Interview : ดร.ธนิต โสรัตน์
รองประธาน สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย
รัฐจ่ายครึ่ง นายจ้างจ่ายครึ่ง หวังเพิ่มการจ้างงานเด็กจบใหม่ แนวคิดดีแต่ผิดที่ผิดเวลา เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หนำซ้ำนายจ้างก็ร่อแร่ มีแต่จะเลิกจ้าง จะให้ดีควรเข้าไปอุ้มธุรกิจรายเล็ก-SME ให้อยู่รอด ให้เข้าถึงซอฟต์โลน นำเงินกู้มาหมุนเพื่อลงทุน เพื่อจ้างงานคนงานเก่า ขยายงานและจ้างคนงานใหม่ ผลดีจะเกิดกับระบบเศรษฐกิจมากกว่า
รัฐจะให้เงินมาช่วยนายจ้างครึ่งหนึ่งในการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ ฝ่ายนายจ้างเห็นด้วยหรือพร้อมให้ความร่วมมือแค่ไหน
ก่อนอื่นต้องดูภาพรวม ทำอะไรมาก็ดีทั้งนั้น ดีกว่าไม่ทำ เขาหวังจะช่วยเด็กจบใหม่ ปี 2563 ตอนนั้น 500,000 กว่าคน ตอนนี้ไม่น่าจะถึง น่าจะ 450,000-460,000 คน ส่วนหนึ่งตลาดซึมซับไปแล้ว อย่างพวกจบวิศวะ งานมีความต้องการอยู่ พยาบาล หมอ เราบอกว่าอย่าเอาแค่บัณฑิตเพราะตอนนั้นเขาจะเอาแค่เฉพาะบัณฑิต แต่ตอนหลังมีการปรับเป็น ปวส. ปวช. และอย่าเอาเฉพาะปี 2563 เพราะเด็กหางานไม่ได้จริงๆ ตั้งแต่ปีที่แล้ว สะสมมา 160,000 คน เขาก็ขยายย้อนหลังไป
มาตรการนี้ดีเพราะตังค์รัฐบาลมีอยู่แล้ว งบ พ.ร.ก.เงินกู้ 400,000 ล้านยังใช้ไปไม่มาก แต่มาตรการนี้ถึงจะช่วยออกค่าจ้างให้เขาครึ่งนึง ก็ถือว่าไม่ถูกจังหวะเวลา เวลานี้กิจการต่างๆ ไม่รับคน เพราะอุตสาหกรรมส่งออกหดตัวตั้งแต่ปีที่แล้ว ท่องเที่ยวไม่ต้องพูดถึง คนไทยหยุดยาวๆ ก็ไปเที่ยวทีนึง พอวันธรรมดาก็เงียบ นักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านหายไป หลายโรงแรมร้างไปเลย ส่งออกไม่ดี ในประเทศก็ไม่ดี พวกค้าปลีก ห้างต่างๆ ก็ลดคน 20-30% เวลานี้รัฐบาลจะช่วยออกครึ่งนึง เราออกครึ่งนึง แต่เราไม่ได้รับคน มีแต่เอาออก ก็ต้องมาดูว่าขนาดโรงงานต้องหยุดปิดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75-4,000 กว่าโรงงาน คนเป็นแสนกว่าคนอยู่บ้านเฉยๆ
เรื่องนี้ต้องกลับมาดูว่าถ้าทำจริงๆ จะต้องมีจูงใจ ที่ยังรับคนก็ยังพอมีอยู่ เป็นพวกกิจการที่พอมีกำไร อย่างธุรกิจเกี่ยวกับยา ถุงมือยาง มีออร์เดอร์ไปถึงปลายปี แต่พวกอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ยังเหนื่อย ติดลบ 30% ดังนั้นมาตรการนี้ต้องจูงใจ คือน่าจะเป็นการรับมาเผื่อฝึกงานมากกว่า ถ้าเป็นคนงานก็ต้องจ่ายเต็ม หรือ 75% ตามตกลงกัน ไม่ต้องตามกฎหมายแรงงาน ก็ดีทั้ง 2 ฝ่าย นายจ้างที่รับคนไปและจ่ายน้อยลง รัฐบาลก็จ่ายน้อยลง มีเงินเหลือไปขยายเวลาทำอะไรอีกได้เยอะ เด็กตอนนี้ก็ว่างอยู่แล้ว
