Interview: คุณกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์
ประธาน สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)
เจรจาเฟสแรกสงครามการค้าอเมริกา-จีน กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างต้องรอหลังปีใหม่ ’63 การส่งออกของไทยจะยังไม่ได้รับอานิสงส์ทันที ยอดส่งออกของไทยจะนิ่งๆ ทรงๆ ไปอีกสักพักใหญ่ๆ ส่วนเงินบาทที่แข็งค่าจะยังเป็นปัญหารุมเร้าผู้ส่งออกต่อเนื่องไปถึงปี 63 สมทบกับปัญหาค่าแรงที่สูงโด่ง ทำให้ค้าขายสู้คู่แข่งไม่ได้ และนักลงทุนต่างชาติทิ้งไทยไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ภาครัฐต้องยื่นมือช่วยผู้ส่งออกและธุรกิจเอสเอ็มอีโดยเร่งด่วน ทั้งเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยถูกเพื่อใช้จ่ายหมุนเวียนเป็นสภาพคล่อง เงินกู้เพื่อปรับปรุงเครื่องจักรในการผลิตเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มากขึ้น
มองสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ว่ากันว่าจบเฟสแรกเป็นอย่างไร
หมายถึงที่มีการเจรจากันว่าน่าจะได้ข้อสรุป คือพวกเราก็ตามข่าวอย่างใกล้ชิด ดูข่าวจากหนังสือพิมพ์ต่างประเทศที่อาจจะได้ข้อมูลที่แม่นยำ จากที่ดูเฟสแรกที่มีการเจรจา ก็มีแนวโน้มที่ดี คิดว่าน่าจะมีการลงนามในสัญญาเร็วๆนี้ ในตัวข้อตกลงน่าจะมีการแบ่งออกเป็น 9 บท ก็คงต้องรอดูไปก่อน ช่วงนี้คือเบื้องต้นเขาคุยกันสรุปแล้ว จีนยอมรับที่จะสั่งสินค้าทางการเกษตรจากสหรัฐอเมริกามากขึ้น มีบางเรื่องที่ยังต้องเจรจาต่อ เช่นเรื่องของสินค้าทางปัญญา อาจจะมีการคุยกันในภายหลัง ถือว่าน่าจะเป็นข่าวดี หุ้นในสหรัฐอเมริกาก็ขึ้น ตลาดหุ้นเริ่มขึ้น สบายใจกันขึ้น กระทรวงพาณิชย์ก็ออกข่าวมาเหมือนกันว่าการเจรจาไปด้วยดี และเป็นความหวังของไทยที่น่าจะส่งออกมากขึ้นด้วย
จีนจะสั่งซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐอเมริกามากขึ้น ตรงนี้จะกระทบไทยหรือไม่
คงไม่ เพราะกลุ่มสินค้าเกษตรที่สหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้จีนซื้อมากขึ้นจริงๆคือในส่วนของข้าวโพดและถั่วเหลือง ส่วนนี้คือส่วนที่เอาไปใช้สำหรับเป็นอาหารสัตว์เป็นหลัก แต่อาจจะกระทบในส่วนมันสำปะหลังของเรา เพราะเราทำมันอัดเส้นเป็นอาหารสัตว์เหมือนกัน แต่บังเอิญในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราคาดหวังว่าเราน่าจะขยายในเรื่องกำลังการผลิต เพิ่มการส่งออกมันสำปะหลังไปจีนมากขึ้น แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่เราเจอปัญหาในเรื่องของโรคพืช ทำให้ปริมาณการผลิตไม่ได้สูงขึ้นเท่าที่เราคาดหวังกันเอาไว้ แต่ราคาส่งออกยังไปได้ดี ถ้าจะกระทบคงจะกระทบในส่วนของสิ่งที่จะไปเป็นอาหารสัตว์ โดยมันสำปะหลังอาจจะโดนผลกระทบด้วย
