top of page
327304.jpg

ปัจจัยพื้นฐานยังคงไม่หนุนการไปต่อ



ดีดตัวขึ้นต่อบนความเสี่ยง !

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงเดินหน้าปรับตัวขึ้นจากความคาดหวังว่าการทยอยเปิดเมืองอีกครั้งของประเทศสำคัญๆ ของโลก จะส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้ โดยล่าสุดญี่ปุ่นยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศอันเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และเตรียมกลับมาเปิดประเทศ เพื่อให้ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสามของโลกกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง

แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังต้องเฝ้าระวังสูงสุดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดซ้ำระลอกสอง ขณะที่ทางฝั่งของยุโรป ล่าสุดรัฐบาลเยอรมนีมีแผนที่จะผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะทางสังคมให้เร็วขึ้น 1 สัปดาห์ จากเดิมที่จะมีผลบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ 5 ก.ค. 2563 มาเป็นวันที่ 29 มิ.ย. 2563 และตั้งเป้าจะยกเลิกคำเตือนการเดินทางไปยัง 31 ประเทศในยุโรปในช่วงกลางเดือน มิ.ย. 2563 สอดคล้องกับการที่รัฐบาลอังกฤษเริ่มอนุญาตให้มีการเปิดห้างสรรพสินค้าและธุรกิจบางส่วนตามมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์เฟสที่สอง

อย่างไรก็ตามความขัดแย้งระหว่างจีน และสหรัฐ ที่ล่าสุดสำนักข่าว Bloomberg ได้รายงานว่าสหรัฐกำลังตัดสินใจที่จะกำหนดขอบเขตในการคว่ำบาตรบริษัทจีนที่อยู่ในฮ่องกง โดยให้เหตุผลว่าเป็นการลงโทษที่จีนปรับใช้กฎหมายความมั่นคงใหม่ในฮ่องกง ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐเองก็ออกมาประกาศว่าฮ่องกงจะสูญเสียสถานะศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย หากรัฐบาลจีนดำเนินการตามกฎหมายใหม่ หลังจากที่ Mike Pompeo รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐได้รายงานต่อสภาคองเกรสสหรัฐว่า ฮ่องกงไม่ได้มีความเป็นอิสระในการปกครองตนเองจากจีนอีกต่อไป และจะถอนสถานะการค้าพิเศษที่สหรัฐมอบให้ฮ่องกงอยู่ โดยทางสหรัฐกำลังพิจารณาว่าจะคว่ำบาตร หรือมีมาตรการอื่นๆต่อฮ่องกงในระยะถัดไป


ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวอาจส่งผลให้การค้าของฮ่องกงกับสหรัฐได้รับผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะหากฮ่องกงถูกสหรัฐใช้มาตรการภาษีเช่นเดียวกับจีน ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ระบุว่า ในปี 2561 การค้าสินค้าและบริการของสหรัฐกับฮ่องกงมีมูลค่ารวมกว่า 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยสหรัฐส่งออกไปฮ่องกงรวม 5.01 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ฮ่องกงส่งออกไปสหรัฐ 1.68 หมื่นล้านดอลลาร์


นอกจากในด้านเศรษฐกิจแล้ว ขณะนี้สหรัฐกำลังอยู่ในภาวะความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดรอบสองของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จากความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในประเทศ ทั้งการไม่ปฏิบัติตาม Social Distancing และการประท้วงเรื่องคนผิวดำที่เสียชีวิต ถึงแม้ Anthony Fauci ที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของสหรัฐ จะออกมาบอกเมื่อวันก่อนว่า วัคซีนป้องกันโรค COVID-19 อาจได้ใช้เร็วที่สุดภายในปลายปีนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังย้ำเตือนถึงการระบาดรอบสองในสหรัฐ ว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ความไม่เชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นในระยะต่อไปของสหรัฐ สะท้อนออกมาจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ที่แม้ว่าจะเพิ่มขึ้น 4.07% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมามาอยู่ที่ 33.07% แต่ยังคงต่ำกว่าเมื่อเทียบกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่แม้ว่าจะลดลง 2.89% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังคงอยู่ที่ระดับสูงราว 42.13%