อีกประเด็นหนึ่งคือเมื่อครบปี เมื่อหมดมาตรการ ก็ต้องให้ออก ซึ่งไม่มีการระบุเรื่องค่าชดเชยเลิกจ้างว่าใครจะจ่ายกันอย่างไร อันนี้สำคัญเพราะไม่ใช่แค่เดือนเดียว และยังอาจต้องเจอกฎหมายแรงงานเล่นเรื่องความเป็นธรรม เพราะการเอาคนออกต้องบอกล่วงหน้าเดือนนึงและจ่ายอีกเดือนนึงเท่ากับ 2 เดือน ตรงนี้คิดหนักเหมือนกัน
ถ้าจะจ้างคนตามมาตรการนี้ ควรเน้นไปที่บริษัทมหาชน 1,200 บริษัท ที่ส่วนใหญ่ยังมีกำไรดีกว่าไหม รับนักศึกษาจบใหม่หรือนักศึกษาตกงานไปทำ CSR ได้ไหม ไปทำงานโครงการคอร์ปอเรตโซเชียลได้ไหม บริษัทไหนมีกำไรให้ช่วยจ้างงานไปสัก 4-5 คน อย่างนี้จะได้ประโยชน์ อย่าง ปตท.กำไรเยอะเอาคนไปช่วยฝึกงานได้ไหม ถ้าทำแบบนี้พร้อมกันอาจจะได้คนมาก แต่ก็อย่าลืมเวลานี้เขาก็ไม่ได้รับคน ไม่ใช่ไม่รับอย่างเดียว ยังเอาออกด้วย
ลูกจ้างเก่าก็สำคัญที่ต้องเข้าไปดูแลเขา
มี 2 แบบ เรากำลังพูดถึงเด็กยังไม่เคยทำงาน รัฐบาลออกมาตรการนี้หวังที่จะให้มีการจ้างงานสัก 200,000 คน แต่ยังกังวลว่าสถานประกอบการยังไม่รับคนช่วงนี้ ก็ต้องกลับมาอีกกลุ่มนึง คือกลุ่มที่ตกงานจริงๆ เขาคาดว่าจะมากกว่า 2 ล้านคน กลุ่มนี้คิดง่ายๆ คือกลุ่มที่เคยทำงานในธุรกิจท่องเที่ยว พอโรงแรมปิดตัว ร้านอาหารปิด รถทัวร์ ไกด์ มันลามไปถึงสถานบริการด้วย ตัวเลขพวกนี้ชัดอยู่แล้ว พวกนี้สำคัญกว่ากลุ่มแรกหรือกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ เพราะกลุ่มแรกอายุไม่เกิน 22-23 ปี พ่อแม่ยังพยุงไว้ได้ แต่พวกที่ทำงานอยู่แต่ตกงาน พวกนี้มีครอบครัวแล้ว คราวที่แล้วออกมาตรการ 5,000 บาท/เดือน เพื่อช่วยคนตกงาน แต่มาตรการนี้จบแล้ว คนอยู่ในระบบมาขอเงินรัฐบาล 9 แสน-1 ล้านคน ต้องไปสำรวจว่าจะช่วยคนพวกนี้อย่างไร นอกจากแจกเงินแล้วอาจจะต้องขอให้ อบต. อบจ. เทศบาล กรุงเทพฯ รัฐวิสาหกิจ ออกมาอุ้ม อบต.พวกนี้เกือบ 80,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ เอาแค่จ้างงานหมู่บ้านละ 2 คน ก็ได้ 160,000 คน ตรงนี้หมายถึงมาช่วยกลุ่มนี้ที่คนตกงาน องค์การราชการยังกำไร บริษัทใหญ่ๆ อย่าง ปตท. ปูนซิเมนต์ไทย ซีพี พวกนี้ยังแข็งแรง อาจจะไปขอให้ช่วยอุ้มพวกนี้ด้วย ก็ต้องทำพร้อมกัน