แต่สิ่งที่เรามองในภาพที่กว้างขึ้นคือสงครามการค้าไม่ได้ส่งผลกระทบในเรื่องของสินค้าเกษตร โดยสินค้าของจีนที่เข้าสหรัฐอเมริกาโดนกีดกันด้วยการขึ้นภาษีค่อนข้างสูงมาก ทำให้เราเห็นเลยว่า สินค้าหลายๆรายการที่เราเป็นซัพพลายเชนให้เขาอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ที่ยอดการส่งออกเราไปจีนลดลงไปเยอะมาก ถึงแม้จะส่งเข้าสหรัฐอเมริกาสูงขึ้น แต่ว่ายังทดแทนไม่ได้ทั้งหมด อาจเป็นเพราะผู้บริโภคมองว่าของแพงขึ้น เลยจับจ่ายใช้สอยน้อยลง
ถ้าภาษีตัวนี้ลดลงมา เราก็คาดหวังว่า การค้าจะกลับมาเป็นปกติ แต่จะยังไม่เห็นผลทันที เพราะตัวสัญญายังไม่ได้เซ็นกัน ถึงแม้ว่าจะมีการเซ็นกันในเร็วๆนี้ แต่คงจะเป็นหลังปีใหม่ไปแล้ว ส่วนช่วงนี้อาจจะนิ่งๆสักระยะหนึ่งเพราะใกล้ๆเทศกาล ฤดูกาล และอีกไม่นานก็จะเข้าตรุษจีนอีก ดังนั้น ช่วงนี้เราก็ไม่คาดหวังว่าการส่งออกจะโดดขึ้นมาอย่างสูง ก็คงจะนิ่งๆไปสักพักนึงก่อน
เห็นตัวอย่างสหรัฐอเมริกาไล่บี้จีน ขณะที่จีนกับไทยถือว่าได้เปรียบเรื่องดุลการค้าต่อสหรัฐอเมริกา ดังนั้นเป้าหมายของสหรัฐอเมริกาจะมีโอกาสมาไล่บี้ไทยหรือไม่
จริงๆถ้าพูดถึงลำดับของการที่เราได้ เรามีการค้าขายกับสหรัฐอเมริกาเป็นลำดับที่เท่าไหร่ คือได้ดุลการค้าจากสหรัฐอเมริกา ต้องบอกว่าเราไม่ถือว่าใหญ่มาก ลำดับที่ 12 ส่วนตัวยังมองเห็นว่ายังค่อนข้างห่างเหลือเกิน คือถ้ามองว่าลำดับ 10 ก็ดูจะสูงนะ เป็นลำดับต้นๆ แต่ถ้าดูปริมาณมูลค่า เราถูกจีนทิ้งห่างเลย เทียบกันไม่ได้เลย ซึ่งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน คือยักษ์กับยักษ์ชนกัน มีความใหญ่ทางด้านเศรษฐกิจด้วยกันทั้งคู่ ถ้าบอกว่ายักษ์สหรัฐอเมริกาจะมารังแกมดตัวเล็กๆอย่างประเทศไทย ก็คงมองว่าพี่ใหญ่รังแกน้องเล็กแน่ๆเลย คงไม่ออกมาในลักษณะนี้แน่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีข้อเรียกจากสหรัฐอเมริกามาที่ไทยเหมือนกัน อย่างเช่นเรื่องจีเอสพีที่ผ่านมา จริงๆมันยังไม่ถึงรอบที่มีการทบทวนจีเอสพี แต่ข่าวที่ออกมาเป็นเรื่องของคำร้องของสหพันธ์ลูกจ้างที่เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาทบทวนจีเอสพีที่ให้กับไทย โดยหยิบประเด็นเรื่องของแรงงานขึ้นมา ซึ่งความจริงในหลักการของการให้จีเอสพีของสหรัฐอเมริกาก็ดูประเด็นเรื่องแรงงานอยู่แล้ว เราก็คงต้องมีการปรับปรุงเรื่องการปกป้องคุ้มครองสิทธิของแรงงานด้วย ส่วนเรื่องที่สหรัฐอเมริกาจะตัดสิทธิจีเอสพีในทันทีหรือไม่ อาจจะยัง เพราะในเรื่องของรายได้ประชากรต่อหัวของเรายังไม่ได้เกณฑ์ตามที่สหรัฐอเมริกาบอกจะตัดเรา แต่ก็เราคงต้องมีการปรับปรุงในเรื่องของประสิทธิภาพของเราเอง อย่าไปคิดว่าเราจะได้สิทธินี้ไปเรื่อยๆ ต้องมองดูในเรื่องการปรับตัวเองด้วย
