top of page
327304.jpg

ไปได้ไม่น่าไกลสำหรับตลาดหุ้นไทย


ทิศทางของตลาดหุ้นโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่องนะครับ โดยที่ดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลกยังคงปรับตัวขึ้น 1.09% ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐ และ Asia ex Japan เป็นผู้นำการปรับตัวขึ้นราว 1.29% และ 1.43% ตามลำดับ หลังจากที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่สหรัฐและจีนได้ลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรกในวันที่ 15 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งรายละเอียดของข้อตกลงเฟสแรกนั้น สหรัฐจะระงับการขึ้นภาษีสินค้าจีนมูลค่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์ รวมถึงลดอัตราภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้าจีนมูลค่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์ จากอัตรา 15% เหลืออัตรา 7.5% แต่ยังคงภาษีอัตรา 25% กับสินค้าจีนมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์


ขณะที่จีนจะนำเข้าสินค้าและบริการจากสหรัฐ เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงเวลา 2 ปี แบ่งเป็นสินค้าอุตสาหกรรมมูลค่าราว 8 หมื่นล้านดอลลาร์, พลังงาน 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์, สินค้าเกษตร 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ และบริการอีก 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ นอกจากการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มแล้ว ข้อตกลงยังกำหนดให้จีนจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาภายใน 30 วันนับจากวันที่ข้อตกลงมีผลบังคับใช้ ซึ่งประเด็นของข้อตกลงเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาถือว่าเป็นประเด็นที่สำคัญที่สะท้อนถึงโอกาสที่จะมีการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีขึ้นระหว่างสหรัฐ และจีนในอนาคตอันใกล้


นอกจากประเด็นดังกล่าวในเบื้องต้นแล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายจะยุติการเพิ่มกำแพงภาษีใหม่ และจะขยับภาษีส่วนหนึ่งที่ขึ้นไปแล้วให้ลดต่ำลงมาด้วย โดยการพิจารณาปรับลดอัตราภาษีเพิ่มเติมอาจจะมีขึ้นหลังจากเริ่มมีการเจรจาเฟส 2 ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งสหรัฐเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 นี้


ดังนั้นเมื่อพิจารณาร่วมกับแนวโน้มในทางเทคนิคที่ปัจจุบันดัชนี S&P500 ของสหรัฐ, Euro Stoxx 50 ของยุโรป และ Nikkei ของญี่ปุ่นยังคงอยู่ในภาวะ Golden Cross ครบทั้ง 5 ขั้น สะท้อนว่าทิศทางของตลาดหุ้นโลกยังคงมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นต่อไปได้ในระยะสั้น โดยเฉพาะหลังจากที่สหรัฐรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญยังคงออกมาแข็งแกร่ง ยกตัวอย่างเช่นตัวเลขดัชนี Headline CPI ของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.2% MoM ในเดือน ธ.ค. 2562 ต่อเนื่องจากที่เพิ่มขึ้น 0.3% MoM ในเดือน พ.ย. 2562 ขณะที่ถ้าเทียบ YoY พบว่าตัวเลขดัชนี Headline CPI ของสหรัฐเพิ่มขึ้นถึง 2.3% YoY ในเดือน ธ.ค. 2562 สูงกว่าที่เพิ่มขึ้น 2.1% YoY ในเดือน พ.ย. 2562 ด้วยซ้ำ


ในส่วนของภาคแรงงานที่เป็นหัวใจของเศรษฐกิจสหรัฐพบว่าตัวเลขผู้ขอเข้ารับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก หรือ Initial Jobless Claim ของสหรัฐลดลงสู่ระดับ 204,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 216,000 ราย และลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน ขณะที่สถานการณ์ระหว่างสหรัฐและอิหร่านจะผ่อนคลายลง หลังจากอิหร่านออกมายอมรับต่อเหตุการณ์เครื่องบินโดยสารของยูเครนตก ซึ่งทำให้ประชาชนชาวอิหร่านออกมาประท้วงรัฐบาลเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากประเด็นนี้ส่งผลให้ตลาดคาดว่าอิหร่านจะยอมอ่อนข้อมากขึ้นหลังจากเจอทั้งปัญหาภายใน และนอกประเทศ


