top of page
327304.jpg

ย้อนรอยซาร์สเทียบปอดอู่ฮั่น...ถอดรหัสหุ้นหลังคุมโรค


หวังสามารถควบคุมโรคปอดอู่ฮั่นได้ภายใน 3 เดือน และไทยจะมีมาตรการฟื้นฟูสถานะเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวให้ฟื้นคืนชีพได้อย่างรวดเร็ว ช่วยพลิกให้ดัชนีตลาดหุ้นกลับมาเป็นบวกครั้งใหม่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นครั้งมีโรคระบาดใหญ่ในอดีตทั้งซาร์สและเมอร์ส หากไม่เช่นนั้นก็คงลำบาก เพราะเพียง 2 วันแรกก็ตื่นตกใจขายหุ้นจนดัชนีลดลงมามากกว่า 3% และมีแนวโน้มยังลดลงต่อไปได้อีก ขณะที่ยังมีปัจจัยลบอื่นๆที่ยังรอผสมโรงอยู่


โรคระบาดโคโรนาไวรัส หรือโรคปอดอู่ฮั่น กลายเป็นเรื่องที่ใหญ่ขึ้นและหวาดวิตกมากขึ้นทันทีที่ประธานาธิบดีจีน ประกาศเอาจริงเอาจังปิดเมืองอู่ฮั่น ปิดการเดินทางไม่ให้คนจีนออกนอกประเทศ ปิดทัวร์ทุกทริปที่ออกจากจีน ฉลองวันตรุษจีนเสาร์ที่ 25 มกราคม 2563 พอดี จากที่ก่อนหน้านี้คนยังไม่ค่อยสนใจให้ความสำคัญเท่าไรนัก


ความเข้มข้นเอาจริงเอาจังของจีนระดับนี้ ในด้านหนึ่งมีความชื่นชม แต่ในอีกด้นหนึ่งตีความว่านั่นหมายถึงโรคนี้มีระดับความรุนแรงน่ากลัวมากแล้วจึงมาถึงขั้นนี้ได้ และความไม่แน่นอนสูงในเรื่องของการยังไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนฉีด ยังไม่มั่นใจว่าการติดต่อแพร่กระจายจากคนสู่คนได้เร็วระดับไหน อาการของคนที่เป็นเป็นอย่างไร ขณะที่คนจีนเดินทางไปทั่วโลกก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะประเทศไทย ที่เป็นเป้าหมายของการเดินทางของคนจีนเป็นอันดับ 1 และสถิติพบว่าคนจีนที่เดินทางเข้าไทยเป็นอันดับ 1 คือคนอู่ฮั่น นั่นหมายความว่าโอกาสเสี่ยงของไทยมีมาก และกระทบมากต่อธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยที่จะเป็นความหวังต่อรายได้ของประเทศที่จะช่วยฉุดจีดีพีปี 2563 ให้ไม่ตกต่ำ ในขณะที่การส่งออกแย่เงินบาทแข็งค่า และการใช้จ่ายภาครัฐมีปัญหาจากพ.ร.บ.งบประมาณ


ดังนั้นเมื่อเปิดตลาดหุ้นในวันจันทร์ 27 มกราคม 2563 จึงเป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากว่า จะเจอกับสภาพหุ้นที่ถูกเทขายและปรับลดลงแรงๆ ยังดีที่นักลงทุนมีเวลา “ทำใจ” รับสภาพในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์บ้าง ทำให้การปรับตัวลงมาเบาะๆ 45.40 จุด โดยออร์เดอร์สั่งขายหุ้นมาจ่อตั้งแต่ยังไม่เปิดตลาด ดัชนีเปิดตลาดได้ปรับลงทันทีจากระดับ 1,570 จุด ลงราว 30 จุด และปิดที่ 1,524.15 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 69,174.18 จุด