สรุปก็คือ ส่วนตัวไม่ได้คิดว่าสหรัฐอเมริกาจะมารังแกไทย เหมือนกับที่สหรัฐอเมริกาพยายามที่จะกีดกันจีน คงไม่ได้เป็นในลักษณะเดียวกัน แต่ข้อเรียกร้องคงมีแน่ ก็คงต้องมีการปรับตัวกันไป ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทาง สรท. ก็มองว่าอย่าพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่ง เราคงต้องพยายามเปิดตลาดการส่งออกของเราให้มากขึ้น และก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทางกระทรวงพาณิชย์เอง ทาง สรท. และทุกๆหน่วยงาน ก็พยายามเร่งรัดให้เกิดการเปิดเจรจาการค้าเสรีเอฟทีเอกับกลุ่มประเทศอื่นที่ยังไม่มีกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางยุโรป เพราะเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ กลุ่มประชากรก็มีอำนาจการซื้อสูง
มีผู้ส่งออกบอกว่าสงครามการค้าก็ดี จีเอสพีก็ดี ไม่น่ากลัวเท่าบาทแข็งค่า
เรื่องเงินบาทไม่มีใครคาดการณ์ล่วงหน้า ทุกคนทราบว่าปีหน้าบาทจะเป็นเท่าไหร่ พวกเก็งกำไรค่าเงินมีรายได้จากการเก็งกำไรง่ายกว่าทำธุรกิจอีก แบงก์ชาติเอง ผู้ประกอบการเองก็ยอมรับว่าการบริหารค่าเงินบาทมันลำบากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเงินกองทุนในต่างประเทศ เวลาที่เขาจะย้ายมาลงทุนในสกุลใดสกุลนึง ก็จะมีผลต่อค่าเงินสกุลนั้นๆ ถ้ายกตัวอย่างย้อนไปในปี 2540 ที่ตอนนั้นประเทศไทยเราแพ้ จอร์จ โซรอส ที่พยายามมาเก็งกำไรค่าเงินบาท เราเห็นเลยว่าเงินต่างประเทศเขาใหญ่มาก เราจะทำอย่างไรเพื่อจะไม่ให้เงินบาทของเราแข็งค่าหรืออ่อนค่าจนเกินไป เราจะสู้ยักษ์ใหญ่ที่เป็นเงินกองทุนทั้งหลายได้หรือไม่ เราต้องยอมรับสภาพความเป็นจริงตรงนั้น
เงินที่ไหลเข้าประเทศมา มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย มันไหลเข้ามาเพื่อเป็นการช่วยพัฒนาทางด้านตลาดเงินทุนของเราด้วย ไหลเข้ามาเพราะมันเป็นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอีอีซี การลงทุนก็ต้องอาศัยเงินต่างประเทศเข้ามาด้วย ดังนั้นข้อดีมันมี มีความมั่นใจในเศรษฐกิจไทยถึงกับต่างประเทศยอมเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ตรงนี้คือข้อดี แต่ขณะเดียวกันข้อเสีย บางครั้งเงินที่เข้ามาเยอะมาก และไม่ได้เข้ามาช่วยในการเสริมสร้างเรื่อง แต่เข้ามาเพื่อเป็นการลงทุนระยะสั้น เพื่อเก็งกำไร มันเป็นตัวที่สร้างปัญหาให้พวกเราในฐานะที่เป็นผู้ผลิตเพื่ออุตสาหกรรม และเราไม่ได้อยู่ในธุรกิจของการเก็งกำไร