ตลาดหุ้นไทยไร้จุดขายให้ไปต่อ ! ทั้งนี้ Momentum ขาขึ้นของตลาดหุ้นโลกที่มีตลาดหุ้นสหรัฐเป็นตัวแทน หรือ Proxy นั้น สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงต่างปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา และทั้งหมดยังคงเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย SMA 25 วัน สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงที่ลดลง สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ระบุว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เพิ่มขึ้น 8.76% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 41.83% สวนทางกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่ลดลง 2.38% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 27.51%


อย่างไรก็ดี “นายหมูบิน” ยังคงมองว่ากรอบในการปรับขึ้นของตลาดหุ้นโลก หรือ Potential Upside Gain ของตลาดหุ้นโลกในปี 2563 นี้อาจจะไม่สูงมากนัก เนื่องจากในเชิงของปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้นโลกยังคงขาดปัจจัยสนับสนุนที่ชัดเจน สะท้อนออกมาจากการประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ของตลาดหุ้นแต่ละประเทศจาก Bloomberg Consensus ที่พบว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาทาง Bloomberg Consensus ปรับประมาณการกำไรสุทธิของตลาดหุ้นโลกลงอีก 0.06% WoW ขณะที่กำไรสุทธิของตลาดหุ้นสหรัฐ และยุโรปถูกปรับลง 0.03% WoW และ 0.29% WoW


ส่วนประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ของตลาดหุ้นไทยถูกปรับลดลงมากกว่าราว 0.63% WoW ส่งผลให้ล่าสุด Bloomberg Consensus ประมาณการอัตราการขยายตัวกำไรสุทธิปี 2563 ของตลาดหุ้นโลกไว้ที่ 12.5% ขณะที่ของตลาดหุ้นสหรัฐจะอยู่ที่ 6.6%, ตลาดหุ้นยุโรปจะอยู่ที่ 6.5% และตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะอยู่ที่ 7.9% ในส่วนของตลาดหุ้นเอเชีย พบว่าตลาดหุ้นจีนจะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 14.4% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยจะเพิ่มขึ้น 7.7% ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของ Asia ex Japan ที่ 12.3%


นอกจากนี้ตลาดหุ้นไทย มีโอกาสถูกกดดันจากราคาของหุ้นกลุ่มพลังงานด้วย หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบโลกเริ่มกลับมาพักตัวลง จากสถานการณ์ในตะวันออกกลางเริ่มส่งสัญญาณคลี่คลาย ซึ่งทำให้ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาด้านอุปทานน้ำมันในตลาดโลกลดน้อยลงด้วย ประกอบกับในเชิงของ Valuation จะพบว่าประเด็นนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยไปต่อยาวๆได้ยาก เนื่องจากปัจจุบันระดับ P/E Ratio ของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ระดับ 19.0 เท่า สูงกว่า หรือมี Premium เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 17.0 เท่าถึง 11.8% ขณะที่ P/E Ratio ที่ระดับดังกล่าวยังคงมากกว่าของดัชนี Asia ex Japan ที่ 15.6 เท่า ถึง 21.8%


ทั้งนี้ถ้าเทียบในส่วนของ P/BV Ratio จะพบว่าตลาดหุ้นไทยปัจจุบันซื้อขายอยู่ที่ระดับ P/BV Ratio ราว 1.7 เท่า ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยระยะยาว แต่ P/BV Ratio ที่ระดับดังกล่าวยังคงมากกว่าของดัชนี Asia ex Japan ที่ 1.5 เท่า ถึง 30.0%


ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดในกรอบ 1,600 จุด เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”


ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ



16 views
bottom of page