วันต่อมา 28 มกราคม อาการ “ปอด” จากโรคปอดอู่ฮั่น ยังทำให้ดัชนีหุ้นไทยร่วงต่อ ลงต่ำสุด 1,507.36 จุด แม้ระหว่างวันมีแรงฮึดบวกสูงสุดของวันที่ 1,535.23 จุด แต่ก็ไม่รอด ดัชนีปิดที่ระดับ 1,513.26 จุด ลดลง 10.89 จุด หรือ 0.71% มูลค่าการซื้อขาย 67,113.51 ล้านบาท


รวมแค่ 2 วัน ดัชนีหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากอาการ ปอดอู่ฮั่น ราว 60 จุด หรือคิดเป็นลดลงมากกว่า 3% เมื่อยกเว้นจีนแล้วกล่าวได้ว่าตลาดหุ้นไทยแสดงอาการปรับลงแรงกว่าหุ้นอื่นใดในโลกที่ลดลงเพราะปัจจัยนี้


ทั้งนี้ หุ้นไทยอาจปรับตัวลดลงได้อีกในช่วงที่สถานการณ์โรคปอดอู่ฮั่นยังไม่นิ่ง ขณะที่ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ต้องจับตามองและรอผสมโรงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถานการณ์ทางการเมือง เรื่องของพ.ร.บ.งบประมาณ เรื่องของ Brexit


อย่างไรก็ตาม มีการประเมินสถานการณ์ และตั้งความหวังว่า จะมีการค้นคิดและควบคุมรักษาโรคนี้ได้ในที่สุด ซึ่งประเมินกันเบื้องต้นว่าอาจใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน หรือราว 6 เดือน และไทยจะสามารถควบคุมดูแลไม่ให้โรคนี้ติดต่อร้ายแรงเกิดขึ้นในไทยและคนไทยจนกลายเป็นปัจจัยลบที่หนักขึ้น ขณะเดียวกันสามารถพลิกฟื้น ฟื้นฟูการท่องเที่ยวให้กลับมาได้โดยเร็ว ซึ่งจะทำให้ความเชื่อมั่นกลับมาอีกครั้งหนึ่ง และสามารถทำให้หุ้นดีดกลับขึ้นมาได้


ทั้งนี้มีการเปรียบเทียบ โรคระบาดนี้กับครั้งที่เคยเกิดโรคระบาดใหญ่ๆมาแล้ว ตลาดหุ้นน่าจะเหมือนที่เกิดขึ้นในอีตที่เกิดโรคซาร์สและเมอร์ส


มีตัวเลขรายงานว่าเมื่อปี 2546 ที่เกิดโรคซาร์สระบาดหนัก ดัชนีหุ้นเอเชีย MSCI Asia ex Japan ร่วงลงกว่า 12% ขณะที่ ตลาดหุ้นในจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ รวมถึงฮ่องกงเกิดการเทขายอย่างหนักเฉลี่ยแล้วส่วนใหญ่จะตกลงประมาณ 15-16%

จากนั้นหลังวิกฤตโรคซาร์สว่าดัชนี MSCI Asia ex Japan กลับมาเป็นบวกถึง 29% จากจุดต่ำสุดโดยตลาดที่กลับมาให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดคือไต้หวัน เกาหลีใต้ รวมถึงไทยด้วยเช่นกัน

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัจจุบันเทียบกับสถิติในอดีตว่า ไวรัสโคโรนาที่แพร่ระบาดในขณะนี้ มีลักษณะคล้ายกับการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส ในปี 2546 ซึ่งการแพร่ระบาดของโรคซาร์สในอดีต มีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 8,000 ราย และมีอัตราส่วนผู้เสียชีวิตราว 10% 

ส่วนโรคเมอร์สที่เคยแพร่ระบาดเมื่อปี 2555-2558 มีผู้ติดเชื้อ 2,400 ราย แต่มีอัตราผู้เสียชีวิตถึง 35% หากเทียบสถิติในช่วงแรกของการแพร่ระบาด พบว่า การแพร่กระจายของโรคในครั้งนี้ดูเหมือนจะรวดเร็วมากขึ้น เพราะในกรณีของโรคซาร์สเมื่อปี 2546 ช่วง 20 วันแรก มีผู้ติดเชื้อเพียง 95 ราย เทียบกับปัจจุบันที่ 219 ราย

