top of page
312345.jpg

ส่งออกไทยไม่สดใส....คาดปี 63 ติดลบ 8%


Interview : คุณกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์

ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)


ส่งออกไทยไม่สดใส สรท. คาดปี 63 ส่งออกติดลบ 8% เหตุโควิดพ่นพิษ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทย ทั้งจีน อเมริกา ยุโรป ติดลบระนาว ภาคการผลิตเพื่อส่งออกของไทยแทบจะนิ่งสนิท โดยเฉพาะอุตฯ ยานยนต์และอุตฯ ต่อเนื่อง ที่ยังพอไปได้คืออุตฯ อาหาร ยา-เวชภัณฑ์ทางการแพทย์และสินค้าไอที เตือนให้ระวังสภาพคล่องทางการเงินของกิจการกับสภาพคล่องทางการเงินทั้งระบบในเมืองไทยวันนี้ติดลบไปเยอะมาก เป็นสัญญาณอันตราย

เรื่องการส่งออก การค้าขายทั้งโลกไม่ปกติ การส่งออกของไทยยากลำบากพอสมควร และยังมีปัญหาค่าเงินบาทแข็ง ในปี 63 การส่งออกไทยจะเป็นอย่างไรบ้าง

ไม่ได้ดูว่าสดใส ที่กระทรวงพาณิชย์แถลงการณ์ตัวเลขส่งออก 5 เดือนของที่ผ่านมา ดูเหมือนตัวเลขยังบวกอยู่หรือเปล่า แต่จริงๆ เราต้องไปทอนออกในส่วนของการส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่ของไทย เช่นในเรื่องของยุทโธปกรณ์ที่เรานำมาซ้อมรบ การส่งคืนพวกเครื่องบินในอุตสาหกรรมของสายการบิน เพราะไม่ได้ลงทุนเครื่องบินเอง เขาเช่าเครื่องบินมา อุตสาหกรรมสายการบินช่วงนี้ก็หยุดบินหลายเดือนตั้งแต่มีโควิด ก็อาจจะต้องหยุดบินกันอีกเพราะสนามบินยังไม่ได้เปิด ในเชิงตัวเลขศุลกากรก็มองเหมือนว่ามีการนำเข้ามาและมีการส่งออกไป พอเราทอน 2 ตัวนี้ออกซึ่งมีการยืมเข้ามาแล้วส่งออกไป ทำให้ตัวเลขเราก็ติดลบเลย อีกตัวที่มีการส่งออกสร้างมูลค่าโดยตรงเรื่องของการผลิตในประเทศไทยคือทองคำที่ส่งออกค่อนข้างจะสูงมาก

เราเคยถามธนาคารแห่งประเทศไทยเหมือนกันว่าตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาไม่ตรงกับกระทรวงพาณิชย์ คือธนาคารแห่งประเทศไทยก็มองในมุมเดียวกันกับ สรท. คือตัวไหนไม่ใช่สิ่งของของไทย แต่เรายืมนำเข้ามาและส่งออก ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มอย่างแท้จริง เราจะหักออก ตัวเลขเลยไม่ดีกลายเป็นติดลบลงมา 6.8% จากที่บวก 1% กว่า

ในส่วนของคาดการณ์ทั้งปี สรท.มองว่าปีนี้น่าจะติดลบ 8% ตัวนี้เรามองตั้งแต่ต้นปี คือในส่วนของปัญหาภาวะเศรษฐกิจและมีโควิดเข้ามากระทบอีกด้วย แต่วันนี้ภาคการส่งออกติดลบน่าจะรุนแรงมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจคู่ค้าของเราทั้งยุโรป อเมริกา จีน ญี่ปุ่น ตัวเลขไตรมาส 1 ติดลบชัดเจน จีนติดลบ 6% อียู ติดลบ 3.8% อเมริกา ติดลบ 5% ซึ่งเศรษฐกิจเกิดการหดตัวหมดเลยแม้กระทั่งเศรษฐกิจไทยก็หดตัวไปด้วย อัตราเงินเฟ้อก็ลดด้วย ทำให้เห็นถึงการหดตัวของเศรษฐกิจไทย และการส่งออกเป็นเครื่องยนต์ตัวนึงอาจจะค่อยๆ เห็นแววว่าไปได้ไม่ดีแล้ว

การผลิตเพื่อการส่งออกในทุกอุตสาหกรรมของไทยติดลบหมดเลยใช่ไหม

เรามองภาพรวมของประเทศจากการส่งออกติดลบ แต่ถ้าจำแนกแยกประเภทอุตสาหกรรมก็จะมีบางอุตสาหกรรมที่ยังไปได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหารยังมีโอกาสเติบโตได้ แต่ก็ไม่ได้เติบโตหวือหวา น่าจะแค่ 3-5% ด้วยเศรษฐกิจในหลายประเทศไม่ดีทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายซึ่งกระทบในหลายอุตสาหกรรม ที่เห็นได้ชัดคือรถยนต์ ที่มีข่าวออกมาตลอดว่าปริมาณการขายรถยนต์ในประเทศหายไป 50% ที่ส่งออกไปต่างประเทศก็หายไป 50% ส่วนตัวอุปกรณ์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยางที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์คือยางล้อ หลายๆ ตัวก็หดตัว อาจจะมี 2 กลุ่มในสินค้าอุตสาหกรรมที่มีความชัดเจนในการเติบโตคืออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ เนื่องจากเรากระทบจากโควิดก็ Work from Home บริษัทต่างๆ ที่ให้พนักงานทำงานที่บ้านก็มีการเตรียมการเรื่องของอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน พวกคอมพิวเตอร์ต่างๆ ความต้องการพวกอิเล็กทรอนิกส์และไอทีมีมากขึ้น เราจึงค่อนข้างมั่นใจว่าจะมีการเติบโตมากขึ้น อีกกลุ่มคือพวกเวชภัณฑ์หรืออุปกรณ์การแพทย์ก็มีโอกาสโตขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มถุงมือยาง เรื่องโควิดโรคระบาดทำให้มีความจำเป็นต้องใช้เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์มากขึ้น เรียกว่าอุตสาหกรรมไหนที่ไม่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน เห็นแล้วว่าผู้บริโภคชะลอตัวลง ก็ควรระวังเอาไว้ก่อนดีกว่าเพราะเศรษฐกิจไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่