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไม่ใช่ปัจจัยบวกแน่ๆ ! สำหรับสถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 ในสหรัฐ ทางด้านผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และนักเศรษฐศาสตร์ ต่างก็ถกเถียงกันอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมาว่า ระหว่างการปิดเมืองแล้วเศรษฐกิจแย่ลงเรื่อยๆ กับการเปิดเมืองเปิดเศรษฐกิจ แต่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดตามมาในระลอกที่ 2 แบบไหนจะดีต่อประเทศมากที่สุด หลังจากที่ล่าสุดสหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับ GDP ประจำไตรมาส 1 ปี 2563 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลง 5.0% ซึ่งแย่กว่าที่ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ระบุว่าหดตัวลง 4.8% โดยได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล ขณะที่ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก หรือ Initial Jobless Claim ของสหรัฐเพิ่มขึ้นจำนวน 2.1 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 2.0 ล้านราย

หากรวมตัวเลขในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีคนสหรัฐตกงานทะลุ 40 ล้านคนไปแล้ว สอดคล้องกับในฝั่งยุโปที่ Christine Lagarde ประธานธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบี ออกมาแถลงถึงแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนไปในทิศทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัวประมาณ 8-12% ในปี 2563 เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่เปิดเผยการอัดฉีดเงินเพิ่มเติมกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมาตรการช่วยเหลือล่าสุดนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ข้อมูลของทางการญี่ปุ่นยืนยันแล้วว่าประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งใหญ่ (Deep Recession) ซึ่งรัฐบาลให้คำมั่นว่าจะมีการสนับสนุนด้วยเม็ดเงินประมาณ 40% ของ GDP

นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นจะออกตราสารหนี้เพิ่มอีกประมาณ 5.58 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้ภายใน 6 เดือนของปีนี้ ญี่ปุ่นต้องออกพันธบัตรโดยรวมไปแล้วกว่า 1.86 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งนี้จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของตลาดหุ้นโลก และไทยในช่วงที่ผ่านมา สวนทางกับปัจจัยในเชิงพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และตลาดหุ้น โดยเฉพาะในเรื่องของความสามารถในการทำกำไรที่ยังคงเปราะบาง สะท้อนออกมาจากการที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา Bloomberg Consensus ปรับประมาณการการขยายตัวของกำไรสุทธิในตลาดหุ้นไทยลงอีก 1.0% ลงมาอยู่ที่ -22.7% ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปี 2563 Bloomberg Consensus ได้ปรับประมาณการการขยายตัวของกำไรสุทธิในตลาดหุ้นไทยลงมาแล้วถึง 34.5% เทียบกับที่ Bloomberg Consensus ปรับประมาณการการขยายตัวของกำไรสุทธิในตลาดหุ้นโลก สหรัฐ ญี่ปุ่น และ Asia ex Japan ตั้งแต่ต้นปี 2563 ลง 30.3%, 30.3%, 23.4% และ 19.5% ตามลำดับ ขณะที่อัตราการขยายตัวของกำไรสุทธิปี 2563 ในตลาดหุ้นไทยที่ -22.7% ยังถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวของกำไรสุทธิปี 2563 ในตลาดหุ้นโลก สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และ Asia ex Japan ที่ -11.7%, -10.7%, -15.9% และ -5.0% ตามลำดับ

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ใช้โอกาสที่ SET ยังคงยืนเหนือ 1,250 จุด (+/-) ได้ เน้น "ดีดขึ้นขาย" ในลักษณะ "Short Against" เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น CPALL, BJC, BEM, EGCO, BCH, GPSC, BTS, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ "ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต"

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97.0 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club


19 views
bottom of page