การป้องกันความเสี่ยงมันไม่ได้ง่ายขนาดที่เราคิดว่าวันนี้เราคาดว่าพรุ่งนี้จะเป็นเท่าไหร่ อีก 6 เดือนบาทจะเป็นเท่าไหร่ เราไม่มีทางรู้ว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร เราก็ป้องกันความเสี่ยงได้ยาก ถึงแม้จะมีการคุยกันตลอดเวลาว่าต้องมีมาตรการป้องกันความเสี่ยง ข้อมูลที่เราได้รับมา บางครั้งมันไม่สามารถจะบอกได้ว่าเราควรจะเข้าไปทำประกันความเสี่ยงไหม ควรจะปล่อยแล้วรับความเสี่ยงจะดีไหม เพราะมันมีทั้งขาขึ้นขาลง ซึ่งตรงนี้เรามองว่าวันนี้บาทแข็งขนาดนี้ แข็งกว่าประเทศเพื่อนบ้านเยอะมากเลย ตรงนี้เราแข่งขันลำบาก
ล่าสุดแบงก์ชาติออกมาตรการให้ผู้ส่งออกสามารถพักเงินที่ได้จากการซื้อขายไว้ที่ต่างประเทศ
ในหลักการคือทุกวันนี้เราพึ่งพาเงินบาท หมายถึงพอเงินเข้าประเทศก็ต้องแปลงมาเป็นสกุลเงินบาท การที่พักเงินไว้ในต่างประเทศมันก็เป็นข้อดีคือ ไม่ต้องถูกบังคับแปลงให้เป็นเงินบาทในทันที เมื่อหลายปีก่อนเงินที่เข้ามาอยู่ในประเทศ เรามีบัญชีเงินสกุลเงินตราต่างประเทศ แต่สรรพากรจะมีข้อกำหนดเลยว่า เงินเข้ามาพักได้ แต่ต้องเปลี่ยนมาเป็นเงินบาทภายใน 7 วัน ไม่เช่นนั้นเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้ ตรงนี้คือในอดีต แต่ตอนนี้ไม่มีข้อกำหนดนี้แล้ว พักเงินได้ ก็คือการโดนบังคับแปลงเป็นเงินบาทก็น้อยลง ดังนั้นเงินที่เข้ามาก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินบาท หลักการนี้ถูกต้อง แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า บริษัทใหญ่ๆเท่านั้นที่ทำได้ บริษัทเล็กๆ อย่างเราหมุนเงินวันต่อวันเลย เงินที่เข้ามาเราก็ต้องเอามาใช้จ่าย เราไม่มีรายได้หรือกำไรมากพอที่จะไปเก็บสะสมเอาไว้ถึงขนาดนั้น มาตรการพักเงินไว้ที่ต่างประเทศก็เลยไม่ได้ช่วยอย่างแท้จริง แต่ช่วยกับในภาพรวมคือทำให้เงินบาทที่จะไหลเข้าประเทศน้อยลง แต่ไม่เยอะ เนื่องจากทุกๆเดือนเรายังได้ดุลการค้าอยู่เลย เพราะเงินที่ถูกเก็บไว้ต่างประเทศถูกเก็บไว้เยอะ จนกระทั่งเดือนไหนเราส่งออกไปก็จริง แต่ยังไม่มีเงินไหลกลับเข้ามา เราไม่ได้เปรียบเรื่องดุลการค้า เงินถูกพักอยู่ต่างประเทศ มันก็คงช่วยให้เงินบาท อ่อนลงไปได้ แต่ตอนนี้เรายังไม่เห็นภาพลักษณะนั้น และที่สำคัญคือเอสเอ็มอีต้องการใช้เงินหมุนตลอดเวลาด้วย
เรื่องเบร็กซิต อังกฤษ เมื่อ บอริส จอห์นสัน ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องเบร็กซิตวันใดวันหนึ่ง ถึงตอนนี้นักธุรกิจไทยเตรียมรับมืออย่างไร
