Interview: ผศ.ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด
เหตุที่มาและจะเกิดอะไรขึ้นตามมาหลังจากการปรับดอกเบี้ยลงของ Fed
ถ้าเท้าความจุดเปลี่ยน มี 2 จุดเปลี่ยน
จุดเปลี่ยนแรก คือตอน โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 3 ปีกว่าที่แล้ว เผอิญไปตัดงบของหน่วยงานควบคุมโรคติดต่อของอเมริกา (U.S. CDC) ตัดงบจนหมด จริงๆความสามารถของ U.S. CDC หมดไปพร้อมกับงบที่หายไปตั้งแต่ 3 ปีกว่าที่แล้ว อันนี้เป็นจุดเปลี่ยน และทรัมป์เข้าใจเกม โยนเผือกร้อนให้กับรองประธานาธิบดีมาคุมแทน สิ่งที่เขาไม่มั่นใจว่าเขาจะคุมได้ไหมเพราะหน่วยงานที่มีความแข็งแกร่งด้านการป้องกันหรือช่วยเหลือของโควิด-19 หรือโรคอื่นๆ ของอเมริกาไม่ได้เป็นที่หนึ่ง มีอันดับการต่อสู้กับวิกฤตทางด้านโรคระบาดอันดับที่ 20 กว่า สาเหตุหลักคือการตัดงบประมาณตอน โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามารับตำแหน่ง โอกาสของสหรัฐในการคุมโควิด-19 ไม่ดีพอ ทำให้ตลาดหุ้น wall street กังวลเรื่องนี้มาก
เรื่องที่ 2 คือ เจอโรม พาวเวล เก่งเท่ากับ เบน เบอร์นันเก้ เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วหรือเปล่าในการรับมือรอบนี้ ตลาดก็ยังสงสัยอยู่ จริงๆแล้วต้องบอกว่าตลาดตอบรับในเชิงลบในวันที่พาวเวลตัดดอกเบี้ย 0.5% เข้าใจว่าตัวพาวเวลตอบคำถามผู้สื่อข่าวกับนักวิเคราะห์ได้ไม่ดีเท่าไหร่ คือไม่สร้างความมั่นใจเหมือนสมัยเบอร์นันเก้ที่เขาแม่นเรื่องเศรษฐศาสตร์มาก สามารถตอบได้ แต่พาวเวลตอบสั้นๆ ตลาดเลยกังวลว่าพาวเวลจะเก่งพอหรือเปล่าที่จะรับมือรอบนี้
อันนี้เป็น 2 ประเด็นหลักที่มีผลจากผู้ทรงอิทธิพลของอเมริกาทั้งทรัมป์และพาวเวล โดยตลาดมองว่าโอกาสโควิด-19 จะไหลต่อมีโอกาสสูงมาก ตัวนี้เป็นจุดเปลี่ยนจริงๆ
ข้ามมายุโรปก็มีปัญหาคล้ายอเมริกา คือการระบาดลุกลามทั้งอิตาลี สเปน และประเทศอื่นๆ ในยุโรป ด้วยความที่ยุโรปไม่มีผู้นำ อย่างเมื่อก่อนมี อังเจลา แมร์เคิล ของเยอรมันเป็นโต้โผ ตอนนี้ยุโรปไม่มีคนที่ทรงอิทธิพลที่มีความแข็งแรงที่จะพูดให้ทุกคนมั่นใจในมุมการเมืองและนโยบายการคลัง อีกปัญหาหลักคือเผอิญโชคร้ายเมื่อ มาริโอ ดาร์กี้ พ้นตำแหน่งประธาน ECB ในจังหวะที่ต้องการตัวเขามากที่สุด ส่วนลาการ์ดเพิ่งมารับตำแหน่งแทนเมื่อ 3 เดือนเศษ ถ้าใครได้ฟังลาการ์ดตอนพูดประชุม จะเห็นเลยว่ายังต้องเรียนรู้เรื่องการเงินอีกเยอะ ความมั่นใจที่จะสามารถพูดแล้วช่วยให้ตลาดดูดีขึ้นยังไม่มากพอ บางครั้งการเงินก็ไม่ได้ช่วยวิกฤตต่างๆ ได้ 100% อาจช่วยได้แค่ส่วนเดียว และตัวลาการ์ดยังไม่ชำนาญการร่ายมนต์ให้ตลาดเชื่อ จึงเป็นจุดอ่อนของยุโรปเข้าไปอีก