แต่อย่าลืมการช่วยตรงนี้มันปลายเหตุ ถ้านายจ้างอ่อนแอต้องเลิกจ้างอีก ต้องช่วยดูแลนายจ้างด้วย อย่างซอฟต์โลนให้เขาเข้าถึงจริงๆ พูดถึงเรื่องนี้แล้วบ้านเราแปลกๆ เงินมีแต่จ่ายไม่ได้ ซอฟต์โลน 5 แสนล้านของธนาคารแห่งประเทศไทยออกมา ใช้ไม่ถึงแสนล้าน เหลืออีกเยอะ แล้วออกมาใหม่อีกแล้วคือออมสิน 30,000 ล้าน คือเงินมีแต่ทำไมปล่อยไม่ได้ เพราะไปปล่อยแบบวิธีปกติในเวลาที่ไม่ปกติ คุณจะไปดูแค่บัญชีไม่ได้ อย่างโรงแรมคุณไปดูบัญชีรายรับ-รายจ่ายเขา อย่างนี้ก็ปล่อยไม่ได้สักโรงแรม แล้วไปดูงบมันตัวแดงหมด ขาดทุน ถ้าในรูปหลักเกณฑ์ของแบงก์มันปล่อยไม่ได้ คุยกับแบงก์เลย ไม่กล้าปล่อย เดี๋ยวนี้ดูถึงขนาดว่าคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงไหม ถ้าเสี่ยงจบ ถึงจะมี บสย.มาค้ำประกันก็ไม่ได้
คิดว่านายจ้างผู้ประกอบการคิดแบบนี้ด้วยไหม
นึกภาพเวลาลูกค้าหายหมด ลูกค้าไม่มีเงิน ส่งออกเมืองนอกไม่มีเงิน เครื่องบินระหว่างประเทศก็บินไม่ได้ แล้วคุณจะยังอยู่ดีไหม แต่นายจ้างก็หน้าบาง ไม่กล้าโผล่หน้ามาพูด เขาก็เกรงใจแบงก์ พ่อค้าเงียบหมด เวลาที่ออกมาก็เป็นเอกชนใหญ่ๆ เป็น CEO เขาไม่เดือดร้อน บางทีไปสื่อกับภาครัฐ ภาครัฐก็ไม่ค่อยเข้าใจ เอกชนที่ไปสื่อก็ไม่ใช่ตัวจริง ชาตินี้ทั้งชาติก็ไม่ได้กู้แบงก์ มันก็เพี้ยนไป โครงการช่วยเหลือต่างๆ ก็ไม่ตรงจุด จริงๆ ซอฟต์โลนเป็นเรื่องใหญ่
มาตรการอาจจะดี แต่นายจ้างก็จนใจ บอกไม่รู้จะจ้างอย่างไร
อย่าลืมว่าถ้าจ้างคนนึง จ่ายครึ่งนึงคือ 7,500 บาท สมมติเราจ้าง ถ้าคนเดียวก็ดี แต่ถ้ารับแล้วคนเก่าออก คนเก่าบอกไม่ดีเพราะรับคนใหม่มา เขาก็คิดหนัก ขนาดของผมยอดขายไม่ได้ตก เราบอกว่าไม่รับใหม่ดีกว่า
จะชดเชยด้วยภาษีก็ไม่คุ้มกันใช่ไหม
เอะอะช่วยลดภาษีนิติบุคคลไม่ต้องจ่าย คนมีกำไรบาทเดียวก็ต้องช่วยแล้ว คุณไปลดภาษีนิติบุคคล ไปหักลดหย่อนได้ บริษัทดีๆ ที่ไม่ต้องออกมาตรการอะไรเขาอยู่รอดอยู่แล้ว คุณไม่ต้องช่วยเขา หมายถึงบริษัทที่ยังมีกำไรแล้วต้องเสียภาษี คุณเอาเงินที่จะลดภาษีให้พวกนี้มาใช้จ่ายช่วยเหลือพวกที่มีปัญหาดีกว่า คือคนที่จมน้ำหรือว่ายไม่เป็นต้องช่วย คนที่ตัวเปียกยืนอยู่บนฝั่งไม่ต้องช่วยอะไรมากเพราะเขารอดแล้ว
บางทีมาตรการทางภาษีเราต้องดูด้วย การลดภาษีนั้นผมไม่เห็นด้วย ผมรู้ว่าถ้ามีกำไรก็ไม่ต้องการใครมาช่วย กำไรบาทนึงก็ไม่ต้องช่วยแล้ว มาตรการต่างๆ ต้องคิดยาวๆ เพราะเศรษฐกิจรอบนี้ไม่ได้ฟื้นง่ายๆ อีกไตรมาสที่เหลือยังติดลบ และจะติดลบไปถึงไตรมาส 1 ปีหน้าด้วย มาตรการต้องรองรับระยะยาวไปถึงปีหน้าทั้งปีเป็นอย่างน้อย