top of page
327304.jpg

ปัจจัยลบใหม่กดดันตลาดหุ้น...ไวรัสโจมตีตลาดหุ้น !



ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลก และตลาดหุ้นเอเชียถูกกดดันอย่างหนัก โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยวและการบิน หลังจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีนที่อาจระบาดไปทั่วโลก เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่าการเดินทางของชาวจีนหลายล้านคน จะทำให้เชื้อไวรัสโคโรนาที่เป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบแพร่ระบาดจากจีนไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเหมือนกับวิกฤตโรค SARS ที่เคยเกิดขึ้นในปี 2546 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 800 คน และทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นในฮ่องกง


นอกจากนี้ยังพบผู้ติดเชื้อในประเทศไทย สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน แคนนาดา ฝรั่งเศส สิงคโปร์ และฮ่องกง ส่งผลให้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลง 0.20% และดัชนี Asia ex Japan ของตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลง 2.20% ทั้งนี้ในส่วนของผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้น


ล่าสุดหลังจากที่สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจีนได้เผยแพร่ประกาศอย่างเป็นทางการระบุว่า นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปให้ธุรกิจนำเที่ยวทุกแห่งในประเทศหยุดขายบริการนำเที่ยวเส้นทางต่าง ๆ เป็นการชั่วคราว รวมถึงตั๋วเครื่องบิน และที่พัก ส่วนคณะที่เดินทางออกไปแล้ว ก็ให้ดำเนินการตามสัญญาการท่องเที่ยวต่อไป ซึ่งประเทศไทยไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีความกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวจีนสูง และเศรษฐกิจไทยเองก็พึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสูงจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวของไทยคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 17% ของ GDP และนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นสัดส่วน 28% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด


นอกจากนี้ตลาดหุ้นโลกยังมีแรงกดดันใหม่เข้ามาเพิ่มเติมด้วยจากความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐและ EU ที่เริ่มกลับมามีความตึงเครียดอีกครั้ง หลังจากสหรัฐจะเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ในอัตราสูงจาก EU ขณะที่เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำสหรัฐได้ออกมาตอบโต้ว่า EU ก็อาจจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเช่นกัน

ทั้งนี้ปัจจัยลบทั้งหมดเกิดขึ้นในภาวะที่ล่าสุด IMF ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2563 ลงเหลือ 3.3% จาก 3.4% แม้ว่าจะระบุว่าเศรษฐกิจทั่วโลกยังอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวในระดับปานกลาง เนื่องจากความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และปัญหาการแยกตัวของสหราชอาณาจักรจากสหภาพยุโรป (EU) แบบไร้ข้อตกลง (No-Deal Brexit) กำลังคลี่คลายลง และคาดว่าปี 2564 อัตราการขยายตัวของ GDP ของโลกจะเติบโตที่อัตรา 3.4%

อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากสัญญาณเศรษฐกิจที่อ่อนแอของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่อย่างอินเดีย และปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในหลายประเทศ โดยเฉพาะสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ IMF หั่นคาดการณ์การขยายตัวของ GDP โลก


นักลงทุนให้น้ำหนักปัจจัยลบมากกว่า ! ทั้งนี้แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกเข้ามาบ้างจากการที่ธนาคารกลางสำคัญๆของโลก พยายามที่จะอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งคงปริมาณการซื้อสินทรัพย์ ทั้งนี้แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะปรับเพิ่มคาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจปีงบประมาณ 2563 จาก 0.7% เป็น 0.9% หลังจากที่มาตรการกระตุ้นด้านการคลังของทางรัฐบาลได้ช่วยบรรเทาผลกระทบด้านลบจากการขึ้นภาษีบริโภคเมื่อเดือน ต.ค. 2562

ขณะที่ในส่วนของราคานั้น ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อลง 0.1% ในแต่ละปีไปจนถึงปีงบประมาณ 2564 และคาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานจะขยายตัวต่อเนื่อง 0.6% ในปีงบประมาณ 2562, 1% ในปีงบประมาณ 2563 และ 1.4% ในปีงบประมาณ 2564 แต่ทั้งหมดยังคงเป็นระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมายเสถียรภาพด้านราคาของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ 2% ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% โดยเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.50% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25%

นอกจากนี้ยังคงยืนยันที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันต่อไป หรืออาจปรับลดลงด้วย จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะเข้าใกล้เป้าหมายของ ECB ขณะเดียวกัน ECB ย้ำว่าจะเดินหน้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดย ECB จะซื้อพันธบัตรในวงเงิน 2 หมื่นล้านยูโร/เดือน และ ECB จะดำเนินโครงการ QE เป็นระยะเวลานานเท่าที่มีความจำเป็น แต่ดูเหมือนว่านักลงทุนตลาดหุ้นโลกจะไม่ให้น้ำหนักกับปัจจัยดังกล่าวมากนัก สะท้อนออกมาจากการที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ ยุโรป และฮ่องกงปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.51%, 19.43% และ 32.27%

สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของตลาดหุ้นไทยนอกจากจะได้รับปัจจัยกดดันจากความกังวลการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาแล้ว ยังคงมีปัจจัยกดดันจากประเด็นทางการเมืองด้วย หลังพบว่าการโหวตร่างงบประมาณปี 2563 มีการเสียบบัตร และแสดงตนแทนกัน ทั้งนี้ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวทำให้ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ 2563 ต้องเป็นโมฆะ จะมีผลกระทบอย่างมากต่อการใช้งบประมาณของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดในกรอบ 1,600 จุด เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ




13 views
bottom of page