บล.กรุงศรี ให้ข้อมูลว่า ครั้งเกิดซาร์สระบาดในปี 2546 ช่วง 3 เดือนแรกนักท่องเที่ยวมาไทยลดลงราว 50% ส่วนผลกระทบต่อหุ้นไทยคือ เมื่อตลาดรับรู้เรื่องโรคซาร์สแรกๆ ราวเดือนมีนาคม หุ้นได้ปรับลดลง 4% และหุ้นลงมาต่ำสุดในเดือนเมษายน ดัชนีอยู่ที่ราว 350 จุด พอถึงปลายปีดัชนีปรับตัวขึ้นมาปิดที่ 772 จุด หรือเพิ่มขึ้น 120% ... แต่มีข้อสังเกตว่าในปี 2546 ปัจจัยเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ค่อนข้างดี

มาถึงกลางปี 2558 ที่มีโรคเมอร์สระบาด ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่าช่วงที่เกิดซาร์ส แต่พอดีมีเรื่องขอวิกฤตกรีซและกลุ่มประเทศ PIG เลยก็ทำให้ดัชนีปิดติดลบไป 13.9%

ด้านนักกลยุทธ์ KTAM มีสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาดหุ้น ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักของโรคซาร์ส ว่าดัชนีหุ้นในตลาดที่มีการแพร่ระบาดหนักสุดๆอย่าง Hang Seng ฮ่องกง ปรับฐานลงแรง -17.8% จากจุดสูงสุด 10,227.01 (3 ธ.ค. 2002) ถึงจุดต่ำสุด 8,409.01 (25 เม.ย. 2003) ซึ่งการปรับฐานครั้งนั้นกินระยะเวลาเกือบ 5 เดือน ทว่าหลังจากนั้นดัชนี Hang Seng ก็ฟื้นตัวคืนค่าลบทั้งหมดได้ภายในเวลาแค่ 3 เดือนเศษ ก่อนพุ่งทะยานต่อไปปิดสิ้นปี 12,575.94 สูงกว่าจุดต่ำสุดดังกล่าวเกือบ 50%

บทเรียนเมื่อเกือบ 2 ทศวรรษที่แล้วสอนเราว่า โรคระบาด เป็นปัจจัยระยะสั้นสำหรับตลาดการเงิน ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่มักสร้างความตื่นตระหนกแก่นักลงทุนจำนวนมาก

ดังนั้นให้ลองถามใจตัวเองว่า ระดับราคาหุ้นในภาวะที่ คนส่วนใหญ่ตื่นตระหนก นั้นมันควรจะแพงไปหรือถูกไป นักกลยุทธ์ KTAM มั่นใจว่าน่าจะเป็นประการหลังคือ ถูกไป แต่ก็บอกยากว่าภาวะ อารมณ์ตก ของนักลงทุนในตลาดแบบนี้ จะอยู่กับเราไปอีกกี่วัน”

กลยุทธ์ที่ KTAM ย้ำคือ "สะสมสภาพคล่อง" ไว้ในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นเช่น KTSTPLUS และเน้นการซื้อกองทุนตราสารหนี้ อสังหาฯ และทองคำ

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต้องไม่ลืมว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาดหุ้นก็ยังมีอื่นๆอีกมากมาย...ไม่ใช่แค่ไวรัส โรคระบาด

ด้าน บล. โกลเบล็ก มองปัจจัยการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่น่าจะขยายวงกว้างกระทบความเชื่อมั่นการลงทุน และภาพรวมเศรษฐกิจโลก แต่ให้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ถือเป็นจังหวะทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดี ในหุ้นที่ราคาหุ้นลงมาเยอะและมีปันผล เช่น หุ้นโรงพยาบาลเด่น BH-BCH –BDMS –ขณะที่ทองคำเป็นสินค้าปลอดภัย

39 views
bottom of page