แล้วออกมาเป็นแพ็กเกจจะช่วยกลุ่มไหนอย่างไร แต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน แม้แต่วิธีที่บอกว่าช่วยคนละครึ่ง ไมโครไฟแนนซ์ ลูกจ้าง นายจ้าง บริษัทที่ยังมีงาน ยังกำไรต้องการรับคนอยู่แล้ว แล้วคุณไปช่วยเขาทำไม มันต้องสกรีนเอาโรงงานที่เปราะบางอยากจะได้เงินที่มีอย่างจำกัด จะได้ใช้อย่างคุ้มค่า ก็ออกอะไรที่เป็นแพ็กเกจ อย่าไปเหวี่ยงแหแบบทำไปคิดไป มาตรการจะไม่ต่อเนื่อง ต้องไปหาคนมาช่วยคิด เห็นใจท่านนายกฯ อันนี้พูดตรงๆ ใครเป็นนายกฯ ตอนนี้ไม่สนุก ใครจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีคลัง ไม่ได้หาง่าย เขารู้ว่าแก้ยากและมีปัญหาภายในที่เรารู้ๆ กันอยู่
การพุ่งเป้าออกมาตรการช่วยเด็กจบใหม่ เกี่ยวกันไหมกับใจเราทุกคนอยากให้เด็กมีงานทำทุกคน คิดว่าการที่เด็กออกมาชุมนุม คิดว่าเป็นแผนลดความกดดันให้กับเด็กเพิ่งจบการศึกษาว่าอย่าไปชุมนุม
ไม่แน่ใจ เพราะไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่โดยธรรมชาติของเด็กคงไม่ได้คิดแบบนั้น ส่วนมากเด็กที่ไปชุมนุมยังเรียนหนังสือ เด็กก็ประท้วงตามสิ่งที่เขาเห็น เราที่เป็นผู้ใหญ่เคยเป็นเด็กมาก่อน เรื่องพวกนี้ต้องพยายามทำความเข้าใจและมองเขาเป็นลูกเป็นหลาน ก็จะช่วยได้เยอะ ถ้ากลับมาในมุมรัฐบาลเขาคงคิดว่าไม่ได้ไปช่วยสลายม็อบเพราะพ.ร.ก.ฉุกเฉินน่าจะช่วยได้มากกว่า จริงๆ ไม่ได้เป็นเรื่องประจวบเหมาะ เรื่องประท้วง เพราะมาตรการมีตั้งแต่ก่อนโควิดก็เป็นผลต่อเนื่องมา แต่มาตรการพวกนี้ก็ช่วยเด็ก จะไปปล่อยให้เด็กเตะฝุ่นก็ไม่ดี เด็กพวกนี้จบมาถ้าว่างงานปีนึงจะกลายเป็นว่างงานถาวร เด็กระดับหัวกะทิไม่ต้องห่วง มีสถานประกอบการรออยู่แล้ว แต่พวกส่วนใหญ่จบมาแค่ปีเดียวก็ลืมที่เรียนมาหมดแล้ว ในที่สุดองค์ความรู้มันหาย มีนาคมปีหน้าก็จะจบมาอีก 500,000 คน ถ้าคุณจะรับคนใหม่ คิดว่าระหว่างเด็กจบปีนี้กับปีหน้าเราจะรับแบบไหน ถ้าเราไม่เอาพวกมีประสบการณ์ผมเอาพวกที่เพิ่งจบใหม่ ความรู้ยังอยู่ในหัวบ้าง ถ้าราคาเท่ากันผมเอาคนจบใหม่ เพราะทั้ง 2 ฝ่ายไม่มีประสบการณ์ทั้งคู่ ยกเว้นคุณจบมาปีนึงแล้วไปฝึกงาน จบมาใหม่ๆ อย่าไปคิดเรื่องเงิน ตรงนี้จะเป็นประโยชน์กับเด็ก เด็กได้เงินน้อยหน่อยแต่ได้ใบรับรองการทำงานมา เวลาสัมภาษณ์จะคนละเรื่อง แต่ถ้าคุณปล่อยให้ตกงาน ความรู้ปีนึงก็จะหาย ที่ผมห่วงคือพอกลับบ้านต่างจังหวัดแล้วก็ไม่อยากเข้ามาอีกแล้ว ก็จะกลายเป็นคนว่างงานถาวร ตัวเลขพวกนี้จะหายจากอัตราการว่างงาน กลายเป็นเขาไม่คิดจะหางาน ไปทำฟรีแลนซ์ขายของออนไลน์ อีก 3-4 ปีก็เหนื่อยแล้ว จริงๆ แล้วเราทำธุรกิจ เรารู้ว่าการทำออนไลน์คุณอาจขายได้ไม่เยอะ อีกหน่อยคุณก็ต้องแข่งกับเขา แข่งที่ราคา จะเหลือกำไรหรือไม่ ถ้าไม่เหลือก็ต้องปิด