ภาคการส่งออกทั้งระบบที่คาดว่าติดลบ 8% ถือว่าวิกฤตที่สุดหรือยัง จะมีถ้าวิกฤตสุดๆ มากกว่านี้อีกไหม

จริงๆ ก็ประมาณไว้เท่านี้ แต่อาจจะต้องดูเหมือนกันว่าเศรษฐกิจทุกประเทศเขาจะมีการแก้ไขและฟื้นตัวกลับมามากน้อยแค่ไหน ช่วงนี้เข้าเดือนมิถุนายน เข้าสู่ฤดูร้อนแล้วทั้งในยุโรปและอเมริกา ซึ่งคนจะเริ่มจับจ่ายใช้สอย ออกมาเที่ยวกัน เห็นภาพทุกคนอึดอัด แม้แต่คนไทยทำงานอยู่บ้านมาเดือนครึ่ง ทุกอย่างล็อกดาวน์หมด พอเริ่มปลดล็อกคนก็ออกมากัน ถ้าออกมาแล้วสามารถป้องกันโรคระบาดได้ดีจริง การฟื้นตัวเศรษฐกิจก็อาจจะกลับมาเร็วขึ้น คนเริ่มมีความมั่นใจ ก็ออกมาใช้เงินมากขึ้น แต่ถ้าการควบคุมโรคระบาดยังไปได้ไม่ดีแล้วมาเป็นระลอก 2 และ 3 ก็อาจมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นไปอีก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจหดตัวหนักขึ้นไปอีก ทุกประเทศเริ่มมองว่าควรจะปลดล็อกไหม ควรเปิดได้หรือยัง ยกตัวอย่าง เช่น นิวซีแลนด์หรือญี่ปุ่น ถ้าเปรียบเทียบกันอย่างนิวซีแลนด์ใช้ยาหนัก ปิดทุกอย่าง 30 วัน วันนี้เขาเปิดแล้วแฮปปี้เลย เขาอาจจะคุมคนเดินทางเข้าประเทศบ้างเพราะต่างประเทศยังติดโรคอยู่ แต่ญี่ปุ่นไม่ได้คุมตั้งแต่แรก วันนี้ปริมาณคนติดเชื้อยังเห็นขึ้นมาเรื่อยๆ จะเห็นภาพเปรียบเทียบกันได้ว่าถ้าแต่ละรัฐบาลควบคุมสถานการณ์ได้ เศรษฐกิจก็จะฟื้นได้เร็วขึ้น แต่ถ้ายังมีประชาชนติดเชื้อมาก มีอัตราการตายสูง ก็ยังน่าเป็นห่วง อย่างอเมริกาก็หวั่นเหมือนกันว่าจะเปิดหรือปิดดี แต่คนเขาเริ่มอึดอัดแล้ว มีการอ้างสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ทำไมต้องบังคับเขาให้อยู่กับที่ เขาอยากจะเดินทาง อยากใช้จ่าย

จริงๆ แล้วเราอยากเห็นเศรษฐกิจฟื้นกลับมาโดยเร็ว แต่ทางการแพทย์ยังบอกได้ไม่ชัดเจนว่าจะกลับมาดีกว่า -8% ไหม หรือแย่กว่านี้ไหม เราต้องประเมินดูเรื่องของผลกระทบจากโควิดในแต่ละประเทศเศรษฐกิจคู่ค้าของเราด้วย

อยากให้ทั้งโลกปกติโดยเร็ว

ใช่ ถ้าทุกอย่างยังหดตัวต้องบอกว่ามันก็กระทบต่อสภาพคล่องแต่ละบริษัท คือเราเคยขายได้ขายดี มีกำไร ถ้าบาทอ่อนก็จะได้เงินเยอะเพราะรายจ่ายเราเป็นบาท เราก็อยากได้รายได้ที่เป็นบาทสูง แต่ทุกวันนี้เราส่งออกติดลบ การบริโภคในประเทศติดลบ ท่องเที่ยวตอนนี้หายเกือบหมดเพราะยังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา สภาพคล่องในระบบของประเทศไทยปัจจุบันติดลบไปเยอะมาก รัฐบาลมีการเกริ่นว่าเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท จะแบ่งใช้อะไรบ้าง วันนี้ภาครัฐมาช่วยภาคสังคม คือเงินประกันสังคมก็ดี นอกประกันสังคมก็ดี ช่วยเกษตรกรก็ดี อันนั้นจะช่วยเท่าไหร่ แต่ถ้าเราช่วยให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ แล้วเราทำให้เศรษฐกิจส่งออกได้ เศรษฐกิจขายของได้ บริษัทจะจ้างคนกลับมาทำงานเอง

49 views
bottom of page