top of page
327304.jpg

ตลาดหุ้นไทยขาดแคลนปัจจัยหนุน...สหรัฐยังเป็นขาขึ้น !



ทิศทางของตลาดหุ้นโลกกลับมาแกว่งตัวขึ้นอีกครั้งในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยหนุนนอกจากการที่วุฒิสภาสหรัฐลงมติด้วยคะแนนเสียง 52 ต่อ 48 ปฏิเสธข้อกล่าวหาการใช้อำนาจในทางมิชอบ และลงมติด้วยคะแนนเสียง 53 ต่อ 47 ปฏิเสธข้อกล่าวหาขัดขวางกระบวนการสอบสวนของสภาคองเกรสแล้ว ยังคงมีประเด็นเรื่องของ Earnings Season ของตลาดหุ้นสหรัฐเป็นปัจจัยหนุนด้วย หลังจากที่บริษัทมากกว่า 300 แห่งในดัชนี S&P 500 ได้เปิดเผยผลประกอบการในไตรมาส 4 ออกมาแล้ว ซึ่ง 71.3% ในจำนวนดังกล่าวมีกำไรสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐก็ยังคงอยู่ใน Momentum ที่ดี แม้ว่าล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดจะได้ส่งรายงานนโยบายการเงินให้กับสภาคองเกรสสหรัฐ ซึ่งระบุว่ากำลังจับตาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ถึงแม้เศรษฐกิจจีนและยุโรปเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นก็ตาม แต่การระบาดของเชื้อไวรัสอาจทำให้เกิดภาวะชะงักงันในจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังเศรษฐกิจส่วนอื่นๆของโลกด้วย แต่นักลงทุนดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับตัวเลขเศรษฐกิจที่เป็นบวกมากกว่า


ล่าสุดสหรัฐรายงานตัวเลข ISM Manufacturing PMI ของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.9 ในเดือน ม.ค. 2563 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2562 หลังจากที่หดตัวติดต่อกัน 5 เดือน สอดคล้องกับตัวเลข Global PMI ของภาคการผลิตโลกที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.4 ในเดือน ม.ค. 2563 จากระดับ 50.1 ในเดือน ธ.ค. 2562 นอกจากนี้ในส่วนของตลาดแรงงานสหรัฐ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร หรือ Non-Farm Payroll ของสหรัฐเพิ่มขึ้น 225,000 ตำแหน่งในเดือน ม.ค. 2563 สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 158,000 ตำแหน่ง


นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนจากการที่ธนาคารกลางจีนได้อัดฉีดเงิน 4 แสนล้านหยวนเข้าสู่ระบบการเงินผ่านทางข้อตกลง Reverse Repo นอกเหนือจากที่ได้อัดฉีด 1.2 ล้านล้านหยวนก่อนหน้านี้ โดยมีเป้าหมายที่จะเสริมสภาพคล่องในระบบให้เพียงพอในช่วงเวลาที่จีนกำลังเร่งป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา


ธนาคารกลางจีนกำลังเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าชั้นดี (LPR) ในวันที่ 20 ก.พ. 2563 และจะปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของสถาบันการเงิน (RRR) ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ขณะที่ตลาดการเงินเริ่มมีการคาดการณ์ถึงการใช้นโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกในเชิงผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม โดยล่าสุดธนาคารกลางฟิลิปปินส์ และธนาคารแห่งประเทศไทยมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 25 bps ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะของไทยที่ปรับดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับต่ำที่สุดในประวัติการณ์


ตลาดหุ้นไทยขาลงสวนทางโลก ! ในส่วนของตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น มีปัจจัยหนุนจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ พ.ร.บ.งบประมาณฯไม่เป็นโมฆะ โดยมีมติให้สภาผู้แทนราษฎรโหวตวาระ 2-3 ใหม่ ก่อนส่งให้วุฒิสภาโหวตใหม่ ประกอบกับ Momentum ของตลาดหุ้นโลกยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 3.42%, 20.88% และ 10.85% ซึ่งทั้งหมดยังคงแกว่งตัวอยู่ต่ำกว่ากว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 25 วัน (SMA 25) สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น


อย่างไรก็ดีตลาดหุ้นไทยน่าจะยังคงอยู่ในแนวโน้มพักฐานต่อเนื่อง ตรงข้ามกับทิศทางของตลาดหุ้นโลกที่แนวโน้มหลักยังคงเป็นขาขึ้นเต็มตัว และการดีดตัวขึ้นในระยะสั้นน่าจะเป็นเพียงแค่การ Technical Rebound เท่านั้น จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง สะท้อนออกมาจากการที่แม้ว่าล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะมีมติเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 1.00% แต่มาจากมุมมองที่ว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้นมาก เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา รวมทั้งความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี และภัยแล้ง ขณะที่ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อปี 2563 และ 2564 ที่มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย


นอกจากนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม กนง. มองว่ายังไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยผู้ว่ากลางธนาคารกล่าวระบุว่า ธปท. พร้อมใช้เครื่องมือทางการเงินเพิ่มเติม หากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศระยะข้างหน้ามีแนวโน้มแย่ลง และ. มีแนวโน้มที่จะปรับลดคาดการณ์ GDP ที่ 2.8% ในปี 2563 ลง ในการประชุมนโยบายครั้งต่อไปในเดือน มี.ค. 2563 ด้วย


ขณะที่ในส่วนของมุมมองทางเทคนิคของตลาดหุ้นไทย “นายหมูบิน” ยังคงยืนยันมุมมองเดิมว่าการที่ SET หลุดแนวรับบริเวณ 1,547 จุดลงมา ถือเป็นการยืนยันรูปแบบ Descending Triangle และบริเวณ 1,450 จุดจะเป็นแนวรับต่อไปของ SET


ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดในกรอบ 1,547 จุด เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”


ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ




22 views
bottom of page