เรื่องเบร็กซิตคงต้องเกิดขึ้นแน่นอน ตอนนี้เดดไลน์ใหม่เป็นวันที่ 31 มกราคม เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทางอังกฤษจำเป็นจะต้องยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่เป็นเพราะไม่ว่าเขาจะยื่นข้อเสนอผ่านสภา ยื่นอย่างไรก็ไม่ผ่าน ด้วยการที่เขาไม่มีเสียงข้างมาก เหตุผลหนึ่งที่มีการเลือกตั้งก็หวังจะได้คะแนนเสียงในสภามากขึ้น เพื่อสามารถที่จะยื่นข้อเสนอที่มีการเจรจากับอียูให้ผ่านไปได้ เพราะถ้าอังกฤษออกจากอียูโดยไม่มีเงื่อนไขมันจะแย่กับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของอังกฤษมากกว่าที่มันจะเป็นข้อดี ตอนนี้เราก็รอดูว่า ถ้าออกมาโดยที่มีข้อตกลงกับอียูได้ เศรษฐกิจของอังกฤษก็อาจจะยังพยุงตัวได้ดี ช่วงนี้ต้องบอกว่าปอนด์แข็งค่าจากข่าวการเลือกตั้ง ซึ่งปอนด์แข็งค่าขึ้นมาเยอะมาก จาก 1.26 มาเป็น 1.31 ถือเป็นการช่วยในส่วนการค้าได้ส่วนหนึ่ง เพราะเวลานำเข้าจะได้รู้สึกว่ามันไม่ได้แพงมากเหมือนตอนปอนด์อ่อนค่า ถ้าเขายังมีดีลกันอยู่ เรื่องของการค้าของอังกฤษกับอียูจะไปกันด้วยดี เศรษฐกิจของอียูก็ยังเป็นปกติ แต่ถ้าออกมาโดยไม่มีดีล ก็มีการพยากรณ์กันไว้แล้วว่า จีดีพีก็อาจจะติดลบไปหลายเปอร์เซ็นต์เลย ถ้าเป็นอย่างนั้น อังกฤษต้องมาพิจารณาดูในเรื่องของการพยุงเศรษฐกิจ ในเรื่องการนำเข้าต่างๆ และอำนาจซื้ออาจจะหายไปบ้าง
แต่การไม่มีดีลเลยก็อาจจะมีข้อดีส่วนหนึ่ง คือเรื่องของการเจรจาเอฟทีเอ กับอังกฤษว่าจะทำได้เร็วแค่ไหน และจะเป็นประโยชน์กับเราแค่ไหน คือต้องไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม จริงๆหลายฝ่ายก็ยังไม่แน่ชัดในเรื่องของข้อตกลง ก็เลยเดินหน้ายังไม่ค่อยถูกเท่าไหร่
ไทยมีการค้ากับทางอียูถึงกว่า 10%
ประมาณ 9-10% ช่วงหลังลดลงไปนิดนึง ถือเป็นอันดับ 1 ใน 5
ภาพรวมการส่งออกปี 2562 จะปิดฉากอย่างไร
ตัวเลข 10 เดือนเราติดลบมาแล้ว มองว่าตัวเลขปีนี้ไม่บวกและไม่เป็นศูนย์แน่นอน ล่าสุดสรท.ได้แก้ไขประมาณการใหม่ น่าจะติดลบถึง 2.5-3% ดูแล้วก็ไม่ค่อยดี ส่วนปี 2563 เรามองว่าน่าจะมีโอกาสเติบโตได้ น่าจะขึ้นมาถึง 1% ปัจจัยมาจากข่าวดีของสหรัฐอเมริกากับจีนในช่วงนี้ น่าจะเป็นตัวดันเศรษฐกิจขึ้นไปได้ และในเรื่องของการเจรจาเอฟทีเอ หรือแม้กระทั่งการทำ Business Matching น่าจะส่งผลดีของการเปิดตลาดให้มากขึ้นได้
มองเงินบาทปี 2563 เป็นอย่างไร
ไม่อยากจะพูดเลย เพราะพูดไปก็จะตกใจกัน แต่พอเราอ่านข่าวตามรายงานของสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ ก็มีทั้งบางสายก็บอกว่าจะแข็งขึ้น บางสายมองว่าจะอ่อนลง แต่ว่าอ่อนลงไม่ได้อ่อนไปถึง 32-33 บาทต่อดอลลาร์ คืออยู่ประมาณนี้ไปจนถึง 31 บาท แต่ถ้าแข็งทะลุ 30 บาทต่อดอลลาร์ เราก็คงกลัว พอมาถึงจุดนี้ถามว่าถ้าบาทแข็งค่า เราจะทำอย่างไร ก็คงต้องขอทางภาครัฐมาช่วยดูแลทุกอุตสาหกรรมด้วย