบริษัทประกันวินาศภัยอยู่อย่างยากลำบาก ธุรกิจนายหน้าขายประกันภัย ย่อมจะได้รับผลกระทบตามไปด้วยเช่นเดียวกัน จากที่ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา บริษัทประกันภัยหลายแห่งทำตัวเป็นเหมือนนายหน้า โดยรับประกันภัยในแบบไม่ต้องผ่านนายหน้าให้คำปรึกษาแก่ลูกค้า เท่ากับตัดช่วงวงโคจรทำมาหากินของนายหน้าไปตรงๆ แต่ละฝ่ายย่อมต้องดิ้นรนกันไป เพื่อความอยู่รอด
ก่อนหน้านั้น ธุรกิจประกันวินาศภัยประเมินแนวโน้มว่าปี 2563 นี้ ภาพรวมธุรกิจน่าจะกระเตื้องขึ้นดีกว่าปีที่ 2562 ที่ผ่านมา เพราะปีที่แล้วแม้เติบโตเล็กน้อยตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ปรากฏว่าแค่ครึ่งแรกของปีนี้ มีเหตุการณ์เข้ามากระทบสาหัสต่อเนื่อง เศรษฐกิจเดิมที่ไม่ดีอยู่แล้ว ยังมาถูกพิษโควิด-19 เข้ามากระหน่ำต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันยังไม่รู้แนวโน้มเข้าไปอีกว่าจะบรรเทาไปได้ช้าหรือเร็วแค่ไหน
สมาคมประกันวินาศภัยไทย จึงปรับคาดการณ์ใหม่ว่าปีนี้ว่าธุรกิจทั้งระบบน่าจะติดลบไม่ต่ำกว่า 5% เพราะผลกระทบหลากหลายจากทุกทิศทุกทางและไม่อาจคาดได้ว่าปัญหาโควิด-19 จะคลี่คลายสงบไปได้เมื่อไร แถมกินเวลาล่วงมาเกินครึ่งปีแรกไปแล้ว ไม่อาจรับรู้ได้ว่าจะไปสิ้นสุดเด็ดขาดเมื่อไร
ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัย จะได้รับผลกระทบตามไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้ คือย่อมจะสะดุดต่อเนื่องกันเป็นแผงระเนระนาดเสมือนไฟไหม้ตลาดสด
สถานการณ์โควิด-19 บวกกระหน่ำกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงค่อนข้างเป็นยิ่งกว่าพายุลูกใหญ่ถล่มธุรกิจประกันภัยที่เกี่ยวข้องแทบทุกองคาพยพอย่างแท้จริง.
Comments