ความต้องการของนายจ้างกับสกิลของเด็กอาจจะไม่ตรงกันอีก
มันไม่แมตชิง กันอยู่แล้ว คือต้องเข้าใจ New Normal พอหลังโควิดทุกอย่างเปลี่ยน อย่างผมเองไม่ค่อยซื้อออนไลน์ แต่พอเราซื้อออนไลน์แล้วมันง่าย แค่นี้ก็เห็นแล้วว่าตำแหน่งงานขายหน้าร้านมันลดลง ผมไม่เคยใช้ QR Code เพราะคนโบราณใช้แต่เงินในกระเป๋าหรือบัตรเครดิต แต่ QR Code ใช้ง่าย จะทำธุรกรรมก็ไม่ต้องไปแบงก์ พวกนี้มันเกิด New Normal เป็นเทคโนโลยีใหม่ อุตสาหกรรมเปลี่ยนคนก็เปลี่ยน กินอาหารก็สั่ง Grab ลักษณะนี้ทำให้ลดการจ้างงานโดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างคุณไปแบงก์ล่าสุดเมื่อไหร่ แล้วคนที่เคยอยู่หน้าเคาน์เตอร์บางแบงก์ 4 ชั้น มีคนอยู่ 40 คน ตอนนี้เหลือ 7 คน แบงก์บอกอย่าไปใช้ออนไลน์เยอะเหลือให้คนอยู่บ้าง เดี๋ยวตกงานหมด ตรงนี้จะบอกว่าตำแหน่งงานก็จะลดลง คุณได้โอกาสจากเทคโนโลยีแต่ต้องดูด้วยว่าตำแหน่งงานจะลดลงแล้ว อุตสาหกรรมก็เปลี่ยน การลงทุนยุคใหม่ไม่ใช้คน เป็นเครื่องจักรหมด ลำบากหน่อยสำหรับคนที่อายุมาก แรงงานสูงวัยอายุ 40-50 ปีขึ้นไปก็เหนื่อย ต้องประคองตัว หางานใหม่ก็ยาก
ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวไหม
ต่างด้าวก็กลับบ้านเขาไปส่วนนึงเพราะกลัวปิดพรมแดน ตัวเลขไม่แน่นอน บางคนบอก 500,000 คน หรือ 300,000 คน แต่หลักแสนคนแน่ ประมาณ 200,000-300,000 คนอย่างน้อย ตรงนี้ผู้ประกอบการบางรายก็เดือดร้อน แต่ไม่มาก เพราะงานก็ลดลง ร้านอาหารมีลูกค้าน้อยลงก็ใช้คนน้อยลงตาม แต่กระทรวงแรงงานอย่าเหมาพวกนี้เป็นตำแหน่งว่าง อย่าคิดว่าตำแหน่งที่ต่างด้าวทำแล้วมันว่างคนไทยจะทำ งานบางอย่างคนไทยยอมอดไม่ทำ งานคนเสิร์ฟ ขายของริมถนน แบกของอยู่ไซต์งานก่อสร้าง คนไทยเรายอมอดดีกว่า ไม่ทำ อย่าไปโมเมเอาตำแหน่งพวกนี้ที่เวลาไปขอกระทรวงแรงงาน ขาดคนแบกของ ขาดคนก่อสร้าง 300,000-400,000 คน แล้วบอกตำแหน่งว่าง คนไทยอยากจะมาทำก็ทำ แต่ความจริงคือคนไทยไม่ทำ
สรุปว่ามาตรการจ้างนักศึกษาจบใหม่อาจไม่มีประโยชน์ ต้องคิดวิธีใหม่เพิ่มเติม
ผมคิดว่าก็ดีอยู่ แต่สรุปเร็วไป อาจจะต้องมีเครื่องมืออื่นคู่ กระทรวงแรงงานอาจจะไปเคาะตามบริษัทต่างๆ ที่มีงานมีกำไรให้มาช่วยมากขึ้น
Comments