ในเรื่องการสนับสนุนปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรก็ดี มีเงินกองทุนให้เราใช้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอี ช่วยปรับปรุงเรื่องของเครื่องจักร เพราะค่าแรงก็ขึ้นแล้ว จะขึ้นอีกหรือเปล่าเมื่อไหร่ไม่รู้ อย่างไรก็คงต้องเตรียมตัวในเรื่องของประสิทธิภาพ ในเรื่องของดอกเบี้ย ต้องบอกว่าวันนี้ดอกเบี้ยนโยบายลดลงมาแล้ว แต่ดอกเบี้ยเงินกู้แบงก์ ไม่เห็นลดลงมาสักที แบงก์ชาติจะดูแลตรงนี้ได้แค่ไหน แต่อย่าลดดอกเบี้ยเงินฝากนะ เพราะจะแย่อีกเหมือนกัน
ล่าสุดมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ วันละ 6 บาท ผู้ส่งออกมองอย่างไร ต้นทุนเพิ่มขึ้นหรือไม่
มันไม่ใช่เป็นจังหวะที่ดี และพวกเราคงไม่อยากจะให้มันมีภาพลบมากจนเกินไป แต่ทุกคนคงทราบๆกันว่ามันก็มีการลดการจ้างงานลงไปบ้าง เป็นความกังวลว่าเด็กรุ่นใหม่ที่จบออกมาจะหางานทำได้หรือไม่ การลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาในไทยก็ชะลอตัวลง ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่น เวียดนาม อินโดนีเซียกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นตอนนี้ถ้าเรามองในด้านของการลงทุนของต่างประเทศ เขาก็คงมองเหมือนกันว่า ค่าแรงของไทยเราสูงกว่าอยู่แล้ว และด้วยเงินบาทที่แข็งค่า พอหารเป็นดอลลาร์ทำให้ค่าแรงมันสูงจริงๆ นักลงทุนเขาก็มองเหมือนกันว่าค่าแรงสูงแต่ประสิทธิภาพดีกว่าไหม ถ้าประสิทธิภาพไม่ดี เขาก็อาจมองว่าถ้าอย่างนั้นเขาจะย้ายไปที่ไหนดี ที่มีค่าแรง ค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า มีที่ไหนที่ให้กฎระเบียบในเรื่องของการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ การที่เราแข่งกับต่างประเทศนั้นด้วย ไม่ได้แข่งกันเฉพาะเรื่องของการส่งออก เราแข่งแม้กระทั่งการชี้ชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในไทย เรามีสิทธิประโยชน์อะไรให้เขาหรือไม่ และอย่าไปมองแต่จะให้สิทธิประโยชน์ให้ต่างประเทศ แต่ให้มองถึงการให้สิทธิประโยชน์นักลงทุนของไทยด้วย อย่างกำลังการผลิต ถ้ามีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเก่า เอาเครื่องจักรใหม่มาลง จะเป็นเครื่องจักรที่ซื้อมาจากต่างประเทศหรือเป็นการซื้อเครื่องจักรใหม่ที่ผลิตในประเทศ และควรมองเรื่องการส่งเสริมการลงทุนให้กับเอสเอ็มอีไปด้วย จะเป็นรูปแบบไหนก็ได้ เป็นเงินกองทุน ดอกเบี้ยต่ำ ยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรบางชนิด บางประเภทหรือทุกประเภทที่เข้ามาลงทุน พวกนี้อาจจะต้องมองว่าจะทำอย่างไรให้พวกเราปรับปรุงประสิทธิภาพได้มากขึ้น
Comments