ปัจจัยหนุนช่วงสั้นๆ !
ทิศทางตลาดหุ้นโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงไม่เกิดสัญญาณการพักฐานที่ชัดเจน หลังจากที่อัตราผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั่วโลกชะลอตัวลงต่อเนื่อง รวมถึงอัตราการตาย หรือ Death Rate ของแต่ละประเทศในยุโรปฟื้นตัวค่อนข้างดี โดยเฉพาะอิตาลี, สเปน และฝรั่งเศสมีอัตรา Death Rate ต่ำสุดในรอบเดือน นอกจากนี้หลายๆ ประเทศเริ่มจะมีการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown มากขึ้น ประกอบกับการที่ Gilead ได้ออกมายืนยันว่ามีหลักฐานว่ายา Remdesivir มีประสิทธิภาพจริง และอาจกลายเป็นยารักษาไวรัส COVID-19 ตัวแรกของโลก ทั้งนี้ Gilead ระบุว่าผลการศึกษาการใช้ยา Remdesivir ซึ่งทางบริษัทดำเนินการร่วมกับสถาบันภูมิแพ้ และโรคติดต่อแห่งชาติ มีผลการรักษาเป็นไปตามเป้าหมายในเบื้องต้น โดยผู้ป่วยโรค COVID -19 จำนวนอย่างน้อย 50% ที่ได้รับยาเป็นเวลา 5 วัน มีอาการดีขึ้น และผู้ป่วยจำนวนมากกว่า 50% ที่ได้รับยาสามารถออกจากโรงพยาบาลภายในเวลา 2 สัปดาห์
นอกจากนี้ตลาดหุ้นสหรัฐยังคงได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ออกมาระบุว่ามีแผนการที่จะเตรียมเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังจากที่ประเมินว่าการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นวันที่ 15 พ.ค. 2563 โดยจะทยอยเปิดเมืองเป็น 3 เฟสตามที่รัฐบาลสหรัฐได้ให้คำแนะนำไว้ โดยจะเริ่มเปิดการก่อสร้างและการผลิตก่อนในเฟสแรก และจะค่อยๆ ประเมินเปิดธุรกิจอื่นๆ เป็นรายกรณีไป ขณะที่ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ย Fed Fund Targeted Rate ต่อไปที่ 0.0%-0.25% และเฟดยังตัดคาดการณ์ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วแบบ V-Shaped ออกไปอย่างสิ้นเชิง โดยได้ให้ความเห็นว่าไม่มีทางเลยที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในสภาวะปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าเฟดจะยังคงนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่างๆ โดยไม่จำกัดปริมาณ หรือ Unlimited
ทั้งนี้งบดุลของเฟดในปัจจุบันขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6.57 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นมา 1.64 ล้านล้านดอลลาร์ โดยการซื้อพันธบัตรและหลักทรัพย์อสังหาฯ (MBS) ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. 2563 และแน่นอนว่าเฟดมีแผนที่กำลังเตรียมประกาศตัวเลขการปล่อยกู้เพิ่มเติมสำหรับสินเชื่อภาคเอกชน และท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้สามารถกู้ยืมเงินได้อีกหลานล้านล้านดอลลาร์เลยทีเดียว
พื้นฐานเศรษฐกิจโลกไม่หนุนการปรับขึ้นต่อ ! อย่างไรก็ดีสำหรับแนวโน้มในระยะต่อไป “นายหมูบิน” ยังคงมองว่าการปรับตัวขึ้นต่อของตลาดหุ้นโลก และตลาดหุ้นไทยเริ่มมีความเสี่ยงสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยมองว่าการปรับตัวขึ้นต่อในระยะสั้นเป็นโอกาสในการขายทำกำไร หรือ Take Profit ออกมาก่อน เพราะแม้ว่าในส่วนของผลประกอบการของบริษัทสหรัฐจะไม่ได้ออกมาแย่เท่าที่คาด โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี อาทิ Facebook ประกาศผลประกอบการดีกว่าคาด แม้ว่ารายได้โฆษณาจะลดในเดือน มี.ค. 2563 แต่รายได้ในไตรมาสแรกของปีนี้ยังคงทะลุ 1.77 หมื่นล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้น 18% สอดคล้องกับ Microsoft ที่แทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยมีรายได้ในไตรมาสล่าสุดสูงถึง 3.5 หมื่นล้านเหรียญ หรือเติบโต 15% ในขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 22%
อย่างไรก็ดี Momentum ของเศรษฐกิจสหรัฐ และโลกในระยะต่อไปเป็นความเสี่ยงที่สำคัญมาก และรอที่จะกดดันทิศทางของตลาดหุ้นโลก และไทยอยู่ หลังจากที่ตัวเลข GDP ของสหรัฐในไตรมาสที่ 1 ออกมาหดตัว 4.8% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 4.0% ซึ่งชัดแล้วว่าเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ Recession แล้ว สอดคล้องกับผลสำรวจของ Conference Board ที่ระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 86.9 ในเดือน เม.ย. 2563 จากระดับ 118.8 ในเดือน มี.ค. 2563 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 87.9 ขณะที่ตัวเลข Initial Jobless Claim เพิ่มอีก 3.8 ล้านคน แย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.5 ล้านคนเล็กน้อย ทำให้ตัวเลขการตกงานของชาวสหรัฐนับจากการปิดเมือง Lockdown รวมกันใน 6 อาทิตย์ที่ผ่านมา มีถึง 30.3 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 10% ของประชากรสหรัฐ
นอกจากนี้ตลาดหุ้นโลกยังคงมีโอกาสที่จะถูกกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับความตึงเครียดด้านการค้าครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐ และจีน หลังจากประธานาธิบดี Donald Trump ขู่ที่จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนรอบใหม่เพื่อตอบโต้จีนที่เป็นต้นตอของการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 ขณะที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าแม้ว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish จะเพิ่มขึ้น 5.74% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมามาอยู่ที่ระดับ 30.60% แต่ยังคงต่ำกว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่ลดลง 6.00% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 44%
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ใช้โอกาสที่ SET ยังคงยืนเหนือ 1,250 จุด (+/-) ได้ เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น CPALL, BJC, BEM, EGCO, BCH, GPSC, BTS, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: Wealth Hunters Club
Comments