ปัญหาของยุโรปและอเมริกาคล้ายๆ กันคือผู้ทรงอิทธิพลฝั่งการเมือง การคลัง และนโยบายการเงิน ไม่ได้มือเก๋าเหมือนสมัย 10 ปีที่แล้ว ซึ่งเบอร์นันเก้กับ มาริโอ มาร์กี้ คือที่สุดของนโยบายการเงินในยุค 10 ปีให้หลัง วันนี้พาวเวลอาจจะดูดีกว่าฝั่ง ECB โจทย์ที่ยากเกินไปสำหรับยุคนี้ เป็นโจทย์ที่ยากกว่าสมัย 10 ปีที่แล้วอีก เพราะสมัย 10 ปีที่แล้วมันจบที่การเยียวยาตัวสภาพคล่องจากวิกฤตซับไพรม์ คือ จบที่ 4-5 เดือนแรก และอีกประเด็นโอบามาให้การสนับสนุนรัฐมนตรีคลังในยุคนั้น แต่รัฐมนตรีคลังในยุคนี้เป็นสไตล์ตามนักการเมือง คือพูดตามทรัมป์ ความแข็งแกร่งในแง่ของการเยียวยาแก้ปัญหาต่างกัน อย่าง ทิม ไกธ์เนอร์ ดูแล้วเขามั่นใจว่าจะแก้ปัญหาได้ แต่ด้าน สตีเวน มนูชิน นั้นเรามั่นใจว่าเล่นให้ทรัมป์พอใจมากกว่า อันนี้พูดตรงๆว่าเป็นการเมืองมากกว่ามาแก้ปัญหาแบบจริงจัง
อีกประเด็นที่ปัญหาครั้งนี้ไม่เหมือนในยุค 1930 คือไม่มีการลงทุน ไม่มีการบริโภคที่เพียงพอ การอัดนโยบายและการเงินเพียงเล็กน้อย ปัญหาเมื่อ 80 ปีที่แล้วใช้เวลาแก้ไขนาน แต่ปัญหาก็ไม่ได้ยุ่งยาก คือเป็นลักษณะการขาดปัจจัยด้านอุปสงค์ที่มันน้อยเกินไปและรวมถึงหุ้นดาวโจนส์ในยุคนั้นก็ตกต่ำ จริงๆปัญหาเรื่องอุปสงค์ถ้าได้ยาดีลำพังเฟดก็แก้ได้แล้ว แต่แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิสเมื่อ 10 ปีที่แล้วเป็นลักษณะผสมกันระหว่างความเสี่ยง สภาพคล่อง เครดิต และสถาบันการเงินที่ล้ม เมื่อล้มไป กฎหมายที่มาอุ้มแบงก์อื่นก็จบไปที แต่ความรุนแรงช่วงแฮมเบอร์เกอร์ ไครซิสมันพีคกว่าตอนนี้ ข้อเสียของตอนนี้คือหาจุดจบยากเพราะเฟดไม่ใช่พระเอกคนเดียวที่จะมาแก้ปัญหา เพราะปัญหานี้เป็นลักษณะของซัพพลายช็อค ตัวอุปทานที่มันหายไปจากคนทั่วโลกทั้งยุโรป อเมริกา และเอเชีย ประชาชนทั่วไปไม่ยากออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน โดยเฉพาะอเมริกาจะมีปัญหาด้านบริการ ถ้าคนอเมริกาไม่ออกมาใช้บริการ ตัวเศรษฐกิจอเมริกาไปต่อยากมาก รวมถึงยุโรปคนก็ผวา คือไม่อยากออกมาทำกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ
อีกประเด็นคือ นอกจากตัวอุปสงค์แล้วตัวที่ขาดหายไปคือฝั่งอุปทาน อย่างจีนเมื่อ 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีบางบริษัทไม่สามารถซัพพลายตัววัตถุดิบในบางส่วน ทำให้สินค้าและบริการบางเซกเตอร์สะดุดเล็กน้อย และก็จะเป็นแบบนี้มากขึ้นนับต่อจากนี้ มองว่าจุดต่ำสุดตอนนี้ยังไม่เห็น คาดว่า 2-3 เดือนต่อจากนี้อาจจะเห็นเมื่อจีนไม่มีโควิด-19รอบ 2 และตัวเลขการติดเชื้อในอิหร่าน อิตาลี สเปน หรืออเมริกา เริ่มหยุดไหล น่าจะ 2 เดือนเป็นอย่างต่ำ ซึ่งจุดหลักคืออเมริกาเป็นประเทศที่รับมือกับโรคระบาดได้ไม่เก่ง แม้แต่การประชุมที่ทรัมป์เพิ่งไปมา ก็มีข่าวว่ามีคนที่มาร่วมประชุมติดโควิด-19 แต่ทรัมป์ไม่ได้ติดเชื้อ แสดงความล่อแหลมมากในการพูดถึงโควิด-19 แม้แต่ผู้นำเองยังไม่รู้ว่างานที่เขาไปร่วมมีคนติดโควิด-19 อยู่ไหม สะท้อนให้เห็นว่าวันนี้แสงสว่างปลายอุโมงค์ยังไม่เห็น คาดว่าอีก 2-3 เดือนอาจจะเห็นเค้าลางแสงสว่าง แต่ตอนนี้ยังไม่มีจุดหมายอยู่ อาจจะอยู่ลึกมากกว่าจะเห็น ซึ่งถ้าเห็นแสงถือเป็นสิ่งสำคัญต่อตลาดทุน
ดอกเบี้ยพันธบัตรอเมริกาปรับลดลงมามาก กำลังบอกอะไรเรา อย่างดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีเหลือ ต่ำกว่า 1%
บอกว่า 1. ตลาดค่อนข้างมั่นใจว่าเฟดต้องทำ QE คือต้องลดดอกเบี้ยนโยบาย 2. การหนีตาย คือตัวความเสี่ยงตลาดทุนในตลาดอื่นๆ ต้องหนีเข้ามาเพื่อหลบ เพื่อเซฟ ใครไม่หนีตายมาค่อนข้างเสียเปรียบ ทุกคนมีลักษณะมองตามกัน มองเพื่อนๆนักลงทุนแล้วมีพฤติกรรมตามกัน แต่ส่วนที่สำคัญมากคือไม่อยากอยู่จุดที่มีความเสี่ยง แม้แต่ลักษณะ High Yield Bond ทุกคนก็ไม่อยากจะถือเท่าไหร่ High Yield Bond เมื่อก่อนมี 2% ภายใน 2-3 วันขึ้นมา 4% คนยังมองว่าเสี่ยงเกินไป
สรุปปรากฏการณ์ คือ 1. เฟดลดดอกเบี้ยจนติดดินแล้วทำ QE 2. หนีตาย คือเมื่อคนอื่นหนีตายแล้ว ถ้าเราไม่หนีก็สู้ไม่ได้ ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตร 30 ปี เหลือ 1.2% พันธบัตร 5 ปี เหลือ 0.5% เช่นเดียวกับพันธบัตร 10 ปี
ตลาดหุ้นอเมริกาจะเกิดเหตุการณ์แบล็กมันเดย์อีกไหม จะเลวร้ายกว่านี้ไหม
ตลาดหุ้นอเมริกาตอนนี้ยังรับรู้ข่าวโควิด-19 ไม่หมด การไหลลงของตลาดหุ้นอเมริกาจึงจะยังไม่หยุด เมื่อการแพร่ระบาดในอเมริกาลุกลามจากชิคาโก ไปแคลิฟอร์เนีย ไปวอชิงตัน ดี.ซี. คืบคลานไปเรื่อยๆ ตลาดหุ้นก็จะไหลลงไปเรื่อยๆตามความรุนแรงของโควิด-19 เพราะสะท้อนถึงความไม่มั่นใจต่อทรัมป์ที่จะคุมโควิด-19ในอเมริกาได้ ตราบใดที่ยังมีเคสโควิด-19 เพิ่มขึ้น มีการตายขึ้นมา มีการประกาศภาวะฉุกเฉินอีก ดัชนีดาวโจนส์จะไหลลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมั่นใจว่าโควิด-19 คุมได้แล้ว วันนั้นตลาดหุ้นจะหลุดไหลและจะขึ้นมาค่อนข้างแรง แต่ตราบใดยังไม่เห็นจุดสกัดได้ ตลาดหุ้นอเมริกาก็จะไหลลงต่อไปเรื่อยๆ เพราะมาตรการการป้องกันโควิด-19 มีปัญหาจากการตัดงบของหน่วยควบคุมโรคติดต่อเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ความแข็งแรงในการสู้กับโควิด-19 ของอเมริกาจึงไม่มากพอ
พี่ใหญ่ยังเป็นแบบนี้ ไทยจะเป็นแบบไหน
มุมโควิด-19 ของไทยถ้ายังไม่รุนแรงมาก จะประกาศเข้าระยะ 3 ก็ประกาศไปแต่ไม่รุนแรงเท่าภูมิภาคอื่นอาจจะช่วยตลาดหุ้นได้ในระดับนึง แต่เผอิญโควิด-19 กระทบท่องเที่ยวไทย และยังผีน้อย จึงมีผลเชิงลบมาโดยตลอด มองว่าภาพการแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทยอาจไม่ได้รุนแรงมาก แต่จะมีปัญหาใหม่ๆ คอยฉุดตลาดบ้านเราให้ดร็อปลง ภัยแล้งบ้านเราปีนี้ค่อนข้างเยอะ การท่องเที่ยวที่หายไปประมาณ 10% ของ GDP ปีนี้ อย่างเร็วสุดไตรมาส 4 จะกลับมา คือเราไม่ได้มีปัญหาแค่โควิด-19 อย่างเดียว ยังมีปัญหาท่องเที่ยวและภัยแล้งเป็นตัวสอดแทรก ถ้าโควิด-19 ระเบิดก็จบกัน เพราะเรามีตัวเชิงลบมากกว่าตลาดหุ้นประเทศอื่น
ในมุมมอง GDP เศรษฐกิจไทยจะติดลบไหม
Q1-Q3 เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาส 75% มีแนวโน้มหดตัว 2 ไตรมาสติด Q1-Q2 หรือ Q2-Q3 เข้าไตรมาส 4 โอกาสกลับมาเป็นบวกค่อนข้างสูง ทั้งปีผมยังให้แค่ศูนย์ แต่เชื่อว่าติดลบ ยังมองโลกในแง่ไม่ร้ายเท่าไหร่ มองตามอาการ 90% คิดว่าตัว GDP ติดลบ 1 ไตรมาส ส่วนติดลบ 2 ให้โอกาส 75%
Comments